วันศุกร์, พฤษภาคม 15, 2558

Dilemma เรื่องประชามติ เอาไงดีทั้งที่ไม่มีหวัง



จะว่าเป็นเรื่องที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกก็ใช่ ประเด็นการรณรงค์ให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ๒๕๕๘ ที่ถกเถียงกันพอดูในหมู่ผู้ต้องการวิถีประชาธิปไตยแท้และเลือกตั้ง มากกว่าลากตั้งรัฐบาล คนดี

โดยที่ร่าง รธน. อันเต็มไปด้วยโวหารคุณธรรม หากแต่หมกเม็ดอำนาจเผด็จการไว้ให้อยู่กับคณะยึดอำนาจและองค์กรวิเศษแต่งตั้งจากกลุ่มชนชั้นนำผู้สนับสนุนวิถีรัฐประหาร ที่ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ผู้ร่างเรียกว่า เรือแป๊ะ แต่ดร.สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ผู้รู้ (วิชาการ) ท่านหนึ่งเห็นว่าเป็น ประชาชังนั้นกำลังรอ ‘water breaking’ จะคลอดมิคลอดแหล่

หากประเมินตาม สภาพัฒนาการเมือง โดย ดร.ธีรภัทร์ เสรีรังสรรค์ ที่ว่าร่างฯ นี้ “ไม่แก้ปัญหาการเมือง มีการกำหนดองค์กรที่มีหน้าที่ปราบปรามจำนวนมาก แก้ปัญหาปลายน้ำ ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุของปัญหาเลย ทั้งยังมีความล้าหลังไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก...รวมถึงการตั้งสภาขับเคลื่อนซึ่งถือเป็นสภาสืบทอดอำนาจชัดเจน”

และ “เสนอให้ต้องมีการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ”

ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า “หากทำก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว ๒๕๕๗) วันนี้ถามอยู่ได้ว่าจะทำหรือไม่ อย่างไร ถามกันอยู่ได้ อะไรกันนักหนา ซึ่งนักข่าวถามทุกวันจนถึงวันนี้ตนรู้สึกรำคาญและจะไม่ตอบอีกแล้ว


ไม่ว่าหัวหน้า คสช. จะรำคาญแค่ไหน ข้อเท็จจริงก็คือร่าง รธน. ฉบับนี้ยี้มากๆ จนหลายฝ่ายอยากให้ทำประชามติตัดสิน ซึ่งปองขวัญ สวัสดิภักดิ์ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แยกแยะไว้ว่ามีสี่กลุ่ม

กลุ่มแรกเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และกรรมาธิการยกร่างบางคน รวมถึงพวกที่ต้องการให้มีประชามติโดยไม่มีข้อเสนอสำหรับภาวะการณ์ที่ผลประชามติออกมาไม่รับร่างฯ กลุ่มนี้อาจเพียงต้องการความชอบธรรมสำหรับรัฐธรรมนูญใหม่ด้วยความหวังว่าจะผ่านประชามติ

อีกสองกลุ่มเป็นฝ่ายการเมืองคนละขั้วที่บังเอิญมาเห็นพ้องต้องกันว่าร่างฯ ฉบับนี้ไม่เหมาะ เพราะออกแบบให้พรรคการเมืองไม่เพียงเป็น ไก่รองบ่อน หากแต่ต้องอยู่ในกำกับของ นักการเมืองลากตั้ง ในคราบผู้ทรงคุณธรรม สุดยอดมืออาชีพและคนดีชุมชน

ทั้งสองกลุ่มมุ่งหวังให้มีการเลือกตั้งที่พวกตนได้ร่วมกิจกรรมอีกครั้งโดยไว ทั้งสองกลุ่มมุ่งหมายให้มีการทำประชามติเพื่อยกเลิกร่าง รธน. ศรีธนญชัยนี้เสีย แล้วนำรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่ถูกคณะยึดอำนาจยกเลิกไปกลับมาใช้ดำเนินการ

พรรคเพื่อไทยต้องการรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์อยากได้รัฐธรรมนูญ ๒๕๕๐ (ทั้งสองฉบับถูกยกเลิกโดยคณะทหารชุดเดียวกันที่เปลี่ยนชื่อจาก คมช. มาเป็น คสช.)

กลุ่มที่สี่ที่ อจ. ปองขวัญระบุว่า “เป็นการแสดงออกที่ประนีประนอมและสันติที่สุด เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีความเชื่อมโยงกับประชาชน” โดยหากประชามติไม่รับร่างฯ ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว เปิดให้มีการเลือกตั้งสมาชิสภาร่างรัฐธรรมนูญขึ้นเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร และให้ประชาชนออกเสียงอนุมัติ

ข้อเสนอของกลุ่มที่สี่ดังกล่าว (http://docdro.id/z75r) มีศูนย์กลางอยู่ที่ กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย (รปป.) อันมาจากการรวมตัวของนักวิชาการ ศิลปิน นักกิจกรรม และนักประชาธิปไตยพันธุ์แท้ไม่ต่ำกว่า ๑๕๐ คน

จัดว่าเป็นทางออกที่ตอบโจทย์วิธีการ มัดมือชก และ คลุมถุงชน ของ คสช. ได้เนียนที่สุด

แม้นว่า อจ.ปองขวัญ ได้ยกประเด็นขัดข้องที่ว่า กลุ่มต่อต้านการรัฐประหารบางส่วนก็แสดงความเห็นต่อต้านการลงประชามติต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยมองว่าเป็นไปไม่ได้ที่การลงประชามติจะเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส และปล่อยให้มีการรณรงค์กันอย่างกว้างขวาง ปราศจากการแทรกแซงจากผู้มีอำนาจ...

ผลสุดท้ายปรากฏว่ามีเสียงยอมรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มากกว่า จะเท่ากับเป็นการตีตราให้ความชอบธรรมกับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2550 เมื่อเป็นเช่นนี้ การรณรงค์ที่น่าจะเป็นผลมากกว่าคือการ ข้ามช็อตเรียกร้องให้ทั้งพรรคการเมืองและประชาชนบอยคอตการเลือกตั้งที่เกิดขึ้น จากร่างรัฐธรรมนูญอันไม่เป็นประชาธิปไตยฉบับนี้จะดีกว่า”

การนี้ ดร. สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เป็นหนึ่งในผู้ไม่เห็นด้วยกับการรณรงค์ขอให้มีประชามติ ทั้งที่หัวหน้า คสช. ไม่ค่อยจะแยแสเท่าไร “ส่วนเรื่องการทำประชามติจะพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง ยังไม่สามารถตอบได้ในเวลานี้” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวในทำนองเดียวกันหลายครั้ง ล่าสุดเมื่อ ๑๔ พฤษภาคม ไม่ยี่หระถึงขนาดบอกว่า “ทุกวันนี้ต่างประเทศไม่ค่อยถามตนถึงเรื่องประชาธิปไตยแล้ว


ความรู้สึกผมตอนนี้คือ มีความเป็นได้เพิ่มมากขึ้นที่ คสช. เองอาจจะให้มีประชามติจริงๆก็ได้ แต่มีภายใต้สภาพแบบปัจจุบันนี่แหละ คือปิดกั้นไม่ให้มีการเคลื่อนไหวการเมืองต่อไป (ประเภทกำหนดวันนัดให้ลงประชามติ แล้วถึงเวลาก็ให้ประชาชนมาลงเท่านั้น) ไม่มีการอนุญาตให้รณรงค์สาธารณะ ชุมนุมประท้วง ประณามร่าง รธน. ฯลฯ (เพราะถ้ายอมให้ทำแบบนั้น ก็เท่ากับยอมให้มีเคลื่อนไหวการเมืองคัดค้าน คสช. นั่นเอง ซึ่งเป็นไปไม่ได้)”

ยิ่งกว่านั้น โดยการที่ คสช. สามารถกำหนดว่าถ้าไม่รับก็กลับไปเริ่มใหม่ ก็เท่ากับ แบล็กเมล์ ประชาชนว่า ถ้าอยากให้จบๆ มีเลือกตั้งใหม่ ก็ลงรับๆไปเสีย บวกกับการที่ว่า ถ้าให้ทำประชามติก็คงทำภายใต้สภาพแบบปัจจุบันที่ยังปิดกั้นการเคลื่อนไหวการเมืองต่อไปดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ที่ประชาชนจำนวนไม่น้อยตกอยู่ในสภาพถูกแบล็กเมล์ (และไม่มีโอกาสได้รับข่าวสารจากการรณรงค์คัดค้านด้วยดังกล่าว) จะยอม รับๆไปซึ่งก็คือ เข้าทาง คสช. ที่เอาไปอ้างความชอบธรรม”

(สมาชิกเฟชบุ๊คดูโพสต์เต็มๆ ได้ที่ https://www.facebook.com/somsakjeam?fref=nf)

แต่กระนั้น ดร.พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ (ฝ่าย รปป.) เขามีคำตอบให้

“คนที่เรียกร้องประชามติก็รู้ว่า ยากมากหรือเป็นไปไม่ได้เลยที่คสช. จะยอม แล้วเรียกร้องทำไม? ถ้ากระแสเรียกร้องประชามติมาแรงแล้วเขาดื้อไม่ให้มีประชามติ ดันทุรังผ่านรธน. ออกมาจนได้ คำตอบคือ ดีเหมือนกัน รธน.๕๘ จะยิ่งขาดความชอบธรรม ซึ่งจะกระทบไปถึงการจัดการเลือกตั้งด้วย

แต่ถ้าเขายอมให้มีประชามติ คำตอบคือ ดีเหมือนกันอีก เพราะจะเกิดการอภิปรายในพื้นที่สาธารณะประเด็น รธน.ต้องมาจากปชช. รวมทั้งอภิปรายร่างรธน.๕๘ นี้ ถึงเขาห้ามพูด ก็เชื่อว่าจะห้ามไม่อยู่ พรรคการเมืองก็จะมีบทบาทในขั้นนี้ได้ง่ายกว่า

ถ้าผลประชามติคือ ไม่ผ่าน แล้วเขายังจะขัดขืน วนกลับไปเริ่มต้นจุดเดิมด้วยสภาปฏิรูปชุดใหม่อีกรอบ ในทางการเมือง เขา สูญเสีย อย่างหนัก

ถ้าผลประชามติคือ ผ่าน ก็มีเลือกตั้ง แต่สิ่งที่ได้คือ ได้เปิดประตูอภิปรายประเด็น ที่มาของรธน.และได้วิพากษ์ร่างรธน. ๕๘ ไว้แล้ว ประเด็นเหล่านี้จะยังคงอยู่ต่อไป และพร้อมที่จะกลับมาอีกครั้งเมื่อรธน. ๕๘ ถูกฉีกในที่สุด”


แล้วก็มีคำตอบย้อนกลับมาอีก ครานี้จาก sidekick หรือไม่ก็ sideline (แสดงว่าแต่ละข้างมีพลานุภาพหนักแน่นพอทัดทานกัน)

ผู้ใช้นาม วิบูลย์ แซ่ลิ้มให้ความเห็นว่า “๑) ฝ่าย ปชต. เปนคนเรียกร้องประชามติเอง ๒) เกิด คสช. ตกลงให้มีประชามติ ๓) หากไม่ผ่านก็ดีไป แต่ถ้าเกิดผ่านประชามติจะด้วยปัจจัยใดก็ตามแต่ นั่นเท่ากับฝ่าย ปชต. ต้องยอมรับโดยปริยาย

ต่างกับการที่ คสช. ประกาศใช้เลย นั่นเท่ากับเป็นการยัดเยียด รธน. นี้ให้แก่ ปชช. ในกาลครั้งหน้าถ้ามีปัจจัยบวกด้านอื่นมาเสริม ฝ่าย ปชต. สามารถลุกขึ้นอย่างชอบธรรมในการต่อต้าน หรือแม้แต่ล้มล้าง รธน. นี้อย่างชอบธรรม
 
๔) ในกรณีที่ คสช. ให้มีการลงประชามติเอง โดยที่กลุ่มประชาธิปไตยใด ๆ ไม่ได้เรียกร้อง และกลุ่ม ปชต. ได้ออกแถลงไม่ยอมรับ รธน. ที่มีเนื้อหาสาระเช่นนี้ รธน.ที่ร่างขึ้นภายใต้อำนาจเผด็จการ การลงประชามติร่าง รธน. นี้จึงไม่ชอบด้วยทั้งตัว รธน. เอง และไม่ชอบทั้งการทำประชามติภายใต้บริบทเผด็จการ
 
นั่นเท่ากับฝ่าย ปชต. ยังยึดกุมความชอบธรรมไว้ตลอดกาล แม้ตอนนี้จะทำอะไรไม่ได้ แต่ในกาลข้างหน้าความชอบธรรมนี้อาจกลายเป็นประเด็นสำคัญที่ปลุกกระแสมวลชนให้ลุกขึ้นมาได้

๕) ไม่มีอะไรการันตึได้ว่าผลประชามติจะออกมาแบบไหน ในบริบทที่อำนาจทุกอย่างอยู่ในมือ คสช. การรีโมทผลประชามติก็อาจทำได้
 
๖) และเมื่อเกิด รธน. ผ่านประชามติ นั่นเท่ากับฝ่าย ปชต. ต้องอยู่กับ รธน. นี้แบบยินยอมโดยปริยาย เพราะเป็นฝ่ายเรียกร้องเอง ทั้งที่ คสช. ก็บอกมาหลายครั้งว่าคงไม่ทำประชามติ

ที่สุด ผลประชามติถ้าผ่าน ก็จะเปนการปิดจ๊อบที่เฟอร์เฟคของเครื่อข่ายและ คสช. ผลของประชามติจะเป็นเสมือนอาวุธสำคัญที่กลับมาทิ่มแทงทุกสิ่งทุกเรื่องที่ฝ่าย ปชต. จะออกมาคัดค้านและโต้แย้งในกาลข้างหน้า และตลอดไป”

จุดเด่นของข้อโต้แย้งนี้อยู่ที่ กาลข้างหน้าและ ถ้าประชามติผ่านนั่นก็คือ รธน. ห่วยๆ ดันได้รับ ข้ออ้างความชอบธรรม นี่เองถึงได้เกริ่นแต่ต้นว่าเรื่องนี้มี dilemma ไม่ใช่แค่ กลืนไม่เข้า คายไม่ออก แต่มันติดกึกติดกัก ชิบ...พร้อมกันไป

แล้วที่ติดก็ไม่ใช่อะไรอื่น ติดที่ คสช. กดหัว-บีบคออยู่ ดังที่ รปป. อ้างไว้ ขอใช้ประชามติด้วยความหวังว่าจะปฏิเสธร่าง รธน. คสช. ได้โดยไม่เกิดการสูญเสีย และ ไม่สันติ

เช่นนี้ อ่านเกมตามที่เห็นเกือบทุกเมื่อเชื่อวัน คสช. ย่อมไม่ยอมเบี่ยงเบนไปจาก โร้ดแม็พที่วางไว้ (ส่วนจะเปลี่ยนใจเองภายหลัง พวกเขาทำง่ายได้อยู่แล้ว) ดังประยุทธ์ย้ำว่า “ไม่ควรออกมาพูดวิจารณ์รัฐธรรมนูญให้เกิดความเสียหายในเวลานี้” และอ้างตีกัน “โดยเฉพาะผู้ที่เคยอยู่ในรัฐบาลต่าง ๆ” คือนอกจากไม่สนประชามติแล้วยัง ห้าม ติติงร่าง รธน. เสียด้วย

ดังนั้นประชากร ไม่ว่าจะเป็นราษฎรหรือพลเมือง ภาคส่วนที่ต้องการประชาธิปไตยแท้ๆ และการเลือกตั้งเสรี ไม่เพียงกระอักกระอ่วน หรือติดกัก หากแต่ ติดปลักเงื่อนงำ ความรุนแรง ที่คลึ้มอยู่หาก คสช. จะเอาอย่างคณะยึดอำนาจอียิปต์บ้าง (ดูข้อเขียนก่อนหน้าในบล็อกนี้)

ทางออกเหลืออยู่แต่ทำอย่างไรจะหลุดพ้นเงื่อนงำดังกล่าวข้างต้นได้ ทางเลือกอยู่ที่จะ สู้ อย่างไรและไม่รอ ในเมื่อมีทางสู้อยู่สองแนว สู้นิ่ม กับ สู้แน่วที่เป็น dilemma กันอยู่ ไม่รู้จะลงตรงไหนดี

ไฉนไม่ผสมกันเป็น พันธุ์ทางดูสิว่าออกมากลมกล่อมไหม ซึ่งก็น่าจะได้จุดร่วมอยู่ที่ ไม่เอาร่าง รธน.เรือแป๊ะ แน่นอน ไม่เช่นนั้นต้องแก้ไขเต็มพิกัด เปิดให้รุมวิพากษ์ และหากเขายอมให้มีประชามติต่อร่างฯ ก็ไม่รับ ยืนกรานสถานเดียวว่า รธน. ต้องเชื่อมโยงประชาชน

ข้อสำคัญต้องกล้า อย่าเย็บปิดหมดทวารทั้งสาม และต้องไม่กลัวความรุนแรง ไม่งั้นจะกลายเป็นหงอ

(ขออภัยที่หลาย ต้อง)

(บันทึกท้ายเรื่อง :บทความนี้ลอกมาจากเว็บบล็อก http://tgdr.blogspot.com/)