วันจันทร์, พฤษภาคม 04, 2558

จากทหาร ถึง นายทุน “การเมือง อำนาจ และผลประโยชน์”




BY BOURNE 
ON APRIL 27, 2015ที่มา เวป Ispace Thailand

ภายใต้สภาพเศรษฐกิจไทยที่กำลังประสบปัญหาอย่างมากในทุกภาคส่วนนับตั้งแต่มีการรัฐประหารเป็นต้นมา นับว่าธุรกิจภายในประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่ตกต่ำกันอย่างถ้วนหน้า แต่กลุ่มธุรกิจบางกลุ่มกลับไม่ตกอยู่ในสภาพที่ย่ำแย่เช่นนั้น นอกจากจะไม่ได้รับผลกระทบแล้วยังดูเหมือนว่านับตั้งแต่มีการรัฐประหารเกิดขึ้น กลุ่มธุรกิจดังกล่าวกลับมีโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มมากขึ้นกว่าในช่วงที่รัฐบาลซึ่งมาจากการเลือกตั้งบริหารประเทศเสียอีก





กลุ่มธุรกิจดังกล่าวมีจำนวนไม่มาก แต่ที่โดดเด่นที่สุดก็คือ กลุ่มซีพี หรือ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กลุ่มธุรกิจไทยเบฟเวอเรจ นั่นเอง แน่นอนว่าคนไทยทุกคนย่อมรู้จักกันดีอยู่แล้วว่าธุรกิจของกลุ่มซีพีและไทยเบฟฯนั้นครองตลาดทางด้านอาหาร การเกษตร รวมไปถึงธุรกิจค้าปลีก และโทรคมนาคม แต่สิ่งที่น่าสนใจกลับไม่ใช่ธุรกิจของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ หากแต่เป็นโอกาสทางธุรกิจที่เข้ามาจากการหยิบยื่นโดยรัฐบาลทหาร

กรณีแรกคือ เรื่องการสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งพล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่ามีการหารือกับผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในเรื่องการดำเนินการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง ซึ่งผู้บริหารซีพี ได้นำได้นำพันธมิตร 2 บริษัท คือ บริษัท ซิทิก คอนสทรัคชั่น จากฮ่องกง และบริษัท ไห่หนาน จากประเทศจีน เข้าแสดงเจตนาที่จะเข้าร่วมดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เส้นทางกรุงเทพฯ-พัทยา-ระยอง ระยะทาง 194 กิโลเมตร วงเงินเบื้องต้น 1.5 แสนล้านบาท




ในขณะที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจนั้นก็มีข่าวว่าสนใจที่จะลงทุนสร้างรถไฟความเร็วสูงเส้นทางกรุงเทพฯ-หัวหิน แม้ว่าทางกระทรวงคมนาคมจะชี้แจงว่ายังไม่ได้มีการอนุมัติให้สร้างรถไฟความเร็วสูงในเส้นทางดังกล่าว แต่เป็นเพียงการให้ไปศึกษาเท่านั้น และยังคงเปิดโอกาสให้เอกชนรายอื่นที่สนใจเข้าร่วมได้



นอกจากโอกาสทางด้านโครงการคมนาคมระดับประเทศแล้วยังมีอีกโครงการที่น่าสนใจไม่น้อย คือ การที่รัฐบาล คสช. ได้มีมติให้มีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.สลากกินแบ่งรัฐบาลปี 2517 โดยคาดว่าจะใช้ระยะเวลาในการปรับทั้งหมดภายใน 3 เดือน เรื่องข้อกฎหมาย และภายใน 6 เดือน เรื่องราคาให้เสร็จ ตั้งแต่การขายผ่านตู้ออนไลน์ ส่งโควตาไปตามต่างจังหวัดเพื่อให้จังหวัดเป็นศูนย์รวมการขาย หรือขายในร้านสะดวกซื้อ




ซึ่งมาตรการดังกล่าวคือการแก้ไขปัญหาการขายสลากกินแบ่งเกินราคา โดยกำหนดห้ามขายเกิน 80 บาท เล็งขายตามร้านสะดวกซื้อ-เคาน์เตอร์เซอร์วิส แน่นอนว่าร้านสะดวกซื้อ-เคาน์เตอร์เซอร์วิสรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทยก็คือ เซเว่น อีเลฟเว่น ภายใต้การดำเนินการของบริษัท C.P. ALL ในเครือเจริญโภคภัณฑ์ การดำเนินนโยบายขายสลากกินแบ่งในร้านสะดวกซื้อจึงถือว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีมากอีกเรื่องสำหรับเครือซีพี

สิ่งที่น่าสนใจมากกว่าโอกาสทางธุรกิจของเครือซีพี และกลุ่มไทยเบฟฯคือ นโยบายของรัฐบาล คสช. เพราะคนในรัฐบาล คสช. จำนวนมากเคยไม่เห็นด้วยและต่อต้านการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงในประเทศไทย เช่น ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี และที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เคยกล่าวในงานเสวนา Thaipublica Forum ครั้งพิเศษ ในหัวข้อ “งบฯแผ่นดิน เงินของเราเขาเอาไปทำอะไร” ถึง พ.ร.บ.กู้เงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เมื่อวันที่ 13 มิ.ย.2556 โดย ม.ร.ว. ปรีดิยาธร ได้แสดงความไม่เห็นด้วยกับการสร้างรถไฟความเร็วสูงโดยชี้ว่าไม่มีความคุ้มค่าในการลงทุน

“ผมจึงเชื่อว่าคนไม่ขึ้น เพราะเห็นค่าโดยสารแล้ว ขึ้นเครื่องบินเร็วกว่า และถ้าทำแล้วร้าง อย่างแอร์พอร์ตลิงก์ ใครเสียหาย ใครรับภาระ นี่คือสิ่งที่ต้องคิด ไม่ใช่มีอะไรแล้วลงไปหมด เส้นทาง กทม.-เชียงใหม่ ไม่มีทางคุ้มค่า ผมท้าได้เลย”ม.ร.ว.ปรีดิยาธรกล่าว

หากแต่ในวันนี้รัฐบาล คสช. เข้ามาบริหารประเทศโดยมี ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เป็นรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กลับมีการรื้อเอาโครงการรถไฟความเร็วสูงกลับมาปัดฝุ่นทำกันใหม่ ถามว่า ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เปลี่ยนความคิดเรื่องความคุ้มค่าแล้วใช่หรือไม่? ทำไมจึงไม่ออกมาคัดค้านเรื่องนี้?




นอกจากนี้ยังมีอีกหลายท่านที่เคยต่อต้านการสร้างรถไฟความเร็วสูง เช่น นายสุพจน์ ไข่มุกด์ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เจ้าของวาทกรรม “เอาถนนลูกรังให้หมดไปจากประเทศไทยก่อน ทำสิ่งต่าง ๆ ให้เสร็จก่อนไปคิดถึงระบบความเร็วสูง ความเห็นส่วนตัวของผมคิดว่า ความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับประเทศไทย” วันนี้ก็กลับไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นแต่อย่างใด




จึงน่าสนใจว่าสรุปแล้วการต่อต้านนโยบายประชานิยมของรัฐบาลเพื่อไทยนั้นเป็นเพียงละครฉากหนึ่งของการแย่งชิงอำนาจเท่านั้นใช่หรือไม่? เพราะสุดท้ายนโยบายที่เป็นจุดขายของรัฐบาลเพื่อไทยก็กลับถูกรัฐบาลทหาร นำมาสานต่อ ที่สำคัญท่าทีของการต่อต้านนายทุนหรือทุนสามานย์ ของกลุ่มบุคคลที่ต่อต้านรัฐบาลก็เงียบหายไปด้วย ทั้งๆที่นโยบายประชานิยมที่รัฐบาลทหารนำมาสานต่อนั้น ก็กลายเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่กลุ่มนายทุนของประเทศไทย หรือจะมีใครเถียงว่าเครือซีพีและไทยเบฟฯนั้นไม่ใช่ชนชั้นนายทุนของประเทศไทย!!!!