วันอาทิตย์, กรกฎาคม 14, 2567

มารู้จัก เล่ห์เพทุบายที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้วาทศิลป์ ล่อลวงให้เราคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเล่ห์กลเช่นนี้มักจะเป็น “ตรรกะวิบัติ” (logical fallacy) หรือการใช้เหตุผลที่ไม่ถูกต้องมาสร้างความน่าเชื่อถือจอมปลอมขึ้น


คนส่วนใหญ่มักพยายามจูงใจผู้อื่นด้วยการใช้ตรรกะวิบัติ

รู้จักตรรกะวิบัติ 7 รูปแบบ จับผิดเหตุผลจอมปลอมในทุกสถานการณ์

อะแมนดา รักเกรี
บีบีซีนิวส์
13 กรกฎาคม 2024

เมื่อพูดถึงเรื่องการจูงใจคนให้เห็นด้วยกับข้อเสนอบางอย่าง เราอาจไม่รู้เท่าทันว่าคู่สนทนากำลังใช้เล่ห์เพทุบายที่ซ่อนเร้นอยู่ภายใต้วาทศิลป์ ล่อลวงให้เราคล้อยตามได้อย่างง่ายดาย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเล่ห์กลเช่นนี้มักจะเป็น “ตรรกะวิบัติ” (logical fallacy) หรือการใช้เหตุผลที่ไม่ถูกต้องมาสร้างความน่าเชื่อถือจอมปลอมขึ้นนั่นเอง

เวลาที่คุณสำรวจเนื้อหาในสื่อสังคมออนไลน์แพลตฟอร์มต่าง ๆ รับชมข่าวสารทางโทรทัศน์ หรือถกเถียงกับคนคุ้นเคยด้วยประเด็นร้อนล่าสุดซึ่งกำลังเป็นที่สนใจของสังคมในขณะนั้น มีความเป็นไปได้สูงว่า ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังเริ่มการสนทนาหรือรับข้อมูลเข้าสมอง คุณจะพบเข้ากับ “กับดัก” ทางความคิดมากมาย ซึ่งกับดักเหล่านี้ดำรงอยู่คู่มนุษยชาติมาแสนนาน โดยมีประวัติความเป็นมาที่สามารถย้อนกลับไปได้ถึงยุคกรีกโบราณเลยทีเดียว

กับดักทางความคิดนี้เรียกว่า “ตรรกะวิบัติ” ซึ่งพูดง่าย ๆ ก็คือการใช้เหตุผลที่ผิด (เหตุผลวิบัติ) โดยกล่าวยกเหตุผลที่ไม่เป็นความจริงแม้แต่น้อยมาอวดอ้างกับฝ่ายตรงข้าม แต่เหตุผลจอมปลอมนั้นกลับฟังดูน่าเชื่อและน่าคล้อยตามอย่างยิ่ง สำหรับคนที่คิดไม่ทันหรือไม่คุ้นเคยกับตรรกะวิบัติในรูปแบบต่าง ๆ มาก่อน

อย่างไรก็ตาม การใช้ตรรกะวิบัติในหลายกรณีไม่ได้หมายความว่า ผู้พูดเหล่านั้นมีความรู้ความเข้าใจผิดต่อประเด็นที่พูดอย่างสิ้นเชิงหรือมีเจตนาจะหลอกลวงเสมอไป เพราะหลายคนก็มักจะใช้มันบ่อย ๆ ด้วยความเคยชินและโดยไม่ได้ตั้งใจ เนื่องจากมีกระบวนการคิดและการใช้เหตุผลที่ไม่ถูกต้องอยู่เป็นทุนเดิมนั่นเอง

แต่ไม่ว่าผู้พูดจะตั้งใจใช้ตรรกะวิบัติเพื่อล่อหลอกคู่สนทนาให้ติดกับหรือไม่ก็ตาม การเฝ้าระวังเพื่อจับผิดข้อความที่เป็นเหตุผลวิบัตินั้นสำคัญมาก สำหรับการอภิปรายถกเถียงและการตั้งคำถามอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการคิดใช้เหตุผลของตนเอง รวมทั้งควรไตร่ตรองเนื้อหาของการอภิปรายถกเถียงที่เราเริ่มคล้อยตามให้ดีเสียก่อน

เมื่อได้รู้จักกับตรรกะวิบัติครบทุกรูปแบบแล้ว เราจะสังเกตเห็นว่ามันมีอยู่เกลื่อนกล่นในทุกสถานที่และทุกสถานการณ์ ยิ่งเราฝึกฝนตนเองให้คุ้นเคยกับมันได้มากขึ้นเท่าไหร่ ก็ยิ่งง่ายต่อการจับสังเกตและทำความเข้าใจถึงข้อบกพร่องในกระบวนการคิดของคู่สนทนาได้มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งก็จะช่วยให้เราปรับทิศทางการอภิปรายถกเถียงให้ตรงประเด็นได้ง่าย และทำให้ตนเองมีทักษะการคิดวิเคราะห์ที่ดีขึ้นอีกด้วย


กิ้งก่ากำลังครองโลกอยู่หรือไม่ ? การใช้ตรรกะวิบัติแบบ “อ้างว่าพิสูจน์ไม่ได้” ทำให้เรื่องเหลือเชื่อนี้กลายเป็นจริงได้

ตรรกะวิบัติมีอยู่ 7 ชนิดใหญ่ ๆ ด้วยกัน โดยบางส่วนเป็นการใช้เหตุผลผิดไปจากหลักตรรกศาสตร์อย่างแท้จริง หรือที่เรียกว่า “ตรรกะวิบัติอย่างเป็นทางการ” (formal fallacies) บางส่วนเป็นการใช้ภาษาที่ไม่ถูกต้องหรือการอ้างหลักฐานผิด ซึ่งเรียกว่า “ตรรกะวิบัติอย่างไม่เป็นทางการ” (informal fallacies) แต่ไม่ว่าจะเป็นชนิดไหนก็ทำให้เกิดการอ้างเหตุผลแบบผิด ๆ ได้ทั้งสิ้น

1. อ้างว่าพิสูจน์ไม่ได้ (Appeal to ignorance)

ตรรกะวิบัติแบบนี้คือการอ้างเหตุผลอย่างไม่ถูกต้อง ในกรณีที่ขาดหลักฐานพิสูจน์ยืนยันความจริงบางอย่าง โดยผู้พูดจะไม่พยายามหาหลักฐานมาสนับสนุนข้อเสนอของตนเอง แต่จะอ้างว่าการที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้นั่นแหละ คือสิ่งยืนยันว่าเราไม่อาจล่วงรู้ว่ามันจริงหรือไม่จริง และลงท้ายผู้พูดจะมีข้อสรุปแบบเข้าข้างความเห็นของตนเอง โดยอ้างการขาดหลักฐานแบบดื้อ ๆ เสียอย่างนั้น

ตรรกะวิบัติแบบนี้ใช้กันบ่อยในหมู่คนที่เชื่อทฤษฎีสมคบคิด ผลการสำรวจหนึ่งเคยพบว่า มีผู้คนกว่า 10 ล้านคนที่เชื่อว่า กิ้งก่าคือผู้ปกครองโลกและมวลมนุษย์อยู่อย่างลับ ๆ แม้จะไม่มีหลักฐานมาพิสูจน์ยืนยันเรื่องเหลือเชื่อนี้เลยก็ตาม คนที่เชื่อเรื่องกิ้งก่าครองโลกมักจะอ้างว่า “กิ้งก่ามันฉลาดเกินกว่าจะทิ้งร่องรอยหลักฐานเอาไว้ นั่นยิ่งทำให้สถานการณ์ย่ำแย่เสี่ยงอันตรายกันเข้าไปใหญ่ คุณจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามันไม่ใช่เรื่องจริง ?”

คนที่ได้ฟังการอ้างเหตุผลแบบนี้ถึงกับต้องเกาหัวด้วยความงุนงง แต่ถ้าไม่รู้เท่าทัน คุณอาจรู้สึกเห็นด้วยหรือเริ่มคล้อยตามเรื่องเล่าประหลาดพิสดารได้ โดยที่ไม่รู้ตัวว่าติดกับดักทางความคิดเข้าแล้ว

2. โจมตีตัวบุคคล (Ad hominem)

ในบางครั้งผู้พูดจะปฏิเสธไม่ยอมรับข้อเสนอบางอย่าง โดยอ้างว่ามีข้อบกพร่องในตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่นเขาหรือเธอมีบุคลิกลักษณะ, อัตลักษณ์, แรงจูงใจ, หรือมีความสัมพันธ์กับบุคคลอื่นที่ไม่พึงปรารถนา ตัวอย่างเช่นการกล่าวโจมตีบุคลากรทางการแพทย์ที่สนับสนุนการฉีดวัคซีนว่า ได้รับเงินค่าโฆษณาประชาสัมพันธ์มาจากบริษัทยาและเวชภัณฑ์รายใหญ่ หรือการปฏิเสธไม่ยอมรับงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศโลก โดยอ้างว่ามีการปั้นแต่งผลการศึกษาที่เป็นเท็จขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามอุดมการณ์ส่วนตัวของนักวิทยาศาสตร์เอง

หนึ่งในการโจมตีตัวบุคคลชนิดที่ชัดเจนและแปลกประหลาดที่สุด ได้แก่การกล่าวถึงสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับประเด็นการอภิปรายเลย แม้จะเป็นเรื่องของบุคคลที่ตกเป็นเป้าของการโจมตีนั้นก็ตาม เช่นนักการเมืองที่ลงสมัครรับเลือกตั้ง กล่าวถึงข้อเสียของคู่แข่งระหว่างการประชันวิสัยทัศน์ทางโทรทัศน์ โดยตำหนิรสนิยมการเลือกเสื้อผ้า, ทรงผม, หรือระดับความสามารถในการเล่นกอล์ฟ โดยอ้างว่านั่นคือสัญญาณของการมีแนวโน้มจะเป็นผู้นำที่ไม่ดีในอนาคต


การอ้างเหตุผลแบบลื่นไหลไปเรื่อยทำให้ผู้ฟังไขว้เขว โดยผู้พูดตั้งข้อสมมติถึงความเป็นไปได้ในอนาคต

3. อ้างเหตุผลแบบลื่นไหลไปเรื่อย (Slippery slope)

ตรรกะวิบัติแบบนี้อ้างว่าการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือการตัดสินใจใช้นโยบายหรือมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง จะนำไปสู่สภาพการณ์ที่รุนแรงและเลวร้ายยิ่งกว่าเดิมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คล้ายกับการที่วัตถุไหลเลื่อนตกลงไปตามทางชันที่ลื่นมาก ๆ นั่นเอง

การใช้เหตุผลที่ผิดแบบนี้พบได้บ่อยในการอภิปรายถกเถียงทางการเมือง ดังเช่นที่กลุ่มผู้คัดค้านการสมรสของคนเพศเดียวกันในสหรัฐฯ และยุโรป มักยกมาอ้างบ่อยครั้งเพื่อขัดขวางการออกกฎหมายรับรองสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศดังกล่าว

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย วิทยาเขตลอสแอนเจลีส (ยูซีแอลเอ) ที่ตีพิมพ์เผยแพร่เมื่อปี 2016 ระบุว่าผู้ที่เห็นด้วยกับเสียงคัดค้านในประเด็นข้างต้น ถูกจูงใจด้วยข้อความที่กล่าวอ้างว่า การอนุญาตให้คนเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกกฎหมาย จะนำไปสู่ความเสื่อมทรามทางศีลธรรมของสังคมโดยจะมีการสำส่อนทางเพศกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามต่อวิถีการดำรงชีวิตของคนทั่วไป

จะเห็นได้ว่าการอ้างเหตุผลของกลุ่มผู้คัดค้านนั้นผิดอย่างชัดเจน เพราะแทนที่จะอภิปรายถึงข้อดีข้อเสียของตัวนโยบายการสมรสเพศเดียวกัน แต่กลับไปมุ่งสร้างความกลัวจากผลร้ายที่ตนคาดการณ์หรือทึกทักเอาเองว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งก็คือการล่มสลายของสังคมจารีตแบบดั้งเดิมในกรณีนี้

4. หุ่นฟาง (Strawman)

นี่คือหนึ่งในรูปแบบของตรรกะวิบัติที่พบได้บ่อยที่สุดในสื่อสังคมออนไลน์ โดยผู้พูดจะกล่าวบิดเบือนข้อเสนอของฝ่ายตรงข้าม ให้ฟังดูไร้สาระมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้ข้อเสนอนั้นตกเป็นเป้านิ่งที่อ่อนแอและสามารถโจมตีเอาชนะได้ง่าย เหมือนกับการสร้างหุ่นฟางขึ้นมาเป็นเป้าหมายปลอมแทนที่คนจริง

ตัวอย่างเช่นการถกเถียงเรื่องสุขภาพที่มีผู้เสนอว่า การบริโภคน้ำตาลมากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคภัยอย่างโรคหัวใจและหลอดเลือดได้ ฝ่ายที่คัดค้านโดยใช้ตรรกะวิบัติแบบหุ่นฟางจะกล่าวว่า “อ๋อ...แล้วยังไงล่ะ น้ำตาลจะฆ่าทุกคนและต้องกำหนดให้เป็นสิ่งผิดกฎหมายไปเลยไหม พิลึกจริงเชียว”

คำกล่าวดังข้างต้นบิดเบือนเนื้อหาสาระที่แท้จริงของข้อเสนอดั้งเดิม โดยทำให้กลายเป็นหุ่นฟางหรือเป้าหมายลวงที่สามารถถกเถียงเอาชนะได้ง่ายขึ้น ดังนั้นวิธีตอบโต้การใช้เหตุผลจอมปลอมแบบหุ่นฟางที่ดีที่สุด จึงเป็นการสร้าง “มนุษย์เหล็กกล้า” (Steelman) ที่ไร้จุดอ่อนและโจมตีได้ยาก ซึ่งก็คือการนำเสนอความคิดของฝ่ายตรงข้ามซ้ำอีกครั้ง โดยกล่าวบรรยายให้ชัดเจนละเอียดลออยิ่งกว่า ก่อนจะเข้าสู่การอธิบายให้เหตุผลว่าทำไมคุณจึงไม่เห็นด้วยกับพวกเขา


ความรู้ความชำนาญนั้นมีค่ามาก แต่การกล่าวอ้างผู้มีอำนาจใช้สถานะเพียงอย่างเดียวในการจูงใจให้เหตุผล

5. อ้างผู้มีอำนาจ (Appeal to authority)

ตรรกะวิบัติอันตรายอีกชนิดหนึ่ง ได้แก่การอ้างว่าชื่อเสียง, สถานะ, เกียรติ, หรือยศศักดิ์ของบุคคลแต่เพียงอย่างเดียว ก็เพียงพอแล้วที่จะรับประกันว่าคำกล่าวของเขาหรือเธอเป็นความจริง เพราะเมื่อใดที่เรามองว่าบุคคลผู้หนึ่งมีอำนาจเหนือกว่า ธรรมชาติของมนุษย์จะเกิดอคติทางความคิดขึ้นโดยอัตโนมัติ จนเกิดความลำเอียงคิดเข้าข้างบุคคลผู้นั้นว่า จะต้องเป็นผู้มีความสามารถเหนือคนทั่วไปในทุกด้านอย่างแน่นอน ทั้งเกิดความเชื่อมั่นว่าเขาหรือเธอจะทำได้ดี แม้ในทักษะที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อนเลยก็ตาม

แม้กระทั่งการเชื่อถือเพียงเพราะเป็นผู้ทรงคุณวุฒิหรือมีประสบการณ์สูงเฉพาะด้าน จนได้รับการยกย่องนับถือจากคนในวงการหรือสาธารณชนในวงกว้าง ก็ไม่อาจใช้เป็นเหตุผลในการพิสูจน์ว่าเรื่องที่เจ้าตัวกล่าวจริงหรือไม่จริงได้ เพราะการอ้างอิงผู้มีอำนาจหรือตัวบุคคลโดยดูว่าเขาเป็นใครเพียงอย่างเดียว แต่ไม่พิจารณาการแสดงหลักฐานหรือการใช้เหตุผลของเขาเลย ก็ยังจัดเป็นตรรกะวิบัติชนิดหนึ่งอยู่ดี

นอกจากนี้ยังมีการใช้เหตุผลผิดในแบบที่เรียกว่า “อ้างผู้มีอำนาจที่ไม่เกี่ยวข้อง” (Appeal to irrelevant authority) ซึ่งก็คือการที่คนส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะเชื่อคำกล่าวของผู้มีชื่อเสียง แม้คนดังผู้นั้นจะไม่มีความรู้ความชำนาญในเรื่องที่พูดไปเลยก็ตาม ซึ่งเป็นลักษณะของกระแสความหลงใหลในตัวอินฟลูเอนเซอร์ของโลกออนไลน์ยุคปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ตรรกะวิบัติแบบอ้างผู้มีอำนาจที่ไม่เกี่ยวข้องอาจสังเกตเห็นได้ยาก อย่างเช่นกรณีการอภิปรายถกเถียงเรื่องการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก กลุ่มผู้ที่คัดค้านว่าภาวะโลกรวนไม่มีอยู่จริง มักอ้างคำพูดของผู้เชี่ยวชาญที่ดูเป็นคนเก่งเหนือมนุษย์เช่นนักฟิสิกส์ทฤษฎี ทำให้ผู้ที่ไม่ทันได้พิจารณาไตร่ตรองลืมคิดไปว่า ผู้เชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์ทฤษฎีนั้นมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์ด้านภูมิอากาศน้อยมาก

6. ทางเลือกลวง (False dichotomy)

ผู้ที่ใช้ตรรกะวิบัติแบบนี้จะนำเสนอสถานการณ์ที่ซับซ้อน โดยให้ทางเลือกแบบสุดโต่งที่ตรงข้ามกันมาเพียงสองทาง ในแบบที่กล่าวได้ว่า “ถ้าไม่เลือกอย่างนั้น ก็จะต้องเป็นอย่างนี้” แทนที่จะนำเสนอความเป็นไปได้ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นทางเลือกที่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง

หลายคนคงคุ้นเคยกับประโยค “ไม่เลือกเราเขามาแน่” หรือที่อดีตประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช กล่าวหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 ว่า “เข้าเป็นพวกเดียวกันกับเรา ถ้าไม่อย่างนั้นก็ถือว่าต่อต้าน” ซึ่งข้อความนี้ส่งสารถึงประชาคมนานาชาติว่าพวกเขามีทางเลือกแค่สองทาง นั่นก็คือสนับสนุนสหรัฐอเมริกาอย่างเต็มตัว โดยเข้าร่วมสงครามในอัฟกานิสถาน หรือไม่ก็เลือกที่จะเป็นศัตรูกับสหรัฐฯ และพันธมิตรไปเลย แม้ว่าในความเป็นจริง ชาติต่าง ๆ ยังมีทางเลือกในการดำเนินนโยบายต่างประเทศอีกหลากหลายแนวทาง กระทั่งความเป็นพันธมิตรหรือศัตรูก็มีอยู่หลายแบบเช่นเดียวกัน


การแสร้งเฉไฉเปลี่ยนเรื่อง ดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้ออกห่างจากประเด็นที่เป็นสาระแท้จริง

7. เปลี่ยนเรื่อง - ย้อนกล่าวหา (Whataboutism)

ในบางครั้งการใช้เหตุผลผิดแบบนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของตรรกะวิบัติชนิด “ปลาแฮร์ริงสีแดง” (Red Herring) ซึ่งก็คือการใช้ข้อมูลที่ไม่เกี่ยวข้อง มาดึงดูดความสนใจของผู้ฟังให้ออกห่างจากประเด็นที่เป็นสาระแท้จริง บางทีก็เป็นการแสร้งเฉไฉเปลี่ยนเรื่องเมื่อถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิด ในทำนองที่ย้อนกล่าวโทษไปยังฝ่ายตรงข้ามว่ามีความผิดอยู่เช่นกัน แต่เป็นความผิดเรื่องอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับที่เป็นประเด็นตอนแรกเลย

ตัวอย่างเช่นเมื่อคู่รักทะเลาะกัน ฝ่ายหนึ่งอาจกล่าวหาก่อนว่า “ฉันรู้สึกเจ็บปวดใจจริง ๆ เมื่อคุณทำสิ่งนี้” ทว่าฝ่ายตรงข้ามที่ใช้ตรรกะวิบัติแบบแสร้งเฉไฉเปลี่ยนเรื่องมักจะตอบโต้ว่า “งั้นเหรอ...แต่คุณก็ไม่เคยช่วยเอาขยะไปทิ้งเหมือนกัน”

ในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนของตรรกะวิบัติประเภทนี้ ได้แก่ตอนที่รัสเซียถูกกล่าวหาว่าละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งผู้นำของรัสเซียได้กล่าวตอบโต้ว่า “แล้วทีชาติตะวันตกล่ะ” ทำให้ผู้ที่เกลียดชังสหรัฐฯ และพันธมิตรอยู่เป็นทุนเดิม ขานรับการต่อต้านระเบียบโลกของรัสเซียอย่างแข็งขัน เนื่องจากลืมพิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า นั่นคือคำกล่าวสับปลับที่เป็นตรรกะวิบัติอย่างหนึ่งนั่นเอง

https://bbc.in/4bP08dO