วันพุธ, กรกฎาคม 24, 2567

สาเหตุวิกฤตการณ์บังกลาเทศ... เรียกร้องการปฏิรูป ไม่ใช่การยกเลิก


Subhatra Bhumiprabhas
5 hours ago
·
วิกฤตการณ์บังกลาเทศ...
เรียกร้องการปฏิรูป ไม่ใช่การยกเลิก
“บังกลาเทศ ประเทศที่ถูกออกแบบมาให้ไม่สามารถปฏิบัติการได้ มองเห็นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่ถูกจำกัดด้วยสภาพดินฟ้าอากาศและภูมิประเทศ ทุกปีฝนมรสุมเพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำสาขาของแม่น้ำคงคา แม่น้ำพรหมบุตร และแม่น้ำเมฆนา และท่วมพื้นที่ขนาดใหญ่ของบังกลาเทศ ความแห้งแล้งและพายุไซโคลนเพิ่มความโชคร้ายของประเทศ ขณะที่ประชากรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง...”/ อเล็กซ์ ฟาน ทัลซัลมานน์/ Indian Summer ประวัติศาสตร์ลับปิดฉากจักรวรรดิอังกฤษ/ บทที่ 20 เสียงสะท้อนก้องกลับ
• สถานการณ์ในบังกลาเทศตอนนี้ รัฐบาลประกาศเคอร์ฟิว และให้ยิงทุกคนได้หากมีการฝ่าฝืน ในการปราบปรามการประท้วง คร่าชีวิตผู้ประท้วง (รวมทั้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ) ไปแล้วอย่างน้อย 174 คน และถูกจับกุมคุมขังไว้ราว 2,500 คน
การประท้วงเริ่มต้นจากการที่รัฐบาลสงวนโควตางานส่วนราชการเกือบ 60% ไว้ให้ประชาชนบางกลุ่ม
โพสต์นี้จะเรียบเรียงที่มาและสาเหตุของเรื่องนี้ค่ะ
อันดับแรกจำเป็นต้องย้อนประวัติศาสตร์การเกิดประเทศบังกลาเทศก่อนค่ะ เพราะเป็นที่มารากเหง้าของการประท้วงเรื่องโควตางานราชการในปี 2024
บังกลาเทศประกาศแยกตัวจากปากีสถานในปี 1971
ประวัติศาสตร์เอกราชก่อนหน้านั้น คือเมื่ออังกฤษยอมถอนตัวออกจากบริติชอินเดียในปี 1947 โดยทิ้งระเบิดลูกใหญ่ไว้ คือแบ่งบริติชราชเป็นอินเดียกับปากีสถาน การขีดเส้นแบ่งในปี 1947 ไม่ใช่แบ่งครึ่ง แต่เป็นการเฉือนแบ่งปีก 2 ข้างของบริติชอินเดีย เป็นปากีสถานตะวันออก และปากีสถานตะวันตก โดยมีอินเดียอยู่ตรงกลาง
ปี 1971 ปากีสถานตะวันออกแยกมาเป็นบังกลาเทศ ไม่ได้แยกแบบเจรจาโดยสันติ แต่เป็นสงครามรบพุ่งให้ได้มา มีผู้คนมากมายสังเวยชีวิตในสงครามเพื่อแยกประเทศของบังกลาเทศครั้งนี้
และวีรกรรมของคนเหล่านี้ผู้ถูกเรียกว่า “freedom fighters” กลายมาเป็นชนวนของการประท้วงในปี 2024 ที่มีผู้ประท้วงเสียชีวิตจากการถูกปราบปรามของรัฐบาลไปแล้วอย่างน้อย 174 คน ( ตัวเลข ณ วันนี้) ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษา
ต่อไปนี้คือที่มาของการประท้วงค่ะ
• รัฐบาลบังกลาเทศต้องการตอบแทนผู้ร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบังกลาเทศในปี 1971 จึงสงวนโควตาตำแหน่งงานราชการให้คนกลุ่มนี้
ทั้งนี้ ฉากหลังของสถานการณ์นีคือ นางชีค ฮาซินา วาเจ็ด (Sheikh Hasina Wajed) นายกรัฐมนตรีบังกลาเทศประกาศว่าเธอจะยังคงโควตาสำหรับทายาทของนักต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศไว้ แต่การประกาศสนับสนุนโควตาดังกล่าวทำให้นักศึกษาไม่พอใจและประท้วง
• ทั้งนี้ขบวนการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้ปฏิรูปการจัดสรรโควตาตำแหน่งงานในรัฐบาล เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2018 และศาลสูงบังกลาเทศยกคำร้องที่เรียกร้องการปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยระบบโควตาในประเทศที่มีมาตั้งแต่ต้นทศวรรษ 1970
• นายกรัฐมนตรีฮาซินาตอบโต้โดยการใช้อำนาจพิเศษของนายกรัฐมนตรีประกาศยกเลิกโควตาตำแหน่งงานราชการทั้งหมด ซึ่งสร้างความตกใจให้นักศึกษา เพราะพวกเขาแค่ต้องการให้ปฏิรูป ไม่ใช่ยกเลิก เพราะเป็นที่ชัดเจนว่าถ้าบรรดาผู้ร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพของบังกลาเทศไม่ได้โควตานี้ ก็จะไม่มีกลุ่มใดได้เช่นกัน
• แม้จะมีการเจรจาหลายรอบ แต่นายกรัฐมนตรีฮาซินายืนยันการตัดสินใจของตัวเอง และเริ่มปฏิบัติการตามอำนาจพิเศษนี้ตั้งแต่ปี 2020
• วันที่ 5 มิถุนายน 2024 ศาลสูงบังกลาเทศพิพากษายกเลิกคำสั่งนายกรัฐมนตรีเรื่องโควตาเป็นโมฆะ แต่การแทรกแซงดังกล่าวนี้ของศาลสูงก็ทำให้ทายาทของผู้ร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพของประเทศยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาล และรัฐบาลนางฮาซินาขานรับโดยยื่นอุทธรณ์กับแผนกอุทธรณ์ของศาลสูง
• ขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีฮาซินาพยายามจะยืนยันให้สงวนโควตา 30% ไว้ให้ทายาทผู้้ร่วมต่อสู้เพื่ออิสรภาพในระบบโควตาใหม่
และนี่คือสาเหตุของการประท้วงครั้งนี้

https://www.facebook.com/subhatra.bhumiprabhas/posts/pfbid02TYpaSkQLkruXsdG6CMH1JT8sC21YGiVX5eZgxTxnqoG6JSxSKgCWDk2WUgNdFdWJl