วันพุธ, กรกฎาคม 10, 2567

เรือดำน้ำแห่งความฉาวโฉ่! : ลองคิดเล่นๆ ถ้าท่านไปซื้อรถยนต์สักคัน แล้วบริษัทรถขอเปลี่ยนเครื่อง และเอาเครื่องที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่ปรากฏสัญญาใส่ให้แทน ท่านคิดว่า ท่านจะยอมรับการส่งมอบรถคันนี้หรือไม่


The Politics ข่าวบ้าน การเมือง
13 hours ago
·
เรือดำน้ำแห่งความฉาวโฉ่!
ความหดหู่ของราชนาวีไทย
ศ.กิตติคุณ ดร. สุรชาติ บำรุงสุข
ปัญหาความมั่วและชุลมุนของความพยายามที่จะทำให้ปัญหาสัญญาการจัดซื้อเรือดำน้ำที่เป็น “เรือจีน-เครื่องเยอรมัน” ได้รับการแก้ไขเป็น “เรือจีน-เครื่องจีน” นั้น ยิ่งดำเนินไป ก็ยิ่งประสบปัญหา … ว่าที่จริง การแก้ปัญหาของกระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือในเรื่องนี้ ยิ่งนานวัน ยิ่งมีสภาพของ “ลิงแก้แห” จนถึงขั้นที่ผู้บัญชาทหารเรือ ต้องออกมากล่าวว่า “กองทัพเรือขออ้อนวอนท่านได้โปรดเมตตา ให้กองทัพเรือได้เรือดำน้ำด้วยนะครับ” ซึ่งเป็นครั้งแรกในชีวิตทางวิชาการที่การจัดหายุทโธปกรณ์ถูกอธิบายด้วย “ปัจจัยความเมตตา”
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่กระทรวงกลาโหมและกองทัพเรือคิดเอาเองง่ายๆ ด้วยการตอบรับขอเสนอในการนำเอาเครื่องยนต์จีนมาติดตั้งในเรือดำน้ำจีน แทนเครื่องยนต์เยอรมัน ตามที่ราชนาวีได้สั่งต่อ และรัฐบาลไทยได้ลงนามในฐานะคู่สัญญานั้น อาจจะไม่ง่ายอย่างที่คิด เพราะในทางการเมือง การตอบรับจะเป็น “ผลงานโบว์ดำ” ของรัฐมนตรีสุทิน คลังแสง อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะติดตัวนักการเมืองอย่างคุณสุทินไปอีกนาน และทั้งยังอาจส่งผลต่อสถานะของตัวนายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทยเองอีกด้วย
ในอีกด้านก็มีข่าวในแวดวงสื่อว่า จีนนำเสนอโครงการเรือดำน้ำให้แก่กองทัพเรืออินโดนีเซีย พร้อมเครื่องเยอรมัน และรับประกันว่า จะไม่ “ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย” แบบทหารเรือไทย … ไม่ว่าข่าวนี้จะเป็นจริงหรือไม่ก็ตาม แต่ข่าวที่ปรากฏ ย่อมทำให้เกิดคำถามอย่างมากต่อโครงการเรือดำน้ำไทยว่า เรากำลังเห็นการ “เล่นตลก” ของธุรกิจเรือดำน้ำจีนหรือไม่ เท่าๆ กับคำถามถึง ขีดความสามารถของรัฐมนตรีกลาโหมและผู้นำทหารเรือไทยในการต่อรองกับจีน ไม่ใช่การหาทางออกด้วยการ “ยอมจีนหมด” เช่นในข่าว
นอกจากนี้คำถามสำคัญในทางกฎหมาย คือ การเปลี่ยน “ชนิด” ของเครื่องยนต์ น่าจะต้องถือเป็นประเด็นสำคัญในสัญญาการจัดซื้อจัดหาใช่หรือไม่ อีกทั้ง กฤษฎีกาสามารถชี้ได้หรือไม่ว่า การเปลี่ยนเครื่องยนต์จะไม่กระทบต่อสถานะและขีดความสามารถของระบบอาวุธ หรือบริษัทอาวุธจีนจะเป็นผู้ตอบคำถามนี้ให้ฝ่ายไทย
ลองคิดเล่นๆ ว่า ถ้าท่านไปซื้อรถยนต์สักคัน แล้วบริษัทรถขอเปลี่ยนเครื่อง และเอาเครื่องที่มีคุณภาพต่ำกว่าที่ปรากฏสัญญาใส่ให้แทน ท่านคิดว่า ท่านจะยอมรับการส่งมอบรถคันนี้หรือไม่ … ถ้าเรื่องในลักษณะดังกล่าวเป็นการจัดซื้อของราชการพลเรือนแล้ว การรับมอบเช่นนี้ รับประกันได้ว่ามีคนติดคุกแน่นอน
แต่การจัดซื้อของทหาร มักมี “ข้อยกเว้น” ทางการเมืองและกฎหมายเสมอ เช่น ปัญหารถถังยูเครนที่ไม่มีเครื่องเยอรมัน ปัญหาเรือเหาะที่เหาะไม่ได้ ปัญหาเครื่องตรวจระเบิดที่ตรวจไม่ได้ และเป็นเพียงกล่องพลาสติกเปล่าพร้อมการ์ดพลาสติกหนึ่งใบ
เรื่องเหล่านี้กลายเป็นความ “ฉาวโฉ่” ของกองทัพไทย และเป็นภาพสะท้อนของ “เสนาพาณิชย์นิยม” ที่เกิดจากการแสวงประโยชน์และผลตอบแทนผ่านการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ อันเป็นภาพสะท้อนอีกด้านของ “กองทัพในประเทศกำลังพัฒนา” ที่น่าสะท้อนใจในภารกิจของการป้องกันประเทศ
สำหรับกองทัพเรือนั้น ปัญหาโครงการเรือดำน้ำเกิดขึ้นด้วย “ความลึกลับซับซ้อน” จนความจริงในเรื่องนี้ ทำได้แค่เป็นเรื่องที่เล่าสู่กันฟังในวงสนทนา … เชื่อว่าถ้าได้ฟังเรื่องจริงกันแล้ว หลายคนอาจต้องอุทานแบบชื่อหนังสือว่า “Believe It or Not” กับการจัดหาที่เกิดขึ้น เนื่องจากอาจไม่มีเรื่องของ “ยุทธศาสตร์ทางทะเล” เป็นประเด็นหลักรองรับการตัดสินใจในเบื้องต้นเลย
สมมติในแบบนักวิชาการว่า ถ้าเราต้องทำวิจัยเรื่อง กำเนิดโครงการเรือดำน้ำของราชนาวีไทยในครั้งนี้ นักวิจัยอาจต้องเขียนเรื่องนี้ด้วยความ “หดหู่” อย่างยิ่ง เพราะความจริงที่ปรากฏจากการค้นคว้า อาจมีแต่เรื่องของ “ผลประโยชน์” และไม่มีเรื่องของ “ความมั่นคงทางทะเล” เลยก็ได้
ปัจจัยสำคัญอีกส่วนมาจากผู้นำรัฐประหาร 2557 ที่มีบทบาทอย่างมากต่อการกำเนิดของโครงการนี้ คงไม่ผิดนักที่จะกล่าวว่า พวกเขาเป็นอีกส่วนของความ “หดหู่” อย่างสำคัญในเรื่องนี้ จนอดตั้งคำถามแบบย้อนเวลาไม่ได้ว่า ถ้าไม่มีรัฐประหาร 2557 แล้ว โครงการเรือดำน้ำจะเป็นจริงเพียงใด เนื่องจากรัฐบาลพลเรือนเอง อาจไม่พร้อมที่จะเสี่ยงต่อการถูกวิพากษ์วิจารณ์ในเวทีสาธารณะอย่างมาก อันจะกระทบต่อฐานเสียงและความน่าเชื่อถือของรัฐบาล
แต่สำหรับรัฐบาลรัฐประหารแล้ว พวกเขาไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยเช่นนี้ เพราะมีอำนาจของกองทัพเป็นหลักประกันทางการเมือง และในอีกด้าน การซื้ออาวุธอาจเป็นเครื่องมือในการ “ซื้อใจ” ผู้นำทหารในอีกส่วน นอกเหนือจากการได้ผลตอบแทนในทางเศรษฐกิจจากโครงการอาวุธ ดังนั้น รัฐประหารจึงเป็น “นาทีทอง” ของการจัดหายุทโธปกรณ์ของกองทัพไทยเสมอ
นอกจากนี้ การพาประเทศเข้าสู่วงจรการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน จะตามมาด้วยการจัดหาเรือพี่เลี้ยง (ซึ่งนำเข้าประจำการแล้ว) และอู้แห้งเพื่อการซ่อมบำรุง อันจะมีค่าใช้จ่ายทางด้านงบประมาณตามมาอีกเป็นจำนวนมากเช่น ท่าจอดเรือ คลังอาวุธ เป็นต้น และย่อมตามมาด้วยเรือลำที่ 2 และ 3
สรุปแล้วเรื่องราวเหล่านี้ ไม่เพียงสะท้อนถึงปัญหา “เสนาพาณิชย์นิยม” ของกระบวนการจัดหายุทโธปกรณ์เท่านั้น ยังบ่งชี้ถึงความอ่อนแอของการจัดทำ “ยุทธศาสตร์ทหาร” ที่รองรับต่อความต้องการที่เป็นจริงของกองทัพ อันส่งผลสุดท้ายให้ ราชนาวีไทยมี “เรือดำน้ำแห่งความฉาวโฉ่” เข้าประจำการอย่างน่าหดหู่ใจเท่านั้นเอง !