วันพุธ, กรกฎาคม 10, 2567

ทับลาน ทับใครมาบ้างก่อนเป็นอุทยานฯ


Land Watch THAI จับตาปัญหาที่ดิน
13 hours ago
·
ทับลาน ทับใครมาบ้างก่อนเป็นอุทยานฯ
กระแส #saveทับลาน พุ่งขึ้นเทรนด์ X อันดับ 1 ในประเทศไทย พร้อมกับกระแสที่ออกมาเรียกร้องให้คัดค้านการประกาศเส้นแนวเขตที่จะทำให้สูญเสียพื้นที่ป่ากว่า 2.6 แสนไร่ ทำให้ผู้คนต่างสนใจประเด็นอุทยานแห่งชาติทับลานเป็นอย่างมาก ตลอดทั้งวันจึงมีผู้คนทั้ง อินฟลูเอนเซอร์ เพจข่าวต่างๆ ออกมาตอบรับกระแส #saveทับลาน กันอย่างล้นหลาม จนผู้คนเริ่มมีข้อสงสัยในข้อเท็จจริง บางอย่างของกระแสนี้ และเริ่มตั้งข้อสงสัยกับ #saveทับลาน เช่น อ.คมลักษณ์ ไชยยะ มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนครศรีอยุธยา
“การล่ารายชื่อคัดค้านกันพื้นที่ อช.ทับลาน น่าจะมีการสื่อสารที่ไม่ชัดเจนพอ มันมีเรื่องสิทธิชุมชนที่เป็นประเด็นประกาศที่ทับซ้อนอยู่ด้วย แต่ตอนนี้มีการปลุกกระแสจนเหมือนคนอ่านคิดว่าเป็นเรื่องนายทุนรุกที่ป่าเท่านั้น”
หลายคนจึงเริ่มสับสนกับข้อมูล ประวัติความเป็นมา ตัวละครที่อยู่ในพื้นที่แล้วสถานการณ์ในพื้นที่เกิดอะไรขึ้นบ้าง วันนี้ Land Watch Thai จึงอยากนำเสนอข้อมูลอีกด้านที่เกี่ยวข้องกับอุทยานแห่งชาติทับลาน ก่อนจะมาถึง #saveทับลาน ทับลานทับใครมาบ้างก่อนจะเป็นอุทยานฯ
1.การจะทำความเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ มีความจำเป็นอย่างมากที่ต้องสืบย้อนไปถึงที่มาขอความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในแต่ละยุคสมัย งั้นเรามาเริ่มกันที่จุดเริ่มต้นกันก่อน ปัญหาของเรื่องนี้มันเริ่มมาจาก แนวเขตอุทยานแห่งชาติ ในปี พ.ศ. 2524 ซึ่งเป็นการประกาศโดยกรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) โดยการประกาศแนวเขต ไม่ได้มีการสำรวจและกันพื้นที่ชุมชนออกจากแนวเขตอุทยานฯ จึงทำให้อุทยานแห่งชาติทับลานไปทับซ้อนทับกับพื้นที่ชุมชนและเขตปฏิรูปที่ดิน ที่กรมป่าไม้ส่งมอบพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและสหกรณ์ โดยกำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ในปี พ.ศ. 2521 ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรซึ่งเป็นโครงการที่รัฐบาลไทยไปกู้เงินธนาคารโลกเพื่อมาจัดสรรที่ดิน
2. เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2524 นี้ยังซ้อนทับกับพื้นที่ที่ได้รับการจัดตั้งตามพ.ร.บ.ปกครองท้องที่ พ.ศ.2457 และชุมชนที่รัฐโดยฝ่ายความมั่นคง อพยพชุมชนที่อยู่กระจัดกระจาย ให้มารวมกันและจัดตั้งหมู่บ้าน ภายใต้ชื่อชุมชน “ไทยสามัคคี” ในพื้นที่อำเภอวังน้ำเขียว จ.นครราชสีมา ที่อุทยานฯประกาศทับลงไป
3. ยังมีพื้นที่ทับซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการโครงการของรัฐเพื่อความมั่นคงตามมติคณะรัฐมนตรี คือ โครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อความมั่นคงในพื้นที่ (พมพ.) และโครงการจัดที่ดินทำกินให้กับราษฏรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม (คจก.) ซึ่งเป็นนโยบายของภาครัฐเอง สะท้อนให้เห็นว่า สภาพของพื้นที่ดังกล่าวไม่ได้มีสภาพพื้นที่เป็น ป่าไม้ แล้ว
4. พ.ศ. 2533 กอ.รมน.ภาค 2 ได้เสนอให้กรมป่าไม้ (ในขณะนั้น) แก้ไขปรับปรุงแนวเขต โดยมีข้อเสนอให้ปรับปรุงแนวเขต โดยคณะรัฐมนตรีได้มีมติ 22 เมษายน 2540 ยืนยันแนวทางการแก้ไขปัญหาด้วยด้วยการปรับปรุงแนวเขต ซึ่งกระบวนการปรับปรุงแนวเขตนี้ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ชุมชน ในพื้นที่และองค์กรปกครงอส่วนท้องถิ่น ได้ดำเนินการสำรวจรังวัดและจัดทำแผนที่ ฝังหลักแนวเขตอุทยานร่วมกันเป็นเส้นแนวเขตใหม่ ในปี พ.ศ. 2543 ตามสภาพความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในขณะนั้น
5.พ.ศ. 2545 เกิดการปฏิรูประบบราชการ และจัดตั้งกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ขึ้นมาเป็นหน่วยงานใหม่ ซึ่งกรมอุทยานได้แบ่งกลุ่มและแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 แนวทางอย่างชัดเจน คือ
กลุ่มที่ 1 พื้นที่ทับซ้อนกับเขตปฏิรูปที่ดิน อ.วังน้ำเขียว อ.ครบุรี และอ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา เนื้อที่ 58,582 ไร่
กลุ่มที่ 2 พื้นที่จัดที่ดินทำกินตามโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฏรผู้ยากไร้ (คจก.) อ.เสิงสาง อ.ครบุรี จ.นครราชสีมา และอ.นาดี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 59,183 ไร่ สภาพเป็นพื้นที่ที่กินและที่อยู่อาศัยของชาวบ้านเต็มพื้นที่เห็นควรให้ดำเนินการตามมติ ครม.ตามมติ ค.ร.ม. 30 มิถุนายน พ.ศ.2541
กลุ่มที่ 3 กลุ่ม 3 ราษฎรที่อยู่อาศัย/ทำกินในเขตอุทยานฯ ทับลาน และปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย. 2541 เนื้อที่ 152,072 ไร่
6. ข้อสังเกต ของแนวทางการแก้ไขปัญหา คือทางหน่วยงานภาครัฐ ทั้ง กรมอุทยาน ส.ป.ก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เสนอแนวทางในการแก้ไขปัญหาออกมาอย่างชัดเจน เห็นได้จากในปี พ.ศ.2548 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์พืช โดยได้มีหนังสือยืนยันต่อศูนย์มรดกโลก องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) เพื่อประกอบการขึ้นทะเบียนแหล่งมรดกทางธรรมชาติผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ ว่าจะมีการปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานอย่างแน่นอน โดยกันพื้นที่ส่วนที่เป็นชุมชนและป่าเสื่อมโทรมออกและผนวกพื้นที่ส่วนที่เป็นป่าสมบูรณ์เข้ามา โดยมีแนวเขตและเนื้อที่สอดคล้องกับเส้นแนวเขตปี พ.ศ. 2543
7. เส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานปี พ.ศ. 2543 จึงไม่ใช่เส้นที่เกิดขึ้นจากการขีดเขตแผนที่ในห้องปฏิบัติงานของส่วนกลาง แต่เป็นเส้นที่เกิดจากการตรวจสอบร่วมกันในพื้นที่จริง มีความถูกต้องครบถ้วนสมบูรณ์ มีขั้นตอนทางกฎหมายและคำสั่งของทางราชการรองรับ เพียงแต่ยังไม่เกิดผลใช้บังคับในทางกฎหมายอันเนื่องมาจากการขาดความต่อเนื่องของนโยบายรัฐบาลและการขาดความจริงจังในการแก้ไขปัญหาของรัฐบาล
8. แต่ไม่รู้ด้วยกระแสแบบไหน จึงทำให้รายละเอียดของปัญหากรณีทับลานถูกนำเสนอเพียงแค่ภาพของกลุ่มนายทุนได้ประโยชน์จากการกำหนดเส้นแนวเขตร่วมกันนี้ ภาพของผืนป่าที่ถูก ใช้คำว่า“เฉือนออกไป” จึงเป็นการบิดเบือน บดบังข้อเท็จจริงของภาพที่คนในพื้นที่ทำกินและอยู่อาศัยมาแต่เดิมเหล่านี้
9. ศ.ดร. ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ตั้งข้อสังเกตุว่ากรณี #saveทับลาน อุทยานแห่งชาติหลายแห่ง ซึ่งจัดตั้งโดยไม่เคยสนใจที่จะสำรวจและกันพื้นที่ทำกินของชาวบ้านที่อยู่มาก่อนออกก่อนที่จะประกาศเป็นเขตป่า สนใจแต่จะเพิ่มพื้นที่ป่าให้มากเข้าไว้ แต่ไม่สนสี่สนแปดว่า ป่าที่จัดตั้งขึ้นนั้นไปแย่งที่ทำกินของใครเขามาบ้าง กลายเป็นชนวนความขัดแย้ง เผชิญหน้าระหว่างรัฐกับชุมชนเรื้อรังมานานหลายทศวรรษ อุทยานแห่งชาติทับลาน ก็เช่นกัน
10. การใช้วาทกรรม "ผืนป่าที่ถูกเฉือน" ของกลุ่มอนุรักษ์บางกลุ่ม จึงเป็นการจงใจบิดเบือนข้อเท็จจริงเพื่อปั่นกระแสเขียวตกขอบในหมู่ชนชั้นกลางอย่างจงใจ ทั้งที่ในความเป็นจริง ผืนดินทำกินของชาวบ้านต่างหากที่ถูกเฉือนไปเซ่นป่าอนุรักษ์มานานหลายสิบปี อุทยานประกาศปี 2524 ชาวบ้านบางกลุ่มอยู่กันมาตั้งแต่ก่อนปี 2515 ด้วยซ้ำไป แบบนี้ไม่เรียกว่าอุทยานบุกรุกที่ชาวบ้าน จะให้เรียกว่าอะไร การใช้ข้ออ้างเรื่องกลัวกลุ่มทุนจะมาฮุบเพิ่มจึงเป็นข้ออ้างแบบเหมาเข่ง ดังนั้น จึงไม่ควรเพิกถอนป่าที่ไปแย่งชาวบ้านเขามา และคืนสิทธิให้กับเจ้าของที่ดินที่อยู่มาก่อน
#saveทับลาน #หรือsaveอะไรก่อนดี
แหล่งอ้างอิง
https://www.facebook.com/share/p/pBm5r81xJrLdRbee/?mibextid=oFDknk
https://www.facebook.com/share/p/1bWmJMnVHnjTL78y/?mibextid=oFDknk
https://theactive.net/news/agriculture-20240708/...
https://www.env-ngos.net/endless-politics/...
https://today.line.me/th/v2/article/9m9qL23

https://www.facebook.com/photo/?fbid=830760172492162&set=a.309008028000715