วันจันทร์, กรกฎาคม 01, 2567

เรื่องราวของคุณแม่ชาวชาวอาร์เจนตินา ผู้ไม่ยอมเชื่อฟังกฎหมายเมื่อมันอยู่ข้างความอยุติธรรม สืบค้นเรื่องราวของเด็กเสียชีวิต จนตัวเองถูกขู่ฆ่าหลายครั้ง และต้องขึ้นโรงขึ้นศาล เพื่อค้นหาสาเหตุการตายอย่างผิดปกติ


ลูกสาวที่เพิ่งเกิดของโซเฟียมีชีวิตอยู่แค่ 3 วันก่อนเสียชีวิต

แม่ชาวอาร์เจนตินากับภารกิจค้นหาสาเหตุที่เพื่อนบ้านตายต่อเนื่อง

อาห์เมน คาห์วาจา
บีบีซี เอาต์ลุก โปรแกรม
29 มิถุนายน 2024

เมื่อปี 1997 โซเฟีย กาติกา อาศัยอยู่ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ในตอนกลางของอาร์เจนตินา แต่แล้วเหตุการณ์เลวร้ายก็เปลี่ยนชีวิตที่สงบสุขของเธอไป

"นานดี" ลูกสาววัยทารถของเธอ มีอายุเพียง 3 วัน ตอนที่เธอเสียชีวิต ทีมแพทย์รีบเข้าผ่าตัดหลังจากพบปัญหาในไตของเธอ แต่ก็ไม่สามารถช่วยชีวิตได้

"ท้ายที่สุดพวกเขานำลูกสาวมาให้ฉันหลังจาก 3 วันแล้วพูดว่า 'นี่ลูกสาวของคุณ' แล้วก็ผลักลูกมาให้ฉันแค่นั้น" เธอบอกกับบีบีซี ในการสัมภาษณ์ปีที่แล้ว

"พวกเขาทิ้งลูกสาวไว้ในอ้อมแขนของฉัน ฉันอุ้มเธอไว้ ตัวเธอยังอุ่น ๆ แต่ตายแล้ว" โซเฟียย้อนความจำ

"มันยังเป็นเรื่องยากสำหรับฉันที่จะพูดถึงเรื่องนี้

"ฉันพาเธอกลับบ้านและฝังร่างของเธอ"

ความตายที่ผิดปกติ

เป็นเรื่องที่เข้าใจได้อย่างยิ่งว่า มันเป็น "ช่วงเวลาที่ยากมาก" สำหรับคุณแม่วัยสาว เธอกลายเป็นอัมพาตเพราะความโศกเศร้า โซเฟียที่ไม่สามารถออกจากบ้านในย่านอิทูซางโก (Ituzaingó) ซึ่งตั้งอยู่บริเวณชายเมืองโคร์โดบา เป็นเวลาหลายสัปดาห์

เมื่อเพื่อนบ้านของเธอพูดว่าการเสียชีวิตของนานดีนั้นผิดปกติ โซเฟียจึงเริ่มใคร่ครวญถึงสาเหตุที่ไตของเด็กน้อยวัยสามวันล้มเหลว

"มันเป็นช่วงเดียวกับตอนที่ฉันเริ่มเห็นเพื่อนบ้านอีกคนที่เป็นครู เดินผ่านหน้าบ้านทุกวัน โดยสวมใส่ผ้าเช็ดหน้าสีขาว" โซเฟียกล่าว

เมื่อถามถึงผ้าเช็ดหน้า เพื่อนบ้านบอกโซเฟียว่าเธอเป็นมะเร็ง

"ฉันเริ่มเห็นเด็ก ๆ ใส่หน้ากากปิดปาก เห็นแม่ ๆ ที่พันศีรษะด้วยผ้าพันคอเพื่อปกปิดศีรษะที่ล้านจากการทำเคมีบำบัด," โซเฟียกล่าว

"นั่นเป็นเวลาที่ฉันเข้าใจ ฉันเข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นทั้งหมด" เธอกล่าว


โซเฟียเริ่มเดินเคาะประตูบ้านทีละหลังในละแวกของเธอ เพื่อทำแผนที่ที่บอกตำแหน่งที่มีการเจ็บป่วยเกิดขึ้น

กรณีศึกษา

ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 จำนวนผู้ป่วยด้วยโรคมะเร็ง โรคทางเดินหายใจ และการเสียชีวิตของเด็ก เพิ่มขึ้นอย่างมากในอิทูซางโก

"ฉันเริ่มเคาะประตูทุกบ้านในย่านของฉัน ถามเพื่อนบ้านว่ามีสมาชิกในครอบครัวกี่คนที่เจ็บป่วย และพวกเขาเป็นโรคอะไร" โซเฟียอธิบาย

เธอค้นพบว่ามีผู้คนอีกมากมายในเมืองที่สูญเสียลูกเล็ก ๆ หรือมีสมาชิกในครอบครัวที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง

"ในพื้นที่เพียงย่านเดียว ฉันพบว่ามีเด็ก 5 หรือ 6 คน เสียชีวิต"

การหาข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ทำให้เธอเริ่มลงมือทำบางอย่าง

โซเฟียได้ก่อตั้งกลุ่ม 'มารดาแห่งอิทูซางโก' ร่วมกับผู้หญิงที่อยู่ในย่านเดียวกับเธอ 16 คน

กลุ่ม 'มารดาแห่งอิทูซางโก' เริ่มตรวจสอบการเสียชีวิตในท้องถิ่นทีละกรณี และแล้วทุกสายตาก็พุ่งไปที่ตัวแปรร่วมอย่าง ถั่วเหลือง

บริเวณใกล้กับชุมชนที่อยู่อาศัยในอิทูซางโก รวมไปถึงรอบ ๆ เมืองแห่งนี้ มีการปลูกถั่วเหลืองที่เกษตรกรใช้สารเคมี เช่น ไกลโฟเซต ที่ใช้กำจัดวัชพืช

ไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสารเคมีกำจัดวัชพืชที่ใช้มากที่สุดในโลก ถูกพัฒนาในทศวรรษ 1970 โดยบริษัทมอนซานโตของสหรัฐอเมริกา

"อาจเป็นสารก่อมะเร็ง"

ปัจจุบัน ไกลโฟเซตได้รับการผลิตโดยหลายบริษัทและได้รับการรับรองว่าปลอดภัยโดยหน่วยงานกำกับดูแลทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

แต่การใช้สารนี้ยังคงเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่

ในปี 2015 องค์การวิจัยมะเร็งขององค์การอนามัยโลก สรุปว่าไกลโฟเซต "อาจเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์"

อย่างไรก็ตาม สำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อมของสหรัฐอเมริกา ได้ระบุว่าสารเคมีกำจัดวัชพืชนี้ปลอดภัยเมื่อใช้อย่างระมัดระวัง

หน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (European Food Safety Authority: EFSA) ระบุเช่นกันว่า ไกลโฟเซตไม่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์

ถั่วเหลืองที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมสามารถทนทานต่อไกลโฟเซตได้ ดังนั้น เมื่อใช้สารนี้กับพืช ไกลโฟเซตจะกำจัดเฉพาะวัชพืชและไม่ทำลายต้นถั่วเหลือง

ผลที่ตามมาคือ แทนที่พืชที่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรมควรจะใช้สารกำจัดวัชพืชน้อยลง แต่เนื่องจากวัชพืชเริ่มทนทานขึ้น ปริมาณสารกำจัดวัชพืชจึงถูกใช้มากขึ้น

ในอิทูซางโก สารเคมีหลายชนิดถูกฉีดพ่น และปล่อยให้แพร่กระจายไปตามลม


ในอาร์เจนตินา ไร่ถั่วเหลืองมักถูกฉีดพ่นด้วยสารกำจัดวัชพืช

น้ำปนเปื้อน

กลุ่มมารดาแห่งอิทูซางโกค้นพบว่า อัตราการเกิดมะเร็งในพื้นที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศถึง 41 เท่า ทั้งยังมีอัตราการเกิดโรคทางระบบประสาทและทางเดินหายใจที่สูงขึ้น อัตราการเกิดภาวะความพิการแต่กำเนิด และอัตราการตายของทารกที่สูงขึ้นเช่นเดียวกัน

การศึกษาจากมหาวิทยาลัยบัวโนสไอเรสยืนยันว่า ปัญหาสุขภาพที่พบในอิทูซางโกเกี่ยวข้องกับการสัมผัสสารกำจัดศัตรูพืช ในขณะที่อันเดรส การ์ราสโก นักวิจัยชีววิทยาโมเลกุล ยืนยันว่าไกลโฟเซตเพิ่มความเสี่ยงต่อความผิดปกติของตัวอ่อน

บริษัทมอนซานโต ตอบโต้ข้อกล่าวหาด้วยการกล่าวว่า "ไม่มีหลักฐานว่าการใช้ไกลโฟเซตอย่างถูกต้อง ทำให้เกิดปัญหาร้ายแรงเช่น [โรคนี้]"

ในที่สุด เจ้าหน้าที่ตกลงที่จะทดสอบแหล่งน้ำในท้องถิ่น และยืนยันว่ามันปนเปื้อน

"เราไม่เคยรู้ว่าเรากำลังอาศัยอยู่ในย่านที่ปนเปื้อน หลายคนที่เป็นมะเร็งไม่รู้ว่าเกิดอะไรขึ้น" โซเฟียกล่าว

"เราไม่ได้รับแค่สารเคมีเกษตรชนิดเดียว แต่ได้รับสารพัดสารเคมีเกษตรหลายชนิดผสมกัน"


เหล่านักเคลื่อนไหวตัดสินใจเด็ดขาดว่าจะต้องหยุดยั้งการใช้สารเคมีเหล่านี้

"หลังจากที่เราพบว่าเราดื่มน้ำปนเปื้อน ทุกครั้งที่เราเห็นรถแทรกเตอร์ฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช เราจะเข้าไปขวาง," โซเฟียบอกกับบีบีซี

เพื่อต่อสู้กับเหล่าผู้ประท้วง ชาวไร่และเจ้าของที่ดินเริ่มฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชจากเครื่องบิน

การขู่ฆ่า

โซเฟียถูกจับกุมในปี 2018 ที่เมืองดีเก ชิโก จังหวัดโคร์โดบา ระหว่างการประท้วงเพื่อป้องกันการฉีดพ่นสารกำจัดวัชพืช

หลังจากเกิดการประท้วงเป็นเวลาหลายปี ท่ามกลางปัญหาสุขภาพที่ยังคงเกิดขึ้นในท้องถิ่น ในที่สุดทางการของโคร์โดบา ก็ตกลงที่จะสอบสวนผลกระทบของสารเคมีเกษตรในจังหวัด

อาร์เจนตินาเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกถั่วเหลืองดัดแปลงพันธุกรรมรายใหญ่ของโลก ซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ โซเฟียกล่าวว่าหลายคนในชุมชนรู้สึกถูกคุกคามจากการประท้วง

เธอกล่าวว่า การสอบสวนซึ่งเป็นผลจากข้อเรียกร้องของกลุ่มมารดาแห่งอิทูซางโก นำไปสู่การขู่ฆ่า

"พวกเขาทำสัญลักษณ์ที่บ้านของฉัน ส่งคนมาทุบหน้าต่างเพื่อข่มขู่เรา ทำให้เรากลัว เพื่อให้เราย้ายไปที่อื่น แต่เรายังคงอยู่แม้จะกลัวก็ตาม"

ในปี 2012 หน่วยงานยุติธรรมของโคร์โดบา สั่งห้ามการฉีดพ่นสารเคมีเกษตรใกล้พื้นที่เมือง

ไม่นานหลังจากนั้น พื้นที่อื่น ๆ ในอาร์เจนตินาก็เริ่มมีการจำกัดการใช้สารเคมีเกษตรเช่นกัน

เมื่อบริษัทมอนซานโตเริ่มสร้างโรงงานเพื่อผลิตเมล็ดข้าวโพดดัดแปลงพันธุกรรมในอีกเมืองชนบทหนึ่งอย่างมาลวินาส ซึ่งอยู่ในจังหวัดโคร์โดบาเช่นเดียวกัน โรงงานนั้นก็ถูกต่อต้านโดยโซเฟียและกลุ่มมารดาแห่งอิทูซางโกเช่นเดียวกัน

บริษัทมอนซานโตไม่ได้ประกาศถอนตัวอย่างเป็นทางการ แต่ขายที่ดินและจากไป

"เรื่องราวจบลงด้วยชัยชนะของเรา เราขับไล่พวกเขาออกไป เราไม่ยอมให้พวกเขาสร้างโรงงานและพวกเขาก็จากไป" โซเฟียกล่าว

ในปีเดียวกันนั้น โซเฟียได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ซึ่งถือว่าเป็น "รางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อม"

การต่อสู่ในชั้นศาล


โซเฟียถูกขู่ฆ่าหลายครั้งอันเป็นผลมาจากการเคลื่อนไหวของเธอ

ในปี 2018 บริษัทสัญชาตืเยอรมันอย่างไบเออร์ (Bayer) ซื้อบริษัทมอนซานโตในข้อตกลงมูลค่า 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ไบเออร์ควบคุมตลาดมากกว่า 1 ใน 4 ของการจัดหาพันธุ์พืชและสารกำจัดศัตรูพืชทั่วโลก

ทว่าภายในปี 2024 ไบเออร์ถูกฟ้องมากกว่า 50,000 คดี ในสหรัฐอเมริกา โดยคำร้องกล่าวหาว่าสารกำจัดวัชพืชภายใต้ชื่อการค้า "ราวด์อัพ" (Roundup) ของมองซานโต ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง จนถึงปัจจุบันบริษัทได้จ่ายเงินมากกว่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการยุติคดี

"เรามีอัตราการเกิดมะเร็งสูงอยู่แล้วที่นี่ หากบริษัทยังคงอยู่ เราจะมีผู้ป่วยมากกว่านี้อีกมาก ดังนั้นสิ่งที่เราทำสำเร็จคือความสำเร็จในแง่ของสาธารณสุข" โซเฟียกล่าว

สหพันธ์วิชาชีพทางการแพทย์แห่งอาร์เจนตินาเรียกร้องให้สั่งห้ามการใช้ไกลโฟเซต แต่ข้อเสนอแนะที่ว่ามันอาจเป็นอันตราย ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก

ปัจจุบันสารกำจัดศัตรูพืชที่มีส่วนผสมของไกลโฟเซตถูกจำกัดหรือสั่งห้ามใช้ใน 36 ประเทศทั่วโลก

ในเดือน พ.ย. 2023 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกกฎระเบียบที่มีผลบังคับเหนือกฎหมายของแต่ละประเทศ เพื่อขยายใบอนุญาตไกลโฟเซตออกไปอีก 10 ปี

หลังจากเกือบสามทศวรรษ โซเฟียยังคงยืนหยัดในการต่อสู้เพื่อความยุติธรรม

"ฉันไม่เชื่อฟังกฎหมายเมื่อมันอยู่ข้างความอยุติธรรม เมื่อมีความอยุติธรรม ฉันจะลงมือทำ"

https://www.bbc.com/thai/articles/czk04193egzo