วันอังคาร, กรกฎาคม 02, 2567

เหตุใดองค์กรภาคประชาสังคมที่ติดตามเรื่องพลังงาน จึงมองว่า การสำรองไฟฟ้าที่ "ล้นเกิน" ใน "แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า 2024" จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า กลับมาอยู่ที่ประชาชนมากขึ้น



คนไทยได้หรือเสีย? ควรรู้อะไรบ้างเกี่ยวกับ "แผนไฟฟ้าแห่งชาติ" ที่จะใช้ถึงปี 2580

ปณิศา เอมโอชา
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
1 กรกฎาคม 2024

“ค่าไฟจะแพงไปถึงเมื่อไหร่ ?” และ “จะถูกลงกว่านี้ได้ไหม ?”

คำถามเหล่านี้จะถูกกำหนดด้วยแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือแผนพีดีพี ฉบับใหม่ (PDP 2024) ซึ่งจะครอบคลุมช่วงเวลาตั้งแต่ปี 2567-2580 แผนฉบับนี้เกี่ยวข้องกับค่าไฟของประชาชนอย่างไร และบอกอะไรถึงทิศทางของพลังงานของประเทศ บีบีซีไทยตอบคำถามในบทความนี้


แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของไทย (Power Development Plan-PDP) หรือที่มักเรียกย่อ ๆ ว่า แผนพีดีพี เป็นแผนแม่บทในการบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศในช่วง 15-20 ปีข้างหน้า

จากร่างแผนพีดีพี 2024 ฉบับใหม่นี้ นักวิชาการหลายฝ่ายเห็นตรงกันเรื่องการใช้ชุดข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งถูกนำมาใช้คาดการณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงเกินความเป็นจริงสำหรับปี 2565-2566 รวมถึงตัวเลขประเมินในอนาคตที่อาจสูงกว่าความเป็นจริงด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการถกเถียงเรื่องปริมาณการสำรองพลังงานไฟฟ้าที่ "ล้นเกิน" มีทั้งฝ่ายที่มองว่ามากเกินจนกลายเป็นภาระของประชาชน กับอีกฝ่ายที่มองว่าการเปลี่ยนถ่ายสู่พลังงานสะอาดยังมาพร้อมกับความไม่แน่นอนและเมื่อคำนวณความเสี่ยงต่าง ๆ เข้าไปแล้ว ตัวเลขที่ได้ออกมาไม่ได้นับว่าสูงเกินไป

บีบีซีไทยพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านแผนพลังงานทั้งในไทยและต่างประเทศ เพื่อวิเคราะห์ว่าร่างพีดีพี 2024 ตอบโจทย์ต่อทิศทางพลังงานของประเทศหรือไม่ และจะส่งผลอย่างไรต่อราคาพลังงานที่คนไทยต้องจ่าย

แผนพีดีพี คืออะไร?

แผนพีดีพีหรือแผนแม่บทในการบริหารจัดการไฟฟ้าของประเทศ ครอบคลุมทั้งการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้า การจัดเตรียมไฟฟ้าเอาไว้ให้เพียงพอและมีความมั่นคง รองรับการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน

เนื่องจากแผนแม่บทนี้ให้อำนาจผู้กำหนดนโยบายในการประเมินตัวเลขความต้องการไฟฟ้าในอนาคต และต้องจัดหาไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการ ซึ่งหมายถึงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า แผน พีดีพีจึงส่งผลโดยตรงต่อค่าไฟฟ้าของคนไทย เช่น ถ้ามีการประเมินว่าจะมีความต้องการไฟฟ้ามาก อาจนำไปสู่การสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขึ้น

แผนพีดีพี ยังเป็นการตอบโจทย์เรื่องสภาพภูมิอากาศของสังคมโลก เพราะในการจัดหามาซึ่งไฟฟ้าผู้กำหนดนโยบายสามารถออกแบบได้ว่าจะให้ที่มาของไฟฟ้านั้น มาจากพลังงานแบบดั้งเดิม หรือพลังงานสะอาด

สาเหตุที่จำเป็นต้องร่างแผนขึ้นมาใหม่ ทั้ง ๆ ที่ในแผนพีดีพี 2018 ได้วางโครงสร้างการผลิตไฟฟ้าไว้ถึงปี 2580 อยู่แล้ว สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงาน ให้เหตุผลไว้ 3 ข้อได้แก่ ตัวเลขเศรษฐกิจ (ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ-จีดีพี) ไม่เป็นไปตามคาด จากการประสบกับวิกฤตโควิด-19, ความต้องการไฟฟ้าที่เปลี่ยนแปลงไป และการปรับนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางพลังงานโลก จากการที่ไทยให้คำมั่นกับนานาชาติโดยตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) ภายในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065



ค่าไฟเกี่ยวข้องกับแผนพีดีพีอย่างไร

ตั้งแต่ปัจจุบันไปจนถึงอย่างน้อยในเดือน ส.ค. ปีนี้ ค่าไฟคนไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.1805 บาทต่อหน่วย ตามข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ซึ่งจะเป็นผู้ประกาศตัวเลข “ค่าไฟฟ้าผันแปร” หรือที่หลายคนคุ้นหูในชื่อ “ค่าเอฟที”

แม้ค่าเอฟทีจะเป็นตัวเลขที่ตกเป็นข่าวหน้าหนึ่งอยู่บ่อยครั้ง แต่ยังไม่สะท้อนโครงสร้างค่าไฟทั้งหมดได้

รศ.ดร.กุลยศ อุดมวงศ์เสรี อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า และ ผอ.สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุว่า หากมองจากตัวเลข 4.18 บาท จะพบว่าโครงสร้างค่าไฟแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ปัจจัยหลักอย่างต้นทุนเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าถึง 63% ซึ่งในที่นี้คือทั้งก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน หรือพลังงานหมุนเวียน ที่ไทยไปรับซื้อมา

ค่าเอฟที ซึ่งจะมีการประกาศทุก ๆ 4 เดือน ก็นับรวมอยู่ในต้นทุนเชื้อเพลิงนี้ด้วย โดยหลัก ๆ เป็นค่าใช้จ่ายในการจัดหาเชื้อเพลิงที่เปลี่ยนแปลงไปจากตัวเลขค่าไฟฟ้าฐานที่คำนวณเอาไว้จากต้นทุนคงที่ หากต้นทุนในการจัดซื้อเชื้อเพลิงลดลง ค่าเอฟทีก็สามารถเป็นลบได้ ส่งให้ค่าไฟฟ้าต่อหน่วยในช่วงนั้นถูกลง หรือในทางตรงกันข้ามหากต้นทุนสูงขึ้น ค่าเอฟทีก็กลายเป็นบวกและส่งผลให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้น

ขณะที่ปัจจัยรองประกอบไปด้วย 3 ส่วน คือ ต้นทุนค่าก่อสร้างโรงไฟฟ้า ต้นทุนระบบจำหน่ายและค้าปลีก และต้นทุนระบบส่งไฟฟ้า ในสัดส่วน 19% 12% และ 6% ตามลำดับ

ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าค่าเอฟทีในค่าไฟฟ้าของประชาชน จึงเกี่ยวพันอยู่กับทั้งตัวเชื้อเพลิงและโรงงานไฟฟ้า รศ.ดร.กุลยศ อธิบายว่า หากมีการประมาณความต้องการไฟฟ้าที่มากเกิน จนนำไปสู่การสร้างโรงงานไฟฟ้าขึ้นมา แต่ไม่ได้ใช้จริง ต้นทุนตรงนี้ก็ยังตกมาอยู่ที่ประชาชน

ความต้องการใช้ไฟฟ้าในแผนฉบับนี้สูงแค่ไหน

ในร่างแผนพีดีพี 2024 ค่าพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด (กรณี BASE) ในปี 2580 นั้น จะอยู่ที่ 54,546 เมกะวัตต์

แผนพีดีพียังเป็นตัวที่ระบุความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ

ระบบไฟฟ้าเป็นความมั่นคงของประเทศและต้องมีการบริหารจัดการและจัดเตรียมไม่ให้เกิดภาวะขาดแคลน เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายพลังงานจำเป็นต้องประเมินให้ได้ว่าในแต่ละปีคนไทยจะมีความต้องการใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหนในกรณีปกติ (Business as usual: BAU)

ตัวเลขนี้พยากรณ์ได้จากการคำนวณผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ตัวเลขจำนวนประชากร รวมไปถึงข้อมูลรายละเอียดการใช้ไฟฟ้าของครัวเรือน และโครงสร้างสภาวะเศรษฐกิจและสังคม

นอกจากนี้ ยังอาจมีการคำนวณความต้องการไฟฟ้าเพิ่มเติมจากโครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือนโยบายของรัฐ อาทิ โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง หรือเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โดยเรียกความต้องการไฟฟ้าตรงนี้ว่า “กรณี BASE” ซึ่งจะได้ตัวเลขที่สูงกว่ากรณีปกติ

สำหรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศในร่างแผนพีดีพี 2024 ค่าพยากรณ์ความต้องการพลังงานไฟฟ้าสูงสุด (กรณี BASE) ในปี 2580 นั้น จะอยู่ที่ 54,546 เมกะวัตต์ ปรับขึ้นจากแผนพีดีพี 2018 ซึ่งอยู่ที่ 53,997 เมกะวัตต์

ประเมินจีดีพีสูงเกินทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเกินจริงหรือไม่

ในรายงาน 13 ข้อสังเกตต่อร่างแผนพีดีพี 2024 ซึ่งจัดทำโดยองค์กร JustPow (จัสต์พาว) ซึ่งติดตามข้อมูลด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมในประเทศ ตั้งข้อสังเกตว่า ตัวเลขจีดีพีที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เลือกมาใช้ในการคำนวณจนได้ออกมาเป็นตัวเลข 54,546 เมกะวัตต์นั้น กลับเป็นชุดข้อมูลเก่าที่มีตัวเลขจีดีพีไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง

ตัวเลขที่ทางการนำมาคำนวณ เป็นข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เมื่อวันที่ 18 มี.ค. 2565 โดยพบว่า ค่าเฉลี่ยจีดีพีระหว่างปี 2565-2580 อยู่ที่ 3.1%

ในชุดตัวเลขของ สศช. ปี 2565 นั้น ประเมินว่าจีดีพีของปี 2565 อยู่ที่ 4.0% ขณะที่ตัวเลขจริงอยู่ที่ 2.6% ส่วนตัวเลขของปี 2566 ที่ประเมินไว้ที่ 3.7% ตัวเลขจริงอยู่ที่ 1.9%

นอกจากนี้ ประมาณการตัวเลขจีดีพีล่าสุดของไทยจากธนาคารแห่งประเทศไทยสำหรับปี 2567 และ 2568 ก็ต่ำกว่า 3% ในขณะที่ตัวเลขของ สศช. ที่เอามาใช้ในการคำนวณไฟฟ้านั้นทะลุ 3% ขึ้นไป

สถานการณ์การคำนวณเช่นนี้จึงทำให้ รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ อาจารย์ประจำสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกมาตั้งคำถามว่า “ตอนนี้เราอยู่ มิ.ย. 2567 แล้ว มันควรจะเอาข้อมูลจริงมาใช้”

รศ.ดร.กุลยศ ซึ่งมีอีกตำแหน่งหนึ่งในฐานะคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บอกกับบีบีซีไทยว่า แท้จริงแล้วแผนพีดีพี 2024 จะต้องทำตั้งแต่ช่วงปี 2022 ทว่าเกิดความล่าช้า จนพอล่วงเลยมาถึงปัจจุบัน ตัวเลขประเมินจากปี 2565 อาจจะสูงเกินไปแล้ว

อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาตัวเลขประเมินจีดีพีระยะยาว รศ.ดร.กุลยศ ชี้ว่า “ยังพยายามมองโลกในแง่ดีอยู่ว่าประเทศไทยไม่ควรจะมีจีดีพีโตต่ำกว่า 3% ซึ่งอาจจะต้องขึ้นอยู่กับหลาย ๆ ปัจจัย แต่ผมคิดว่าด้วยตัวเลขที่ใช้พยากรณ์ไม่ได้สูงอยู่แล้ว”

นอกจากนี้ รศ.ดร.ชาลี ตั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า สูตรที่ใช้ในการคำนวณแผนพีดีพี 2024 มีปัญหาเช่นเดียวกันเพราะไม่ได้ผนวกรวมสิ่งที่เรียกว่า “Energy Intensity: EI” หรือ “ปริมาณการใช้พลังงานภาพรวมของประเทศต่อจีดีพี”

เขาอธิบายว่าในโลกปัจจุบันการจะสร้างจีดีพีให้ได้หนึ่งหน่วย ไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากเท่าเดิมแล้ว

ข้อมูลจากหลายหน่วยงานทั้ง องค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ซึ่งเป็นองค์กรภายใต้กรอบความร่วมมือขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) โครงการ Our World in Data ของมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ด และบริษัทวิจัยเอกชนด้านพลังงานและประเด็นทางสิ่งแวดล้อมอย่าง Enerdata แสดงให้เห็นว่า ในระดับโลกนั้น ปริมาณความต้องการใช้พลังงานต่อการสร้างจีดีพีหนึ่งหน่วยลดลงมาเรื่อย ๆ

สำหรับประเทศไทย สถิติในปี 2022 อยู่ที่ ต้องใช้พลังงานไฟฟ้า 1.25 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อการสร้างจีดีพี 1 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงมาจาก 1.39 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ต่อการสร้างจีดีพี 1 ดอลลาร์สหรัฐ ของปี 2014

“เพราะฉะนั้นแปลว่าท้ายสุดแล้วมันก็มีโอกาสสูงมากเลยว่าการพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าครั้งนี้ก็จะผิดพลาดอีก” รศ.ดร.ชาลี กล่าว

ตัวเลขสำรองไฟฟ้า "ล้นเกิน" หรือไม่ เกี่ยวกับค่าไฟอย่างไร


วันที่ 2 พ.ค. 2567 ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบรวมทั้งสิ้น 50,724.1 เมกะวัตต์

ไม่เพียงแต่ตัวเลขประเมินความต้องการไฟฟ้าเท่านั้นที่ทำให้หลายภาคส่วนเกิดความกังวล

เมื่อลงไปดูที่แผนตัวเลขการผลิตไฟฟ้าจนถึงปี 2580 อาจทำให้หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากตัวเลขประเมินความต้องการไฟฟ้าของ สนพ. อยู่ที่ 54,546 เมกะวัตต์ เหตุใดต้องตั้งสำรองไฟฟ้าไว้สูงถึงอีก 57,845 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นตัวเลขที่มากกว่าสถิติในปัจจุบันขึ้นไปอีก

ข้อมูลในปี 2567 พบว่าเมื่อวันที่ 2 พ.ค. ที่ผ่านมา ประเทศไทยมีการใช้ไฟฟ้าสูงสุดอยู่ที่ 36,792.1 เมกะวัตต์ ขณะที่ประเทศมีกำลังผลิตไฟฟ้าในระบบรวมทั้งสิ้น 50,724.1 เมกะวัตต์ หรือคิดเป็นตัวเลขสำรองไฟฟ้าที่สูงถึงเกือบ 38%

รายงานจาก JustPow ชี้ว่า การสำรองไฟฟ้าล้นเกินเช่นนี้จะทำให้ภาระค่าใช้จ่ายจากต้นทุนการก่อสร้างโรงงานไฟฟ้า กลับมาอยู่ที่ประชาชนมากขึ้นในที่สุด

JustPow วิจารณ์ต่อว่าการที่ สนพ. ปรับมาใช้ดัชนีการเกิดไฟฟ้าดับ (Loss of Load Expectation. LOLE) อย่างเดียว แทนการใช้สัดส่วนกำลังผลิตไฟฟ้าสำรอง (Reserve margin) ที่เคยกำหนดไว้ที่อย่างต่ำ 15% และปรับตัวเลข LOLE จากเดิมที่ 1 วันต่อปี เป็น 0.7 วันต่อปี เป็นการกดดันให้ต้องมีการสำรองไฟฟ้ามากเกินความจำเป็น และไม่ได้มีการอธิบายเหตุผลมากเพียงพอ

การคำนวณจาก JustPow ชี้ว่า ในแผนพีดีพี 2018 ซึ่งตั้งสัดส่วนปริมาณไฟฟ้าสำรองไว้ที่ 15% และให้ตัวเลข LOLE ไว้ที่ 1 วันต่อปี ส่งผลให้ราคาคาดการณ์ค่าไฟพื้นฐานต่อหน่วยอยู่ที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ดังนั้น จึงตั้งคำถามว่าแล้วถ้าตัดสัดส่วนไฟฟ้าสำรองส่วนเกิน 15% ออก ทั้งยังลดตัวเลขดัชนีการเกิดไฟฟ้าดับลงมาเป็น 0.7 วันต่อปี จะยิ่งเป็นการส่งให้ค่าไฟสูงขึ้นไปอีกหรือไม่



อย่างไรก็ตาม รศ.ดร.กุลยศ แย้งว่า “ต้องถามว่าคำว่าล้นเกิน เขาวัดจากอะไร เพราะการบอกว่าไฟฟ้ามีเยอะเกิน มีน้อยเกิน ตรงนี้จับต้องได้ยาก และเป็นดุลยพินิจส่วนใหญ่”

รศ.ดร.กุลยศ ซึ่งเป็นหนึ่งในบอร์ด กฟผ. ระบุว่า ระบบการผลิตไฟฟ้าในอนาคตของไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามามากขึ้น จึงทำให้การวัดปริมาณสำรองไฟฟ้าจากแค่จากสัดส่วนไฟฟ้าสำรองมีความผิดเพี้ยน เพราะเมื่อเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อาทิ ระบบโซลาเซลล์ จะมีปัจจัยทางสภาพแวดล้อมที่ควบคุมไม่ได้เข้ามาเพิ่มเติม


“พลังงานแสงอาทิตย์ เราคุมอะไรไม่ได้เลย... ลมก็เหมือนกัน เราบังคับลมอะไรไม่ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเราเอามาคิดกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองตรง ๆ มันจะเริ่มมีปัญหาแล้ว”

เมื่อไปดูสัดส่วนพลังงานช่วงปลายแผนพีดีพี 2024 พบว่า 51% มาจากพลังงานสะอาด ซึ่งได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ 16% พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ 16% และพลังงานน้ำจากต่างประเทศ 15%

ด้วยแผนในอนาคตที่ไทยจะพึ่งพาพลังงานแสงอาทิตย์ค่อนข้างมาก รศ.ดร.กุลยศ คำนวณให้ดูว่าตามแผนกำลังการผลิตไฟฟ้าของไทยในปี 2579 กำลังไฟฟ้าสำรองล้นเกินอาจสูงถึง 51.64% แต่นั่นเป็นตัวเลขจากช่วงกลางวัน เพราะถ้ามาพิจารณาความเสี่ยงอื่น ๆ จากปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้แล้วนั้น ตัวเลขอัตราไฟฟ้าสำรองในช่วงกลางคืนจะลงมาเหลือแค่เพียง 18.57% เท่านั้น

“ทุกวันนี้ไฟฟ้าล้นเกิน 30-40% เราก็บ่นแล้ว เยอะแล้ว แต่เอาจริง ๆ แล้วอย่างที่บอกมันหลอกตา แล้วตอนกลางคืนทำยังไง เราลองคำนวณดูไฟฟ้าล้นเกินตอนกลางคืน บางปี เช่น ปี 2030 เหลือ 9% เอง ก็ไม่ได้เยอะ” รศ.ดร.กุลยศ กล่าว

แผนพีดีพี 2024 เพิ่มโรงไฟฟ้าใหญ่ 8 แห่ง-เขื่อนในลาว 3 แห่ง

เมื่อการประเมินการใช้ไฟฟ้าและสัดส่วนสำรองสูงขนาดนี้ นำไปสู่คำถามว่า แล้วกระทรวงพลังงาน ตลอดจนหน่วยงานกำกับและบริหารไฟฟ้าของประเทศไทย จะจัดหาพลังงานไฟฟ้าเหล่านี้มาจากแหล่งไหน

ในแผนพีดีพีใหม่นี้จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ (IPP) อย่างน้อย 8 แห่ง คิดเป็นความสามารถในการผลิตไฟฟ้ารวม 6,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 2580

อย่างไรก็ตาม มีการตั้งคำถามจากองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรว่า เหตุใดจึงต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มขนาดนี้ ทั้งที่ปัจจุบันประเทศไทยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลอยู่แล้วราว 36,500 เมกะวัตต์ ทั้งยังมีโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีข้อผูกพันอยู่แล้วและกำลังรอเข้าระบบอยู่อีก 5,310 เมกะวัตต์

ในสายตาของ รศ.ดร.ชาลี นอกจากโรงไฟฟ้าเหล่านี้อาจจะไม่จำเป็น ยังเป็นโรงไฟฟ้าที่ล้าสมัย ไม่ตอบโจทย์เรื่องสิ่งแวดล้อม ทั้งยังไม่ตอบโจทย์เรื่องราคาต้นทุนด้วย

“หลายคนอาจจะคิดว่าโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติราคาถูกกว่าพลังงานหมุนเวียน แต่แท้จริงแล้วไม่ใช่เลย ต้นทุนในอนาคตต่อให้ราคาปัจจุบันคงที่ไปตลอดก็ยังแพงกว่าพลังงานหมุนเวียนอยู่ดี มันมีข้อดีอยู่อย่างเดียวเลย คือ มันมีความมั่นคง มันสามารถสั่งการให้ เปิด-ปิด ตามเวลาที่เราต้องการได้”

นอกจากนี้ ในฝั่งของไฟฟ้าจากพลังงานน้ำ ไทยจะเพิ่มการสร้างเขื่อนในลาวอีก 3 เขื่อน กำลังผลิตรวม 3,500 เมกะวัตต์

ที่ผ่านมาไทยมีสัญญาในการซื้อไฟฟ้าจากเขื่อนลาวมาเป็นเวลานาน โดยรายงานจาก JustPow พบว่า ราคารับซื้อนั้นปรับสูงขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อดูราคารับซื้อไฟฟ้าก่อนปี 2561 อยู่ที่ 1.70-2.10 บาทต่อหน่วย ก่อนจะขยับขึ้นมาเป็น 2.92 บาทต่อหน่วย สำหรับโครงการตอนนี้ที่ยังไม่เริ่มก่อสร้างและจะเริ่มจ่ายไฟเข้าระบบจริงในเดือน ม.ค. 2576

JustPow ตั้งข้อสังเกตว่า ราคารับซื้อของโครงการจากเขื่อนลาวในระยะหลังแพงกว่าอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ แต่โครงการโซลาร์รูฟท็อป กลับไม่มีเป้าหมายออกมาอย่างชัดเจน

ที่ผ่านมาองค์กรระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งได้ออกมาวิจารณ์ประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นกับการสร้างเขื่อนในลาว หรือเหตุการณ์เขื่อนพังถล่ม

รศ.ดร.กุลยศ กล่าวว่า เขาเห็นด้วยว่ากรณีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวมีหลายประเด็นเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชน แต่ไม่เห็นด้วยในประเด็นที่ว่าเขื่อนไฟฟ้าพลังงานน้ำไม่คุ้มทุน

“ผมรู้สึกว่าโรงไฟฟ้าพลังน้ำถ้าเทียบกับโรงไฟฟ้าชนิดอื่นก็เป็นโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนถูกและมันก็อยู่กับโลกเรามาเป็นเกือบ 100 ปี”

อย่างไรก็ตาม เขายอมรับว่าตอนนี้ต้นทุนของโซลาร์เซลล์ถูกกว่าเขื่อนไปแล้ว แต่ย้ำว่าข้อดีของเขื่อนคือสามารถกักเก็บพลังงานได้เป็นจำนวนมาก และเก็บไว้ได้เป็นเวลานานด้วย

สำหรับข้อมูลกำลังผลิตไฟฟ้าล่าสุดเมื่อเดือน พ.ค. 2567 พบว่า กำลังผลิตตามสัญญาของ กฟผ. คิดเป็น 16,261.02 เมกะวัตต์ ส่วนกำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าเอกชน คิดเป็น 34,454,28 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นผู้ผลิตจากต่างประเทศ 6,234.90 เมกะวัตต์, โรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) 18,973.50 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) 9,245.88 เมกะวัตต์

แผนพลังงานที่ยังไม่ “กรีน” พอ



รศ.ดร.ชาลี กล่าวว่า ไทยตั้งเป้าที่จะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี 2050 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero greenhouse gas emission) ภายในปี 2065 ทว่าร่างแผนพีดีพีฉบับล่าสุดนี้ จะไม่ทำให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าว

เขาอธิบายว่า ตามคำแนะนำจากองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) หากไทยต้องการจะบรรลุเป้าหมายที่ให้คำสัญญาว่าภายใน 6 ปี ต่อจากนี้ ไทยต้องผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และลมไม่น้อยกว่า 30%

ตามแผนพีดีพีล่าสุดนี้ กว่าไทยจะบรรลุสัดส่วนพลังงานที่มาจากน้ำและแสงแดดรวมกันเกิน 30% ก็อยู่ในปี 2580 แล้ว

“เป้าหมายระยะสั้น เราก็หลุดเป้า ส่วนระยะยาว เราก็หลุดเป้า ดูเหมือนว่าเรื่องของการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เรายังไม่เอาจริงเอาจังมากพอ” รศ.ดร.ชาลี ระบุ

ในประเด็นนี้ คอร์ทนีย์ เวเธอร์บาย รองผู้อำนวยการแผนกความมั่นคง น้ำ และพลังงาน ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากองค์กรสติมสัน เซ็นเตอร์ (Stimson Center) แนะนำว่าประเทศไทยควรหันมาใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์และลมให้มากกว่านี้ ซึ่งนอกจากจะมีราคาที่จับต้องได้มากขึ้นแล้ว ยังเป็นเทคโนโลยีที่คนไทยคุ้นชินด้วย

เธอแนะนำว่ารัฐบาลไทยควรหันมาผลักดันโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่มีการทดลองมาเป็นเวลานานแล้ว พร้อมเปรียบเทียบว่าโครงการโซลาร์เป็นโครงการที่สามารถบังคับใช้จริงได้ไม่ยาก โดยชี้ว่าเวียดนามสามารถเพิ่มไฟฟ้าจากโครงการโซลาร์รูฟท็อปได้ถึง 9,000 เมกะวัตต์ ภายในระยะเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้น

ความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญยังมองด้วยว่า ตามแผนฉบับนี้ยังนำระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี (Battery Energy Storage System: BESS) มาใช้น้อยเกินไป รศ.ดร.ชาลี เห็นว่าหากประเทศไทยต้องการที่จะเปลี่ยนถ่ายมาสู่พลังงานสะอาดมากขึ้น ตัวเลขการกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี ซึ่งตามแผนระบุไว้ที่ 10,000 เมกะวัตต์ยังน้อยเกินไป

“จริง ๆ เราต้องการแบตเตอรีประมาณ 30,000-40,000 เมกะวัตต์ ถ้าเราจะไปสู่การปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ เราต้องการแบตเตอรีเยอะกว่านี้”

จากร่างแผนพีดีพี 2024 พบว่า ทั้งการประเมินตัวเลขจีดีพีและการกำหนดแผนความสามารถในการผลิตไฟฟ้า ล้วนส่งผลโดยตรงต่ออนาคตค่าไฟคนไทยทั้งสิ้น แต่คำถามเรื่องค่าไฟคนไทยจะแพงต่อไปนั้นยังขึ้นอยู่กับว่าหน่วยงานกำกับพลังงานของประเทศอย่าง สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จะจัดการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงแผนของตัวเองอย่างไรหลังเปิดรับฟังความเห็นในครั้งนี้

บีบีซีไทยได้ติดต่อ สนพ. เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างแผนพีดีพี 2024 ดังกล่าว แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ

https://www.bbc.com/thai/articles/cd111p45ygqo