วันเสาร์, กรกฎาคม 13, 2567

น้ำตาคนคุก อ่านบทกลอน สัมผัสชีวิต 18 ปีคนคุกของ “วุฒิ” “แม้จะมองออกไปสุดสายตา เห็นเพียงฟ้าหลุดพ้นสันกำแพง”


12/07/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

เกือบ 500 วัน หรือกว่าปีเศษแล้วที่ “วุฒิ” ถูกคุมขังในคดี ม.112

วุฒิถูกคุมขังมาตั้งแต่อัยการสั่งฟ้องคดีต่อศาลในวันที่ 27 มี.ค. 2566 กระทั่งศาลอาญามีนบุรีพิพากษาจำคุก 18 ปี (จากโทษเต็ม 36 ปี) เรื่อยมาถึงปัจจุบัน ตลอดเวลาที่ผ่านมาวุฒิไม่เคยได้รับสิทธิประกันตัว ทำให้เขากลายเป็นผู้ต้องขังคดี ม.112 ระหว่างสู้คดี ‘นานที่สุด’ ในระลอกนี้

ในชั้นพิจารณาคดี วุฒิถูกคุมขังอยู่เรือนจำพิเศษมีนบุรีนานกว่า 1 ปี ต่อมา ภายหลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกช่วงปลายเดือน ก.พ. 2567 วุฒิถูกย้ายตัวไปอยู่ที่ ‘เรือนจำกลางคลองเปรม’ เนื่องจากต้องโทษจำคุกรวมเกิน 15 ปี ตามเงื่อนไขของกรมราชทัณฑ์

เรือนจำแห่งเก่าในความทรงจำ

วุฒิย้อนเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ของเรือนจำพิเศษมีนบุรีว่า ‘ค่อนข้างแย่’ ด้วยเหตุผลหลายประการ ได้แก่

หนึ่ง มีหัวหน้าใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ‘ขาใหญ่’ ที่เป็นผู้ต้องขังด้วยกันคอยควบคุมความเป็นอยู่ของคนอื่น ๆ ผู้ต้องขังมีการต่อยตีกันเกือบทุกวัน วุฒิจึงต้องอยู่แบบเงียบ ๆ ไม่กล้าไปยุ่งเกี่ยวกับใคร

สอง สภาพความเป็นอยู่แออัด และรู้สึกกดดันตลอดเวลา เพราะถ้าหากไปขัดหูขัดตาใครเข้า อาจจะถูกทำร้ายได้ และเจ้าหน้าที่เรือนจำก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรมากนัก

หลังได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม วุฒิบอกว่าชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพราะที่นี่ไม่มีขาใหญ่ ไม่มีใครคุมใคร ค่อนข้างเป็นอิสระต่อกัน บรรยากาศการอยู่ร่วมกันค่อนข้างผ่อนคลาย ไม่ค่อยตึงเครียดเหมือนเรือนจำเดิม และเพื่อน ๆ ผู้ต้องขังยังช่วยเหลือเกื้อกูลกันดีอีกด้วย


ภาพจาก The Reporters

ชีวิตแต่ละวันในเรือนจำกลางคลองเปรม

05.30 – 06.00 น. – ตื่นนอน โดยต้องตื่นกันเอง ไม่มีเจ้าหน้าที่คอยมาปลุกเหมือนเรือนจำพิเศษมีนบุรี ที่นี่ทุกคนต้องรู้หน้าที่ของตัวเอง

06.00 – 07.00 น. – แต่ละคนต้องทำภารกิจของตัวเองให้แล้วเสร็จ เช่น อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟัน ฯลฯ

07.00 น. – รับประทานอาหารเช้า

08.00 น. – ตรวจนับจำนวนผู้ต้องขังว่าครบหรือไม่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เวลาอิสระ สามารถออกกำลังกาย อ่านหนังสือ นั่งพูดคุยกัน โดยจะไม่มีเจ้าหน้าที่เข้ามายุ่งเกี่ยว

10.00 น. – ผู้ต้องขังที่มีคนภายนอกซื้ออาหารให้จะได้รับการแจกอาหารในเวลานี้ ปัจจุบันวุฒิได้รับการช่วยเหลือจากกองทุนของอานนท์ นำภา เป็นข้าวและอาหาร 2-3 อย่าง แล้วแต่วัน

11.00 – 11.30 น. – รับประทานอาหารเที่ยง

12.30 น. – รับประทานอาหารเย็น หลังจากนั้นเจ้าหน้าที่จะให้เวลาอิสระอีกครั้ง

14.30 น. – เวลาขึ้นเรือนจำ โดยในห้องขังมีโทรทัศน์ให้ดู แต่เป็นรายการที่เรือนจำกำหนดเท่านั้น ส่วนห้องวุฒิได้ดูเฉพาะช่องไทยรัฐ กับช่อง 9

20.00 – 22.00 น. – เป็นเวลาเข้านอน จะนอนช่วงไหนก็ได้

ชีวิตของวุฒิวนเวียนกับตารางกิจวัตรนี้ทุกวัน เขาบอกว่าไม่ค่อยได้คุยกับใครเลย แม้จะรู้ว่าที่เรือนจำเดียวกันนี้ยังมีผู้ต้องขังการเมืองคนอื่นอยู่อีกก็ตาม คือ ไพฑูรย์ สุขสันต์ และแม็กกี้
 


เรือนจำคลองเปรม ทั้งหมดมีกี่แดน?

วุฒิบอกอีกว่า ที่เรือนจำกลางคลองเปรมมีทั้งหมด 10 แดน โดยวุฒิได้ถูกเลือกให้อยู่ที่ ‘แดน 6’ ซึ่งมีห้องนอน (ห้องขัง) ทั้งหมด 96 ห้อง ห้องของวุฒิเป็นห้องใหญ่ ต้องอยู่กับผู้ต้องขังอื่นอีกประมาณ 24 คน แต่วุฒิบอกว่าไม่ได้รู้สึกแออัดมาก

ส่วนห้องขังอื่น ๆ ในแดนเดียวกัน วุฒิบรรยายว่าบางห้องมีขนาดเล็กจะมีคนอยู่ 9-10 คน หรือบางห้องใหญ่ขึ้นมาหน่อยก็จะอยู่กัน 15-16 คน โดยเรือนจำจะจัดให้คนที่มีอายุได้อยู่ห้องขังเดียวกัน

แดน 1 – สำหรับผู้หญิงข้ามเพศ หรือได้รับการแปลงเพศ ศัลยกรรมหน้าอกแล้ว คนในเรือนจำจะเรียกผู้ต้องขังแดนนี้ว่า ‘กะเทยไฮโซ’
แดน 2 และ 5 – สำหรับผู้ต้องโทษจำคุกตลอดชีวิต
แดน 3 – สำหรับนักโทษที่ทำผิดบ่อยครั้งทำให้ถูกคุมขังหลายหน หรือพูดง่าย ๆ ว่าเป็นคนที่มักต้องเข้า-ออกเรือนจำอยู่บ่อย ๆ
แดน 4 – วุฒิบอกว่าไม่ทราบข้อมูล
แดน 6 – สำหรับนักโทษแรกรับ (เข้าใหม่) หรือผู้สูงวัย
แดน 7 – ไม่มีนักโทษอาศัย เป็นพื้นที่ใช้ทำกิจกรรมต่าง ๆ
แดน 8 – สำหรับกักตัวนักโทษใหม่ ก่อนจะไปแดนแรกรับ (แดน 6) แดน 9 – พื้นที่โครงการ โคกหนองนา
แดน 10 – เป็นแดนการศึกษาและห้องสมุด การจะยืมหนังสือแต่ละครั้งต้องให้เจ้าหน้าที่พาไป
ระหว่างถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม วุฒิได้สมัครอบรมธรรมมะและวัฒนธรรม โดยได้เริ่มอบรมมาตั้งแต่วันที่ 19 มิ.ย. 2567 แล้ว และต้องอบรมทุกวันจันทร์ – ศุกร์ วันละ 2 ชั่วโมง ในเวลา 15.00 – 17.00 น.

ระยะเวลาในการอบรมอยู่ที่ 6 เดือน เมื่อเข้าร่วมจนครบแล้วจะได้รับใบประกาศนียบัตร 1 ใบ ซึ่งวุฒิบอกว่าสามารถใช้ประกอบการพิจารณาเลื่อนชั้นไปเป็น ‘นักโทษชั้นดี’ ได้

“เผื่อจะได้ออกจากเรือนจำเร็วขึ้น” วุฒิกล่าว

ทว่า การสมัครเข้าอบรมไม่ได้ฟรีแต่อย่างใด จะต้องเสียค่าใช้จ่ายซื้อเสื้อขาว 1 ตัว กางเกงขาว 1 ตัว อาสนะที่นั่งรองพื้น 1 อัน และหนังสือคู่มือ เป็นเงินรวมทั้งสิ้น 1,600 บาท

พร้อมกันนี้วุฒิยังได้ตั้งใจเขียน 2 บทกลอนเพื่อให้ทุกคนได้อ่านอีกด้วย





โทษจำคุกของวุฒิอยู่ที่ 18 ปี เขายังมีความหวังว่า ‘การนิรโทษกรรม’ คดีการเมืองจะเกิดขึ้นในเร็ววัน

อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบันคดีของวุฒิยังคงไม่ถึงที่สุด โดยอยู่ระหว่างกรอบเวลาการยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของอัยการ ซึ่งได้ขอขยายเวลาการยื่นเป็นครั้งที่ 4 แล้ว
“ตอนนี้ผมไม่นิ่ง สมองสับสนวุ่นวายมากคิดเรื่องคดีตลอดเวลาว่าเป็นไง”

https://tlhr2014.com/archives/68546