วันเสาร์, มิถุนายน 22, 2567

มีรัฐบาลพลเรือน เหมือนไม่มี - ประชาชนยังถูกตำรวจไปหาถึงบ้าน อ้างแชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ บางรายถูกติดต่อไปเซ็นบันทึกข้อตกลง


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
11 hours ago·

ประชาชนยังถูกตำรวจไปหาถึงบ้าน อ้างแชร์โพสต์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ บางรายถูกติดต่อไปเซ็นบันทึกข้อตกลง
.
.
ในช่วงระหว่างวันที่ 18-20 มิ.ย. 2567 นี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งจากประชาชนอย่างน้อย 2 ราย ว่าได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าติดตามถึงบ้าน โดยอ้างเหตุเกี่ยวกับการเคยแชร์โพสต์ข้อความที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ และแจ้งขอให้ลบโพสต์ออก
.
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นใน 2 พื้นที่ภูมิภาค แม้เกิดขึ้นคนละจังหวัดกัน แต่มีรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน คือมีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปติดตามถึงบ้านของประชาชน พร้อมอ้างว่าประชาชนที่ถูกติดตามได้แชร์โพสต์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ขอให้ลบโพสต์ดังกล่าวออก และเตือนว่าอย่ากระทำเช่นนี้อีก
.
หลังจากนั้น ประชาชนรายหนึ่งยังถูกเจ้าหน้าที่ติดต่อให้ไปเซ็นเอกสารบันทึกข้อตกลงที่สถานีตำรวจด้วย โดยเอกสารมีข้อความในลักษณะยอมรับว่าเผยแพร่ข้อมูลในลักษณะที่พาดพิงสถาบันหลักของชาติจริง ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมและมิบังควร และได้เข้าใจแล้วว่าไม่ถูกต้อง จึงขอให้สัญญาว่าจะไม่กระทำการในลักษณะเช่นนี้อีกต่อไป แต่ประชาชนปฏิเสธการไปเซ็นเอกสารดังกล่าว
.
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่าปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ดังกล่าว เป็นสิ่งที่ดำเนินสืบเนื่องมาตั้งแต่ราวช่วงปี 2562 มีลักษณะที่ปรับรูปแบบมาจากปฏิบัติการของทหารในช่วงยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจเข้าติดตามคุกคามประชาชน แต่ช่วงหลังปี 2562 ได้ใช้หน่วยงานที่เป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นหลัก โดยมีเจ้าหน้าที่เข้าไปติดตามถึงบ้าน ที่ทำงาน หรือพื้นที่ส่วนตัวของประชาชน พร้อมอ้างว่าได้โพสต์หรือแชร์ข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ มีการข่มขู่จะดำเนินคดี บางรายถูกนำตัวไปสถานีตำรวจโดยไม่มีหมายจับหรือหมายเรียก และให้ทำบันทึกข้อตกลงว่าจะกระทำในลักษณะดังกล่าวอีก หรือถูกบันทึกวิดีโอระหว่างกระบวนการที่อ้างว่าเป็นการสอบสวน
.
สถานการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับประชาชนทั่วไปจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงการชุมนุมของนักศึกษาเยาวชนปี 2563-64 แม้สถานการณ์ชุมนุมจะลดระดับลงไปแล้ว แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนก็ยังได้รับรายงานการคุกคามในลักษณะนี้เป็นระยะตลอดช่วงประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา แม้ในช่วงที่เปลี่ยนรัฐบาลในปัจจุบันแล้วก็ตาม
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่ากระบวนการทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการนอกกฎหมาย ไม่ได้มีกฎหมายใดบัญญัติให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐกระทำการดังกล่าวได้ ทั้งเอกสารบันทึกข้อตกลงดังกล่าวก็ไม่ได้มีสถานะทางกฎหมาย และการดำเนินการดังกล่าวยังมีลักษณะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งการละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัว เสรีภาพในการแสดงออก การควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย กระทั่งเป็นการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ
.
.
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อแนะนำต่อประชาชนที่ถูกติดตามคุกคาม ดังต่อไปนี้
.
1. ประชาชนหรือญาติของผู้ถูกคุกคาม ควรทำการสังเกต สอบถาม และบันทึกข้อมูลพฤติการณ์ต่าง ๆ ของเจ้าหน้าที่ซึ่งเข้ามาติดตามคุกคามโดยละเอียดเท่าที่สามารถทำได้ อาทิเช่น วันเวลาที่เจ้าหน้าที่มาติดตาม จำนวนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่แต่งกายเช่นใด เป็นเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานใด ชื่อยศตำแหน่งใด ดำเนินการภายใต้คำสั่งของใคร มีเอกสารใดในการแสดงตัวบ้าง มีเอกสารใดที่อ้างว่าเกี่ยวข้องกับการโพสต์ข้อความดังกล่าว
.
2. บันทึกภาพหรือบันทึกวิดีโอเจ้าหน้าที่ที่เข้ามาติดตามคุกคามไว้ รวมทั้งบันทึกภาพเอกสารต่าง ๆ ที่เจ้าหน้าที่นำมาหากสามารถทำได้
.
3. ประชาชนมีสิทธิที่จะให้ข้อมูลใด ๆ กับเจ้าหน้าที่หรือไม่ก็ได้ และสามารถขอติดต่อปรึกษาบุคคลที่ไว้วางใจ หรือทนายความ เพื่อร่วมติดตามการดำเนินการของเจ้าหน้าที่
.
4. หากจะมีการพาตัว หรืออ้างว่าเชิญตัวไปยังสถานีตำรวจ หรือสถานที่อื่นใด ไม่จำเป็นต้องไป เนื่องจากเจ้าหน้าที่ไม่ได้มีอำนาจควบคุมตัวตามกฎหมาย หากไม่มีหมายจับที่ออกโดยศาล
.
5. ประชาชนมีสิทธิจะไม่ให้ข้อมูล หรือไม่ลงนามในเอกสารใด ๆ ที่เจ้าหน้าที่นำมา เนื่องจากไม่ใช่การใช้อำนาจตามกฎหมาย และเอกสารดังกล่าวไม่ใช่เอกสารที่มีสถานะทางกฎหมายใด
.
6. หากเจ้าหน้าที่ข่มขู่จะดำเนินคดี ก็ไม่มีหลักประกันว่าการลงชื่อในเอกสารแล้ว จะไม่นำไปสู่การถูกดำเนินคดีได้ ทั้งข้อความที่เจ้าหน้าที่ระบุ ก็อาจจะไม่ได้ผิดกฎหมายใด เนื่องจากเป็นการกล่าวอ้างของเจ้าหน้าที่เองฝ่ายเดียว
.
7. พึงระมัดระวัง การให้ความร่วมมือ กับบุคคลที่อ้างเป็นเจ้าหน้าที่ แต่ไม่เปิดเผยชื่อและสังกัด ไม่ควรรับข้อเท็จจริงใด เช่น รับว่าเป็นเจ้าของบัญชีโซเชียลมีเดีย รับว่าเป็นคนโพสต์ ยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ มือถือ ยินยอมให้สำเนา ให้ password หรือลงนามในเอกสารใด เพราะหลักฐานและเอกสารดังกล่าวอาจถูกนำไปใช้ผูกมัดในการดำเนินการในทางคดีได้อีกด้วย
.
8. ประชาชนที่ถูกคุกคามสามารถร่วมกันร้องเรียนเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นไปยังกลไกการตรวจสอบการละเมิดสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.), คณะกรรมาธิการในสภาชุดต่าง ๆ ที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน ด้านตำรวจ หรือด้านความมั่นคง หรือเข้าร้องเรียนหน่วยงานภายในของตำรวจเอง เพื่อร่วมกันผลักดันให้มีการตรวจสอบและยุติปฏิบัติการดังกล่าว
.
รวมทั้งหากประชาชนรายใดประสบกับสถานการณ์การคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐในลักษณะดังกล่าว สามารถติดต่อแจ้งเรื่องมาที่ #ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ในทุกช่องทางด้วย
.
.
อ่านบนเว็บไซต์ (https://tlhr2014.com/archives/68109)