วันพุธ, มิถุนายน 19, 2567

ร่าง พรบ.ประชามติ ๔ ฉบับเข้าสภา เหมือนกันหลายเรื่อง โดยเฉพาะแก้หลักเกณฑ์ ‘เสียงข้างมากสองชั้น’ ตัดออกไป

เมื่อวาน (๑๘ มิถุนา) มีร่างกฎหมายว่าด้วย การทำประชามติเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ถึง ๔ ฉบับด้วยกัน คือฉบับของพรรคร่วมรัฐบาล (เพื่อไทย) พรรคร่วมฝ่ายค้าน (ก้าวไกล) ของพรรคภูมิใจไทย และจากคณะรัฐมนตรี

โดยมีจุดมุ่งหมายที่ตรงกันของทั้งสี่ฉบับเรื่องหนึ่ง คือแก้ไขให้สามารถทำประชามติในวันเดียวกับการเลือกตั้ง ส.ส. และการเลือกตั้งท้องถิ่น อีกเรื่องมีสามฉบับต้องการยกเลิกหลักการ เสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น (Double majority) ไปเสีย

เว้นแต่ร่างฯ ของพรรคภูมิใจไทยต้องการคงไว้ซึ่งหลักการ เสียงเกินครึ่งสองชั้น เอาไว้ ในกรณีการทำประชามติโดยมีข้อยุติ หรือตัดสินประเด็นใดประเด็นหนึ่ง แต่การทำประชามติเพื่อขอความเห็น หรือช่วย ครม.ตัดสินใจ ให้ใช้เสียงข้างมากธรรมดา

“ไม่ต้องอาศัยเสียงข้างมากสองชั้น ไม่ต้องคำนึงถึงจำนวนผู้มาใช้สิทธิ ไม่ต้องคำนึงถึงบัตรเสียและเสียงไม่แสดงความคิดเห็น ให้ถือเอา เสียงข้างมาก ของผู้มาออกเสียงเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบก็เพียงพอ” แล้ว ต่างกับร่างฯ จากพรรคก้าวไกล

ซึ่ง “ไม่ได้กำหนดขั้นต่ำของผู้มาใช้สิทธิจากจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมดเอาไว้” แต่คะแนนเสียงที่ถูกนับต้องเกินครึ่งหนึ่งของผู้ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคก้าวไกลยังขอแก้ไข มาตรา ๑๘ เปลี่ยนกำหนดเขตการออกเสียงเสียใหม่

สำหรับร่างฯ ของพรรคเพื่อไทย กับของคณะรัฐมนตรี ส่วนใหญ่เหมือนกัน เช่นไม่เอาเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น  ให้ทำประชามติในวันเดียวกันกับการเลือกตั้ง ส.ส. ให้ กกต.จัดเวทีแสดงความคิดเห็นเท่าเทียมกันสำหรับสองฝ่าย และเพิ่มช่องทางเลือกตั้งอีเล็คโทรนิคส์

ความแตกต่างระหว่างร่างฯ ของพรรคเพื่อไทย กับร่างฯ ของคณะรัฐมนตรีอยู่ที่การแก้ไขมาตรา ๑๓ เพื่อไทยเสนอไว้ให้ “ตัดข้อแม้เรื่องจำนวนผู้มาใช้สิทธิออก และตัดข้อแม้เรื่องคะแนนเสียงที่ชนะต้อง เกินกึ่งหนึ่ง ออกไปด้วย”

พอไปถึง ครม.ก็โอเคกับการเปลี่ยนหลักเกณฑ์ไม่เอาเสียงเกินกึ่งหนึ่งสองชั้น แต่เพิ่มอีกหน่อยว่าเสียงเกินครึ่งธรรมดาที่ได้มา ต้องมากกว่าจำนวนคะแนนเสียงผู้ไม่ต้องการแสดงความคิดเห็น นี่เป็นความเยิ่นเย้อที่ควรปรับรวมสองร่างฯ ก็ได้

จะเรียกว่านี่เป็น สิทธิสองชั้นของฝ่ายรัฐบาลในการเสนอร่างกฎหมายสำคัญ ได้ไหม

(https://www.ilaw.or.th/articles/39186)