วันอาทิตย์, มิถุนายน 09, 2567

เมื่อโครงการ 700 ล้านมาถึง สายน้ำแห่งเมืองลุง จะยังไหลรินอย่างเสรีใช่หรือไม่


The Momentum
4 days ago
·
ตลอดระยะทาง 856 กิโลเมตร จากกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดพัทลุง ผ่านอ่าวไทยและทะเลอันดามัน สิ่งเดียวที่ช่วยยืนยันว่า รถไฟขบวนนี้เข้าใกล้เมืองพัทลุงแล้ว คือ ‘เทือกเขาบรรทัด’ ที่กินพื้นที่ 4 จังหวัดตั้งแต่พัทลุง ตรัง สงขลา และสตูล
.
คำว่า ‘บรรทัด’ มาจากลักษณะการวางตัวของทิวเขาที่ตรงเสมอไม่เหลื่อมกัน ชาวบ้านจึงเปรียบการวางตัวของภูเขาเสมือนกับความตรงของไม้บรรทัด เทือกเขาบรรทัดจึงกลายมาเป็นชื่อที่นิยมเรียกขานกันมาจนถึงปัจจุบัน
.
เสมือนบิดามารดาตั้งชื่อให้บุตร คนพัทลุงตั้งชื่อให้ภูเขา เหตุเพราะคนพื้นถิ่นอิงอาศัยความอุดมสมบูรณ์จากเทือกเขาลูกนี้เลี้ยงปากท้องมาตั้งแต่บรรพกาล สัตว์น้ำและของป่าล้วนสรรหาได้บนเทือกเขาบรรทัด กระทั่งยุคสมัยแห่งเงินตรา สินค้าที่ชาวพัทลุงเก็บหามาค้าขายก็มีที่มาจากป่าเขา
.
‘สายน้ำเมืองลุง’ เป็นอีกทรัพยากรที่เทือกเขามอบให้คนพื้นที่ราบ ทั้งสายน้ำจากคลองทรายขาว คลองส้านแดง คลองใหญ่ ฯลฯ ล้วนมีต้นกำเนิดจากตาน้ำบนเทือกเขาบรรทัด หอบเอาความอุดมสมบูรณ์ไหลลงสู่ที่ราบลุ่มเมืองพัทลุง ทว่าพักหลังนี้ สายน้ำแห่งเมืองลุงกลับไม่อิสระเหมือนเก่า นับแต่การเข้ามาของโครงการจัดการน้ำโดยกรมชลประทาน ตั้งแต่โครงการระดับเล็กไปถึงโครงการระดับใหญ่ แปรสภาพคลองน้ำธรรมชาติหลายจุดเป็นคลองคอนกรีต ถอนต้นไม้ สูบทราย ดูดกินมรดกจากเทือกเขาจนไม่หลงเหลือเค้าความเป็นธรรมชาติใดๆ เอาไว้
.
น้ำที่แห้งเหือดไม่สามารถเสริมประมงน้ำจืดหว่านแหจับปลา ส่วนป่าที่ถูกถอนก็มิใช่ระบบนิเวศที่เอื้อแก่เหล่าสัตว์ป่ามาอยู่กิน แม้โปรเจกต์น้อยใหญ่จากหน่วยงานภาครัฐจะมาจากความ ‘หวังดี’ อยากคิด อยากทำ เพื่อประชาชน แต่เสียงร่ำร้องขอให้ยุติของชาวบ้านกลับเป็นเสียงดังที่ไร้การเงี่ยหูฟังจากผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง
.
“ถ้าไม่มีน้ำในคลองแล้ว ผมก็ไม่รู้จะเอาวัวไปอาบน้ำที่ไหน ก็คงต้องไปหาคลองอื่น ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะไปที่ไหน”
.
เด็กเลี้ยงวัวพูดขึ้น มองด้วยแววตาไร้หนทาง แม้แต่ผู้ที่อยู่ในพื้นที่ก็ยังมิอาจรู้ได้ว่า ชีวิตที่ไม่มีคลองจะเป็นอย่างไรต่อไป
.
อ่านบทความเมื่อโครงการ 700 ล้านมาถึง สายน้ำแห่งเมืองลุง จะยังไหลรินอย่างเสรีใช่หรือไม่
ได้ทาง https://themomentum.co/phatthalung-documentary/
.
เรื่อง: พิพัฒน์พงษ์ ศรีวิชัย
ภาพ: ธนดิษย์ ศรียานงค์
.