เพียงไตรมาสแรกของปี 2567 อาชญากรรมออนไลน์สร้างความเสียหายให้กับคนไทยไปแล้วกว่า 4,600 ล้านบาท (แฟ้มภาพ)
"ถ้าหนูไม่มีลูก หนูคงจบชีวิต" ฟังเสียงเหยื่อสแกมเมอร์ออนไลน์ อาชญากรรมที่เกิดขึ้นรายวัน
จิราภรณ์ ศรีแจ่ม
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
21 มิถุนายน 2024
เพียงไตรมาสแรกของปี 2567 อาชญากรรมออนไลน์สร้างความเสียหายให้กับคนไทยไปแล้วกว่า 4,600 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 149 ล้านบาทต่อวัน และแม้ว่ารัฐบาลจะเปิดปฏิบัติการเชิงรุกเพื่อปราบปรามแก๊งคอลเซ็นเตอร์และสแกมเมอร์ออนไลน์ แต่ก็ยังพบว่าคนไทยยังตกเป็นเหยื่อหลอกลวงรายวัน
บีบีซีไทยได้พูดคุยกับผู้เสียหาย 2 คนใน จ.นครปฐม และ จ.นนทบุรี ทั้งคู่สูญเสียทรัพย์สินไปจนหมด และยังรู้สึกเสียใจกับเหตุการณ์ดังกล่าวมาจนถึงตอนนี้
คณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยแพร่บทวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่ามิจฉาชีพใช้เทคนิคทางจิตวิทยาหลอกล่อเหยื่อ และเพศหญิงมักตกเหยื่อหลอกให้รักเพื่อโกงทรัพย์สิน ขณะที่ผู้สูงอายุมักตกเป็นเหยื่อการโกงทรัพย์ผ่านการล่อลวงเอาข้อมูลส่วนตัว
ขณะที่รายงานล่าสุดของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นฐานสแกมเมอร์ออนไลน์ที่สำคัญและกำลังส่งผลกระทบต่อสันติสุขและความมั่นคงในระดับโลก โดยประมาณการณ์ว่าองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้สามารถหลอกและขโมยเงินจากคนทั่วโลกได้มากกว่า 2.3 ล้านล้านบาท และมีหลักฐานเพียงพอที่ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นปกครองในเมียนมา กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ช่วยกันปกป้ององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกัน
สูญเงิน 2.8 ล้านบาท และถูกหลอกส่งคลิปโป๊
การรับสายโทรศัพท์เพียงสายเดียวได้เปลี่ยนชีวิต นุ่น (นามสมมติ) หญิงวัย 30 ปีจาก จ.นครปฐม จากหน้ามือเป็นหลังมือ หลังเธอสูญเสียเงินร่วม 2.8 ล้านบาทให้กับแก๊งสแกมเมอร์
“ถ้าหนูไม่มีลูก หนูคงจบชีวิต และไม่ได้มานั่งเล่าเรื่องให้พี่ฟังแล้ว” เธอบอกกับบีบีซีไทยด้วยน้ำเสียงปนสะอื้น เมื่อนึกถึงวันที่เงินในบัญชีเหลือเพียง 1.70 บาท จนต้องทุบกระปุกออมสินของลูกแล้วซื้อข้าวได้เพียง 1 กล่อง เพื่อแบ่งกันกิน 4 คนในครอบครัว ซึ่งประกอบด้วยเธอ สามีวัย 33 ปี ลูกน้อย 2 คน อายุ 9 ขวบ และ 3 ขวบ ตามลำดับ
“กินได้แค่คนละคำ สองคำ ก็ต้องเก็บอีกครึ่งกล่องไว้กินเช้าวันต่อไป หนูรู้สึกแย่มากที่สุดที่ทำให้ทุกคนเดือดร้อนแบบนี้ ชีวิตหนูไม่เคยตกต่ำแบบนี้มาก่อน” นุ่นกล่าว พร้อมกับบอกว่าในช่วงแรก ๆ ที่พบว่าตัวเองถูกหลอกจนหมดเงิน เธอถึงกับคิดหาทางจบชีวิตให้เหมือนอุบัติเหตุมากที่สุด เผื่อว่าครอบครัวจะได้อยู่ต่อไปด้วยเงินประกันชีวิตของเธอ
ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 2 เดือนก่อน นุ่นรับโทรศัพท์ที่อ้างว่าเป็นพนักงานของบริษัทลาซาด้า ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ยอดนิยมในประเทศไทย และเสนอของสมนาคุณให้กับลูกค้าที่มียอดสั่งซื้อจำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม ทางบริษัทลาซาด้าประกาศมาตลอดว่าทางบริษัทไม่มีนโยบายโทรศัพท์หรือส่งข้อความหรือเสนองานสร้างรายได้ทางออนไลน์แต่อย่างใด รวมถึงไม่มีนโยบายการส่งข้อความเอสเอ็มเอส (SMS), ไลน์ (Line), หรือเฟซบุ๊ก เมสเซ็นเจอร์ (Facebook Messenger) เพื่อให้ลูกค้ากรอกข้อมูลส่วนตัว ทางลาซาด้าแนะนำให้ลูกค้าติดต่อกับร้านค้าผ่านช่องทางแชท (chat) กับร้านค้าที่อยู่บนแอปพลิเคชัน และเว็บไซต์ของลาซาด้าเท่านั้น
ในตอนแรก นุ่นปฏิเสธและพยายามตัดบท แต่ทางมิจฉาชีพในคราบพนักงานอ้างว่าทางลาซาด้ายืนยันว่าต้องมอบสินค้าดังกล่าวให้ลูกค้าจริง ๆ จึงขอให้แอดไลน์กันและกันเพื่อส่งของสมนาคุณให้เลือก
ขั้นตอนต่อไปเกิดขึ้นอย่างแยบยล นุ่นเลือกหม้อทอดไร้น้ำมันพร้อมกับส่งที่อยู่สำหรับการจัดส่ง จากนั้นผู้ที่แอบอ้างว่าเป็นพนักงานก็บอกว่า ทางลาซาด้ามีเงินตอบแทนค่าเสียเวลาสำหรับลูกค้าให้อีก 50 บาท จึงขอเลขบัญชีธนาคารของนุ่น
นุ่นปฏิเสธเงินจำนวนนั้น แต่เช่นเดิม สแกมเมอร์พยายามโน้มน้าวเธอ และพวกเขาก็ทำสำเร็จ เงิน 50 บาทถูกโอนเข้าบัญชีของนุ่นทันที และบัญชีไลน์ของเธอก็ถูกเพิ่มเข้าไปในกรุ๊ปไลน์ที่ระบุว่าเป็นกลุ่มผู้รอรับของสมนาคุณ โดยภายในกลุ่มมีสมาชิกอยู่ประมาณ 3,000 กว่าคน
กิจกรรมภายในกรุ๊ปไลน์จะเกิดขึ้นเป็นรอบ ๆ วันละหลาย ๆ ครั้ง มีตั้งแต่ให้แชร์โพสต์เฟซบุ๊ก กดไลก์ ไปจนถึงกิจกรรมร่วมสนุกอื่น ๆ แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เป็นหน้าฉากที่ทางแก๊งสแกมเมอร์สร้างขึ้น แต่ในตอนนั้นนุ่นไม่ได้เฉลียวใจ
เธอไม่ได้เข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ กับทางกลุ่ม แต่พอวันหนึ่งก็มีข้อความเชิญชวนให้สมัครสมาชิกวีไอพีของลาซาด้า นี่คือกลยุทธ์ที่ทางสแกมเมอร์ล่อลวงให้นุ่นติดกับได้ในที่สุด โดยโพสต์ดังกล่าวระบุว่า หากเสียค่าสมัครสมาชิก 1,000 บาทตอนนี้ จะได้เงินเพิ่มขึ้น 1,260 บาททันที
นุ่นตัดสินใจสมัคร และเธอก็ได้รับเงินเข้าบัญชี 1,260 บาท ภายในเวลาไม่กี่นาที
วันต่อมาในกลุ่มจัดให้มีกิจกรรมบริจาคร่วมกับลาซาด้าอีก โดยมีกติกาว่าจะได้รับเงินคืนเพิ่มขึ้นจากยอดบริจาค เช่น บริจาค 10,000 บาท จะได้รับเงินคืน 15,000 บาท เป็นต้น ในเวลาเดียวกันหน้าม้าของสแกมเมอร์ซึ่งอยู่ภายในกลุ่มไลน์เดียวกันก็พากันร่วมสนุก และมันก็ทำให้นุ่นเชื่อว่ากิจกรรมดังกล่าวเกิดขึ้นจริง เธอจึงร่วมกิจกรรมบริจาค และโอนเงินไป 50,000 บาท เพราะตามกติกาเธอจะได้เงินคืนกลับมา 65,000 บาท ซึ่งนุ่นก็ได้รับเงินดังกล่าวกลับมาจริงภายในเวลาไม่นาน
กิจกรรมบริจาคยังดำเนินไปต่อ รอบนี้ระบุว่าหากร่วมบริจาค 100,000 บาท จะได้เงินคืน 165,000 บาท นุ่นหลวมตัวทำกิจกรรมดังกล่าวต่อไปอีก แต่รอบนี้เธอไม่ได้เงินคืนเหมือนครั้งที่ผ่านมา โดยอ้างว่านุ่นทำผิดกติกา เพราะ “กรอกโค้ด (code) ไม่ถูก”
ทางสแกมเมอร์ที่อ้างตัวว่าเป็นแอดมิน (admin) จึงทำสงครามจิตวิทยากับเธอต่อ โดยยื่นข้อเสนอให้นุ่นโอนเงินเข้ามาจ่ายส่วยให้กับคนที่ถูกเรียกว่าโค้ช (coach) ซึ่งเป็นผู้อนุมัติการจ่ายเงินให้กับผู้ร่วมรางวัล โดยบอกว่าจะจ่ายเงินทั้งหมดคืนให้ทันที แต่เมื่อเธอยอมรับข้อตกลงและโอนไปอีกกว่า 3.8 แสนบาท ทางสแกมเมอร์ก็บอกว่าเธอต้องโอนเงินค่าภาษีอีกกว่า 6 แสนบาท ซึ่งนุ่นก็ตกลง
แต่เรื่องไม่จบแค่นั้น มิจฉาชีพปั้นเรื่องต่อว่าพบการทุจริตภายในบริษัท นุ่นต้องโอนเงินค่าบริสุทธิ์ใจเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทุจริตของโค้ช ในตอนนั้นนุ่นก็ตกลงโอนยอดเงินเข้าไปอีกหลายยอด รวมทั้งหมดแล้วเป็นเงินราว 2.8 ล้านบาท ที่เธอโอนให้กับแก๊งสแกมเมอร์โดยเข้าใจผิดว่าตนเองดำเนินการอยู่กับลาซาด้าเป็นเวลาร่วมอาทิตย์
นุ่นมาได้สติก็เมื่อตอนแทบไม่มีเงินเหลือติดบัญชีธนาคารแล้ว นุ่นตระหนักได้ว่าตนเองกำลังโดนหลอก และเงินที่โอนให้สแกมเมอร์ทั้งหมดคือเงินทุนของครอบครัว ค่าเทอมของลูก เงินค่ารักษาโรคเส้นเลือดสมองแตกของพ่อ และเงินที่เธอยืมพี่ชายมา
“พอไม่มีเงินทำทุน หนูก็ต้องเลิกขายอาหาร แฟนก็ต้องกลายเป็นลูกจ้างเขาอีกที ทั้งที่เขาเคยเป็นนายช่างใหญ่ รับเหมาบ้านเป็นหลัง ๆ ด้วยตัวเอง” นุ่นบอกกับบีบีซีไทยถึงชะตากรรมของครอบครัว
เมื่อนึกได้ว่าตนเองกำลังถูกต้มตุ๋น นุ่นจึงรีบเดินทางไปยังสถานีตำรวจภูธรพุทธมณฑล และแจ้งให้ธนาคารระงับธุรกรรมทั้งหมด ในตอนนั้นเธอไม่เหลือความหวังแล้วว่าตนเองจะได้เงินคืน
ด้วยความโกรธที่ตนเองโดนหลอก นุ่นส่งข้อความเข้าไปในกรุ๊ปไลน์ บอกว่าเข้าแจ้งความแล้ว เธอถูกสแกมเมอร์ที่อยู่ในกรุ๊ปด่าทอด้วยข้อความรุนแรง ก่อนที่จะมีสมาชิกคนหนึ่งในกลุ่มติดต่อเข้ามาเป็นการส่วนตัวผ่านบัญชีไลน์ของนุ่น พร้อมกับเสนอว่าหากนุ่นส่งคลิปโป๊ให้เขา ก็จะคืนเงินบางส่วนให้ โดยบอกว่าขอคลิปที่เห็นใบหน้าของนุ่น ไม่ใช่แค่เรือนร่างเท่านั้น
“หนูหมดหนทาง หนูคิดแค่ว่าขอให้ได้เงินคืนก็พอ เท่าไรก็ได้ หนูอยากได้เงินไปคืนพี่ชาย” นุ่นบอก
แต่สุดท้ายนุ่นก็ไม่ได้เงินคืนสักบาท ตรงกันข้าม คลิปเปลือยของเธอถูกส่งต่อไปยังสแกมเมอร์คนอื่น ๆ โดยเธอต้องรับมือกับข้อความข่มขู่ ถูกลวนลามผ่านข้อความเสียงและตัวอักษร ซึ่งทำให้สุขภาพจิตของเธอย่ำแย่ลงอย่างมาก
หนึ่งในผู้ต้องหาเปิดบัญชีม้าที่ถูกสืบนครบาลจับกุมได้บริเวณหน้าห้องเช่า ต.คูคต อ.ลําลูกกา จ.ปทุมธานี เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.
สุดท้ายนุ่นตัดสินใจขอความช่วยเหลือไปยังมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม เรื่องราวบางส่วนของเธอถูกนำเสนอผ่านสื่อมวลชน ทำให้แก๊งสแกมเมอร์ส่งคำขู่มาหาเธอมากขึ้น โดยบอกว่าจะปล่อยคลิปเปลือยของเธอสู่สาธารณะ หากยังไม่หยุดให้ข่าว
“นี่เป็นครั้งแรก ๆ ที่เราพบการข่มขู่ขอคลิปโป๊จากผู้เสียหายผู้หญิง” นายรภัสสิทธิ์ ภัทรสิริชัยสิน รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม บอกกับบีบีซีไทย “ต้องนับถือใจผู้เสียหายมาก ๆ ที่ยอมออกมาเปิดเผยเรื่องนี้ เพราะปกติแล้วพอมีเรื่องคลิปโป๊คลิปเปลือย ผู้เสียหายจะเขินอายไม่กล้าแจ้งความด้วยซ้ำ”
นุ่นบอกว่าแม้แต่สามีของเธอก็ไม่ทราบเรื่องคลิปโป๊ จนกระทั่งเรื่องของเธอถูกนำเสนอข่าว
“หนูก้มกราบเท้าสามีเลยพี่ บอกกับเขาว่าหนูขอโทษ หนูไม่ได้ตั้งใจจะทำแบบนั้น” นุ่นเล่าทั้งน้ำตา พร้อมกับบอกว่าตนเองไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เพราะต้องการเงินทั้งหมดคืนมาเท่านั้น แต่สิ่งที่เหลือเชื่อที่สุดคือเงิน 2.8 ล้านของเธอยังถูกอายัดไว้ได้ทั้งหมด
“มันเป็นกรณีที่เกิดขึ้นได้ยากมาก ๆ ที่จะมีใครโชคดีเช่นนี้ เรียกได้ว่าแทบไม่เคยเห็นใครอายัดเงินได้ทันมาก่อน” รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม กล่าว “พบว่าบัญชีม้าของกรณีนี้มีเพียง 2 แถว ซึ่งถือว่าสั้นมาก อาจเป็นผลพวงจากการปราบปรามการเปิดบัญชีม้าของตำรวจก็ได้ เพราะมิจฉาชีพอาจจะเปิดบัญชีม้ายากขึ้น การซื้อขายบัญชีทำได้ยากขึ้น บัญชีม้าจึงอาจลดลง สายสั้นลง”
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนนุ่น
ชายวัย 81 สูญ 22 ล้านบาท และเสียบ้าน
บ้านเดี่ยว 2 ชั้นใน อ.บางกรวย จ.นนทบุรี เป็นที่พักอาศัยของ สมพงษ์ (นามสมมติ) ชายวัย 81 ปี ซึ่งอยู่บ้านเพียงลำพังหลังภรรยาเสียชีวิต ขณะที่ลูกชายทำงานอยู่ในสิงคโปร์
เขาใช้ชีวิตเกษียณอย่างปกติสุข ฟังรายการวิทยุเพื่อฟังเพลงที่เขาชอบ เล่นอิเล็กโทนเพื่อความสุนทรีย์ วางแผนเดินทางไปต่างประเทศทุกปี เพื่อเดินทางไปยังสถานที่ใหม่ ทั้งหมดนี้สมพงษ์ทำได้ด้วยเงินเก็บออมของตนเอง เนื่องจากเขาวางแผนทางการเงินอย่างดีมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม
“ผมเริ่มลงทุนซื้อหุ้นตั้งแต่ตลาดหุ้นเปิดในไทยใหม่ ๆ” สมพงษ์บอก “แต่ไม่ได้เทรดจริงจัง เมื่อก่อนมันไม่ได้มีข้อมูลมากมาย ก็อาศัยอ่านข่าว และก็เก็บเงินไปซื้อหุ้นเอาไว้”
วันที่ 11 พ.ค. 2567 มีสายโทรศัพท์อ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารออมสิน สำนักงานใหญ่ โทรมาแจ้งว่าชื่อของสมพงษ์ถูกนำไปเปิดบัญชีธนาคารออมสิน สาขาอยุธยาพาร์ค จากนั้นก็ได้รับสายจากสแกมเมอร์ที่แอบอ้างเป็นสารวัตรงานสอบสวนจากสถานีตำรวจภูธรพระนครศรีอยุธยา เพื่อขอสอบปากคำ เนื่องจากพบว่าบัญชีดังกล่าวถูกนำมาใช้รับฝากเงินในคดีทุจริตภายในหน่วยงานราชการ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งมีทั้งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.จ.) รวมทั้งข้าราชการชั้นผู้ใหญ่และผู้น้อยรวมกันกว่า 100 คน มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยวงเงินทุจริตสูงกว่า 11 ล้านบาท
“เขาบอกว่าผมคิดค่าฝากเงินในบัญชีเป็นจำนวน 10% ของเงินทั้งหมด บัญชีธนาคารที่อยุธยาที่ชื่อของผมถูกนำไปแอบอ้างจึงตกเป็นของกลาง” สมพงษ์บอกกับบีบีซีไทย โดยในเวลานั้นเขาตกใจมาก และทางตำรวจก็กำชับว่าเขาตกเป็นผู้ต้องสงสัยเท่านั้น แต่ขอให้เก็บเรื่องนี้เป็นความลับ เพราะอาจกระทบกับการสอบสวน
ตำรวจปลอมเสนอขอสอบปากคำทางโทรศัพท์ เนื่องจากเห็นว่าสมพงษ์มีอายุมากแล้ว จึงไม่อยากให้เขาขับรถมา สภ.พระนครศรีอยุธยา โดยลำพัง พร้อมกับวางกลอุบายให้สมพงษ์แอดไลน์ของ สภ.พระนครศรีอยุธยาเข้าไปเพื่อพูดคุยกันต่อ
“พอเปิดไลน์ เขาก็ส่งรูปพาดหัวข่าวหนังสือพิมพ์ที่พูดถึงคดีดังกล่าว พร้อมกับรูปภาพผู้ต้องสงสัย 4-5 คน ส่งคำสั่งศาลซึ่งระบุว่าให้ตรวจสอบทรัพย์สินของผม ผมก็ไม่ได้ฉุกคิดว่ามันเป็นคำสั่งปลอม ในคำสั่งบอกว่าเป็นความลับสุดยอดเพื่อความปลอดภัย เพื่อจะได้ดำเนินงานราบรื่น” นอกจากนี้ สมพงษ์ยังได้รับภาพจดหมายที่อ้างว่าคดีนี้อยู่ในการตรวจสอบของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ด้วย
“ผมคิดว่าจุดเริ่มต้นที่ผมเชื่อ เป็นเพราะว่าผมมีบัญชีธนาคารอยู่ที่ออมสินจริง ผมเลยคิดว่าอาจมีพนักงานธนาคารทุจริตที่แอบเอาข้อมูลผมไปขาย เพราะมีแค่ผมกับธนาคารเท่านั้นที่ทราบว่าผมเปิดบัญชีที่นี่ แล้วพอมันมีหมายศาล เอกสาร ป.ป.ช. ทุกอย่างก็ฟังดูมีน้ำหนัก” สมพงษ์ กล่าว
ส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างมิจฉาชีพที่ปลอมตัวเป็นตำรวจกับสมพงษ์
ในการโทรศัพท์สอบประวัติเบื้องต้นโดยตำรวจปลอม สมพงษ์แจ้งรายการทรัพย์สินทั้งหมดให้สแกมเมอร์ทราบเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ว่าตนเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับการทุจริตใด ๆ ทำให้มิจฉาชีพทราบว่าเขามีเงินสด หลักทรัพย์ และอสังหาริมทรัพย์อะไรบ้าง ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสิ่งที่สมพงษ์หามาจากน้ำพักน้ำแรงของเขาทั้งชีวิต
ทางสแกมเมอร์ซึ่งปลอมตัวเป็นตำรวจ สภ.พระนครศรีอยุธยา บอกกับเขาว่าให้ไปเปิดใช้งานโอนเงินผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ สมพงษ์จึงเดินทางไปยังธนาคารกสิกรไทยและกรุงไทย เพื่อขอเปิดใช้งานแอปพลิเคชันของธนาคารที่ผูกกับบัญชีของตนเอง จากนั้นจึงเริ่มโอนเงินในบัญชีตามที่มิจฉาชีพระบุ เนื่องจากเข้าใจว่าเป็นการตรวจสอบทรัพย์สินเพื่อพิสูจน์ว่าตนเองเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีทุจริตระดับจังหวัด
เงินสดในบัญชีธนาคารต่าง ๆ รวมถึงเงินในบัญชีสหกรณ์ออมทรัพย์การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หุ้น และหลักทรัพย์อื่น ๆ ถูกทยอยโอนไปให้บัญชีของมิจฉาชีพอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เขายังต้องรายงานตัวผ่านไลน์ทุกวัน โดยทางตำรวจปลอมอ้างว่าเพื่อความปลอดภัยของเขาระหว่างสอบสวนคดีนี้
บีบีซีไทยถามว่าหากลูกชายของเขาอยู่ด้วย จะสามารถหยุดยั้งการต้มตุ๋นที่เกิดขึ้นได้หรือไม่ ?
สมพงษ์บอกว่า ในตอนนั้นเขาไม่กล้าบอกแม้กระทั่งลูกชายซึ่งเดินทางกลับจากสิงคโปร์และพาเขาไปเที่ยวพักผ่อนที่พัทยา “ผมยังเป็นคนบอกเขา [ตำรวจปลอม] ว่าอย่าติดต่อผมช่วงนี้นะ เพราะจะไปเที่ยวกับลูกชาย เขาก็ถามว่ามีใครไปบ้าง ผมบอกว่าไปกับลูกชายกันสองคน ทางนั้นก็บอกผมว่าอย่าบอกเรื่องนี้กับใครนะ เดี๋ยวความลับรั่วไหล แล้วก็ให้ผมลบแชทในไลน์ทั้งหมดที่คุยกันมา พอถึงตอนท้ายเลยเหลือแชทไม่มาก”
หลังจากวันนั้น สแกมเมอร์ยังให้สมพงษ์ทยอยโอนเงินให้ตรวจสอบต่อ พร้อมกับบอกว่าให้เขานำบ้านไปขายฝากที่ดินเพื่อเป็นหลักประกันว่าสมพงษ์จะไม่ขายบ้านแล้วหนีหายไป เขาทำตามพร้อมกับโอนเงิน 3 ล้านบาทที่ได้จากการขายฝากเข้าบัญชีมิจฉาชีพ
“ผมมาย้อนคิด ผมก็ไม่เข้าใจตัวเองว่ากำลังจะเสียบ้านอยู่แล้ว ทำไมตอนนั้นไม่ฉุกคิดอะไรเลย” สมพงษ์นิ่งเงียบไปครู่หนึ่งเมื่อเล่าถึงตอนนี้
ตำรวจสอบสวนกลางเตือนว่า ผู้สูงอายุคือกลุ่มเป้าหมายของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ (แฟ้มภาพ)
ในห้วงเวลา 15 วันที่ถูกสแกมเมอร์แอบอ้างว่าเป็นตำรวจและหลอกให้โอนเงิน สมพงษ์โอนเงินไปทั้งหมด 16 รายการ รวมเป็นเงินกว่า 22 ล้านบาท นอกจากนี้ เขายังต้องเป็นหนี้จากการขายฝากที่ดินอีก 3.4 ล้านบาท (รวมต้นและดอกเบี้ย) เขาบอกว่าไม่เคยนึกฝันเลยว่าจะต้องตกอยู่ในสภาพนี้ในวัย 81 ปี
สแกมเมอร์ในคราบตำรวจติดต่อมาอีกครั้ง บอกว่าการตรวจสอบทรัพย์สินเสร็จสิ้นแล้ว เขาเป็นผู้บริสุทธิ์ และจะโอนเงินทุกบาททุกสตางค์คืนให้ แต่มีเงื่อนไขว่าสมพงษ์ต้องโอนเงินค้ำประกันอีก 4,400,000 บาท ซึ่งเขาไม่มีเงินจำนวนนั้นให้โอนอีกแล้ว
ทางมิจฉาชีพจึงอ้างว่าจะมีตำรวจของ สภ.พระนครศรีอยุธยาอีก 2 คน ช่วยใช้ตำแหน่งค้ำประกัน ทำให้เหลือเงินค้ำประกันเพียง 2,200,000 บาท สมพงษ์จึงตัดสินใจขอความช่วยเหลือจากลูกชาย
“ผมโทรไปขอยืมเงินลูก ก็โกหกเขาว่าจะเอาเงินไปทำนั่นทำนี่ เขาก็รู้สึกแปลก ๆ เลยซักไซ้ผมว่าจะเอาเงินไปทำอะไร ผมเลยเล่าเรื่องทั้งหมดให้เขาฟัง เขาก็บอกว่าพ่อน่าจะถูกหลอกแล้ว และก็รีบบินกลับมาจากสิงคโปร์”
สมพงษ์กับลูกชายรีบแจ้งความและอายัดเงินในบัญชีทันที แต่ไม่ทันการณ์แล้ว ข้อมูลเบื้องต้นพบว่าเงินของเขาถูกโอนผ่านบัญชีม้าจำนวน 5 แถว รวมกันมากกว่า 80 บัญชี ทั้งหมดน่าจะถูกถอนเข้าบัญชีสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโตเคอเรนซีของสแกมเมอร์แล้ว ซึ่งติดตามทวงคืนได้ยาก
งานวิจัยชี้ มิจฉาชีพใช้เทคนิคทางจิตวิทยาหลอกล่อเหยื่อ
สมพงษ์ยอมรับว่า ยังทำใจกับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้ และโทษตัวเองอยู่เสมอในเรื่องนี้ที่รู้ไม่ทันกลอุบายของมิจฉาชีพ
“ผมไม่ได้ติดตามข่าวสาร เราอายุมากแล้ว ผมดูเพียงรายการกีฬา ฟังเพลง เล่นดนตรี เพื่อทำให้จิตใจรู้สึกดี ไม่ได้อยากดูข่าวที่มันตีรันฟันแทง ดูแล้วจิตใจไม่ปลอดโปร่ง คือคิดแค่ว่าถ้าใจเราดี สุขภาพเราก็ดี เพราะอยู่คนเดียว ถ้าหากป่วยขึ้นมา มันจะลำบาก” สมพงษ์บอก “ตอนนี้ผมไม่มีเงินเหลือเลย แถมต้องเป็นหนี้ด้วยซ้ำ ลูกชายต้องมาดูแลค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในบ้านทั้งหมด ผมรู้สึกผิดกับเขา เขาน่าจะมีชีวิตของเขาได้แล้ว ไม่ใช่ต้องมาดูแลผม”
“หนูดูข่าว ติดตามข่าวมาตลอด บอกกับตัวเองว่าไม่โดนหรอก ไม่มีทางโดนหรอก แต่สุดท้ายหนูก็โดนจนได้” นุ่นบอกกับบีบีซีไทย พร้อมกับกล่าวโทษตัวเองที่ทำให้ครอบครัวเดือดร้อน ล่าสุดเธอต้องนำที่ดินซึ่งเป็นมรดกสุดท้ายที่พ่อแบ่งไว้ลูก ๆ แต่ละคน ไปขายเพื่อนำเงินสดมาหมุนใช้ก่อน แม้พ่อกำชับว่าไม่อยากให้ขายที่ดินผืนสุดท้ายของบ้าน
“หนูรู้สึกทรยศต่อความไว้วางใจของพ่อ” นุ่นกล่าวด้วยเสียงเศร้า ๆ
งานวิจัยชี้ว่าเพศหญิงมักตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงให้รัก เพื่อโกงทรัพย์สิน (แฟ้มภาพ)
ดร.สุภสิรี จันทวรินทร์ จากคณะจิตวิทยา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ระบุไว้ในบทความเรื่อง “จิตวิทยาการตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ” ว่า จากงานวิจัยทางจิตวิทยาที่วิเคราะห์การหลอกลวงทางโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตมากกว่า 580 ประเภท ชี้ว่ามิจฉาชีพมักใช้เทคนิคจิตวิทยาการโน้มน้าว 2 ประเภทหลัก ๆ คือ
- การอ้างอำนาจ (authority)
- การกดดันโดยการจำกัดเวลาหรือจำนวนรางวัลตอบแทน (scarcity)
จากนั้นจึงใช้การโน้มน้าวทางอารมณ์มากกว่าการโน้มน้าวด้วยเหตุผล เช่น จงใจจำกัดระยะเวลาในการส่งข้อมูลหรือโอนเงิน จำกัดจำนวนสินค้าที่จำหน่าย หรือจำกัดจำนวนผู้เข้าร่วมการลงทุน ซึ่งทำให้เหยื่อรู้สึกว่าต้องรีบส่งข้อมูลหรือโอนเงินเพื่อจะได้รับผลตอบแทนที่ล่อตาล่อใจ และหลงเชื่อว่าตนจะได้รับผลตอบแทนตามที่ผู้หลอกลวงสัญญาไว้
นอกจากนี้ยังพบว่า เพศหญิงมักตกเป็นเป้าหมายของการหลอกลวงให้รักเพื่อโกงทรัพย์สิน ส่วนผู้สูงวัยมักตกเป็นเหยื่อของการโกงทรัพย์หรือหลอกล่อเอาข้อมูลส่วนตัวผ่านช่องทางออนไลน์ ขณะที่บุคคลที่มีการศึกษาและมีรายได้ค่อนข้างสูงมักเป็นเหยื่อของการล่อลวงให้ลงทุน
ฐานสแกมเมอร์ติดชายแดนไทย
ตำรวจประจำกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท.) หรือตำรวจไซเบอร์ ใช้เวลาดำเนินการสอบสวนคดีของนุ่นเกือบ 2 เดือน โดย “ทางตำรวจตรวจสอบหมายเลขที่โทรมา พบว่าต้นทางอยู่ในประเทศกัมพูชา” นายรภัสสิทธิ์ บอกกับบีบีซีไทย
ปัจจุบัน ยังไม่มีสแกมเมอร์คนใดในคดีของนุ่นที่ถูกดำเนินคดีทางกฎหมาย แต่ตำรวจสามารถจับกุมผู้เปิดบัญชีม้าที่ทางกลุ่มมิจฉาชีพใช้รับเงินที่นุ่นโอนไปได้ 4 คน จากผู้ต้องหาทั้งหมด 5 คน ทั้งหมดให้การปฏิเสธในชั้นต้น
สถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Institute of Peace—USIP) ระบุว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้กลายเป็นแหล่งบ่มเพาะเครือข่ายอาชญากรรมข้ามชาติที่ย้ายฐานมาจากประเทศจีน
ส่วนใหญ่พวกเขามาตั้งฐานในเขตเศรษฐกิจพิเศษสามเหลี่ยมทองคำ ประเทศลาว ซึ่งอยู่ตรงข้ามชายแดน อ.เชียงแสน ของไทย รวมถึงเมืองสีหนุวิลล์ เมืองปอยเปต โครงการดาราสาคร ในประเทศกัมพูชา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นฐานของสแกมเมอร์ทุนจีนสีเทาที่หลอกคนไทยไปทำงานเป็นจำนวนมาก และพบประวัติทำร้ายร่างกายแรงงานที่ถูกบังคับให้ทำหน้าที่หลอกลวงผู้คนออนไลน์
ชายแดนไทยติดกับเมียนมาก็เป็นฐานสแกมเมอร์ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นแหล่งอาชญากรรมออนไลน์ระดับโลก เช่น เมืองชเวโก๊กโก่ และ เคเค พาร์ค ซึ่งตั้งอยู่ติดกับชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก รวมถึงอาณาจักรของสแกมเมอร์ทุนจีนรัฐฉานและรัฐว้าของเมียนมา
“องค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ล่อลวงเหยื่อหลายล้านคนทั่วโลกด้วยการสแกมเมอร์ออนไลน์และพนันออนไลน์ เมื่อสิ้นปี 2566 มีการประมาณการณ์ว่าองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้สามารถหลอกเงินได้มากกว่า 64,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.3 ล้านล้านบาท)” USIP ระบุ
เมืองสีหนุวิลล์คือหนึ่งในฐานสแกมเมอร์ออนไลน์ทุนจีนในกัมพูชา
จากรายงานเรื่อง Transnational Crime in Southeast Asia: A Growing Threat to Global Peace and Security (อาชญากรรมข้ามชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้: ภัยคุกคามที่เพิ่มขึ้นต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก) ของสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐอเมริกา ระบุว่า มีหลักฐานที่เพียงพอที่ชี้ให้เห็นว่าชนชั้นปกครองในเมียนมา กัมพูชา และประเทศอื่น ๆ ช่วยกันปกป้ององค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ เนื่องจากมีผลประโยชน์ร่วมกัน
ในกัมพูชาพบว่าการหลอกลวงไซเบอร์อาจทำรายได้มากถึง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 460,000 ล้านบาท) ซึ่งคิดเป็นครึ่งหนึ่งของมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศหรือจีดีพี (GDP) ของประเทศกัมพูชา โดยพบว่าฐานปฏิบัติการส่วนใหญ่ของกลุ่มอาชญากรรมเหล่านี้ตั้งอยู่ในกลุ่มอาคารหรืออสังหาริมทรัพย์ที่ชนชั้นปกครองท้องถิ่นในกัมพูชาเป็นเจ้าของ
จากการศึกษาของ USIP คำนวณว่าเงินที่ถูกองค์กรอาชญากรรมเหล่านี้ขโมยจากประชาชนที่อยู่ในประเทศลุ่มน้ำโขงน่าจะเกิน 43,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี (ราว 1.57 ล้านล้านบาท) หรือคิดเป็นเกือบ 40% ของ GDP ของเมียนมา ลาว และกัมพูชารวมกัน โดยมีรายงานว่าส่วนแบ่งกำไรจำนวนมากเหล่านี้ได้หลั่งไหลไปยังกองทัพเมียนมา และชนชั้นปกครองในลาว และกัมพูชา
ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเปิดนโยบายปราบปรามแก๊งสแกมเมอร์ออนไลน์เชิงรุก และเปิดศูนย์ปฏิบัติการแก้ไขปัญหาอาชญากรรมออนไลน์หรือศูนย์โอเอซี (Anti Online Scam Operation Center : AOC) ซึ่งให้บริการสายด่วน 1441 กว่า 100 คู่สาย เพื่อให้คำปรึกษาและแก้ปัญหาภัยออนไลน์ แบบ One Stop Service ตลอด 24 ชั่วโมง พบว่ามีประชาชนโทรเข้ามาจำนวนมาก โดยในช่วง 30 วันแรกที่เปิดให้บริการ มีประชาชนโทรเข้ามามากกว่า 80,000 สาย
นายรภัสสิทธิ์ รองประธานมูลนิธิรณรงค์ทวงคืนความยุติธรรมในสังคม บอกกับบีบีซีไทยว่า ในแต่ละวันทางมูลนิธิของเขามีเรื่องร้องเรียนว่าถูกสแกมเมอร์ออนไลน์หลอกลวงเข้ามาทุกวัน เฉลี่ยวันละ 5 ราย ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่ามิจฉาชีพยังทำปฏิบัติการรายวันและมีคนไทยตกเป็นเหยื่อทุกวัน
เหมือนเช่นตอนนี้ที่ผู้เขียนได้รับข้อความ SMS จากเบอร์แปลกที่ระบุว่า “FIsah Exprses ไม่สามารถจัดส่งพัสดุของคุณได้ ติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อเช็คสถานะพัสดุ และยืนยันจัดส่งอีกครั้ง” พร้อมกับแนบลิ้งก์มาในข้อความ
เราสามารถสังเกตได้ว่านี่เป็นข้อความจากมิจฉาชีพที่ต้องการให้เรากดลิงก์เพื่อนำไปสู่การหลอกลวงใด ๆ จากการสังเกตตัวสะกดที่ไม่ถูกต้อง และผู้เขียนแน่ใจว่าตนเองไม่ได้ใช้บริการขนส่งเจ้าดังกล่าวในช่วงนี้
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรอดจากเทคนิคต่าง ๆ ที่สแกมเมอร์สรรหามาเพื่อล่อลวงผู้คนได้ เพียงไตรมาสแรกของปีนี้ พบว่าอาชญากรรมออนไลน์สร้างความเสียหายให้กับคนไทยไปแล้วกว่า 4,600 ล้านบาท หรือเฉลี่ย 149 ล้านบาทต่อวัน จากข้อมูลที่นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผย
ขณะที่ข้อมูลส่วนบุคคลของคนไทยยังหลุดสู่สาธารณะอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากการถูกเจาะระบบโดยแฮกเกอร์หรือเกิดจากความหละหลวมของหน่วยงานรัฐและเอกชนก็ตาม เช่นล่าสุดที่พบข้อมูลคนไทยจำนวน 20 ล้านชุดรั่วไหลและถูกประกาศขายบนฟอรัมซื้อขายข้อมูลผิดกฎหมาย จากรายงานของบริษัท Resecurity เมื่อเดือน ม.ค. ที่ผ่านมา
https://www.bbc.com/thai/articles/c6ppkey31g5o