วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 10, 2567

ศูนย์ทนายฯ ร่วมกับกองทุนราษฎรประสงค์ และเครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน แถลงข่าวยื่นคำร้องขอประกันตัว 15 ผู้ต้องขังคดีการเมือง


iLaw
16h
·
ศูนย์ทนายฯ ร่วมกับกองทุนราษฎรประสงค์ และเครือข่าย #นิรโทษกรรมประชาชน แถลงข่าวยื่นคำร้องขอประกันตัว 15 ผู้ต้องขังคดีการเมือง
.
วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. ที่ ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนแถลงถึงการยื่นประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองจำนวน 15 ราย ประกอบด้วยผู้ถูกคุมขังจากคดี มาตรา 112 จำนวนเจ็ดคน และผู้ถูกคุมขังจากคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ จำนวนแปดคน การยื่นประกันในครั้งนี้ สอดรับไปกับวาระการเข้าชื่อเสนอ ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ที่ ‘เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน’ กำลังมีการรณรงค์อย่างต่อเนื่องในช่วงวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567
.
ตลอดช่วงเช้า เวลา 09.30 น. พนักงานสืบสวนจาก สน.พหลโยธิน และเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ตำรวจศาล ได้เดินตรวจตราและเข้าร่วมสังเกตการณ์การแถลงข่าวในบริเวณโดยรอบหน้าป้ายศาลอาญา
.
ต่อมาเวลา 10.50 น. คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ตัวแทนทนายความจากศูนย์ทนายฯ แถลงว่าตั้งแต่ปี 2566 สถานการณ์ผู้ต้องขังคดีการเมืองมีเพิ่มสูงขึ้น แม้ศาลจะไม่ให้ประกันตัวกลุ่มผู้ต้องขังทางการเมืองเรื่อยมา แต่ผู้ต้องขังจำนวน 15 ราย ยังมีความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัวเพื่อเรียกร้องสิทธิของตนเองอีกครั้ง โดยในวาระที่มีการเข้าชื่อกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชนนี้ อันเป็นทางออกในการยุติความขัดแย้งทางการเมือง พระราชบัญญัติฉบับนี้มีความสำคัญกับผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
.
“การยื่นประกัน ก็ด้วยความหวังว่าศาลยุติธรรมจะยังคงยึดมั่นในหลักการขั้นพื้นฐานคือ การสันนิษฐานไว้ก่อนว่าพวกเขาเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าคดีจะถึงที่สุด ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนได้รับ”
.
ด้านนักวิชาการทางสิทธิมนุษยชน เบญจรัตน์ แซ่ฉั่ว กล่าวว่าตลอดสามปีที่ผ่านมา มีการดำเนินคดีกับผู้ที่ออกมาเรียกร้องประชาธิปไตยจำนวนมาก และมีคนจำนวนหนึ่งกำลังถูกจองจำ โดยอาชญากรรมเดียวของพวกเขาคือการตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์ หรือการออกมาต่อต้านผู้ที่มีอำนาจในสังคมหรือระบอบการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นคือการไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว ทั้งที่หลายคนยังอยู่ระหว่างการพิจารณาคดี
.
“สิ่งเหล่านั้นคือพวกเขาถูกพรากเสรีภาพของประชาชนในระหว่างที่สถานะตามกฎหมายของพวกเขา คือยังเป็นผู้บริสุทธิ์ จนนักโทษทางการเมืองจำนวนหนึ่ง เลือกที่จะสูญเสียอิสรภาพทางการเมืองของตนเองเพื่อแลกกับการตั้งคำถามให้สังคมต้องทบทวนกระบวนการยุติธรรม”
.
ทั้งนี้ เบญจรัตน์ได้กล่าวต่อไปว่า ประเทศไทยอยู่ในโอกาสที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปเป็นประชาธิปไตยด้วยรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ที่เรามีความคาดหวังว่าจะนำพาประเทศไปสู่ประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และประเทศไทยได้แสดงเจตจำนงว่าจะเข้าร่วมกลไกทางสิทธิมนุษยชนในระดับนานาชาติ ถือว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะกลับมากลับมายื่นยันสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรมอีกครั้งหนึ่ง เป็นโอกาสอันดีที่กระบวนการยุติธรรมของไทยจะได้แสดงบทบาทในการคืนและสร้างความเป็นธรรมให้นักโทษทางการเมืองที่ยืนหยัดอยู่บนหลักการสิทธิมนุษยชน และเป็นโอกาสอันดีที่สังคมไทยควรจะเปิดโอกาสให้มีการพูดคุยกันได้ถึงความความแตกต่างหลากหลาย และนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านในเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชนของนักโทษทางการเมือง
.
ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ต้องขังรายอื่นที่ยังไม่ได้ยื่นขอประกันตัวในวันนี้ ตัวแทนทนายความเปิดเผยว่า มี “วุฒิ” และ “อานนท์” ที่จะยื่นประกันตัวในวันที่ 14 กุมภา 2567 และ “เก็ท-โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง เวหา แสนชนชนะศึก และวารุณี ได้แจ้งความประสงค์ที่จะรอดูสถานการณ์ ตลอดจนคนที่ไม่ประสงค์จะต่อสู้ทางคดีแล้ว หรือรอคดีสิ้นสุด ได้แก่ สมบัติ และชนะดล
.
นอกจากนี้ บุ้ง เนติพร เสน่ห์สังคม ได้แจ้งความประสงค์ว่าจะไม่ขอยื่นประกันตัว โดยปฏิเสธกระบวนการยุติธรรม เพื่อประท้วงต่อความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
.
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจนถึงวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ยังคงมีประชาชนถูกคุมขังในเรือนจำจากคดีที่แสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 38 คน โดยไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี จำนวนอย่างน้อย 25 คน และคดีถึงที่สุดแล้ว 13 คน
.
ในจำนวนของผู้ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างต่อสู้คดี มีผู้ที่ถูกคุมขังจากคดีตามมาตรา 112 จำนวน 14 คน และมีเยาวชนสองคน ถูกคุมขังในข้อหานี้ เพราะศาลกำหนดมาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา ส่วนในคดีครอบครองวัตถุระเบิดหรือเผารถตำรวจ มีผู้ไม่ได้ประกันตัว รวมเก้าคน
.
อย่างไรก็ตาม ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากคดีทางการเมือง นักศึกษา และภาคประชาสังคม ได้รวมกลุ่มกันเป็น “เครือข่ายนิรโทษกรรม” จัดทำร่างกฎหมายนิรโทษกรรมประชาชน และจัดให้มีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย โดยมีกิจกรรมรณรงค์ต่อเนื่องในช่วงวันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 เพื่อให้รัฐยุติการดำเนินคดีจากการชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง
.
ทั้งผู้ต้องหาและจำเลยที่ถูกคุมขัง เมื่อทราบถึงการเข้าชื่อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมและกิจกรรมของเพื่อนข้างนอกแล้ว หลายคนแจ้งความประสงค์ที่จะยื่นขอประกันตัว เพื่อใช้สิทธิของตนเองอีกครั้ง และเพื่อตอกย้ำให้สังคมได้เห็นว่ายังมีคนไม่ได้รับสิทธิประกันตัว ซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และได้รับความเดือดร้อน

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/783970297109925?ref=embed_post