สมองไหลกลับ! เมื่อความรู้จากฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ดขับเคลื่อนวงการเทคสตาร์ทอัพของเวียดนาม
THE STANDARD WEALTH
22.02.2024
เวียดนาม ประเทศคอมมิวนิสต์ กำลังก้าวข้ามการเป็นแหล่งจ้างผลิตราคาถูก เมื่อเหล่าผู้จบจากฮาร์วาร์ดและออกซ์ฟอร์ด ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยระดับท็อปของโลก ได้หวนคืนถิ่นเพื่อพลิกโฉมเศรษฐกิจดิจิทัล สร้างความหวังเป็น Silicon Valley แห่งใหม่
บทความของ Nikkei Asia เริ่มต้นด้วยเรื่องของ Tuan Anh ที่ยังจำได้ดีถึงการทำคะแนนท้ายตารางในวิชาเศรษฐศาสตร์สำหรับวิศวกร หลังจากย้ายออกจากเวียดนามเพื่อไปศึกษาที่ออกซ์ฟอร์ดเมื่อหลายปีก่อน
เขาได้รับโจทย์เกี่ยวกับการลงทุนและเลือกที่จะลงทุนในทองคำ กลับกลายเป็นว่าได้คะแนนสอบเกือบอันดับสุดท้ายของชั้นเรียน เหตุการณ์นี้ทำให้เขาตระหนักว่าคนในโลกส่วนใหญ่คิดไม่เหมือนคนเวียดนาม เพราะคนเวียดนามส่วนใหญ่ยังนิยมเก็บเงินในทองคำ เนื่องจากตลาดการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์และตลาดหุ้นยังไม่พัฒนาเท่าที่ควรในสมัยก่อน
เขากลับประเทศเวียดนามพร้อมกับมุมมองที่มีต่อโลกที่กว้างขึ้น นำพาบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีที่เดินทางกลับบ้านมาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลที่เติบโตอย่างรวดเร็ว และผลักดันให้เวียดนามเปลี่ยนจากแค่ซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ มาเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวของจีน
หลายประเทศใฝ่ฝันที่จะพัฒนา Silicon Valley ของตนเอง ในเวียดนามแม้จะมีการกล่าวถึงศูนย์กลางนวัตกรรมอยู่บ่อยครั้ง แต่กลับมองข้ามส่วนสำคัญอันเป็นข้อได้เปรียบในการแข่งขัน นั่นคือ ‘ผู้ที่เคยศึกษาในต่างประเทศ’
เวียดนามส่งนักเรียนไปศึกษาต่อต่างประเทศมากกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาเป็นเวลานาน เฉกเช่นเดียวกับกลุ่มผู้ลี้ภัยหลังสงคราม เหล่านักศึกษาที่ไปต่างประเทศจะได้พัฒนาทักษะและเครือข่ายอันจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเมื่อกลับประเทศ ขณะเดียวกัน การเปิดมุมมองสู่โลกกว้างนี้เองก็ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับระบบพรรคการเมืองแบบพรรคเดียวที่ดูจะมีข้อจำกัดด้านการสร้างนักคิดที่มีอิสระในประเทศ
“การศึกษาจากอังกฤษปลูกฝังความรู้สึกของจุดประสงค์ในการทำงานให้กับเรา ไม่ใช่แค่การหาเงิน” Tuan Anh ซีอีโอของสตาร์ทอัพ Solano กล่าว เขาและบริษัทมีจุดมุ่งหมายในการส่งเสริมการใช้พลังงานแสงอาทิตย์
ผลลัพธ์หลังเปิดหลักสูตรศึกษาต่อต่างประเทศหลายสิบปี
เหล่านักเรียนเวียดนามรุ่นแรกๆ ที่ไปศึกษาต่างประเทศมามีเวลาเพียงพอที่จะสำเร็จการศึกษา ทำงาน (ส่วนใหญ่ในต่างประเทศ) และนำประสบการณ์กลับมายังเวียดนามเพื่อพัฒนาประเทศในช่วงที่เวียดนามเจริญก้าวหน้ามากขึ้น หลังจากหลุดพ้นจากเงาแห่งสงครามและระบบเศรษฐกิจแบบวางแผนจากส่วนกลาง ทำให้ประเทศเวียดนามน่าดึงดูดใจเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่น สัดส่วนของสินค้าเทคโนโลยีที่ส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 13% ในปี 2010 เป็น 42% ในปี 2020
แต่อย่างไรก็ตาม มีหลายๆ ตัวชี้วัดที่ผลลัพธ์ยังต่ำกว่าศักยภาพที่แท้จริง
เหล่าซัพพลายเออร์ของ Apple กล่าวว่า พวกเขาไม่สามารถหาเหล่าวิศวกรได้เพียงพอ เวียดนามยังไม่สามารถสร้างสตาร์ทอัพที่สามารถก้าวข้ามพรมแดนไปสู่ตลาดต่างประเทศได้อย่างแท้จริง เช่น Gojek ของอินโดนีเซีย หรือ Shopee จากสิงคโปร์
นอกจากนี้เวียดนามยังคงมีปัญหาหลักที่ขัดกันเอง เพราะรัฐเผด็จการต้องการความภักดีและควบคุมการไหลของข้อมูลสื่อสาร แล้วสภาพแวดล้อมแบบนี้จะเป็นฐานที่ดีในการผลิตเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่เน้นนวัตกรรมได้อย่างไร?
วุฒิจากต่างชาติคือสิ่งที่ขาดไม่ได้
ความต้องการที่จะได้วุฒิการศึกษาจากต่างประเทศมีข้อสังเกตด้านลบเช่นกัน คือความเชื่อมั่นในวุฒิการศึกษาในประเทศลดลง ใบปริญญาจากต่างประเทศกลายเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการไปสู่งานระดับบน เกิดการแบ่งแยกระหว่างกลุ่มผู้มีวุฒิจากต่างประเทศกับกลุ่มที่ไม่มี
เส้นทางการศึกษาของเวียดนามนั้นไปตามเส้นทางเดียวกับความสัมพันธ์ระดับนานาชาติ เวียดนามเคยส่งนักเรียนจำนวนมากไปยังประเทศกลุ่มอดีตสหภาพโซเวียต แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา นักเรียนเริ่มหันไปเรียนในประเทศที่เป็นบ้านของเหล่าผู้ลี้ภัยสงครามเวียดนามเป็นจำนวนมากแทน
สหรัฐฯ อดีตศัตรูในสงครามเวียดนาม เป็นหนึ่งใน 10 ประเทศต้นทางของนักเรียนต่างชาติในเวียดนามมานานกว่าทศวรรษ และในปี 2022 เวียดนามได้ทำอันดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่อันดับ 5 จากข้อมูลอย่างเป็นทางการของสหรัฐฯ
สถาบันการศึกษาในเวียดนามขึ้นชื่อเรื่องการสอนอุดมการณ์และการท่องจำ และมีปัญหาการติดสินบนบางส่วน (จากผลการตรวจสอบของรัฐบาล) เพื่อแลกกับคะแนนดีหรือการสอนพิเศษ
หลักสูตรต่างประเทศได้รับความนิยมมากจนสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั้งจากฟินแลนด์ไปจนถึงเกาหลีใต้มีนักศึกษาชาวเวียดนามเป็นสัดส่วนนักเรียนต่างชาติมากที่สุด ในสหรัฐฯ สภาคองเกรสได้เปิดตัวโครงการทุนการศึกษา Vietnam Education Foundation (VEF) ในปี 2003 เพื่อรับนักศึกษาเวียดนามโดยใช้เงิน 5 ล้านดอลลาร์ต่อปี
Tu Ngo นักลงทุนและศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า โครงการทุนนี้เป็นตัวอย่างที่ดีเยี่ยมของการลงทุนระยะยาวที่คุ้มค่า เหล่าศิษย์เก่าได้เติบโตขึ้นและสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองในแวดวงเศรษฐกิจเวียดนาม
ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัย VEF มาร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ อาทิ Palexy บริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยี Machine Learning และ Zalo แอปพลิเคชันแชตของยูนิคอร์นเวียดนาม รวมถึง VNG ซึ่งได้รับความนิยมในเวียดนามมากกว่า Facebook
นอกจากนี้เหล่าศิษย์เก่าจากฮาร์วาร์ดและเคมบริดจ์ได้กลับมายังเวียดนาม พร้อมก่อตั้งและผลักดันบริษัทเทคโนโลยีมากมาย อาทิ Tap Tap (แพลตฟอร์มรางวัล), Uber Vietnam และ Abivin (สตาร์ทอัพด้านโลจิสติกส์)
Sandy Dang อดีตผู้อำนวยการ VEF กล่าวว่า “อย่าลืมว่าในปี 2000 มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ แทบไม่มีความรู้เลยว่านักศึกษาเวียดนามมีความสามารถแค่ไหน” เพราะขณะนั้นกรุงวอชิงตันเพิ่งยกเลิกการคว่ำบาตรทางการค้าได้เพียง 6 ปี โครงการ VEF ที่เน้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้สร้างปรากฏการณ์ลูกโซ่ที่นักศึกษาเวียดนามแห่แหนกันไปสมัครเรียนที่มหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ “ซึ่งถือเป็นตัวช่วยเริ่มต้นกระบวนการที่เหล่าบัณฑิตได้กลับมาขับเคลื่อนประเทศ”
บัณฑิตต่างประเทศเลือกกลับเวียดนามมากขึ้น
เหล่าบัณฑิตที่กลับมายังเวียดนามมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจเติบโตอย่างรวดเร็ว และมีบริษัทยักษ์ใหญ่มาเปิดโรงงาน อาทิ LG และ Alibaba ส่งผลให้การไหลออกของแรงงานลดลงอย่างมาก แม้จะยังมีปัญหาค้าแรงงานอยู่บ้างก็ตาม
ผลการสำรวจของธนาคารโลกแสดงให้เห็นว่าจำนวนประชากรที่โยกย้ายออกจากเวียดนามสุทธิลดลงจาก 162,571 คน ในปี 2001 เหลือเพียง 4,378 คน ในปี 2011 และตัวเลขแทบไม่เปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งต่างจากยุคสมัยที่ผู้คนพยายามหนีออกนอกประเทศเพื่อเริ่มต้นชีวิตใหม่
แม้จะมีศักยภาพทางเศรษฐกิจ แต่เจ้าหน้าที่ของเวียดนามก็ยอมรับว่าระบบการศึกษาของประเทศกำลังล้าหลัง นักศึกษาระดับปริญญาตรีส่วนใหญ่ต้องเรียนวิชาทฤษฎี เช่น ลัทธิสังคมนิยม โดยไม่คำนึงถึงสาขาที่เรียน
เวียดนามมีการคาดการณ์ว่าจะมีขนาดเศรษฐกิจดิจิทัลที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาคภายในปี 2025 และมีการลงทุนใน Venture Capital มากที่สุดระหว่างปี 2025-2030 จากผลการศึกษาของ Google, Temasek และ Bain ที่ทำการสำรวจใน 6 ประเทศใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“นักลงทุนมักพูดว่าเวียดนามมีศักยภาพมาก แต่ความท้าทายอยู่ที่การหาผู้ก่อตั้งและพันธมิตรที่พวกเขาสามารถไว้ใจและสร้างธุรกิจที่มีมาตรฐานการกำกับดูแลและความซื่อสัตย์สูง” นักลงทุนชาวเวียดนามคนหนึ่งกล่าว “คนรุ่นนี้ที่กลับมาจะเป็นผู้ผลักดันให้สิ่งต่างๆ พัฒนาไปข้างหน้า และช่วยสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้กับธุรกิจในเวียดนาม”
ภาพ: Paul Marotta / Getty Images
อ้างอิง:
ที่มา
https://thestandard.co/harvard-oxford-graduates-power-vietnam-s-tech-startup-scene/