วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 29, 2567

ศาสนาพุทธกับความจงรักภักดี


วารสารมานุษยวิทยาศาสนา
20h
·
ศาสนาพุทธกับความจงรักภักดี
เจษฎา บัวบาล (28 กุมภาพันธ์ 2567)
ชาวพุทธมักอ้างว่าศาสนาของพวกเขาเน้นสอนให้คนมีปัญญา โดยเอาไปข่มศาสนาที่เชื่อพระเจ้าว่าเน้นไปที่ศรัทธา บทความนี้เสนอว่า เพื่อจะรักษาอัตลักษณ์และความเป็นองค์กร ศาสนาพุทธก็เน้นศรัทธาหรือความจงรักภักดีมาตั้งเเต่ยุคพุทธกาลเช่นกัน
การใช้ “ไตรสิกขา” หรือข้อศึกษา/ฝึกตน ให้เป็นสาระสำคัญของพุทธศาสนา เช่นในหนังสือพุทธธรรม ของ ป.อ.ปยุตฺโต นอกจากจะสื่อว่ามนุษย์ต้องฝึกตนแล้ว ยังสะท้อนอีกว่า ในขณะที่ศาสนาอื่นเน้นให้มีศรัทธาต่อพระเจ้า/ศาสดา ศาสนาพุทธกลับเป็นศาสนาที่ตั้งอยู่บนการใช้สติปัญญา ยึดหลักกาลามสูตรที่ไม่เชื่อง่าย แต่ต้องฝึกตนเอง เพื่อจะพึ่งตัวเองและพ้นทุกข์ด้วยตัวเอง
แต่ชาวพุทธไม่ได้มีอิสระในการค้นหาสัจธรรม เพราะเขาถูกสอนว่าจะบรรลุธรรมได้ก็เพราะปฏิบัติตามหลักคำสอนของพุทธศาสนานั่นเอง หลักการลามสูตรจึงไม่ได้มีผลจริง (ถ้าจะใช้ ก็ใช้เพื่อบอกว่าอย่าเชื่อศาสนาอื่น) เเละหากทำตามคำสอนแล้วไม่เห็นผล ก็ให้ถือว่ายังปฏิบัติไม่มากพอ เช่น บริจาคมากก็ยังยากจนหรือนั่งสมาธิหลายปีก็ไม่บรรลุธรรม ซึ่งตามหลักคิดแบบศาสนาที่เชื่อพระเจ้าก็คือ ยังไม่จงรักภักดีมากพอหรือยังไม่ถึงเวลาที่พระเจ้าจะประทานให้
ในแง่พิธีกรรม การเริ่มต้นบทสวดด้วย พุทธัง สะระณัง คัจฉามิ (เราขอยึดพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง) หรือ นัตถิ เม สะระณัง อัญญัง (ที่พึ่งอย่างอื่นของเราไม่มี .. มีแต่พระรัตนตรัย) ก็เป็นการยืนยันความจงรักภักดีที่ไม่ต่างกับคริสต์ยืนยันว่าเชื่อพระเยซู หรืออิสลามยืนยันว่ามูฮัมหมัดคือศาสดาที่อัลเลาะห์ส่งมา
ปฏิเสธพุทธะเท่ากับเดินผิดทาง
ในแง่อิสรภาพในการแสวงหาทางจิตวิญญาณ ชาวพุทธห่างไกลกับ “สิทธารถะ” ในนิยายของ เฮอร์มาน เฮสเส เพราะพวกเขาสมาทานตนเป็น “โควินทะ” ผู้จงรักภักดีต่อคำสอนของพุทธองค์/เหล่าสาวก และในนิยายเรื่องนั้นก็เช่นกัน แม้โควินทะจะเป็นคนฉลาดและตั้งใจปฏิบัติ แต่เขาบวชมาจนพุทธะตายก็ยังไม่บรรลุธรรม
ก่อนที่พระอานนท์จะรับหน้าที่เป็นคนดูเเลพุทธะ (พุทธอุปัฏฐาก) พระอื่นๆ ได้ทำหน้าที่นั้นมาก่อน บางคนเห็นป่าไม้ร่มรื่นก็ขออยู่ปฏิบัติธรรมที่นั้น ซึ่งพุทธะก็ห้าม สุดท้ายเมื่อเขายังฝืนอยู่ที่นั่นต่อ ก็จะจบลงด้วยการที่จิตใจฟุ้งซ่าน มารรบกวน การปฏิบัติไม่ก้าวหน้า ตัวอย่างเหล่านี้ตอกย้ำว่า พวกเขาไม่มีทางก้าวหน้าได้หากปฏิเสธคำของพุทธะ
องค์กรศาสนาเรียกร้องอัตลักษณ์และความจงรักภักดี
ชาวพุทธไม่คุ้นเคยกับตัวอย่างแบบ “สิทธารถะ” ผู้เลือกจะไปจากพุทธะ เเล้วค้นพบสัจธรรมผ่านประสบการณ์ตัวเอง แม้พุทธะเองจะละทิ้งครูอาจารย์เพื่อหาหนทางของตัวเองแบบ “สิทธารถะ” แต่อิสรภาพพวกนั้นได้สิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อเขามาตั้งองค์กร/สังฆะ เพื่อรวมคน และมีคำสอนมากมายมอบให้ไปปฏิบัติ (ใช้คำดีดีหน่อยคือ ให้ไปทดลองด้วยตัวเอง)
“มหากัสสปะ” อาจดูใกล้เคียงกับ “สิทธารถะ” ที่เน้นปฏิบัติคนเดียวในป่า แทบไม่มายุ่งกับพุทธะ/คณะสงฆ์ พุทธะยกย่องความสามารถของเขามาก แต่เมื่อพุทธะตาย เขาเป็นคนที่กระตือรืนร้นที่สุดในการรวบรวมคำสอนพุทธเพื่อจะรักษาความเป็นหนึ่งเดียวและสืบทอดองค์กรพุทธไว้ให้คนรุ่นหลัง พูดได้ว่า ศาสนาพุทธ (เถรวาท) ที่มีอยู่จนวันนี้มาจากความพยายามของพระที่นำโดยกัสสปะ
เมื่อทำสังคายนา พระอานนท์ถูกกล่าวหาว่า ไม่ยอมถามพุทธะว่าอะไรคืออาบัติเล็กน้อยที่อนุญาตให้เพิกถอนได้ ไม่ยอมขอให้พุทธะมีชีวิตอยู่ตลอดหนึ่งกัป หรือดิ้นรนทำให้ผู้หญิงได้บวชเป็นภิกษุณี ฯลฯ อานนท์ไม่เห็นว่าสิ่งที่ตนทำจะผิดอะไร แต่เมื่อสงฆ์เห็นว่าผิด เขาก็ยอมรับและเเสดงอาบัติ พูดง่ายๆ คือ อานนท์มีความจงรักภักดีต่อองค์กรสงฆ์ แม้เขาจะเห็นว่าข้อหาเหล่านั้นตรรกวิบัติก็ตาม
ย้อนดูสังคมไทย เรามักกล่าวกันว่า คณะสงฆ์แบบมหาเถรสมาคมปกครองแบบเผด็จการ มีอำนาจรัฐและสำนักพุทธฯ มาควบคุม/จัดการคนคิดต่าง สิ่งนี้จำกัดความหลากหลายของพุทธศาสนา เพราะหากมีพระที่แหวกแนวก็จะถูกปรับทัศนคติหรือจับสึก เเต่ต้องไม่ลืมว่า นั่นไม่ใช่สิ่งใหม่ เพราะในพุทธกาลพระก็ไม่ได้มีอิสรภาพมาก ไม่ใช่เฉพาะกรณีพระอานนท์ถูกปรับอาบัติ เเต่เพราะความเป็นองค์กรจะเรียกร้องศรัทธาต่อผู้นำหรือต่อการตีความคำสอนของผู้นำ และเรียกร้องอัตลักษณ์ที่ทุกคนควรแสดงไปในทางเดียวกัน
อาจเพราะศาสนาพุทธก็มีรูปแบบเช่นนี้เเหละ ชาวพุทธจึงไม่คุ้นเคยกับการใช้เสรีภาพ พวกเขาพร้อมจะอยู่ฝ่ายจงรักภักดีมากกว่า เพราะการใช้เสรีภาพเป็นกิเลสและผิดทาง สุดท้ายก็ต้องมาเติบโตในทางของพุทธะอยู่ดี ความจงรักภักดีนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดเมื่อพระสงฆ์ถูกรวบเข้าไปอยู่ใต้อำนาจรัฐและหล่อมหลอมผ่านตำราเรียนนักธรรม (แน่นอนว่าอำนาจรัฐจำกัดเสรีภาพมากขึ้น) แต่เพราะการตั้งศาสนาของพุทธะเรียกร้องสิ่งนี้ตั้งแต่ต้น ซึ่งศาสนาพุทธก็เน้นอัตลักษณ์ ศรัทธา/ความจงรักภักดี เช่นเดียวกับที่เราพบในศาสนาอื่น