วันอาทิตย์, กุมภาพันธ์ 25, 2567

‘สมหมาย ภาษี’ โพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์การบริหารเศรษฐกิจ แบบเพี้ยนๆของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน รวมทั้งเรื่องกดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ย ไปจนถึงกระบวนการผ่านร่างกฎหมายงบฯปี’67 ที่ล่าช้ากว่า 8 เดือน


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th/

การบริหารเศรษฐกิจ แบบเพี้ยนๆของ ‘รัฐบาลเศรษฐา’

22 กุมภาพันธ์ 2024
Thai Publica

‘สมหมาย ภาษี’ โพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์การบริหารเศรษฐกิจ ‘รัฐบาลเศรษฐา’ จากนโยบายแจกเงินดิจิทัล 5 แสนล้าน นำมาสู่ประเด็นข้อถกเถียงกันเป็นวงกว้างว่าเศรษฐกิจไทย ‘วิกฤติ – ไม่วิกฤติ’ รวมทั้งเรื่องกดดันแบงก์ชาติลดดอกเบี้ยไปจนถึงกระบวนการผ่านร่างกฎหมายงบฯปี’67 ที่ล่าช้ากว่า 8 เดือน

เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โพสต์เฟซบุ๊ก วิพากษ์วิจารณ์การบริหารนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน มีรายละเอียดดังนี้

ผ่านไปแล้ว 6 เดือน สำหรับการบริหารประเทศของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่มีนายกรัฐมนตรีพลเรือนชื่อ ‘เศรษฐา ทวีสิน’

6 เดือนที่ยังไม่มีสิ่งดีใด ๆเป็นรูปธรรมให้เห็นในเรื่องเศรษฐกิจ ตรงกันข้ามกลับได้ยินแต่คนในรัฐบาลพูดย้ำว่า ประเทศยังตกอยู่ในภาวะวิกฤติอยู่ร่ำไป

คนไทยโดยทั่วไป ทั้งที่สนใจและรู้เรื่องภาวะบ้านเมือง และทั้งที่ยังดิ้นรนในการหาเงินมาเลี้ยงตัว และครอบครัวไม่พอ แถมยังต้องทุรนทุรายกับหนี้ครัวเรือนที่สูงจะท่วมตัว ซึ่งถือว่าเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เขาเหล่านั้น ต่างก็ไม่สามารถบอกตัวเองและสมาชิกในครอบครัวได้ว่า จะได้อะไรจากรัฐบาลมาทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของพวกเขาดีขึ้นมาได้ มันช่างน่าหดหู่เป็นอันมาก

แต่เมื่อดูให้ชัด ๆว่ารัฐบาลนี้เขากำลังทำอะไรให้กับประชาชนคนไทยกันบ้าง โดยเฉพาะในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ก็จะพบว่ามีแต่เรื่องเพี้ยน ๆให้ได้ยินอยู่หลายเรื่อง

เรื่องแรก คือเรื่องนโยบายการแจกเงินดิจิทัล 500,000 ล้านบาท ของรัฐบาลที่มีเพื่อไทยเป็นพรรคแกนนำ เริ่มต้นวางแผนกันว่าจะแจกเงินดิจิทัลโดยใช้ระบบบล็อกเชน (Block chain) คือคิดสร้างเงินสกุลใหม่ขึ้นมา แต่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทยบล็อกเสียก่อนว่า รับแบบนี้ไม่ได้ และได้แนะว่าถ้าไม่แจกเงินธรรมดา ยังจะแจกเงินดิจิทัลอยู่ ก็ให้ใช้ระบบเป๋าตัง (Wallet) เหมือนรัฐบาลก่อนใช้ในการแจกเงินช่วยเหลือคนจน หรือ ที่แจกให้คนไปใช้เงินท่องเที่ยว โดยผ่านระบบเป๋าตังของธนาคารกรุงไทย

เจอเข้าแบบนี้ คนต้นคิดของรัฐบาลก็คอตก เหตุเพราะอะไรคงไม่ต้องพูด แต่ที่จะใช้ระบบเป๋าตัง โดยรัฐบาลต้องกู้เงินมาหนุนถึง 500,000 ล้านบาท เกือบเท่าวงเงินขาดดุลงบประมาณ 693,000 ล้านบาท ในปีงบประมาณ 2567 ทำให้ธนาคารชาติ หรือ ธปท. ต้องสะดุ้ง และคิดทบทวนกันกว่าเจ็ดวันเจ็ดคืน ก็สรุปออกมาว่าไม่จำเป็น จะก่อผลเสียมากกว่าผลดี และมีนักวิชาการอีกมาก ก็ให้ความเห็นที่เป็นลบ แม้กระทั่ง ป.ป.ช. ก็อุตส่าห์ลงมาดูกับเขาด้วย แล้วก็ให้ความเห็นที่ทำให้รัฐบาลนี้ขยับไม่ออก คงทำได้อย่างเดียวแบบที่รัฐบาลไทยทุกรัฐบาลเขานิยมใช้กัน คือ ตั้งคณะอนุกรรมการชุดแล้ว ชุดเล่าไปดูไม่รู้จบ

แต่เรื่องนี้ไม่เหมือนเรื่องอื่นๆที่จะเก็บเข้าตู้เย็นง่าย ๆนะครับ เพราะผู้คนทั้งที่มีความรู้ และไม่รู้เรื่องต่างก็สนใจกันมาก คงจะจบเฉย ๆโดยไม่ต้องเสียต้นทุนคงจะยากเสียแล้ว

เรื่องที่สอง คือเรื่องการกดดันให้ ธปท.ลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งท่านนายก ฯทั้งในสถานะรัฐมนตรีคลังด้วย ได้ใช้ความพยายามอย่างมาก ผลักดันให้ท่านผู้ว่า ธปท. ลดดอกเบี้ย ซึ่งจริง ๆการพิจารณาเรื่องดอกเบี้ยของ ธปท. ไม่ใช่ผู้ว่าการจะพิจารณาได้คนเดียว มันจะต้องผ่านคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่มีกรรมการ 7 ท่าน และจะมีการพิจารณาตามระยะเวลาการประชุมที่ชัดเจนปีละ 6 ครั้ง นี่คือกฎเกณฑ์ที่นักธุรกิจ นักลงทุน และนักการเมืองทั้งในประเทศ และนอกประเทศ เขารู้กันทั่ว

แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ท่านนายก ฯ ก็ออกมาให้ความเห็นอีกว่า ลดสัก 0.25 % ได้ก็จะดี ล่าสุดถึงกับเรียกร้องให้กำหนดวันประชุม กนง. เป็นพิเศษ นอกจากนี้ยังมีท่านเลขาธิการสภาพัฒน์ฯได้ออกความเห็นเข้าข้างท่านนายกว่า GDP ไทยไม่โตดังที่คิด ตรงกันข้ามกลับต่ำกว่าที่เคยตั้งเป้าหมายไว้อีก ท่านก็บอกว่า ถ้า ธปท. จะช่วยลดดอกเบี้ยลง ก็คงจะช่วยเศรษฐกิจให้โตขึ้นได้


นายสมหมาย ภาษี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ที่มาภาพ : Facbook Sommai Phasee

นี่ก็เป็นเรื่องเพี้ยนทางเศรษฐกิจที่ขำไม่ออกเสียจริง ๆ ประเทศนี้ทั้งนักการเมือง และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ไม่รู้เรื่องดอกเบี้ยแล้ว ยังกระเสือกกระสนมาให้ความเห็นต่อประชาชน ท่านไม่รู้เลยหรือว่า การกำหนดอัตราดอกเบี้ยทางการของประเทศที่มีระบบการเงินเกี่ยวพันกับนานาประเทศมาก ถึงขนาดเงินบาทนั้นเป็นที่ยอมรับกว้างขวาง สามารถถือไปชำระค่าสินค้าได้ในหลายประเทศทั่วโลกนั้น ธนาคารกลางได้วางแนวปฏิบัติที่เป็นเรื่องเป็นราวไว้ดี เวลาจะขึ้น หรือ จะลดดอกเบี้ย ไม่มีประเทศไหนมาชี้แนะ หรือ ก้าวก่ายได้ แต่ธนาคารชาติ เขาต้องดูเวลาที่เหมาะสม

การปรับดอกเบี้ยทางการของประเทศที่พัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา จะปรับกันเป็นขาขึ้นและขาลง ไม่ใช่ถูกกดดันแล้วจะปรับลดลงสัก 0.25 % เพื่อเอาใจนักการเมือง แล้วอีก 2 เดือน ค่อยปรับขึ้นกันใหม่ เขาไม่ทำกันแบบนี้ครับ อย่าลืมนะครับว่า สิ่งเพี้ยนๆที่ผู้ใหญ่ของเราพูดกันนั้น มันออกเป็นข่าวให้นักลงทุนในต่างประเทศเขาได้ยินกันหมด แล้วผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดหลักทรัพย์ของไทยก็เกิดขึ้น อย่าไปโทษแต่ กลต. แต่ผู้เดียว

เรื่องที่สาม คือ เรื่องรัฐบาลไม่สนใจการใช้จ่ายเงินงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ คงจำกันได้ว่า ประเทศต้องสูญเสียเวลานานร่วมครึ่งปีในการสรรหาแล้ว แต่งตั้งคณะรัฐบาลมาบริหารประเทศ จนเกิดภาวะสุญญากาศในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2566/67 หรือ งบฯ ปี 2567 ดังนั้น แทนที่งบฯ ปี 2567 จะออกมา และมีผลในการบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2566 ตามปฏิทินงบประมาณ ปรากฎว่าถึงขณะนี้ผ่านมาจะครบ 5 เดือนแล้ว งบประมาณซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบริหารประเทศ ยังอยู่ในขั้นแปรญัตติในสภาผู้แทนราษฎร และในรัฐสภาควบคู่กันไป คาดว่าจะออกมาใช้ได้ไม่เร็วกว่าเดือนพฤษภาคม ซึ่งจะทับซ้อนกับการเตรียมงบประมาณใหม่ปี 2568

พูดให้คนของประเทศอื่นฟัง เขาคงต้องงงกับกระบวนการบริหารเศรษฐกิจแบบไทย ๆเราแน่ ถ้ารู้ว่างบฯ ปี’67 จะล่าช้าอย่างน้อย 8 เดือน หรือ สองในสามของปี จากจำนวนงบประมาณ 3.48 ล้านล้านบาท ที่เป็นงบประจำ เช่น เงินเดือน ค่าจ้าง ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าวัสดุ ก็ยังคงเบิกใช้ไปพลางก่อนได้ แต่งบลงทุนจำนวนถึง 717,000 ล้านบาท ไม่สามารถเบิกใช้ได้เลย อย่างดีที่ได้ยินท่านรัฐมนตรีหลายท่านพูดถึงโครงการต่าง ๆมากมายในตอนนี้ แต่ก็เป็นเพียงลมปากเท่านั้น

ทำให้การคลังของประเทศทุกวันนี้ มีเงินคงคลังสูงมาก ธนาคารก็มีสภาพคล่องล้นมาก และเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ก็สูงมากติดอันดับ 14-15 ของโลก แต่ประชาชนยังยากจนเหมือนเดิม เศรษฐกิจก็ถูกนักการเมืองหาว่าวิกฤติ ทั้งที่ GDP โตร่วม 2 % เพราะการท่องเที่ยวช่วยไว้ ถือว่าเพี้ยนแล้ว แต่ยังพออยู่ได้

แต่ในสภาพที่ประเทศมีเงินเหลือเฟือแบบนี้ ยังมีข่าวเล็ดลอดมาให้ได้ยินว่ากระทรวงการคลังกำลังถูกสั่งให้หาโครงการ เพื่อนำไปขอกู้เงินจากต่างประเทศมาใช้สักหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ นี่มันจะเพี้ยนไปถึงไหนกันครับ…

ที่มา https://thaipublica.org/2024/02/srettha-governments-crazy-economic-management/