วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 27, 2567

“พ่อตะวัน” พร้อมทนาย ยื่นคำแถลงต่อ “ศาลอาญา” อีกครั้ง ในการขอปล่อยชั่วคราว “ตะวัน-แฟรงค์” ทนายยัน ไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น ชี้หากทั้ง 2 คนตายไปต้องหาคนรับผิดชอบ


“พ่อตะวัน” พร้อมทนาย ยื่นคำแถลงต่อ “ศาลอาญา” อีกครั้ง ในการขอปล่อยชั่วคราว “ตะวัน-แฟรงค์” ทนายยัน ไม่อยากให้มีการสูญเสียเกิดขึ้น

26 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567
UDD News

วันนี้ (26 กุมภาพันธ์ 2567) เวลา 10.00 น. ที่ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก นายสมหมาย ตัวตุลานนท์ (บิดาของทานตะวัน) พร้อมด้วย ทนายกฤษฎางค์ นุตจรัส ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน ภายหลังที่ยื่นคำแถลงต่อศาลอาญา กรณีไม่ให้ปล่อยชั่วคราว “ตะวัน-แฟรงค์” ตามรายงานข่าวเมื่อวานนี้ (25 ก.พ.)

ทนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า วานนี้เป็นวันครบกำหนดฝากขังผู้ต้องหาทั้งสอง นางสาวทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร โดย สน.ดินแดง ขอฝากขังต่อ ซึ่งนายสมหมายได้ยื่นขอปล่อยตัวชั่วคราวอีกครั้ง ปรากฎว่าศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเหมือนเดิม ด้วยความกังวลที่ทุกคนคงทราบว่าปัจจุบัน “ตะวัน” ถูกส่งตัวไปที่ รพ.ธรรมศาสตร์ ตามเอกสารที่ดูจากการส่งตัวไปและได้คุยกับทางผอ.รพ.ราชทัณฑ์ ทราบว่าอาการของ “ตะวัน” เกินศักยภาพของ รพ.ราชทัณฑ์แล้ว

ส่วน “แฟรงค์” ปัจจุบันทางรพ.ราชทัณฑ์ต้องการจะย้ายตัวไปที่รพ.ภายนอก แต่ปรากฎว่ารพ.ภายนอกยังไม่มีการตอบรับ คือขอไปที่ รพ.ราชวิถี, รพ.ตำรวจ และรพ.ธรรมศาสตร์ อาจจะเป็นเพราะว่าไม่มีเตียงหรืออย่างไร อันนี้ไม่ทราบ จะเข้าไปคุยกับผอ.อีกที โดยอาการของ “แฟรงค์” ก็มีอาการเจ็บป่วยที่ค่อยข้างหนักเหมือนกับที่ตะวันเป็น หนังสือส่งตัวของ “แฟรงค์” ก็ระบุเหมือนกันว่าเกินศักยภาพของรพ.ราชทัณฑ์แล้ว

ส่วนวันนี้ที่มา คือเมื่อวานนี้ที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ทางคุณสมหมาย ซึ่งเป็นนายประกันของทั้ง “ตะวัน-แฟรงค์” ได้ปรึกษากับทนายว่าจะทำอย่างไรดีเนื่องจากคิดอะไรไม่ออก จะยื่นประกันใหม่ไหม หรือจะอุทธรณ์คำสั่ง ซึ่งเรามีข้อสรุปตรงกันคือว่า ยื่นใหม่ก็คงไม่ได้ อุทธรณ์ก็คงไม่ได้ เลยตกลงกันว่าวันนี้ลองมาแถลงให้ศาลอาญาทราบถึงความจำเป็นที่จะต้องปล่อยตัวชั่วคราว

เพราะกรณีของ “ตะวัน-แฟรงค์” ไม่ใช่กรณีที่ขังไว้ระหว่างพิจารณาคดี ซึ่งอันนี้ไม่มีกำหนด แต่กรณีนี้เป็นการขังระหว่างการสอบสวนของ สน.ดินแดง คือยังไม่ได้ฟ้อง และยังไม่รู้ว่าอัยการจะฟ้องหรือเปล่าด้วย และข้อหาก็คือ ม.116 และในชั้นไต่สวนขอฝากขัง ซึ่งผมเป็นทนายความ ก็ซักถามได้ความชัดเจนว่าสอบสวนพยานไปหมดแล้ว เหลืออีก 5 ปากเกี่ยวกับตำรวจผู้จับกุม และชาวบ้านที่ยังไม่รู้ว่าเป็นใคร ยังไม่มีชื่อ แล้วก็รอผลตรวจลายนิ้วมือของผู้ต้องหา ส่วนผู้ต้องหาเป็นเด็กนักศึกษาซึ่งไม่มีอิทธิพลใด ๆ ไม่สามารถไปเปลี่ยนแปลงหรือยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานได้ อันนี้ข้อเท็จจริงเป็นอย่างนี้

ซึ่งเราก็มองเห็นว่าถ้าข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี ศาลก็น่าจะให้ แต่เราก็ผิดหวัง ศาลก็มีคำสั่งเหมือนเดิมว่ามีคำสั่งชัดเจนแล้ว ในความเห็นผม ผมรับไม่ได้เพราะผมว่าไม่ชัดเจน เพราะว่าโดยหลักควรจะให้สิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวกับผู้ต้องหา ซึ่งเขาไม่มีอำนาจใด ๆ ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี โดนจับก็มารอมอบตัวอยู่หน้าศาลอาญา ตำรวจก็เชิญตัวไปโรงพัก ไม่ได้หนีไปไหน ไม่ได้ไปจับที่ด่านคนออกนอกเมือง หรือในป่าเขาทั้งสิ้น

เป็นที่น่าเสียใจที่ว่าคุณสมหมายก็ประกันไม่ได้ ความเครียดที่เกิดขึ้นคือตอนนี้คุณสมหมายกังวลเรื่องเดียว คงต้องไปตามว่าลูกแกจะตาย เพราะถ้าออกมาแกก็คงต้องขวนขวายทุกวิถีทางที่จะให้เด็กได้รับการรักษาที่ดี ซึ่งอันนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ วันนี้ก็เลยมายื่นหนังสือถึงอธิบดีศาลอาญาอีกครั้งหนึ่ง คือคุณสมหมายเป็นคนเขียนเอง เดี๋ยวผมจะอ่านให้ฟังนะ

วันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2567

คำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลอาญา

ตามที่ศาลอาญามีคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราว นางสาว ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ บุตรสาวของข้าพเจ้า และนายณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร นั้น ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะโต้แย้งคัดค้านใด ๆ แต่ขอให้ศาลอาญาดูแลรับผิดชอบในชีวิตของผู้ต้องหาทั้งสองที่ท่านมีคำสั่งไม่ให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างการสอบสวนต่อไปด้วย

เขาทั้งสองเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหา อัยการยังไม่มีคำสั่งฟ้องแต่อย่างใด ดังนั้นยังถือว่าเขาทั้งสองเป็นผู้บริสุทธิ์ตามกฎหมายอยู่ หากเขาทั้งสองถึงแก่ความตายไปในระหว่างที่ที่ถูกสอบสวนโดยคำสั่งของศาลอาญา ก็ขอให้ท่านได้โปรดพิจารณาให้ความเป็นธรรมแก่ดวงวิญญาณของเขาทั้งสองด้วยว่าใครจะต้องรับผิดชอบต่อการตายของเขาทั้งสองจากการที่ท่านมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวชั่วคราว

ขอท่านได้โปรดพิจารณาและหาทางออกด้วย ควรมิควรแล้วแต่จะโปรด

ลงชื่อ สมหมาย ตัวตุลานนท์ (บิดาของผู้ต้องหาที่ 1)

ทนายกฤษฎางค์ กล่าวว่า ก็ยื่นไปเพื่อขอให้ศาลได้พิจารณา เราคงทำได้ทั้งหมดแค่นี้ เมื่อคืนก็คุยกันเรื่องของการปล่อยตัวชั่วคราวโดยการอุทธรณ์หรือโดยการยื่นใหม่ เรามีความเห็นตรงกันว่าขอไปก็ไม่ให้ เพราะประเทศนี้ไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด

คดีนี้เป็นคดีที่แปลกประหลาด สน.ดินแดง มาขอออกหมายจับโดยไม่เคยขอออกหมายเรียก เคยขอออกหมายเรียก 2 ครั้ง แต่เป็นความผิดฐานกระทำความผิดร่วมกันกระทำการใดอันเป็นการก่อความเดือดร้อนรำคาญในที่สาธารณะ ไม่ได้พูดถึง ม.116 เลย แล้วจากการซักถามตำรวจได้ความว่า เคยไปขอออกหมายจับที่ศาลแขวงดุสิตแล้ว ศาลยกคำร้อง ว่าเยาวชนเขาไม่ได้หนี แต่มาขอศาลอาญา ศาลอาญาก็ให้แล้วก็จับ

คือหลักการที่ “ตะวัน-แฟรงค์” เรียกร้องก็คือทำอย่างไรคนจะเท่ากันตามกฎหมาย และทำอย่างไรที่ไม่ว่าความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างใดก็ตาม เราจะให้ความเป็นธรรมกับคนเท่ากันไหม? เพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 188 ก็เขียนไว้แล้วว่า ผู้พิพากษาตุลาการต้องตัดสินและสั่งคดีไปโดยตามกฎหมายและปราศจากอคติทั้งปวง เป็นบรรทัดฐานที่ต้องดูกันจากคำแถลงฉบับนี้ว่า ถ้าวันสองวันจากนี้ “ตะวัน-แฟรงค์” เป็นอะไรไป คุณสมหมาย จะมาทวงความเป็นธรรมที่นี่อีกที

ต่อมา นายสมหมาย (บิดาของตะวัน) กล่าวว่า จริง ๆ แล้วผมก็ไม่รู้จะทำยังไงแล้ว มันไม่มีหนทางแล้ว มันตื้อไปหมดเลย แล้วสิ่งที่ผมทำก็คือเอาลูกและแฟรงค์ออกมารักษา ถามว่ามันเป็นแค่การสอบสวน มันไม่ใช่การสั่งฟ้องแล้ว คุณจะบอกว่าเป็นคดีร้ายแรง มีกำหนดการจำคุกสูง มันไม่ใช่ เขายังไม่ได้ฟ้อง คุณจะตัดสินได้ยังไง? เขามีที่อยู่มีหลักแหล่งที่แน่นอน ยุ่งเหยิงกับพยานอะไรไม่ได้ แล้วถ้าคุณไม่ให้ผมเอาตัวสองคนนี้ไปรักษา แต่ถ้าเกิดอะไรขึ้น ทางคุณต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่เฉพาะร่างกายของน้องนะ ตอนนี้มันแย่ไปหมดแล้ว แต่ถ้าคุณกลัวว่าน้องจะหนี คุณเอาตำรวจไปตามเลย คุณทำอะไรก็ได้ที่ไม่ให้น้องหนี แต่ถ้าน้องจะหนี หนีไปนานแล้ว ไม่รอจนตอนนี้หรอก

ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการของตะวัน นายสมหมาย กล่าวว่า หนักมาก แต่ตนเบาใจนิดหน่อยเพราะว่าอยู่ รพ.ธรรมศาสตร์ เพราะสามารถที่จะผ่อนคลายอะไรได้ค่อนข้างเยอะ มีคนดูแลใกล้ชิด ตอนนี้ตนยังไม่ได้คุยกับลูกเพราะว่ายังเข้าเยี่ยมไม่ได้ และคิดว่าอาการของน้องต้องหนักขึ้นเรื่อย ๆ และกังวลที่สุดก็คือ “แฟรงค์” น่าจะอาการหนักอยู่ ถ้าเป็นไปได้ขอให้ “แฟรงค์” ย้ายออกมาก่อน เพราะทางราชทัณฑ์บอกว่าเกินความสามารถของเขาแล้ว

ทนายกฤษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “คือถ้าได้ปล่อยตัวชั่วคราว คุณพ่อเขาก็เตรียมส่งตัวเข้าโรงพยาบาลที่มีศักยภาพเพื่อรักษาต่อไป ตอนนี้เราก็รอ อาการน้องเขาก็วิกฤตน่าเป็นห่วง เราไม่อยากให้เกิดการสูญเสียเพราะว่ามันจะทำให้มองหน้ากันไม่ติด แล้วกระบวนการยุติธรรมไม่ว่าจะถูกหรือผิด ถ้ามีคนตายในระหว่างที่เราทำงานกันอยู่มันก็ไม่เหมาะสม” ทนายกฤษฎางค์ กล่าวในที่สุด

#UDDnews #ยูดีดีนิวส์ #คืนสิทธิประกันตัว

https://udd-news.blogspot.com/2024/02/blog-post_91.html