The101.world
20h
·
คำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกล เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้สร้างแรงสั่นสะเทือนแก่สังคมไทยและแวดวงนิติศาสตร์เป็นวงกว้าง อีกทั้งทำให้เกิดการถกเถียงถึงหลักการและแนวคิดที่นำมาสนับสนุนคำวินิจฉัยนี้ ซึ่งอาจสั่นคลอนต่ออำนาจสามขาหลักของอธิปไตยอีกด้วย
.
101 จึงชวน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันอ่านระหว่างบรรทัด ชำแหละคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อสะท้อนถึงนักนิติศาสตร์ในการตีความหลักกฎหมาย ความเข้าใจของประชาชน และวิเคราะห์ผลพวงที่อาจเกิดขึ้นหลังจากนี้
.
อ่านได้ที่: (https://www.the101.world/munin-pongsapan-one-on-one-brief/)
.
“คราแรกที่ฟังคำวินิจฉัย ต้องบอกว่าเกินความคาดหมายไปมาก เมื่อเทียบกับคดีก่อนหน้า คดีของคุณพิธาทั้งสองคดีนี้ตามหลักกฎหมายแล้วคงมีโอกาสรอดทั้งคู่ เพียงแต่คดีคุณพิธา (คดีถือหุ้นไอทีวี) โอกาสรอดน่าจะน้อยกว่าคดีล้มล้าง อย่างที่ได้บอกไปหลายครั้งว่า เรายังหาคำอธิบายทางหลักกฎหมายเพื่อทำความเข้าใจผลทางคดีไม่ได้จนถึงทุกวันนี้ และยังพยายามทำความเข้าใจเหตุผลที่ศาลรัฐธรรมนูญให้อยู่ว่าเป็นอย่างนั้นไปได้อย่างไร”
.
“ผมมองว่าปัญหาของระบบไต่สวนที่ศาลรัฐธรรมนูญใช้อยู่นั้นสะท้อนให้เห็นจากคำวินิจฉัยในหลายคดี โดยเฉพาะคดีล้มล้างการปกครองของพรรคก้าวไกลล่าสุด ถือเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงปัญหาใหญ่ของระบบไต่สวน ซึ่งเราเคยเห็น (ระบบไต่สวน) ในคดีล้มล้างการปกครองที่ คุณรุ้ง-ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล และ คุณอานนท์ นำภา เคยถูกกล่าวหาที่ศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็มีลักษณะคล้ายๆ กัน”
.
“คดีลักษณะนี้เป็นคดีที่มีผลกระทบต่อสังคมอย่างใหญ่หลวง จำต้องเปิดเผยและโปร่งใส ยิ่งไปกว่านั้นต้องมีการถ่ายทอดสดให้สาธารณชนได้รับทราบร่วมกัน พยานที่ถูกอ้างมาควรจะให้คู่ความได้มีโอกาสซักถาม เนื่องจากคำเบิกความของพยานผู้เชี่ยวชาญมีคุณและโทษกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น ทั้งสองฝั่งต้องมีโอกาสได้สอบถามกันอย่างเปิดเผยต่อหน้าคนจำนวนมาก อย่างที่ศาลยุติธรรมกระทำในระบบกล่าวหา ผมคิดว่าคู่ความทั้งสองฝั่งพึงพอใจ เพราะพวกเขามีโอกาสได้นำเสนอพยานหลักฐาน หรือมีโอกาสได้ซักถามพยานหลักฐานของอีกฝั่งหนึ่งอย่างเต็มที่ และไม่เห็นจะมีปัญหาอะไร”
.
“แต่ละองค์กรที่ใช้อำนาจอธิปไตยแทนประชาชน เขาเป็นองค์กรสูงสุดภายใต้ระบบของเขา แต่ละองค์กรอยู่ในระนาบเดียวกัน ไม่ควรมีใครอยู่สูงกว่าใคร ฉะนั้น ในการทำหน้าที่หลักของแต่ละองค์กร ควรจะสามารถใช้ดุลยพินิจอิสระในการตัดสินใจได้ เช่น ฝ่ายบริหารก็สามารถตัดสินใจในด้านนโยบาย ถ้าผิดพลาด รัฐบาลก็ต้องรับชอบในทางการเมือง การทุจริตนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งก็ว่ากันไปตามกระบวนการอยู่แล้ว แต่การใช้ดุลยพินิจเป็นอำนาจที่เขาได้มาเป็นการเฉพาะตามรัฐธรรมนูญ นโยบายในการออกกฎหมายดีหรือไม่อย่างไรนั้น ควรที่จะไปถกเถียงในสภาได้ ไม่ควรมีองค์กรใดใช้ดุลยพินิจแทนก่อนว่าทำได้หรือไม่ได้”
.
เรียบเรียง: เจียระไน ซองทอง
.....
อ่านระหว่างบรรทัด คดีล้มล้างการปกครอง กับ มุนินทร์ พงศาปาน | 101 One-on-One Ep.318
Streamed live on Feb 7, 2024
การวินิจฉัยคดีการหาเสียงแก้ไขมาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าเป็นการล้มล้างการปกครองนั้น นอกจากจะสร้างแรงสั่นสะเทือนสังคมและการเมืองไทยแล้ว ยังส่งผลสำคัญถึงแวดวงนิติศาสตร์ที่ต้องถกเถียงกันถึงหลักการและวิธีคิดที่นำมาสู่คำวินิจฉัยครั้งนี้
คำถามหนึ่งที่สำคัญคือเรื่องนี้จะกระทบต่อการจัดวางความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจนิติบัญญัติและตุลาการหรือไม่
101 ชวน รศ.ดร.มุนินทร์ พงศาปาน อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อ่านระหว่างบรรทัดคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญคดีล้มล้างการปกครอง นักนิติศาสตร์ควรตีความแบบไหน ประชาชนควรทำความเข้าใจอย่างไร และมีผลพวงอะไรบ้างที่อาจเกิดขึ้นจากการตัดสินครั้งนี้
กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ดำเนินรายการ
วันพุธที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 19.00 น.
ทุกแพลตฟอร์มของ The101.world
https://www.youtube.com/watch?v=JJG7gaZjFHY