วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 23, 2567

อินเดีย: วัดพระรามแห่งเมืองอโยธยา ศาสนสถานหรือเครื่องมือทางการเมือง



อินเดีย: วัดพระรามแห่งเมืองอโยธยา ศาสนสถานหรือเครื่องมือทางการเมือง

21 FEB 2024
เพ็ญนภา หงษ์ทอง
Way Magazine

เสียงตะโกน “ชัยยะ ชีร์ ราม” (Jai Shri Ram) ที่หมายความว่า “ชัยชนะของพระราม” ดังกึกก้องจากปากฝูงชนชาวฮินดูที่รวมตัวกันหน้าวัดพระราม หรือรามมณเฑียร (Ram Mandir) เมืองอโยธยา (Ayodhya) ในมือโบกธงที่มีสัญลักษณ์รูปพระรามและหนุมาน ขณะที่ด้านในวัด นเรนทรา โมดี (Narendra Modi) นายกรัฐมนตรีอินเดีย กำลังประกอบพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ในการเปิดวัดฮินดูแห่งนี้อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 22 มกราคม 2024 ที่ผ่านมา

สำหรับชาวฮินดูส่วนใหญ่ พิธีเปิดวัดพระรามในวันนั้น คือความสำเร็จที่พวกเขาเฝ้ารอคอยมาเนิ่นนาน แต่สำหรับชาวมุสลิม การเปิดวัดพระรามคือการประกาศความ ‘เหนือกว่า’ ของชาวฮินดูต่อชาวมุสลิมที่มีอยู่ในอินเดียประมาณ 200 ล้านคน เป็นความพยายามให้ชาวมุสลิมเป็นประชากรที่ไม่มีอยู่จริงบนแผ่นดินอินเดีย

การเปิดวัดพระรามของโมดี เป็นที่จับตามองทั้งชาวอินเดียและทั่วโลก ด้วยวัดพระรามแห่งนี้ตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรี (Babri) มัสยิดเก่าแก่ที่สำคัญของชาวมุสลิมในอินเดีย ที่เชื่อกันว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยจักรพรรดิพระองค์แรกของราชวงศ์โมกุลที่แผ่อาณาเขตมายังอินเดียในศตวรรษที่ 15 ก่อนจะถูกชาวฮินดูหัวรุนแรงนับแสนคนบุกทำลายในปี 1992 จนทำให้ชาวมุสลิมเสียชีวิตกว่า 2,000 คน ความยิ่งใหญ่และสวยงามของวัดพระราม อาคาร 3 ชั้นขนาดใหญ่ ที่สร้างและตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงด้วยหินทรายสีชมพูและเสาแกรนิตสีดำ บนพื้นที่รวม 29,000 ตารางเมตร หรือประมาณ 20 ไร่ จึงเต็มไปด้วยบาดแผลของชาวมุสลิม

สายตาชาวโลกที่จับตามองพิธีกรรมการเปิดวัดพระรามของโมดีในวันนั้น นอกจากจะเต็มไปด้วยความวิตกกังวลถึงโอกาสที่วัดพระรามจะกลายเป็นประเด็นจุดชนวนความขัดแย้งระหว่างศาสนาขึ้นมาอีกครั้ง ยังเต็มไปด้วยความกังขาว่า นายกรัฐมนตรีโมดีทำพิธีเปิดวัดพระรามอย่างยิ่งใหญ่นั้น เพียงเพราะต้องการใช้ศาสนสถานแห่งนี้เดินเกมการเมืองเพื่อคะแนนเสียงของพรรคภารติยะชนตะ (Bharatiya Janata Party หรือ BJP) ของตนเองในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในอีก 3 เดือนข้างหน้า ซึ่งหากพรรค BJP ชนะ โมดีก็จะได้เป็นนายกรัฐมนตรีต่ออีก 1 สมัย เป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกัน



นเรนทรา โมดี (Narendra Modi)
(photo: narendramodi.in)

ศาสนสถานบนแผ่นดินแห่งข้อพิพาททางศาสนา

วัดพระรามในปัจจุบันตั้งอยู่บนพื้นที่ที่ชาวฮินดูเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ประสูติของพระรามเมื่อกว่า 7,000 ปีก่อน และเคยมีการสร้างเทวสถานของชาวฮินดูเพื่อบูชาพระรามมาก่อน แต่ถูกชาวมุสลิมยึดครองและก่อสร้างมัสยิดบาบรีขึ้นมาในช่วงประมาณศตวรรษที่ 16 ความขัดแย้งระหว่างชาวฮินดูและมุสลิมเหนือแผ่นดินแผ่นนี้จึงเกิดขึ้นมาโดยตลอด จนยุคอาณานิคมเมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดีย ก็ได้แก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยการให้สร้างเทวสถานของชาวฮินดูขึ้นใหม่ ไม่ห่างจากมัสยิดบาบรีเท่าไรนัก

การอยู่ร่วมกันอย่างสงบระหว่างประชากร 2 ศาสนา สิ้นสุดลงในปี 1949 ภายหลังอังกฤษให้เอกราชอินเดีย การประกาศว่ามีการพบเทวรูปพระรามในมัสยิดบาบรี ทำให้ชาวฮินดูทั่วประเทศอินเดียแห่กันไปสักการะ ชาวมุสลิมจึงร้องขอให้รัฐบาลอินเดียอัญเชิญเทวรูปพระรามออกไป เพราะการมีอยู่ของเทวรูปทำให้มัสยิดตกอยู่ในอันตราย แต่ผู้ว่าการรัฐอโยธยามองว่าการนำเทวรูปออกไปเป็นการกระทำที่อ่อนไหวและอาจก่อให้เกิดความรุนแรงตามมา จึงเลือกที่จะสั่งปิดมัสยิด ไม่ให้มีการประกอบพิธีกรรมของทั้ง 2 ศาสนา แทนการนำเทวรูปออกตามคำสั่งของรัฐบาลกลาง

ตั้งแต่ปี 1949 เป็นต้นมา ชาวฮินดูและมุสลิมพยายามเจรจากันเพื่อแก้ไขข้อขัดแย้งเหนือมัสยิดบาบรี ซึ่งมีเทวรูปพระรามประทับอยู่ มีความพยายามนำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ซึ่งปี 1989 ศาลสูงอินเดียมีคำพิพากษาให้ปิดมัสยิดไว้อย่างเดิม โดยรักษาเทวรูปพระรามไว้ภายใน แต่แล้วความรุนแรงก็เริ่มก่อตัวขึ้นในปี 1990 เมื่อพรรค BJP ซึ่งเชิดชูศาสนาฮินดู รณรงค์ให้มีการสร้างวัดฮินดูขึ้นใหม่บนพื้นที่อันเป็นที่ประสูติของพระราม

การณรงค์ของ BJP ภายใต้การนำของ ลัล กฤษณะ อัดวานี (Lal Krishna Advani) ประธานพรรค BJP ในขณะนั้น จบลงด้วยความรุนแรงในวันที่ 6 ธันวาคม 1992 เมื่อชาวฮินดูที่บ้าคลั่งปีนขึ้นไปบนโดมของมัสยิดบาบรี ใช้ขวานและค้อนทุบทำลายจนมัสยิดพังเสียหาย ก่อนจะบานปลายกลายเป็นจลาจลระหว่างประชากร 2 ศาสนาที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในประวัตศาสตร์อินเดีย และจบลงด้วยจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 2,000 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม ที่น่าเศร้ากว่านั้นคือ ไม่มีการจับกุมผู้กระทำผิดมาลงโทษ

เหตุการณ์ทุบทำลายมัสยิดบาบรีจบลงด้วยการที่ทั้ง 2 ฝ่ายนำเรื่องขึ้นสู่ศาล เพื่อหาข้อยุติให้กับความขัดแย้งทางศาสนาเหนือแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์นั้น จนปี 2019 ความขัดแย้งที่ยาวนานเหนือผืนดินศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ก็จบลงเมื่อศาลฎีกามีคำพิพากษาให้สถานที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรีตกเป็นของชาวฮินดู เนื่องจากมีการพิจารณาหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้วพบว่า ใต้มัสยิดบาบรีมีโครงสร้างของวัดฮินดูสมัยศตวรรษที่ 12 อยู่ ศาลจึงไม่รับฟังการอ้างความเป็นกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทของชาวมุสลิม และเห็นว่าการที่ชาวฮินดูทุบทำลายมัสยิดบาบรีไม่ได้เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย และมีคำสั่งให้ยกที่ดินผืนนั้นให้ชาวฮินดู ขณะเดียวกันก็สั่งยกที่ดินอีกผืนหนึ่งห่างจากพื้นที่พิพาทประมาณ 25 กม. ให้กับชาวมุสลิมสำหรับก่อสร้างมัสยิดแห่งใหม่ ซึ่งทั้งชาวฮินดูและมุสลิมต่างยอมรับคำพิพากษานั้น



เมื่อศาสนสถานถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

ย้อนกลับไปในปี 2014 เมื่อโมดีได้รับการเลือกตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก หนึ่งในนโยบายหาเสียงที่โด่งดังและว่ากันว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เขาสามารถขึ้นสู่จุดสูงสุดในชีวิตการเมืองได้คือ การประกาศจะสร้างวัดฮินดูบนพื้นที่ที่เคยเป็นที่ตั้งของมัสยิดบาบรี ซึ่งตอนนั้นถูกทำลายลงแล้ว และมีฐานะเป็นพื้นที่พิพาทที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี เมื่อศาลมีคำพิพากษาในปี 2019 ยกพื้นที่แห่งนั้นให้เป็นของชาวฮินดู โมดีจึงรีบเดินหน้าการก่อสร้างวัดพระราม โดยเป็นส่วนหนึ่งของแผนการเปลี่ยนโฉมหน้าเมืองอโยธยาให้เป็นเมืองเศรษฐกิจและแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก

ปี 2020 โมดีประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์วัดพระราม การก่อสร้างวัดฮินดูบนพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ผืนนี้ ทำให้โมดีได้รับการแซ่ซ้องจากชาวฮินดูอย่างยิ่ง เพราะเป็นนักการเมืองคนแรกที่สามารถนำแผ่นดินศักดิ์สิทธิ์มาใช้ประโยชน์เพื่อศาสนาฮินดูได้

ในช่วงปลายสมัยของ ราจีฟ คานธี (Rajiv Gandhi) นายกรัฐมนตรีคนที่ 7 ของอินเดีย ตอนที่คะแนนเสียงของเขาตกต่ำอย่างรุนแรง เนื่องจากไปใช้อำนาจขอให้ศาลฎีกาเปลี่ยนคำพิพากษาที่สั่งให้ชายชาวมุสลิมคนหนึ่งต้องจ่ายค่าเลี้ยงดูรายเดือนให้อดีตภรรยาที่ถูกทอดทิ้ง ซึ่งศาลพิพากษาบนฐานของมาตรา 123 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ปี 1973 ที่กำหนดให้ผู้ชายต้องเลี้ยงดูภรรยาทั้งในระหว่างแต่งงานและภายหลังการหย่าร้าง แต่องค์กรทางศาสนาอิสลามกลับออกมาประท้วงคำพิพากษาของศาลฎีกา โดยระบุว่าเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลาม ราจีฟ คานธี นายกรัฐมนตรีจากพรรคคองเกรส (Congress) พรรคการเมืองเก่าแก่ที่มีภาพลักษณ์ของการประนีประนอมเอาใจทุกฝ่าย จึงขอให้ศาลเปลี่ยนคำพิพากษาให้ไม่ต้องจ่าย [คดีนี้รู้จักกันในอินเดียว่า คดีชาห์ บาโน (Shah Bano) ที่กลายมาเป็นสัญลักษณ์สำคัญในการต่อสู้เพื่อวิถีของผู้หญิงมุสลิม และการต่อสู้กับกฎหมายส่วนบุคคลของชาวมุสลิมในอินเดีย]

การกระทำของราจีฟ ทำให้ชาวฮินดูไม่พอใจอย่างมาก เพราะรู้สึกว่าเขาเอาใจชาวมุสลิมมากเกินไป จนเกิดการประท้วงต่อต้านอย่างรุนแรง ราจีฟตัดสินใจแก้เกมด้วยการประกาศเปิดประตูมัสยิดบาบรี ซึ่งตอนนั้นยังไม่ถูกทำลาย เพื่อให้ชาวฮินดูเข้าไปสักการะเทวรูปพระรามได้ พร้อมทั้งให้มีการเผยแพร่มหากาพย์รามายณะทางสถานีโทรทัศน์แห่งชาติ เพื่อเรียกคะแนนเสียงจากชาวฮินดูกลับคืน แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาพ่ายการเลือกตั้งในปีต่อมา

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผืนดินพิพาทระหว่างศาสนาผืนนี้ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมือง

การทำพิธีกรรมเปิดวัดพระรามของโมดีที่เพิ่งผ่านมา แม้จะได้รับการชื่นชมจากชาวฮินดู แต่ก็มีชาวฮินดูไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มนักบวชและผู้เคร่งศาสนา รวมถึงนักการเมืองฝ่ายค้าน มองว่าพิธีกรรมในวันนั้นไม่ได้เป็นไปเพื่อศรัทธาของชาวฮินดู หากทำเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของโมดีเอง

โมดีสั่งให้มีการประกอบพิธี ‘ปราณประดิษฐาน’ (Pran Pratishtha) ให้กับเทวรูปพระรามเพื่ออัญเชิญปราณหรือลมหายใจให้ประดิษฐานยังเทวรูปพระราม ถือเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ยิ่งของชาวฮินดู และเป็นกระบวนการสำคัญในวันเปิดวัดพระรามวันนั้น แต่พิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์และยิ่งใหญ่ในวันนั้นกลับดำเนินไปโดยไม่มีสังฆาจารย์ (Shankaracharyas) หรือนักบวชจากวัดฮินดูที่สำคัญ 4 วัด เข้าร่วม รวมทั้งไม่มีบุคคลสำคัญหรือนักการเมืองฝ่ายค้านเข้าร่วมแต่อย่างใด เหตุผลสำคัญเพราะเป็นการประกอบพิธีกรรมในศาสนาสถานที่ยังสร้างไม่เสร็จ ซึ่งขัดหลักคำสอนของศาสนาฮินดู

วัดพระรามอันยิ่งใหญ่มีกำหนดเสร็จสมบูรณ์ในปีช่วงปลายปีนี้ แต่อยู่ๆ โมดีก็จัดให้มีพิธีเปิดในช่วงต้นปี ก่อนหน้าที่จะมีการเลือกตั้งทั่วไปในเดือนพฤษภาคม ซึ่งโมดีประกาศจะลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัยหนึ่ง สำหรับสังฆาจารย์แล้ว การกระทำของโมดีซึ่งไม่ได้มาจากวรรณะพราหมณ์ ไม่ได้เป็นไปเพื่อบูชาพระเกียรติยศแห่งพระราม หากเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองของตนเอง เช่นเดียวกับบรรดานักการเมืองฝ่ายค้านที่มองว่า โมดีต้องการใช้วัดพระรามเป็นเครื่องมือหาเสียงกับชาวฮินดู ซึ่งเป็นประชากรกว่าร้อยละ 80 ของชาวอินเดียทั้งประเทศ หรือประมาณ 1,400 ล้านคน ก่อนการเลือกตั้งจะเริ่มขึ้น
 


ความกลัวและวิตกกังวลของชาวมุสลิม

สำหรับชาวมุสลิมแล้ว เสียงตะโกน “ชัยยะ ชีร์ ราม” หลังจากวันทำพิธีเปิดวัดพระรามแล้ว ยังคงดังขึ้นในชีวิตประจำวันของชาวอินเดียจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีแนวโน้มที่จะเป็นคำทักทายในชีวิตประจำวัน ทำให้พวกเขารู้สึกเจ็บปวด เพราะชัยชนะของพระรามเกิดขึ้นบนความตายของชาวมุสลิม ยิ่ง “ชัยยะ ชีร์ ราม” ดังมากขึ้นในอินเดียเท่าไร เสียงของชาวมุสลิมที่มีอยู่ประมาณ 200 ล้านคนในประเทศก็จะยิ่งเบาลงเท่านั้น

ความรู้สึกของชาวมุสลิมในอินเดีย ลำพังก่อนที่วัดพระรามจะถูกสร้างขึ้น พวกเขาก็รู้สึกเสมอว่าไม่ได้รับความเอาใจใส่จากรัฐบาลอยู่แล้ว ตั้งแต่ได้รับเอกราชจากอังกฤษในปี 1947 ไม่เคยปรากฏว่ามีชาวมุสลิมอยู่ในคณะรัฐบาล หรือแม้แต่การเป็นสมาชิกรัฐสภา รัฐทั้ง 28 รัฐ ไม่เคยปรากฏว่ามีชาวมุสลิมเป็นผู้ว่าการ แม้แต่รัฐอุตตรประเทศ ที่ตั้งของเมืองอโยธยา ซึ่งประชากรส่วนใหญ่เป็นมุสลิมยังอยู่ภายใต้การปกครองของผู้นำชาวฮินดู การสร้างวัดฮินดูอย่างยิ่งใหญ่บนรัฐที่เต็มไปด้วยประชากรที่นับถือศาสนาอิสลาม ทำให้ชาวมุสลิมจำนวนไม่น้อยเกรงว่า จะยิ่งทำให้พวกเขาถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม และอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางศาสนาอีกครั้งหนึ่งได้

ไม่เพียงชาวมุสลิมในประเทศอินเดีย ความวิตกกังวลในประเด็นความขัดแย้งทางศาสนาที่อาจตามมา ยังดังขึ้นมาจากประเทศมุสลิม วันที่โมดีทำพิธีเปิดวัดพระราม องค์กรความร่วมมืออิสลาม (Organisation of Islamic Cooperation: OIC) ที่มาจากการรวมกลุ่มของประเทศมุสลิมทั่วโลกกว่า 56 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์แสดงความวิตกกังวลอย่างยิ่งต่อการทำพิธีกรรมนั้น และประณามไปถึงการกระทำอันโหดร้ายที่ชาวฮินดูกระทำต่อชาวมุสลิมเมื่อครั้งทุบทำลายมัสยิดบาบรี ขณะที่ประเทศปากีสถานนอกจากจะกล่าวประณามการทำพิธีเปิดแล้ว ยังเรียกร้องให้รัฐบาลอินเดียเตรียมแผนดูแลความปลอดภัยให้กับชาวมุสลิมในอินเดียด้วย

ในขณะที่หลายประเทศ รวมทั้งอิสราเอล แสดงความยินดีต่อการเปิดวัดพระรามในวันนั้น

ประวัติศาสตร์ความเป็นมาของผืนดินที่ตั้งวัดพระราม ทำให้หลายคนมองเห็นภาพสะท้อนของดินแดนปาเลสไตน์ และวิตกกังวลถึงความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้น การเปิดวัดพระรามในวันนั้นจึงเป็นข่าวสำคัญในหลายประเทศทั่วโลกที่เฝ้ามองด้วยความห่วงใย

อนาคตของวัดพระราม ชะตากรรมทางการเมืองของโมดี และลมหายใจของชาวมุสลิมจะเป็นไปในวิถีใด หรืออาจจุดชนวนความรุนแรงรอบใหม่ระหว่างฮินดู-มุสลิม

อ้างอิง:


ที่มา https://waymagazine.org/ram-mandir/