วันจันทร์, กุมภาพันธ์ 26, 2567

สองปีสงครามยูเครน-รัสเซีย กับ 5 คำถามสำคัญที่ต้องการคำตอบ



สองปีสงครามยูเครน-รัสเซีย กับ 5 คำถามสำคัญที่ต้องการคำตอบ

แคเทอรีนา คินคุโลวา และ วิคตอเรีย ปริเซดสกายา
บีบีซี เวิลด์ เซอร์วิส
24 กุมภาพันธ์ 2024

เป็นระยะเวลากว่าสองปีแล้ว หลังจากสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียได้เปิดฉากขึ้น และยังดูไม่มีเหตุผลใด ๆ เลยที่จะทำให้เชื่อได้ว่า สงครามครั้งนี้จะสิ้นสุดลงในเร็ววัน


ขณะเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายยูเครน, รัสเซีย หรือชาติพันธมิตรของฝ่ายใด ก็ยังไม่สามารถหาข้อยุติเพื่อสร้างสันติภาพได้ในขณะนี้

ด้านรัฐบาลยูเครนยังคงยืนกรานในจุดยืนที่ต้องการให้แนวชายแดนที่นานาชาติให้การยอมรับกลับคืนมาเป็นส่วนหนึ่งของยูเครน และ่กองทัพของรัสเซียจะต้องถอนกำลังออกไป

ทว่า จุดยืนของรัฐบาลรัสเซียยังคงมองว่า ยูเครนไม่ใช่ประเทศอิสระ และกองกำลังของรัสเซียจะกดดันต่อไปจนกว่าเป้าประสงค์ของรัสเซียจะบรรลุผล

ทีมข่าวบีบีซีประเมินสถานการณ์ปัจจุบันและอนาคตของสงครามดังกล่าวว่าจะเป็นอย่างไร

ใครที่มีแนวโน้มกำชัยชนะ

การสู้รบกันอย่างดุเดือดตลอดช่วงฤดูหนาวที่ผ่านมา ทำให้ทหารของทั้งสองฝั่งเสียชีวิตไปไม่น้อย

แนวหน้าของการสู้รบที่ยาวกว่า 1,000 กิโลเมตร มีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้นนับตั้งแต่ช่วงฤดูใบไม้ร่วงปี 2022

ภายในไม่กี่เดือนหลังการบุกอย่างเต็มรูปแบบของรัสเซียเมื่อ 2 ปีที่แล้ว กองทัพยูเครนสามารถผลักดันกองทัพรัสเซียให้ต้องถอยร่นจากพื้นที่ทางตอนเหนือและรอบ ๆ กรุงเคียฟ ออกไปได้ ต่อมายูเครนสามารถยึดครองพื้นที่ส่วนใหญ่ทางทิศตะวันออกและทางใต้ที่เคยเป็นของตัวเองคืนมาได้ภายในปี 2022 นั้นด้วย

แต่ตอนนี้ กองทัพรัสเซียปักหลักพร้อมป้อมปราการอันแข็งแกร่ง ขณะที่คลังแสงของฝ่ายยูเครนกำลังร่อยหรอลง


กราฟิกอธิบายความเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ที่กองทัพรัสเซียเข้ายึดครองในยูเครนในช่วงเวลาต่าง ๆ

หลายคนเห็นภาพความชะงักงันทางการทหารเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็น พล.อ.วาแลรี ซาลูชนี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ที่เพิ่งถูกปลดไป รวมถึงบล็อกเกอร์สายทหารหลายคนที่สนับสนุนฝ่ายรัสเซีย

ในช่วงกลางเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา กองทัพยูเครนได้ถอนกำลังออกจากเมืองอัฟดีอิฟกา ทางตะวันออกของประเทศ ที่เคยเป็นสมรภูมิรบมาอย่างยาวนาน

ด้านกองทัพรัสเซียยกย่องว่า นี่คือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ เนื่องจากเมืองอัฟดีอิฟกา ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญและอาจเป็นเส้นทางที่จะทำให้รุกคืบลึกเข้าไปในยูเครนได้อีก การยึดเมืองอัฟดีอิฟกาได้นี้ ถือเป็นชัยชนะครั้งใหญ่ที่สุดของรัสเซียนับแต่ยึดเมืองบักห์มูตได้เมื่อเดือน พ.ค. ปีก่อน

สำหรับเมืองอัฟดีอิฟกา อยู่ห่างจากแคว้นโดเนตสก์ 20 กิโลเมตร ไปทางตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งถูกยึดครองโดยรัสเซียมาตั้งแต่ปี 2014

การรุกคืบได้ในครั้งนี้ ถือว่าเล็กน้อยมากเมื่อเทียบกับความทะเยอทะยานแรกเริ่มของรัสเซียเมื่อเดือน ก.พ. 2022 เมื่อพิจารณาจากรายงานของกลุ่มบล็อกเกอร์สายทหาร และตอกย้ำอีกครั้งจากการโฆษณาชวนเชื่อของรัสเซียที่เคยประกาศว่า จะเข้ายึดครองกรุงเคียฟของยูเครนให้ได้ "ภายในเวลาสามวัน"

ขณะที่ฝ่ายกองทัพยูเครนระบุว่า การถอนกำลังออกไปมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาชีวิตของทหาร และไม่ได้ปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่ากองทัพยูเครนมีกองกำลังและยุทโธปกรณ์น้อยกว่าฝั่งรัสเซีย

จนถึงขณะนี้ มีพื้นที่เพียงราว 18% ของยูเครนเท่านั้นที่ตกอยู่ภายใต้การยึดครองโดยรัสเซีย ซึ่งรวมถึงคาบสมุทรไครเมีย ที่ถูกรัสเซียผนวกเป็นส่วนหนึ่งในเดือน มี.ค. 2014 และพื้นที่สวนใหญ่ของแคว้นโดเนตสก์และลูฮันสก์ ที่รัสเซียเข้ายึดครองไม่นานหลังจากนั้น


แผนที่อธิบายพิกัดของเมืองอัฟดีอิฟกา

การสนับสนุนที่มีให้กับยูเครน อ่อนแรงลงหรือไม่

จากข้อมูลของสถาบันคีลเพื่อการศึกษาเศรษฐกิจโลก (Kiel Institute for the World Economy) ณ เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา ระบุว่า ตลอดระยะเวลาสองปี ชาติพันธมิตรของยูเครนได้ส่งความช่วยเหลือมูลค่ามหาศาลทั้งในรูปแบบ ความช่วยเหลือทางทหาร, ความช่วยเหลือทางการเงิน และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ให้กับยูเครน โดยสถาบันต่าง ๆ ของสหภาพยุโรปได้ส่งความช่วยเหลือให้ยูเครนเป็นมูลค่ากว่า 9.2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.23 ล้านล้านบาท ส่วนสหรัฐอเมริกาได้ส่งความช่วยเหลือไปราว 7.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.6 ล้านล้านบาท

ยูเครนยังได้รับความช่วยเหลือจากชาติตะวันตกด้านยุทโธปกรณ์ เช่น รถถัง, ระบบป้องกันทางอากาศ และปืนใหญ่พิสัยไกลอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถช่วยยูเครนได้อย่างมากในการสู้รบ แต่ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา การส่งความช่วยเหลือดังกล่าวกลับน้อยลง ท่ามกลางการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ชาติพันธมิตรจะสามารถสนับสนุนยูเครนไปเช่นนี้ได้อีกนานเพียงใด

ในสหรัฐฯ แผนการช่วยเหลือยูเครนมูลค่ากว่า 6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2.15 ล้านล้านบาท ก็ค้างเติ่งอยู่ในสภาคองเกรส ท่ามกลางการงัดข้อกันระหว่างสองพรรคการเมืองหลักของสหรัฐฯ

นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลจากบรรดากลุ่มผู้สนับสนุนยูเครนด้วยว่า หากนายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือน พ.ย. นี้ อาจจะทำให้แผนการสนับสนุนยูเครนของสหรัฐฯ ถึงจุดสิ้นสุดลงได้

ขณะที่ในสหภาพยุโรป ซึ่งมีมติผ่านแผนการช่วยเหลือทางการเงินแก่ยูเครนมูลค่ากว่า 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐไปแล้วในเดือน ก.พ. แต่ก็มีการถกเถียงและต่อรองกันอย่างหนัก โดยเฉพาะจากฮังการี ซึ่งนายวิคเตอร์ ออร์บาน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นพันธมิตรของปูติน ได้ต่อต้านแผนสนับสนุนยูเครนอย่างเปิดเผย

นอกจากนี้ การส่งกระสุนปืนใหญ่ไปให้ยูเครนของสหภาพยุโรป น่าจะส่งไปให้ได้เพียง 5 แสนลูกเท่านั้น จากที่วางแผนไว้ว่าควรส่งไปยังยูเครนให้ได้หนึ่งล้านลูกภายในเดือน มี.ค. นี้


แผนภูมิอธิบายถึงความช่วยเหลือต่อยูเครนจากนานาชาติ

ในส่วนชาติพันธมิตรของรัสเซียก็ยังคงให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง เช่น เบลารุส ที่อนุญาตให้รัสเซียใช้น่านฟ้าและดินแดนในการเคลื่อนพลเข้าสู่อาณาเขตของยูเครน

ขณะที่สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อ้างว่า อิหร่านสนับสนุนรัสเซียด้วยการส่งโดรน ชาเฮด (Shahed) มาให้ แต่อิหร่านยอมรับเพียงว่า ได้ส่งโดรนมาให้รัสเซียจำนวนไม่มากนัก ก่อนที่จะเกิดสงครามเท่านั้น

อากาศยานไร้คนขับ (unmanned aerial vehicles - UAVs) ได้พิสูจน์แล้วว่ามีประสิทธิภาพในการโจมตีเป้าหมายในยูเครน สำหรับสงครามครั้งนี้ โดรนถือเป็นอาวุธที่เป็นที่ต้องการของทั้งสองฝ่าย เนื่องจากมีความสามารถในการหลบเลี่ยงระบบป้องกันการโจมตีทางอากาศ

ส่วนมาตรการคว่ำบาตรก็ได้ผลไม่มากเท่าที่ชาติตะวันตกคาดหวัง ในขณะที่ฝ่ายรัสเซียยังคงสามารถขายน้ำมันให้ต่างชาติ และจัดหาส่วนประกอบต่าง ๆ ในการสนับสนุนอุตสาหกรรมทางการทหารของตัวเองได้

ทางด้านจีน แม้ว่าจะไม่ได้ให้การสนับสนุนอาวุธกับฝ่ายใดเลยในสงครามครั้งนี้ แต่ก็ยังคงระมัดระวังท่าทีด้านการทูตต่อสงครามครั้งนี้ โดยไม่ประณามการรุกรานของรัสเซีย แต่ก็ไม่ให้การสนับสนุนด้านการทหารเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ตาม ทั้งจีนและอินเดียต่างยังคงซื้อน้ำมันดิบจากรัสเซียเหมือนเดิม

ทั้งรัสเซียและยูเครนต่างใช้ความพยายามอย่างหนักในการโน้มน้าวใจกลุ่มชาติกำลังพัฒนา ผ่านการเดินทางเยือนหลายประเทศในทวีปแอฟริกาและลาตินอเมริกาหลายครั้ง เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต

เป้าหมายของรัสเซียเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่

เป็นที่เชื่อกันอย่างกว้างขวางว่า ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย ยังคงต้องการครอบครองพื้นที่ยูเครนทั้งหมด

ในบทสัมภาษณ์ล่าสุดของนายปูตินกับพิธีกรชื่อดังชาวอเมริกัน นายทัคเกอร์ คาร์ลสัน ที่ไม่ได้ตั้งคำถามท้าทายใด ๆ ต่อผู้นำรัสเซีย นายปูตินได้พูดถึงมุมมองที่บิดเบี้ยวของเขาที่มีต่อประวัติศาสตร์และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนอีกครั้ง

ปูตินให้เหตุผลชุดเดิม ๆ ที่เขาใช้มาอย่างยาวนาน โดยปราศจากหลักฐานที่หนักแน่นมาสนับสนุน ว่าพลเมืองชาวยูเครน โดยเฉพาะในภูมิภาคดอนบาส ต้องการการปกป้องโดยรัสเซีย


ในระหว่างการสัมภาษณ์กับนายทัคเกอร์ คาร์ลสัน พิธีกรชื่อดังชาวอเมริกัน ประธานาธิบดีปูตินได้กล่าวถึงความคับข้องใจของเขาต่อการขยายอิทธิพลมาทางตะวันออกของนาโต

ก่อนที่จะเกิดสงครามครั้งนี้ นายปูตินเคยเขียนเรียงความอันยืดยาวเพื่อปฏิเสธการมีอยู่ของอธิปไตยของยูเครน โดยอ้างว่าทั้งชาวรัสเซียและยูเครนคือประชาชนที่เป็นหนึ่งเดียวกัน

ในเดือน ธ.ค. 2023 นายปูตินออกมาเปิดเผยถึงเป้าหมายสำคัญที่ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงสำหรับรัสเซีย ซึ่งพวกเขาเรียกกันว่า "ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร" หนึ่งในเป้าหมายเหล่านั้นคือ การปลดปล่อยยูเครนจากนาซี ซึ่งตั้งอยู่บนข้ออ้างเกี่ยวกับอิทธิพลของฝ่ายขวาซึ่งไม่มีหลักฐานสนับสนุน

นอกจากนี้ เขายังต้องการที่จะทำให้ยูเครน "ปลอดทหาร" และ "เป็นกลาง" รวมทั้งพยายามต่อต้านการขยายอิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (North Atlantic Treaty Organisation หรือ นาโต) มาทางตะวันออกด้วย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายยูเครนในฐานะรัฐอิสระ ยังไม่เคยเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มพันธมิตรทางการทหารแห่งใด หนึ่งในจุดมุ่งหมายทางการเมืองของยูเครน คือการเข้าร่วมเป็นสมาชิกในกลุ่มสหภาพยุโรป และยังอยู่ในระหว่างการเจรจาเพื่อเข้าเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มนาโต ดูเหมือนว่าเป้าหมายทั้งสองจะใกล้เคียงที่จะเกิดขึ้นจริงยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงต้น ๆ ของสงคราม

เป้าประสงค์ดังกล่าวยังจะช่วยให้ยูเครนมีความเข้มแข็งมากขึ้นในความเป็นรัฐ และปกป้องประเทศจากการหวนกลับไปสู่โครงการทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ต้องการฟื้นคืนสหภาพโซเวียตขึ้นมาในบางรูปแบบ

สงครามครั้งนี้จะสิ้นสุดอย่างไร

ด้วยทั้งสองฝ่ายไม่มีท่าทีที่จะยอมแพ้ และนายปูตินเองก็ดูเหมือนจะยังคงอยู่ในอำนาจต่อไป นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า นี่จะเป็นสงครามที่ยืดเยื้อไปอีกนาน

สถาบันคลังสมองโกลบเซค (GlobSec) ได้รวบรวมความคิดเห็นของเหล่าผู้เชี่ยวชาญเพื่อประเมินความเป็นไปได้ของผลลัพธ์ต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ดังต่อไปนี้

ฉากทัศน์ที่เป็นไปได้มากที่สุด คือสงครามจะลดขนาดลงเรื่อย ๆ แต่คาดว่าจะทอดยาวออกไปนานกว่าปี 2025 พรัอมกับความเสียหายอย่างหนักในแง่จำนวนผู้เสียชีวิตของทั้งสองฝ่าย ขณะที่ฝ่ายยูเครนเองยังคงต้องพึ่งพาการสนับสนุนด้านอาวุธจากชาติพันธมิตรต่อไป

ฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้รองลงมา คือความขัดแย้งในพื้นที่อื่น ๆ จะยกระดับขึ้น เช่น ในภูมิภาคตะวันออกกลาง, ความขัดแย้งระหว่างไต้หวันและจีน และความขัดแย้งบนคาบสมุทรบอลข่าน โดยรัสเซียจะมองหาโอกาสที่จะจุดชนวนความขัดแย้งให้ตึงเครียดมากขึ้น


ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า มีโอกาสที่สงครามจะทอดยาวออกไปและทำให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตผู้คนมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมีอีกสองฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้เท่า ๆ กัน นั่นคือ ฝ่ายยูเครนอาจจะสามารถรุกคืบได้ด้วยปฏิบัติการทางทหาร แต่จะยังไม่มีการบรรลุข้อตกลงในการยุติสงครามใด ๆ หรือไม่ก็การสนับสนุนจากชาติพันธมิตรของยูเครนเสื่อมถอยลง และพวกเขาก็ผลักดันให้ยูเครนเข้าสู่การเจรจาเพื่อระงับข้อพิพาท

อย่างไรก็ตาม ยังมีความไม่แน่นอนที่ยังคงรอคอยอยู่ นั่นคือผลกระทบจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. นี้ และสถานการณ์สงครามที่กำลังเกิดขึ้นในพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับกลุ่มฮามาส ที่อาจจะส่งผลต่อการจัดลำดับความสำคัญและการร่วมมือเป็นพันธมิตรของชาติผู้สนับสนุนทั้งฝ่ายยูเครนและรัสเซีย

ความขัดแย้งมีโอกาสลุกลามบานปลายมากขึ้นหรือไม่


ในช่วงกลางเดือน ก.พ. นี้ ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกี ออกมาเตือนว่า การทำให้ยูเครนอยู่ในสภาวะ "ขาดแคลนอาวุธอย่างเทียม ๆ" ถือเป็นการช่วยรัสเซียทางอ้อม

คำเรียกร้องของผู้นำยูเครนมีขึ้นในระหว่างการแถลงข่าวในนครมิวนิคของเยอรมนี พร้อมกับระบุว่า นายปูตินจะทำให้เกิดหายนะต่ออีกหลายประเทศในอีกสองสามปีข้างหน้า หากว่าชาติตะวันตกไม่ต่อต้านเขา

สถาบันคลังสมอง รอยัลยูไนเต็ดเซอร์วิส (Royal United Services Institute - Rusi) ระบุว่า รัสเซียประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ให้พร้อมสำหรับการรับมือสงครามที่ยาวนานแล้ว ในขณะที่ชาติยุโรปยังก้าวตามไม่ทัน ซึ่งรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของโปแลนด์ได้เคยแสดงความกังวลในประเด็นนี้มาแล้วเช่นกัน

ในบรรดาชาติในภูมิภาคยุโรปเอง รัฐมนตรีต่างประเทศของเยอรมนีและหน่วยข่าวกรองของเอสโตเนีย ได้เคยออกมาแสดงความกังวลในทำนองที่ว่า รัสเซียอาจสามารถโจมตีชาติสมาชิกนาโตชาติใดชาติหนึ่งได้ภายในทศวรรษที่กำลังจะมาถึง

ด้วยปัจจัยดังกล่าว ทำให้นาโตและสหภาพยุโรปกำลังเตรียมแผนรับมือในอนาคต ทั้งในแง่ขีดความสามารถทางทหารและการเตรียมความพร้อมให้ประชาชนที่อาจจะต้องอยู่กับโลกที่ต่างออกไปโดยสิ้นเชิง

ที่มา https://www.bbc.com/thai/articles/cj533p381r9o