ถึงคราสภาพัฒน์ฯ พูดบ้าง สภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยสมัย ‘เศรษฐา’ จน ศิริกัญญา ตันสกุล เอามาเหน็บนายกฯ “ยังหาแนวทางแก้ไขปัญหาไม่ออก” ก็เลย “โบ้ยไปที่ผู้กำหนดนโยบายการเงินไม่ว่าจะเป็น กนง. หรือผู้ว่า ธปท. สศช.”
เฉพาะ สศช.เลขาธิการสภาพัฒน์ฯ แถลงข้อมูลจีดีพี ไตรมาส ๔ ปี ๖๖ และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี ๒๕๖๗ เมื่อ ๑๙ กุมภา ว่าเป็นปัญหาโครงสร้าง “คือหนี้ที่สูงโดยเฉพาะภาคครัวเรือนและผู้ประกอบการเอสเอ็มอี” ซึ่ง ‘หนี้เสีย’ (NPL) เพิ่มจำนวนมากขึ้น
“ดึงดูดนักลงทุนเข้ามาก็ได้ดำเนินการไปแล้วนะครับ เร่งงบประมาณปี ๖๗ เร่งรัดเบิกจ่ายที่เป็นงบประจำต่อเนื่อง และ รัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนต่อเนื่องแล้วนะครับ” นายดนุชา พิชยนันท์ จี้รัฐบาลให้งัดมาตรการทางการเงินออกมาใช้ได้แล้ว
“ดังนั้นจึงถึงช่วงเวลาที่มาตรการการเงินจะเข้ามาช่วยเศรษฐกิจ” ได้แก่ “มาตรการอัตราดอกเบี้ยต่างๆ ต้องพิจารณาจริงจัง ไม่ว่าจะอัตราดอกเบี้ยหรือส่วนต่างดอกเบี้ย ซึ่งเน้นลงไปภาคครัวเรือนและเอสเอ็มอี เพื่อให้ส่วนต่างดอกเบี้ยแคบลง”
เลขาฯ สภาพัฒน์ บอกว่าเรื่องดอกเบี้ยนั้นต้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นคนจัดการ ตามเวลาที่เหมาะสม ว่าจะปรับลงเมื่อไร ส่วนข้อกังขาว่าถ้าปรับลงแล้ว จะไปกระตุ้นให้เกิดการก่อหนี้เพิ่มขึ้น กลายเป็นหนี้เกินตัว ก็ต้องมีมาตรการอื่นมาประกอบ
ท้ายที่สุดสภาพเศรษฐกิจเวลานี้ คาดว่าแนวโน้มจีดีพีปี ๖๗ จะอยู่ที่ค่ากลาง ๒.๗% (คืออย่างต่ำ ๒.๒% และอย่างสูง ๓.๒%) ยังดูดีกว่าปีที่ผ่านมาทั้งปี ต้องปรับลดค่าการเติบโตของเศรษฐกิจลงเหลือ ๑.๙% (เฉพาะไตรมาสสี่แค่ ๑.๗%)
ก็ทำให้ภาพลักษณ์ปี ๖๗ ไม่ค่อยแจ่มใสเท่าไรนัก เพราะจะทำให้ได้จีดีพี ๒.๗% ต้องลุ้น ๑.การส่งออกกลับมาโตได้ ๒.การอุปโภคบริโภคเพิ่มมากขึ้น และ ๓.การท่องเที่ยวฟื้นได้จริงตามราคาคุย แต่ทั้งหมดน่าจะพูดได้ว่ายังลูกผีลูกคน
พวกนักแบกคงรู้ดีอยู่ จึงตีอกชกลมเมื่อผู้ป่วยชั้น ๑๔ ลงมาอยู่บ้านจันทร์ส่องหล้า จะได้คอยประคับประคองเรือกระแชงพรรคเพื่อไทย ให้ไปได้ตลอดรอดฝั่งด้วยมนต์วิเศษทางเศรษฐกิจ เสียแต่ว่าคนทั่วไปที่ไม่แบก ก็ยังไม่เชื่อน้ำยานักละ
(https://www.facebook.com/ThaiPublica/posts/jACNFi7Mtcjs5l, https://twitter.com/ktnewsonline/status/1759457093868982468 และ https://twitter.com/CaterpilaBlue/status/1760916666026954792)