วันเสาร์, กุมภาพันธ์ 03, 2567

ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความสงบ ไม่มีประชาธิปไตย: รัฐไทยต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายรวมถึงคดี 112 ทันที


ชวนอ่านบทความโดยภาสกร ญี่นาง ทบทวนการนิรโทษกรรมในอดีตและหลักคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการนิรโทษกรรม
(tlhr2014.com/archives/64419)
และร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย #นิรโทษกรรมประชาชน
(amnestypeople.com)
.....
ไม่มีความยุติธรรม ไม่มีความสงบ ไม่มีประชาธิปไตย: รัฐไทยต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายรวมถึงคดี 112 ทันที

โดย ภาสกร ญี่นาง
02/02/2567
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

ในทุกวันนี้ ประชาธิปไตยไทยที่เดินระหกระเหินมาหลายทศวรรษ กำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่อีกครั้ง หลังการเลือกตั้งปี 2566 ที่ผ่านมา สำหรับหลายคนอาจประเมินว่า สถานการณ์ระบอบการเมืองไทยในปัจจุบันกำลังก้าวหน้ากว่าสมัยพลเอกประยุทธ์ที่ครองอำนาจการปกครองประเทศมากว่า 8 ปี ขณะที่อีกฝ่าย อาจมองว่า รัฐไทยยังไม่ได้เปลี่ยนผ่านจากระบอบเดิมสู่ระบอบใหม่ที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าแต่อย่างใด เพราะความอยุติธรรมในสังคม การจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน การจองจำลงโทษบุคคลที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ หรือประเด็นความไม่เป็นธรรมอื่น ๆ ยังไม่เคยจางหายไปไหน และความขัดแย้งก็ถูกซุกเอาไว้ใต้พรมเท่านั้น ไม่เคยถูกหยิบขึ้นมาจัดการให้สังคมสามารถเดินต่อไปข้างหน้าอย่างถูกต้องได้

ประเด็นหลักของบทความนี้ ต้องการชวนพิจารณาถึงกระบวนการเปลี่ยนผ่านสังคมและการเมืองไทยให้สำเร็จ โดยไม่แสร้งทำเป็นปิดตาข้างเดียว มองไม่เห็นความอยุติธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรม ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันกับบนเวทีการเมืองและภาคประชาสังคม บนคำถามที่ว่า เราควรมีกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือถ้ามีจะยกเว้นความผิดให้กับใคร เพื่ออะไร และมีขอบเขตมากน้อยแค่ไหน



เป้าประสงค์ของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน (ภาพจาก Judiciaries Worldwide)
.
การเปลี่ยนผ่าน – ไม่เปลี่ยนผ่าน

การเปลี่ยนผ่านสังคมและการเมือง ต้องอยู่บนพื้นฐานของการขจัดความอยุติธรรมในอดีต และแสวงหาความยุติธรรม เพื่อฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่เคยถูกทำลายทิ้งภายใต้ระบอบการเมืองเก่า อันเป็นการปูทางสู่การสถาปนาระบอบประชาธิปไตยต่อไปได้ หลักคิดดังกล่าวมาจากมโนทัศน์ที่ฝ่ายนักวิชาการเรียกว่า “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน” (Transitional Justice)[1]

กระบวนการแสวงหาความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่ที่จะต้องไม่เพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน และความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นในอดีตจากการปกครองของรัฐบาลเก่า ผ่านการขับเคลื่อนปฏิบัติการทางกฎหมายและกลไกสถาบันการเมืองต่าง ๆ ให้มีการฟื้นฟูเยียวยาความเสียหาย ยุติผลพวงอันเลวร้ายที่ผู้มีอำนาจเดิมเคยทำไว้[2] เช่น การสืบสวนสอบสวน ดำเนินคดี และลงโทษผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความรุนแรงหรือการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน การจัดตั้งคณะกรรรมการแสวงหาความจริงเพื่อชำระประวัติศาสตร์สร้างบทเรียนให้กับสังคม การปฏิรูปหน่วยงานหรือสถาบันที่มีส่วนร่วมทำให้เกิดระบอบการเมืองเผด็จการทหาร รวมถึงการนิรโทษกรรมกลุ่มนักโทษทางการเมืองที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมภายใต้รัฐบาลเดิม เป็นต้น[3]

แน่นอนว่า ในบริบทของการเมืองไทยอาจยังไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่า มีการเปลี่ยนผ่าน เพราะไม่มีภาพการเปลี่ยนแปลงจากหลังมือเป็นหน้ามืออย่างชัดเจน เนื่องจากพลังอิทธิพลของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 ที่ช่วยให้เผด็จการทหาร ซึ่งก่อกำเนิดจากการรัฐประหารสามารถลอกคราบ แปลงกาย เป็นรัฐบาลที่มาจากกระบวนการเลือกตั้ง หรือเปิดช่องให้มีการสืบทอดอำนาจได้อย่างแยบยล ประกอบกับเหล่าสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด ก็ทำหน้าที่เป็นองค์กรเหนือมติของมหาชน คอยพิทักษ์ผลประโยชน์ของกลุ่มผู้มีอำนาจเดิม และกำหนดได้ว่า ใครจะเป็นนายกรัฐมนตรี ใครจะสามารถตั้งรัฐบาลได้ การเลือกตั้งทั้งปี 2562 และปี 2566 จึงไม่ใช่หมุดหมายที่แสดงถึงการเปลี่ยนผ่านจาก “รัฐเผด็จการ” สู่ “รัฐประชาธิปไตย” ของไทย

แต่อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็เกิดขึ้นอยู่บ้าง อย่างน้อยกลุ่มผู้นำเด่น ๆ ในรัฐบาลเดิมได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของตนเองไป ไม่ว่าจะเป็น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา พลเอกประวิทย์ วงศ์สุวรรณ ฯลฯ และถูกแทนที่ด้วยรัฐบาลที่นำโดยพรรคเพื่อไทยที่เคยแสดงออกอย่างชัดเจนว่า อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ พร้อมเรียกตนเองว่าเป็น “ฝ่ายประชาธิปไตย” แม้ท้ายที่สุด องค์ประกอบของรัฐบาลที่มีพรรคเพื่อไทยเป็นแกนนำ กว่าครึ่งหนึ่งจะเป็นพรรคการเมืองตัวแทนของกลุ่มอำนาจเดิมก็ตาม แต่ก็ย่อมเป็นหน้าที่แก่รัฐบาลที่จะแสวงหาความยุติธรรม ปลูกฝังให้นิติรัฐและสิทธิมนุษยชนได้ลงหลักปักฐาน จัดการความขัดแย้ง เพื่อไม่ให้สังคมต้องวนเวียนกลับไปจุด ๆ เดิมซ้ำซาก

และหากมองย้อนกลับไปไม่นานมานี้ เมืองไทยภายใต้การปกครองของรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ซึ่งเกิดปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของประชาชนคณะราษฎร 2563 อันเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ประเด็นการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ถูกกล่าวบนเวทีปราศรัยและเวทีสาธารณะอื่น ๆ อย่างเปิดเผย ผลลัพธ์ที่ตามมา คือ การใช้กฎหมายเป็นเครื่องทางการเมืองเพื่อกดปราบ และปราบปรามขบวนการเคลื่อนของประชาชนอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การใช้บทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 กับบุคคลที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างสุจริต บนเจตนาให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ

ประเด็นข้างต้น ถือเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลซึ่งนำโดยพรรคเพื่อไทยต้องหยิบมาพิจารณาและแก้ไขอย่างเร่งด่วน เพราะคดีมาตรา 112 ที่ดำเนินอยู่ รวมถึงการคุมขังบุคคลที่เห็นต่างโดยอำนาจของกฎหมายดังกล่าว ถือเป็นผลพวงจากปฏิบัติการกดปราบภายใต้รัฐบาลชุดเดิม การออกกฎหมายนิรโทษกรรมกับผู้ต้องขังในคดีมาตรา 112 จึงอาจเป็นทางออกอย่างหนึ่งที่เสมือน “ก้าวแรก” ในการแสวงหาความยุติธรรมและเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่ทั้งนี้ “การนิรโทษกรรม” สำหรับบริบทการเมืองไทย ไม่ได้ถูกจัดให้เป็นความหมายที่ดีเท่าไหร่นัก ในแง่การพัฒนาประชาธิปไตย ดังนั้น อาจต้องมีการทบทวนบทเรียนการนิรโทษกรรมในอดีตของไทยเสียก่อน เพื่อทำความเข้าใจว่า การนิรโทษกรรมควรเป็นไปในทิศทางใด



ร่องรอยการนิรโทษกรรมในอดีตและบทเรียนอันขมขื่น

ที่ผ่านมา ในแง่มุมของประวัติศาสตร์กฎหมาย รัฐไทยมีประสบการณ์เกี่ยวกับการนิรโทษกรรมไม่สู้ดีนัก และบางบริบทยังอาจตกเป็นเนื้อร้ายทางการเมือง ที่นำพาประเทศสู่วิกฤตการณ์รัฐประหารหลังปี 2557 หากลองมองย้อนกลับไปตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 เป็นต้นมา การนิรโทษกรรมมักเกิดกรณีที่มุ่งหมายเพื่อยกเว้นความผิดแก่ผู้ร่วมกระทำการรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล หรือก่อการปฏิวัติ ซึ่งตามหลักการแล้ว ถือว่าได้กระทำผิดฐานกบฏ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 แต่ก็ได้นิรโทษกรรมความผิดของตนเองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่ประกาศไว้โดยคณะรัฐประหาร[4]

นอกเหนือจากนี้ ยังมีกรณีเลวร้ายที่สุด คือ การนิรโทษกรรมให้แก่ผู้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางเมือง (อาจไม่ได้ระบุไว้ในบทกฎหมายอย่างชัดแจ้ง แต่ผลลัพธ์ทางกฎหมายก็มีผลเป็นการยกเว้นความผิดให้กับผู้ก่อความรุนแรงทั้งสิ้น) แม้กระทั่ง ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมคนเสื้อแดงเมื่อเมษายน – พฤษภาคม 2553 ก็ได้มีความพยายามออกกฎหมายนิรโทษกรรมแบบสุดซอย ซึ่งถูกต่อต้านอย่างกว้างขวาง จนรัฐบาลเพื่อไทยขณะนั้นต้องประสบกับวิกฤตความชอบธรรม เป็นหนึ่งในสาเหตุให้ฝ่ายทหารฉวยโอกาสทำการรัฐประหารได้

ตัวอย่างการนิรโทษกรรมที่เป็นปัญหาของรัฐไทยในอดีต เช่น กรณีเหตุการณ์สังหารหมู่ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่ภายหลังเหตุการณ์ หลังจากที่คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำโดย พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ เข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลเสนีย์ ปราโมช ก็มีการเร่งรีบออก “พระราชบัญญัตินิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำการยึดอำนาจการปกครองประเทศ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พ.ศ. 2519” เพื่อยกเว้นความผิดครอบคลุมไปจนถึงการกระทำของบุคคลอื่นที่ไม่ได้อยู่ในคณะรัฐประหาร ซึ่งฝ่ายคณะรัฐประหารได้นิรโทษกรรมตนเองไว้ในรัฐธรรมนูญแล้วก่อนหน้านี้ แต่ฝ่ายที่ได้เสนอร่างกฎหมายนิรโทษกรรม มีความเห็นว่า บทบัญญัติรัฐธรรมนูญอาจครอบคลุมไม่เพียงพอให้แก่ผู้กระทำการทุกคน[5]

นอกจากจะทำให้ผู้กระทำความรุนแรงหลุดพ้นความรับผิดทางกฎหมายได้แล้ว รัฐไทยตอนนั้นยังได้ใช้กฎหมายมาลบล้างความผิดให้แก่ผู้กระทำการ เพื่อสร้างความบริสุทธิ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองควบคู่ไปด้วย ผ่านการออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ประชาชนนักศึกษาที่ถูกดำเนินคดีในความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงในเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เพื่อปล่อยตัวจำเลยโดยไม่เงื่อนไขว่าต้องไม่ไปใช้สิทธิทางศาลดำเนินคดีโต้กลับกับผู้ก่อการทั้งหมด[6] มีผลให้กระบวนการพิจารณาในชั้นศาลยุติลง โดยที่ขณะนั้นห้องพิจารณาของศาลทหารก็ได้กลายเป็นห้องแห่งการแสวงหาความจริง แทนที่จะเป็นการพิสูจน์ว่าจำเลยได้กระทำความผิดอย่างไรบ้าง แต่กลับตาลปัตรกลายเป็นการบอกเล่าเรื่องราวความเลวร้ายที่ฝ่ายโจทก์ได้กระทำลงต่อเหยื่อความรุนแรงแทน[7]

หรือ กรณีเหตุการณ์พฤษภาประชาธรรม 2535 ที่ถือเป็นเหตุการณ์ที่มีตำแหน่งแห่งที่ทางประวัติศาสตร์ เป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ของประชาชนเพื่อเรียกร้องประชาธิปไตย และสามารถโค่นล้มรัฐบาลที่สืบทอดอำนาจมาจากเผด็จการทหารได้สำเร็จ แต่เมื่อเหตุการณ์ความรุนแรงยุติลง ฝ่ายรัฐบาลก็ได้ชิงออกพระราชกำหนดนิรโทษกรรม (อาศัยเหตุฉุกเฉินและจำเป็นเร่งด่วนให้คณะรัฐมนตรีออกกฎหมายมาโดยไม่ต้องผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎร) ที่แม้จะอ้างว่าเป็นการยกเว้นความผิดให้กับประชาชนผู้ชุมนุมได้กระทำฝ่าฝืนกฎหมายตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และพระราชกำหนดดังกล่าวจะถูกตีตกไปโดยรัฐสภา[8]

แต่ผลทางกฎหมายก็คือ การลอยนวลพ้นผิดของเหล่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลที่ได้กระทำความรุนแรงต่อประชาชนที่เกิดขึ้นอย่างหน้าตาเฉย เพราะการวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ 2/2535 และ 3/2535 กำหนดให้ผลของกฎหมายยังคงมีผลอยู่ต่อไป แม้พระราชกำหนดจะถูกตีตกก็ตาม อีกทั้ง ผลกฎหมายเช่นนี้ ยังถูกยืนยันโดยคำพิพากษาศาลฎีกา 2015 – 2016/2542 ที่มีการพิพากษายกฟ้องคดีที่ญาติของเหล่าวีรชน ยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายเป็นคดีแพ่งจากเจ้าหน้าที่รัฐและผู้สั่งการให้นำกำลังทหารเข้าปราบปรามประชาชน โดยศาลได้ยกคำวินิจฉัยของคณะตุลาการรัฐธรรมนูญขึ้นมาประกอบ[9]

การนิรโทษกรรมลักษณะดังกล่าว ไม่ได้ใกล้เคียงกับการนิรโทษกรรมตามหลักคิดของความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่านแม้แต่น้อย การลองเหลียวหลังแลมองอดีต สะท้อนให้เห็นว่า เมื่อไม่มีความยุติธรรม การพัฒนาประชาธิปไตยย่อมไม่เกิดขึ้น แม้จะเป็นภายหลังเหตุการณ์ที่ประชาชนมีชัยเหนือรัฐเผด็จการทหารก็ตาม กล่าวคือ กระบวนการกฎหมายที่รัฐไทยนำมาจัดการความรุนแรง ไม่ได้มีส่วนทำให้ประเทศชาติเข้าใกล้ความเป็นประชาธิปไตยได้เลย ไม่มีการทำให้หลักสิทธิมนุษยชนมีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาแต่อย่างใด

นอกจากนั้น การนิรโทษกรรมในอดีต ถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะชี้ว่า รัฐไทยไม่ควรเดินกลับไปซ้ำรอยเดิมอีก แต่ทั้งนี้ แม้จะเป็นปัญหามากแค่ไหน ก็ไม่ได้หมายความว่า รัฐไทยต้องปฏิเสธการนิรโทษกรรมเสมอไป



คณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ลงนามในคำวินิจฉัยที่ 2/2535 รับรองให้พระราชกำหนดนิรโทษกรรม 2535 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ
.
หลักคิดพื้นฐานของการนิรโทษกรรม

งานศึกษาเรื่องกฎหมายเกี่ยวของการสร้างความปรองดองที่จัดทำโดย ภูมิ มูลศิลป์[10] ได้รวบรวมคำอธิบายเกี่ยวกับหลักพื้นฐานของการนิรโทษกรรมไว้อย่างครบถ้วน เริ่มตั้งแต่การพิจารณาไปที่คำว่า “นิรโทษกรรม” ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Amnesty มาจากภาษากรีกที่เรียกว่า Amnestia ที่หมายถึงการลืม กฎหมายนิรโทษกรรมจึงเท่ากับกฎหมายที่จะยกเว้นความผิดให้กับการกระทำผิดกฎหมายบางอย่าง ซึ่งส่งผลให้ผู้กระทำไม่มีความผิดทางกฎหมายและไม่ต้องรับโทษใด ๆ[11]

การนิรโทษกรรม เป็นกระบวนการระงับข้อพิพาทหรือจัดการความขัดแย้งที่เป็นที่ถกเถียงกันมากที่สุด ด้านหนึ่งมักมองว่า การนิรโทษกรรมเป็นเพียงกับซุกซ่อนปัญหาความขัดแย้งเอาไว้ และบ่อยครั้งการนิรโทษกรรมเป็นเพียงเครื่องมือทางกฎหมายที่ผู้มีอำนาจหรือผู้กระทำความรุนแรงใช้เพื่อกลบเกลื่อนการกระทำความผิดของตนเอง (เหมือนกับที่รัฐไทยทำเกือบทุกครั้ง) อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันกฎหมายระหว่างประเทศและองค์กรระหว่างประเทศ ยอมรับให้มีการใช้กลไกการนิรโทษกรรมเพื่อจัดการความขัดแย้ง แต่ไม่ได้หมายความว่า การนิรโทษกรรมจะมีขึ้นอย่างไร้ขอบเขต โดยลักษณะของกฎหมายนิรโทษกรรมที่ขัดต่อมาตรฐานกฎหมายระหว่างประเทศ และนโยบายขององค์การสหประชาชาติ ได้แก่[12]

หนึ่ง การนิรโทษกรรมที่ส่งผลให้บุคคลที่จะต้องถูกดำเนินคดีอันเนื่องมาจากต้องรับผิดชอบต่อคดีอาชญากรสงคราม การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ หรือ ผู้กระทำละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลุดพ้นจากการถูกดำเนินคดี

สอง การนิรโทษกรรมที่นำเอาสิทธิในการได้รับการเยียวยาและชดเชยของเหยื่อมาเป็นเครื่องมือต่อรอง

สาม การนิรโทษกรรมที่จะมีผลเป็นการจำกัดสิทธิของเหยื่อและสังคมในการรับรู้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ในกระบวนการตรากฎหมายนิรโทษกรรม ควรอยู่บนฐานความชอบธรรมตามระบอบประชาธิปไตย ควรมีการทำประชาพิจารณ์ เปิดให้มีการรับฟังความเห็นจากประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น นักวิชาการ ภาคประชาสังคม เปิดให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาของการนิรโทษกรรม นอกจากนี้ การนิรโทษกรรมต้องไม่ใช่การสร้างอภิสิทธิ์ให้กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง โดยไม่ได้อยู่ภายใต้วัตถุประสงค์ของการสร้างความปรองดอง หรือไม่ได้เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนรวม

การนิรโทษกรรมควรมีการกำหนดขอบเขตที่ชัดเจน ทั้งการกระทำความผิด ช่วงเวลาการกระทำความผิดที่อนุญาตให้มีการนิรโทษกรรม และต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า การนิรโทษกรรมต้องไม่นิรโทษกรรมให้กับผู้ละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฝ่ายที่มีอำนาจหน้าทึ่ความรับผิดชอบมากที่สุด เช่น ผู้วางแผน ผู้นำทางการเมือง ผู้นำทางทหาร ผู้บังคับบัญชา ฯลฯ

อีกทั้ง การนิรโทษกรรมจะต้องไม่ใช่การยกเว้นความผิดแบบเหมารวม หรือที่เรียกว่า “สุดซอย” การผลักดันกลไกจำเป็นต้องนิรโทษกรรมแก่ประชาชนที่ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรมในสภาวะที่ไม่ปกติ เพื่อฟื้นฟู กู้คืนศักดิ์ศรี และมอบชีวิตใหม่ให้กับพวกเขาหลังจากที่ถูกกักขัง ลงโทษ อันเนื่องมาจาก “การกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง” (Political-motivated acts)[13] แต่ฝ่ายผู้มีอำนาจมองว่าเป็นการกระทำความผิดทางกฎหมายอาญา และมักเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของรัฐ กล่าวคือ ในกระบวนการนิรโทษกรรม จะต้องแยกระหว่างการกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมืองและการกระทำความผิดอาญาทั่วไปที่มีมูลเหตุจูงใจในเรื่องส่วนตัว

การกระทำที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง หมายถึง การกระทำที่มีพื้นฐานมาจากความคิดและอุดมการณ์ทางการเมือง หรือต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในช่วงเวลาที่มีความขัดแย้งหรือการเคลื่อนไหวทางการเมืองขนานใหญ่ [14] ซึ่งคดีความที่บุคคลต้องตกเป็นจำเลย และสามารถพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า มาจากมูลเหตุจูงใจทางการเมือง สมควรที่จะได้รับการนิรโทษกรรมทั้งหมด รวมถึงคดีมาตรา 112 (ซึ่งเป็นกฎหมายที่ถูกนำมาเป็นเครื่องมือกดปราบทางการเมืองมาตลอด) เพราะบุคคลที่ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ล้วนอยู่บนข้อเสนอเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันฯ และย่อมเป็นการกระทำที่ต้องการบรรลุเป้าหมายทางการเมืองทั้งสิ้น
.

.
รัฐบาลต้องไม่เพิกเฉยต่อความอยุติธรรม

หัวใจสำคัญของการยุติความขัดแย้ง คือ ต้องยุติความสัมพันธ์ในเชิงศัตรู และต้องฟื้นฟูเยียวยาเพื่อกู้คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ให้ความเสียหายกลับคืนสู่สภาพเดิม มิใช่การเพิกเฉย เสแสร้งทำเป็นลืมว่าเคยเกิดอะไรขึ้น ใครเคยถูกกระทำ ใครเป็นผู้กระทำ ตราบใดที่ไม่มีการฟื้นฟูเยียวยาดังกล่าว ก็ไม่มีหนทางประชาธิปไตยจะลงหลักปักฐานในสังคมได้ เพราะต่อให้มีการเลือกตั้งอีกร้อยครั้งพันครั้ง แต่ทว่าผลพวงของความอยุติธรรมที่เกิดภายใต้ระบอบการปกครองของเผด็จการทหารที่สืบทอดอำนาจมาก็ยังคงอยู่ ความสัมพันธ์เชิงศัตรูย่อมไม่หายไป

กล่าวอีกนัยหนึ่ง การเปลี่ยนผ่านสังคมไทยให้ดำเนินไปข้างหน้าตามวิถีทางประชาธิปไตย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลปัจจุบันที่จะต้องผลักดันกลไกต่าง ๆ สร้างสรรค์ความยุติธรรมให้บังเกิดขึ้น ต้องไม่ปล่อยปละละเลยให้ผู้ต้องหาและจำเลยคดีทางการเมืองที่ต้องถูกดำเนินคดีเพียงเพราะแสดงความคิดเห็น วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลหรือผู้มีอำนาจในอดีต ซึ่งซ้อนทับไปด้วยปัญหาความอยุติธรรมต่าง ๆ มากมาย เช่น การคุมขังเยาวชน, การที่จำเลยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราว, การกลั่นแกล้งให้จำเลยต้องถูกคุมขังห่างไกลจากภูมิลำเนา ฯลฯ

จากข้อมูลเชิงสถิติ พบว่า มีกว่า 67 คนที่ถูกคุมขังในคดีการเมืองตลอดปี 2566 ที่ผ่านมา (19 คนถูกขังมาตั้งแต่ปี 2565 โดยไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราวเลยสักครั้ง) และในจำนวนนั้นมี 34 คนที่ต้องถูกคุมขังในเรือนจำด้วยคดีมาตรา 112[15]

สำหรับการนิรโทษกรรมประชาชน ถือเป็นกลไกการแสวงหาความยุติธรรมอย่างหนึ่งที่จะช่วยคืนความยุติธรรม และฟื้นฟูศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้กับผู้ถูกคุมขัง ยุติความสัมพันธ์เชิงศัตรูระหว่างกลุ่มผู้มีอำนาจรัฐกับประชาชนอีกหลาย ๆ คน ลดระยะห่างให้เกิดพื้นที่ที่เหมาะสม เป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ทุกฝ่ายสามารถหันหน้าเข้าหากันและถกเถียง พูดคุยกันได้บนความมีเหตุและผล เพื่อสร้างสรรค์ประชาธิปไตยร่วมกันได้

ดังนั้น รัฐไทยต้องนิรโทษกรรมประชาชนทุกฝ่ายรวมถึงคดี 112 ทันที ทั้งนี้ รัฐจะต้องเปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมกับกลไกการนิรโทษกรรม รับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้เสีย ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ภาคประชาสังคม นักวิชาการ ฯลฯ อีกด้วย

.
อ้างอิงท้ายบทความ

[1] ประจักษ์ ก้องกีรติ, “ความยุติธรรมในระยะเปลี่ยนผ่าน: เมื่อโลกไม่หันหลังให้โศกนาฏกรรม,” 17 พฤศจิกายน 2553, ประชาไท, https://prachatai.com/journal/2010/11/31944 (สืบค้นเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567)

[2] เรื่องเดียวกัน.

[3] เรื่องเดียวกัน.

[4] เช่น มาตรา 48 รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ที่กำหนดให้ “บรรดาการกระทําทั้งหลายซึ่งได้กระทําเนื่องในการยึดและควบคุมอํานาจ การปกครองแผ่นดิน เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 ของหัวหน้าและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รวมทั้งการกระทําของบุคคลที่เกี่ยวเนื่องกับการกระทําดังกล่าวหรือของผู้ซึ่งได้รับมอบหมายจากหัวหน้า หรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือของผู้ซึ่งได้รับคําสั่งจากผู้ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าหรือ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ อันได้กระทําไปเพื่อการดังกล่าวข้างต้นนั้น การกระทําดังกล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระทําเพื่อให้มีผลบังคับในทางรัฐธรรมนูญ ในทางนิติบัญญัติ ในทางบริหาร หรือในทาง ตุลาการ รวมทั้งการลงโทษและการกระทําอันเป็นการบริหารราชการอย่างอื่น ไม่ว่ากระทําในฐานะตัวการ ผู้สนับสนุน ผู้ใช้ให้กระทํา หรือผู้ถูกใช้ให้กระทํา และไม่ว่ากระทําในวันที่กล่าวนั้นหรือก่อนหรือหลังวันที่ กล่าวนั้น หากการกระทํานั้นผิดต่อกฎหมาย ให้ผู้กระทําพ้นจากความผิดและความรับผิดโดยสิ้นเชิง”

[5] ภาสกร ญี่นาง, ร่องรอยความหวาดกลัวและ “รู้ว่าผิด” ระหว่างการร่างกฎหมายนิรโทษกรรมผู้เกี่ยวข้องกับ 6 ตุลาฯ, 5 ตุลาคม 2563, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/21875 (สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2567)

[6] เรื่องเดียวกัน.

[7] ธงชัย วินิจจะกูล, 6 ตุลา ลืมไม่ได้ จำไม่ลง, (นนทบุรี: สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน. 2558), หน้า 22-23.

[8] ภาสกร ญี่นาง, สภาวะลอยนวลพ้นผิดในเหตุการณ์พฤษภาเลือด 2535: การปกป้องผู้ก่อความรุนแรงโดยกฎหมาย, 17 พฤษภาคม 2564, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/29739 (สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2567)

[9] เรื่องเดียวกัน,

[10] ภูมิ มูลศิลป์ และคณะ, กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความปรองดอง: กรณีศึกษาในต่างประเทศ, กรุงเทพฯ: สถาบันพระปกเกล้า, 2560.

[11] เรื่องเดียวกัน, 22

[12] Office of United Nations High Commissioner for Human Rights. 2009. Rule of Law Tools for post-conflict States : Amnesties. Geneva : United Nations, p. 11

[13] ภูมิ มูลศิลป์ และคณะ, เรื่องเดียวกัน, 94 – 98

[14] เรื่องเดียวกัน.

[15] ประมวลคดี, “สรุปเรื่องผู้ต้องขังการเมือง รอบปี 2566 : 67 คนถูกขัง 9 คนลุกประท้วงศาล คดี ม.112 ทำคนเข้าเรือนจำมากสุด ขณะมี 37 คนต้องถูกข้ามปี,” 31 ธันวาคม 2566, ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน, https://tlhr2014.com/archives/62632 (สืบค้นเมื่อ 23 มกราคม 2567)