วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2567

เปิดขั้นตอนอายัดตัวทักษิณ คดี ม.112 ก่อนครบกำหนดพักโทษ


นายทักษิณ ชินวัตร รักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14 ของอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา โรงพยาบาลตำรวจ มาเป็นวันที่ 168 (ณ วันที่ 6 ก.พ. 2567)

เปิดขั้นตอนอายัดตัวทักษิณ คดี ม.112 ก่อนครบกำหนดพักโทษ

6 กุมภาพันธ์ 2024
บีบีซีไทย

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยขั้นตอนการอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร เพื่อดำเนินคดีอาญามาตรา 112 หลังจากใกล้ครบกำหนดการพักโทษในช่วงปลายเดือน ก.พ. นี้

นายทักษิณ ถูกพนักงานสอบสวนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แจ้งหมายจับในคดีอาญามาตรา 112 ในวันที่เดินทางกลับประเทศไทย และพนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวไว้กับกรมราชทัณฑ์

นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า คดีนี้อัยการสูงสุดมีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559 ฐานร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระมหากษัตริย์ พระราชินี และรัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นเท็จ จากเหตุการณ์ที่เกิดเมื่อวันที่ 21 พ.ค. 2558 ณ กรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศไทยเกี่ยวพันกัน

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด แถลงว่า หลังจากนายทักษิณเดินทางกลับประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2566 และถูกควบคุมตัวเพื่อรับโทษในคดีอื่น เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน และคณะ พร้อมด้วยพนักงานสอบสวน ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหาและพฤติการณ์ต่อนายทักษิณ โดยนายทักษิณให้การปฏิเสธ พร้อมยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด

โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า อธิบดีอัยการสำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การของนายทักษิณ และหนังสือร้องขอความเป็นธรรม ให้กับสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด เพื่อรวบรวมในสำนวนคดี ก่อนส่งให้อัยการสูงสุดให้ความเห็นและมีคำสั่งทางคดีต่อไป

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางกลับถึงประเทศไทยเมื่อ 22 ส.ค. 2566 ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนตามกระบวนการยุติธรรม ซึ่งนายทักษิณไม่ได้นอนเรือนจำแม้แต่คืนเดียว แต่ได้รับการย้ายตัวออกจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครช่วงกลางดึก เพื่อเข้ารับการรักษาตัวที่ รพ.ตำรวจ ทราบในเวลาต่อมาว่าพักอยู่ที่ชั้น 14 ของอาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา

บันทึกคำให้การและหนังสือร้องขอความเห็นธรรมจากนายทักษิณ ถือเป็นพยานหลักฐานชิ้นใหม่ ที่จะถูกนำมาพิจารณาในสำนวนคดีอาญามาตรา 112 ซึ่งอัยการสูงสุด เคยมีความเห็นควรสั่งฟ้อง เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2559


อาคารมหาภูมิพลราชานุสรณ์ 88 พรรษา ที่กรมราชทัณฑ์และโรงพยาบาลตำรวจ ระบุว่า นายทักษิณพักรักษาตัวอยู่ที่ชั้น 14

จะมีผลต่อการพักโทษอย่างไร

นายทักษิณ ได้พระราชทานอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือ 1 ปี และในวันที่ 18 ก.พ. ที่จะถึงนี้ จะถือว่าเขารับโทษจำคุกครบ 180 วัน หรือ 6 เดือน ดังนั้น จึงถือว่า นายทักษิณ เป็นหนึ่งในผู้ต้องหาที่เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษได้

เกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษระบุเกณฑ์ว่า ต้องเป็นนักโทษที่มีความเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป และมีเงื่อนไขว่า ต้องรับโทษมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 หรือ 6 เดือน ของกำหนดโทษตามหมายแจ้ง เป็นนักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป ไม่มีโทษกักขัง หรือไม่ถูกคุมขังตามหมายขังในคดีอื่น ต้องมีผู้อุปการะและยินดีรับอุปการะ ในกรณีที่ไม่มีผู้เกี่ยวข้องกับนักโทษเด็ดขาด

คณะโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ชี้แจงว่า ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งพักโทษของนายทักษิณจากกรมราชทัณฑ์ออกมา อย่างไรก็ตาม พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัว ซึ่งกรมราชทัณฑ์ตอบรับการอายัดตัวไว้แล้ว ซึ่งหากมีการพักโทษ พนักงานสอบสวนจะอายัดตัวไว้ และสามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาไว้ได้ โดยการขออำนาจจากศาลฝากขัง

นายประยุทธ โฆษกอัยการสูงสุดชี้แจงว่า หากพนักงานสอบสวนอายัดตัวไว้ในช่วงที่อัยการตรวจสำนวนเสร็จ พนักงานอัยการสามารถส่งตัวฟ้องได้ทันที แต่หากต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม อัยการมีอำนาจในการปล่อยตัว โดยหลังจากสำนวนเสร็จสิ้น อัยการจะแจ้งให้มาส่งตัวฟ้องในภายหลัง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกระบวนการว่า ณ เวลาที่นายทักษิณได้พักโทษ กระบวนการของอัยการอยู่ในขั้นตอนใด

หนังสือร้องขอความเป็นธรรม กับความเห็นสั่งฟ้องดำเนินคดี ม.112

นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวว่า หลังจากอัยการสูงสุดมีความเห็นว่าควรสั่งฟ้องคดีมาตรา 112 ต่อนายทักษิณ เมื่อปี 2559 ยังไม่มีข้อเท็จจริงใหม่เกิดขึ้น แต่หลังจากนายทักษิณยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมเข้ามา ตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุด ต้องพิจารณาว่าประเด็นที่ยื่นร้องขอความเป็นธรรม มีผลทำให้ข้อเท็จจริงทางคดีหรือพยานหลักฐานเพิ่มเติมขึ้นมาหรือไม่ หากเป็นการร้องโดยไม่มีข้อเท็จจริงอะไรที่จะเปลี่ยนแปลงกับการสั่งคดี ทางสำนักงานอัยการจะยุติการร้องขอความเป็นธรรม

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด กล่าวต่อไปว่า แต่หากในการร้องขอความเป็นธรรม มีประเด็นที่อัยการสูงสุดต้องสอบสวนเพิ่มเติม เนื่องจากไม่เคยมีปรากฏมาก่อนในชั้นสอบสวนเลย เพื่อความเป็นธรรมต่อผู้ต้องหา อัยการสูงสุดก็จะทำการสอบสวนเพิ่มเติม เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงในประเด็นที่ผู้ต้องหาร้องเข้ามา

นายนาเคนทร์ กล่าวยืนยันว่า กระบวนการนี้เป็นไปตามระเบียบของสำนักงานอัยการสูงสุดที่มีต่อผู้ต้องหาและผู้เสียหายทุกคน

"ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไร อัยการต้องมาพิจารณาประกอบ ชั่งน้ำหนักในการสั่งว่าข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นใหม่นั้นเพียงพอที่จะไปหักล้างความเห็นควรสั่งฟ้องเดิมของอัยการสูงสุดคนเดิมหรือไม่" นายนาเคนทร์ ชี้แจงสถานะของคำสั่งฟ้องของอัยการในคดีนี้เมื่อปี 2559



ด้านนายประยุทธ กล่าวเพิ่มเติมว่า การร้องขอความเป็นธรรมทางคดีไม่มีเงื่อนเวลา ไม่จำกัดจำนวนครั้ง แต่อัยการสูงสุดมีระเบียบว่า ผู้ต้องหาต้องยื่นด้วยตนเองและจะไม่ให้มีการประวิงเวลาให้เนิ่นช้าออกไป

นายทักษิณ ได้รับพระราชทานอภัยลดโทษ เมื่อเดือน ก.ย. 2566 จากโทษจำคุก 8 ปี ในคดีที่พิพากษาโดยศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง จำนวน 3 คดี เหลือโทษจำคุก 1 ปี

พระราชหัตถเลขา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร โดยความตอนหนึ่งในพระราชหัตถเลขา ระบุว่า

“ความว่าเคยดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน ทำคุณประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ เมื่อถูกดำเนินคดีและศาลมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกดังกล่าวด้วยความเคารพในกระบวนการยุติธรรม ยอมรับผิดในการกระทำ มีความสำนึกในความผิด จึงขอรับโทษตามคำพิพากษา ขณะนี้อายุมาก มีปัญหาสุขภาพเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาพยาบาลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ”

“ความทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว จึงพระราชทานพระมหากรุณาอภัยลดโทษให้นักโทษเด็ดขาดชาย ทักษิณ ชินวัตร เหลือโทษจำคุกต่อไป อีก 1 ปี ตามกำหนดโทษตามคำพิพากษา เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”



"ทวี" ยังไม่ได้ตรวจสอบมีชื่อ "ทักษิณ" ในเอกสารพักโทษหรือไม่

พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงกรณีที่การพักโทษนายทักษิณและการอายัดตัวเพื่อดำเนินคดีอาญามาตรา 112 ว่า การอายัดตัวเป็นการนำตัวเข้าสู่กระบวนการสอบสวน เมื่อสอบสวนเสร็จแล้วจะเป็นอำนาจของอัยการสูงสุด ซึ่งจะมีผลให้การอายัดตัวสิ้นสุดลง อัยการอาจพิจารณาให้ปล่อยตัวชั่วคราวก็ได้ เพื่อรอการสั่งฟ้องหรือไม่สั่งฟ้อง ซึ่งจะกลายเป็นคดีใหม่

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่าจะทราบได้อย่างไรว่าวันที่ 18 ก.พ. ซึ่งเป็นวันที่ครบกำหนดรับโทษ 180 วัน นายทักษิณจะได้รับการพักโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า ทางคณะกรรมการต้องดูทุกเรื่อง และให้คณะกรรมการของราชทัณฑ์เป็นผู้พิจารณา ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยงานต่าง ๆ รวม 19 คน แต่ทั้งนี้ ยังไม่ได้ตรวจสอบว่าในเอกสารการพักโทษมีชื่อของนายทักษิณด้วยหรือไม่ แต่การพิจารณาพักโทษจะพิจารณาเป็นเหตุไป บางเหตุก็ไม่ให้พักโทษ การพักโทษก็คือยังทำโทษอยู่ ส่วนนายทักษิณจะต้องใส่กำไลอีเอ็มหรือไม่อยู่ที่การพิจารณาของอัยการ โดยการพักโทษจะมีทุกเดือน แต่ละเดือนมีหลายร้อยคน

รมว.ยุติธรรม ชี้ด้วยว่า อยากให้นักโทษที่ได้รับการพักโทษและได้รับสิทธิ์ตรงเวลา พร้อมยืนยันว่าการให้นายทักษิณไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลจนไปถึงการพักโทษ เป็นไปตามกฎหมาย ส่วนการขอพระราชทานอภัยโทษ พ.ต.อ.ทวี กล่าวว่า "ไม่ทราบเลย" และ "ไม่มี"

https://www.bbc.com/thai/articles/c0xl975l592o