วันเสาร์, สิงหาคม 05, 2566

‘พิธา’ เล่าเบื้องลึก วันโหวตนายกฯ สว.สัญญารับปาก แต่วันจริงไป ญี่ปุ่น-ยุโรป


4 สิงหาคม พ.ศ.2566
มติชนสุดสัปดาห์

“พิธา” ร่วมงาน “รับเพื่อนใหม่” ปี 1 มธ. เรียกเสียงเฮสนั่นฮอลล์-ร่วมกิจกรรมเป็นกันเอง เล่าเบื้องลึก วันโหวตนายกฯ สว.สัญญารับปาก แต่วันจริงไปญี่ปุ่น-ยุโรป ระบุ 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งโลก-ไทย ถดถอย ทั้งประชาธิปไตย เสรีภาพ ความเป็นธรรม ชี้ โลกต้องการคนรุ่นใหม่-พลังใหม่ของทุกคนร่วมนิยามและกำหนดอนาคต

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกลและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ในฐานะศิษย์เก่าคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ร่วมรับเชิญเป็นผู้บรรยายพิเศษในงาน “รับเพื่อนใหม่” ให้กับนักศึกษาเข้าใหม่ชั้นปีที่ 1 ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปีการศึกษา 2566 โดยได้ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรม : 3 เสาหลักจิตวิญญาณธรรมศาสตร์ สู่การสร้างสรรค์สังคม”

โดยระหว่างที่นายพิธาเดินเข้าสู่หอประชุม ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับจากนักศึกษา ทั้งปรบมือและส่งเสียงเฮจนลั่นหอประชุม โดยระหว่างรอคิวขึ้นบรรยาย นายพิธายังได้ร่วมรับชมการบรรยายและได้ร่วมเต้นแจวเรือในช่วงกิจกรรมสันทนาการอย่างสนุกสนาน หัวเราะมีความสุขร่วมกับกิจกรรมของน้องๆ นักศึกษา ซึ่งทางกองสันทนาการแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ใช้คำว่า “แจวเรือจะไปสภา ขอเชิญพิธาลุกขึ้นมาแจว”

จากนั้นนายพิธาขึ้นเวทีกล่าวว่า “ไหนขอเสียงลูกแม่โดมหน่อย” ขอบคุณทุกคนที่เชิญตนมาในวันนี้ สำหรับตนแล้ว รู้สึกว่าบรรยากาศแบบนี้ไม่ได้นานเท่าไหร่ ที่ผมเคยนั่งง่วงอยู่ข้างหลัง ห้ามถามว่านานเท่าไหร่แล้ว ห้ามถามว่ารหัสอะไรด้วย บอกได้อย่างเดียวว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ BBA7” เวลาไปหาเสียงคนก็เข้ามาถาม มาบอกตลอดว่าเป็นรุ่นน้องของพี่ BBA30-40 กว่า ก็ต้องขอบคุณมากที่บอกว่าตนเข้าสู่วัยกลางคนแล้ว

นายพิธากล่าวต่อว่า สำหรับวันนี้มาด้วยความรู้สึกยินดีและอิจฉาไปในตัว ยินดีที่ได้กลับมาสู่บรรยากาศและพลังงานแบบเหลืองแดง ชาวลูกแม่โดมแบบธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็รู้สึกอิจฉาที่ไม่มีโอกาสที่จะได้มาอยู่ในลักษณะแบบนี้ทุกวันต่อไปในอีกสี่ปีที่จะถึง “4 ปีของผมกับ 4 ปีของคุณไม่เท่ากัน เดี๋ยวจะเล่าให้ฟังเพราะอะไร”

ทั้งนี้ ด้วยความคิดถึงและด้วยความทะนุถนอมที่ตนเคยมีสมัยเป็นนักเรียน ซึ่งไม่แน่ใจว่าผู้บริหารหรืออาจารย์จะรู้สึกรักและทะนุถนอมตนเหมือนอย่างที่ตนรักธรรมศาสตร์หรือไม่ เพราะหัวข้อที่ได้มาพูดในวันนี้คือเรื่องประชาธิปไตยเสรีภาพและความยุติธรรม

“ใจคออาจารย์จะให้แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ชนะการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. รวบรวมเสียงได้ 312 เสียง แต่รัฐสภาปัดตกไป ทำให้เข้าบ้านใหม่ที่ชื่อทำเนียบรัฐบาลไม่ได้ มาพูดเรื่องนี้จริงๆ เหรอครับอาจารย์ ถ้าเป็นภาษาผม และอาจารย์จะเรียกว่า ปะเหมาะเคราะห์ดี ที่แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 แทนที่วันนี้จะอภิปรายอยู่ในสภา กลับได้มีโอกาสมาเจอกับเพื่อนใหม่ที่ธรรมศาสตร์แห่งนี้ แต่ถ้าเป็นภาษาของเพื่อนใหม่จะใช้คำว่าจังหวะนรก จังหวะโบ๊ะบ๊ะ ที่เลือกหัวข้อให้ผมมาพูดประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวต่อว่า สิ่งที่อยากจะพูดเกี่ยวกับ 3 หลักสำคัญนี้ ที่กลายมาเป็นวิถีก้าวไกล ตั้งแต่เขายุบอดีตอนาคตใหม่ แทบจะไม่ต่างกันเลยในวิธีการทำงานทางการเมืองกับสิ่งที่ธรรมศาสตร์ได้สอนตนมา และไม่ใช่แค่คนคนเดียว แต่คือธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ, ปิยบุตร แสงกนกกุล, เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร, ศิริกัญญา ตันสกุล, รังสิมันต์ โรม ที่รวมการตั้งพรรคการเมืองเพื่อให้ 3 คำที่ธรรมศาสตร์ปลูกฝังออกมา เหมือนเป็นธาตุธาตุหนึ่ง เป็น DNA ของพรรคก้าวไกล ซึ่งมีความใกล้เคียงกัน แต่สิ่งที่สำคัญกว่าที่ ตนได้เรียนรู้หลังจากออกจากธรรมศาสตร์ในช่วงเวลาที่เรียนหนังสือ 4 ปี และไปอยู่ในรัฐสภาไทยเป็นเวลา 4 ปี เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความสำคัญที่ทำให้มาพบกันในวันนี้



“วันที่ผมนั่งอยู่ในที่ที่พวกคุณนั่งอยู่ ทั่วโลกประชาธิปไตยตอนนั้นเป็นประชาธิปไตยมากกว่า 50% แต่วันนี้ตัวเลขเดิม ความเป็นประชาธิปไตยไม่ว่าจะเป็นโลกไหน ไม่ว่าจะเป็นประเทศไหน ไม่ว่าจะเป็นประเทศประชาธิปไตยที่พัฒนาแล้วถอยหลังหมด ตอนนี้ทั่วโลกเป็นประชาธิปไตยเต็มใบได้แค่ 20%” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวว่า ในขณะเดียวกัน เรื่องของความยุติธรรม เรื่องความเหลื่อมล้ำ สมัยตนที่นั่งอยู่ที่นักศึกษานั่งอยู่ ความเหลื่อมล้ำ หรือความยุติธรรมในการเข้าถึงทรัพยากร ความเข้าถึงรายได้ต่างกัน 8 เท่า ตอนนี้ตัวเลขนั้นคือ 16 เท่า 1% ของคนที่รวยที่สุดในโลกใบนี้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน 50% ของโลกใบนี้ คน 50% ของโลกใบนี้ มีสัดส่วนการถือครองทรัพย์สินเพียงแค่ 2% เท่านั้น อันนี้คือความแตกต่างระหว่างที่ที่ตนนั่งอยู่และพวกคุณนั่งอยู่ ห่างกันเพียงแค่ 20 กว่าปี

นายพิธากล่าวติดตลกว่า ในที่สุดก็กล่าวมาแล้วว่า “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ รหัส 41 เป็นตัวเลขที่น่ากลัวกว่าความเหลื่อมล้ำ” ทำให้นักศึกษาที่นั่งอยู่หัวเราะฮือฮา

นายพิธาระบุว่า ความสำคัญที่เรามาพบกันในวันนี้คือสิ่งเก่าที่เกิดขึ้น ประชาธิปไตยที่ผมรู้จัก ระบบทุนนิยมที่ผมรู้จัก เสรีภาพที่ผมรู้จัก กำลังถูกทำลายลง ในขณะที่สิ่งใหม่ที่กำลังก่อร่างสร้างตัวขึ้นยังไม่สำเร็จ ตอนนี้เราไม่มีฉันทามติ ในขณะที่โลกเป็นโลกใบใหม่ เป็นโลกที่เรียกว่า New Normal เป็นโลกที่มีแต่ความปกติ ถ้าเราไม่มีฉันทามติสำหรับความปกติใหม่นั้น ว่าประชาธิปไตยที่จริงแล้วคืออะไร สิทธิเสรีภาพคืออะไร และความยุติธรรมคืออะไร ง่ายๆ ประชาธิปไตยคือระบบที่ทำให้ความแตกต่าง ที่ทำให้ความสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยคิดถึง 1 Man 1 Vote ทุกคนมีสิทธิเท่ากัน ยึดโยงกัน ประชาชนจำนวนมากที่อยู่ในประเทศนี้

“แต่การที่จะเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเขาแค่ไม่มีเป็นองค์ประชุม คนที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่คนเลือกมากที่สุด สามารถจัดตั้งรัฐบาล เป็นตัวแทนกว่า 27 ล้านเสียง เพียงแค่วุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ใช่สิ ลากตั้ง แค่ไม่มาประชุม เขาสัญญากับผมว่าเขาเห็นด้วยกับเสียงข้างมาก และจะโหวตตาม แต่วันที่มีการโหวตจริง กลับอยู่ประเทศญี่ปุ่น อยู่ยุโรป แค่ไม่มาเป็นองค์ประชุมสามารถล้มแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่มาจากพี่น้องประชาชนได้ แล้วเราอยู่ในระบบประชาธิปไตยที่บอกว่าคนเท่ากัน” นายพิธากล่าว

“แต่ในขณะเดียวกันมีวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง 250 คนสามารถบอกได้ สามารถโหวตสวนได้ สามารถตรวจสอบคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีได้ แต่ขณะเดียวกันใครเป็นคนตรวจสอบของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง แล้วเราจะเลือกตั้งไปทำไม” นายพิธากล่าว

นายพิธาย้ำว่า อันนี้เป็นสิ่งที่ทั่วโลกกำลังเจออยู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งเป็นสิ่งที่เผด็จการสมัยใหม่เลือกใช้ มีการเลือกตั้ง แต่ใช้เงื่อนไขทางกฎหมาย องค์กรอิสระที่ไม่รู้ว่าจะอิสระจริงหรือไม่ ยับยั้งประชาธิปไตยเสรีภาพหรือความสามารถในการแสดงออก ความสามารถในการกำหนดชีวิตตัวเอง ความสามารถในการกำหนดอนาคตของตัวเองโดยที่ไม่มีอุปสรรคใดมาขัดขวาง ตราบใดที่ไม่ไปกระทบกับเสรีภาพของประชาชนคนอื่นที่มีสิทธิมีเสียงเท่ากัน

สมัยนี้สิทธิเสรีภาพในการหายใจยังเป็นปัญหา อย่าว่าแต่สิทธิเสรีภาพในการที่จะรัก ไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพเป็นอย่างไร สิทธิเสรีภาพในการทำมาหากิน เปลี่ยนวัตถุดิบจากภูมิภาคทั่วประเทศ อย่างโภคภัณฑ์ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ อย่างสุราก้าวหน้า ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีมูลค่าตลาดกว่า 4 แสนล้านบาทเท่ากับญี่ปุ่น แต่ญี่ปุ่นมีผู้ผลิต 2 หมื่นล้านราย แต่ประเทศไทยมีผู้ผลิตอยู่ 7 ราย

“นี่คือสิ่งที่สมัยรุ่นของผมกับรุ่นของคุณต่างกันอย่างสิ้นเชิง เป็นคำถามใหม่ๆ ที่โลกใบใหม่ต้องการคนรุ่นใหม่อย่างพวกคุณ ต้องการพลังงานอย่างพวกคุณ ที่จะมานิยาม 3 สิ่งนี้ให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะสิ่งที่เป็นธาตุ สิ่งที่เป็น DNA ของธรรมศาสตร์ ก็คือเรียนรู้อดีต ศึกษาสิ่งที่เป็นปัจจุบัน และ Innovate สิ่งที่เกิดขึ้นในอนาคต” นายพิธากล่าว

“แล้วมันน่าเหลือเชื่อเหลือเกินว่าเป็นสิ่งที่น่าเจ็บใจเมื่อผมอายุ 18 เท่าพวกคุณ ผมมีความฝันอยากจะเห็นประชาธิปไตย มีความฝันที่ยิ่งใหญ่อยากเห็นประเทศไทยเป็นประชาธิปไตยที่เต็มใบ แต่ขณะนั้นปัญหาเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง อยากเห็นว่าเกิดการกระจายตัวออกจากภาคการเงิน และผ่านไป 24-25 ปีผมต้องขึ้นมาพูดในเวทีนี้ ในนิยามที่มันลดลงในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นประชาธิปไตย เสรีภาพ และความยุติธรรม มันเกิดอะไรขึ้น” นายพิธากล่าว

นายพิธากล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นต้องย้อนไปที่ความเบ่งบานของประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับทุนนิยมสมัยใหม่ ในขณะที่ประชาธิปไตยต้องการกระจายอำนาจออกให้มากที่สุด กระจายอำนาจให้อำนาจประชาธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่ขณะเดียวกัน ทุนนิยมสมัยใหม่ทำให้เกิดการกระจุกตัว ความเป็นธรรมหายไป ไปกระจุกตัวอยู่กับคนไม่กี่คน แม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำ ความอยุติธรรมที่เข้าสู่อำนาจ ดังนั้นต้องพูดให้ชัดว่าความยุติธรรมคืออะไร ผิดจริงหรือไม่ และเป็นธรรมหรือไม่

“ตาชั่งแกว่งต้องยุติ หยุดแกว่ง หลักการต้องแม่นทุกอย่างต้องชัด และเมื่อหยุดแล้วต้องเที่ยงธรรม ไม่เอนไปทางฝั่งใดฝั่งหนึ่ง ไม่ใช่ว่าคุกไว้เพื่อขังคนจน วงเล็บคนที่เห็นต่างกับผู้มีอำนาจ” นายพิธากล่าว

ทั้งหมดทั้งปวงนี้เป็นสิ่งที่ธรรมศาสตร์สอนตนมา ธรรมศาสตร์บอกตนว่าเป็นพื้นที่ที่มีเสรีภาพทุกตารางนิ้ว ธรรมศาสตร์สอนตนว่าตนรักธรรมศาสตร์ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ตนรักประชาชน สีเหลืองคือธรรมที่อยู่ในใจ แดงคือเลือดเนื้อเชื้อไขที่อยู่ในตัวของเรามา

นายพิธาตั้งข้อสงสัยว่าจะมีศิษย์เก่าอยู่ในการเมืองน้อยเกินไปหรือไม่ ศาลรัฐธรรมนูญ 5 ท่านก็เป็นศิษย์เก่าในธรรมศาสตร์ด้วยเช่นเดียวกัน ตนคิดว่าสิ่งเหล่านี้ที่พวกเราต้องช่วยกันที่จะต้องเป็นพลังงานของคนรุ่นใหม่ ถึงเวลาที่จะต้องคิดใหญ่ สิ่งที่ตนรู้สึกใช้คำว่าผิดหวังกับตัวเองก็คงไม่ถูก แต่สิ่งที่ย้อนกลับไปได้แล้วทำให้ดีกว่านี้คือคิดให้ใหญ่กว่านี้ ทำให้ดีกว่านี้ เพราะว่าสมัยที่ตนเรียน ตนก็นอนอย่างเดียวเหมือนกัน และรู้สึกว่าอยากจะเรียนให้มันจบๆ เพื่อรับปริญญา แต่สิ่งที่ขาดไปคือความสามารถที่จะคิดให้ใหญ่และคิดให้ลึก และใช้เวลา 4 ปี ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด ไม่ว่าคุณจะเรียนวิศวะ คุณก็ต้องไปศึกษาว่าจะต้องทำอย่างไรให้น้ำประปาดื่มได้ทั่วประเทศ



ถ้าคุณเรียนด้านธุรกิจ ก็ต้องศึกษาว่าจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำขององค์การคมนาคมได้อย่างไร ถ้าคุณเรียนแพทย์ คุณก็ต้องศึกษาว่าจะแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุขได้อย่างไร และคุณจะต้องทำอย่างไรก็ได้ ให้สิทธิการแสดงออกเกิดขึ้นอย่างเสรีภาพให้ได้ ทำให้เกิดนวัตกรรมซอฟต์เพาเวอร์ อันนี้เป็นสิ่งที่โลกกำลังต้องการอย่างยิ่ง และโลกใบนี้ต้องการคนรุ่นใหม่ เพื่อผลักให้สิ่งเก่าๆ ออกไป แล้วเปิดโอกาสให้สิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาเพื่อให้รู้ว่าประชาธิปไตยและเสรีภาพคืออะไร การยุติความขัดแย้ง อย่างเป็นธรรม เขาทำกันอย่างไร ทำให้คนมีความเสมอภาค ทางด้านกฎหมาย

อยากจะขอเชิญชวนทุกคน อยากให้เรียนรู้ประสบการณ์จากนอกห้อง ฟังได้แต่อย่าเพิ่งเชื่อ และอย่าให้ใครมาบอกว่าความสามารถของคุณมีอยู่แค่นี้ และอย่าให้ใครมาบอกว่าคุณจะเป็นในสิ่งที่คุณอยากเป็นไม่ได้ เพราะว่านี่คือโลกใบใหม่ ที่คุณต้องเชื่ออยู่ตลอดเวลาว่าคุณสามารถเป็นไปตามเส้นทางที่คุณอยากจะเป็น และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลกใบนี้ได้

“และประสบการณ์ที่ผมได้เรียนรู้จากการเรียนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นอกจากประสบการณ์ความรู้แล้ว ผมยังได้รับจิตวิญญาณของธรรมศาสตร์ มันคือธาตุอะไรบางอย่าง ที่มีความเป็นภราดรภาพ เสรีภาพ และพร้อมที่จะทำทุกอย่างเพื่อประชาชน และสร้างนิยามของคำว่าประชาธิปไตยเต็มใบ ให้ความยุติธรรมเสมอภาค ทางด้านกฎหมายได้เกิดขึ้น และเสรีภาพในการกำหนดอนาคตของตนเองและเพื่อนๆ” นายพิธากล่าว

สุดท้ายนายพิธาได้อวยพรให้เฟรชชี่ทุกคนภายในงาน ประสบความสำเร็จ ขอให้ทุกคนกล้าคิด กล้าฝัน กล้าที่จะทำอะไรให้ออกนอกกรอบ และคุณต้องอยู่ไม่เป็น เพราะถ้าทุกคนอยู่เป็น โลกไม่มีวันเปลี่ยน

หลังจากบรรยาย นายพิธาได้ร่วมถ่ายภาพเซลฟี่กับคณาจารย์ และน้องๆ นักศึกษา โดยได้รับเสียงกรี้ด ให้กำลังใจ และยกกระบองลมสีส้มให้กำลังใจ