วันพุธ, สิงหาคม 09, 2566

อัปลักษณ์ที่สุดของรัฐธรรมนูญ ๖๐ ก็คือ ‘ตัดสั้น’ สิทธิพลเมืองในกระบวนยุติธรรม

วันนี้ขอพักเรื่องผัวๆ เมียๆ ไว้ก่อน เขาจะง้องอนกันอย่างไร ต้องถือว่าเป็นเทคนิคในการหาคะแนนเสียงของเขา น่าสนใจยิ่งกว่าตรงที่ ไอลอว์ เอาต้นตอปัญหาที่ทำให้การเมืองหล่นลงไปในปลักโคลนขณะนี้มาวิเคราะห์ รธน.๖๐

ได้ความว่า อัปลักษณ์ที่สุดของการเขียนรัฐธรรมนูญเพื่อให้เผด็จการอยู่นานๆ ก็คือ ตัดสั้น สิทธิพลเมืองในกระบวนยุติธรรม “รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ เขียนเรื่องสิทธิในกระบวนการยุติธรรมไว้เพียงมาตราเดียว คือ มาตรา ๒๙” นอกนั้นยกไปให้ไว้กับ “หน้าที่ของรัฐ”

ถึงอย่างนั้นในรัฐธรรมนูญมีเนื้อหาเกี่ยวกับสิทธิชนิดนี้เพียง ๑๖ บรรทัด ไอลอว์บอกว่าก็ดีอยู่หรอกที่กำหนดให้รัฐจัดทำและจัดการโดยประชาชนไม่ต้องร้องขอ เสียแต่ว่า หลายๆ ประเด็นที่เคยเป็น สิทธิ ของประชาชน ถูกย้ายไปไว้ในกำมือรัฐ

“เมื่อย้ายไปเป็น หน้าที่ของรัฐ ก็ส่งผลให้รัฐกลายเป็นตัวผู้เล่นหลัก และประชาชนมีบทบาทเพียงเป็นผู้ รอรับ บริการที่รัฐจัดสรรให้” เท่านั้น “หลักการที่เคยเป็นสิทธิของประชาชน...ถูกเปลี่ยนไป” เช่น “การเข้าถึงกระบวนยุติธรรมที่สะดวกรวดเร็ว”

สำคัญที่สุดคือการที่ประชาชนได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ที่เคยมีอยู่ในรัฐธรรมนูญ ๔๐ และ ๕๐ ให้ทุกคนได้รับเหมือนกันหมด แต่พอมาถึงฉบับ “มีชัยตามใจ คสช.” กำหนดให้ความช่วยเหลือเฉพาะ ผู้ยากไร้และ/หรือผู้ด้อยโอกาส

ดูเผินๆ ก็ดีอยู่นะ กำหนดว่ารัฐต้องทำหน้าที่ดูแล แล้วมันก็มี แต่ จนได้ ว่าไปแล้วรัฐธรรมนูญฉบับนี้ซ่อนเงื่อนซ่อนปมไว้มากมาย เพราะกำหนดด้วยว่าการอำนวยของรัฐ ไม่ได้ ‘free for all’ เหมือนหลักกฎหมายทั่วไปในสากล

แต่ “ยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า “รัฐจะจัดให้ (เฉพาะในส่วน) ที่จำเป็นและเหมาะสม ด้วย” นั่นแหละมันเปิดช่องให้ตีความว่า ควรมิควร ให้คนนี้ไม่ให้คนนี้ ได้ไง

(https://www.facebook.com/iLawClub/posts/EQaPBaWy)