วันอาทิตย์, สิงหาคม 06, 2566

เศรษฐา กับ ทวีตที่ถูกกล่าวหาว่าเหยียดเพศ ยังเป็นข้อถกเถียง


Paul Adithep
9h
·
เศรษฐา กับ ทวีตที่ถูกกล่าวหาว่าเหยียดเพศ

เห็นเศรษฐาอ้างว่า ทวิตเตอร์ถูกแฮ็กแล้วแก้ข้อความ (ซึ่งมีคนแย้งแล้วว่า มันทำไม่ได้ - แต่โพสต์นี้ไม่ได้จะมาพูดถึงประเด็นนี้ครับ)

โดยข้อความที่มีปัญหานั้นน่าจะถูกลบไปแล้ว (ที่กล่าวพาดพิงพนักงานบริการบนเครื่องบินเพศหญิงของสายการบินหนึ่งในเส้นทางระหว่างประเทศนั้น “แก่” และมีปัญหาเรื่องทัศนคติ)

แต่ก็ยังมีข้อความหลายอันที่ยังคงปรากฎอยู่ หนึ่งในทวีตที่ถูกวิจารณ์คืออันที่บอกว่า “Hermes' CEO on LVMH takeover attempt of Hermes ,’you shouldn't try to seduce a beautiful woman by first trying to rape her from behind’ !”

https://twitter.com/Thavisin/status/109410502765064192...

บางคนมองว่าเป็นการเอาการข่มขืนมาเล่นเป็นมุกตลก บางคนหาว่ายกคำพูดมาเฉยๆ โดยไม่ให้บริบทเพิ่มเติมก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนการข่มขืนไปนู่น

แต่จริงๆ บริบทดังกล่าวเป็นการเปรียบเทียบการทำ hostile takeover (การโค่นอำนาจของผู้บริหารชุดเดิมอย่างไม่เป็นมิตร) ว่าไม่ต่างไปจากการข่มขืน ถ้าแปลประโยคนี้ตรงๆ ควรแปลได้ว่า “CEO ของ Hermes พูดถึงความพยายามของ LVMH ที่จะเทคโอเวอร์ Hermes เอาไว้ว่า ‘คุณไม่ควรจะจีบสาวงามโดยเริ่มจากการข่มขืนเธอจากข้างหลัง’”

คือช่วงนั้น LVMH พยายามจะเทคโอเวอร์ Hermes แบบเงียบๆ โดยค่อยๆ สะสมหุ้นเพื่อแย่งอำนาจบริหารจากผู้บริหารชุดเดิม (ความพยายามแบบนี้จะส่งผลสะเทือนอย่างรุนแรงกับบริษัทไม่ต่างกับการรัฐประหาร อย่างแรกคือ การโละทีมผู้บริหารชุดเดิม ตามด้วยการเลย์ออฟ นโยบายบริหารใหม่ที่มีเป้าหมายรีดกำไรเพิ่มเติมเพื่อชดเชยเงินทุนที่หมดไปกับการกว้านซื้อหุ้นในราคาสูง) CEO ของ Hermes ย่อมไม่พอใจ และเปรียบเปรยว่าการกระทำเช่นนี้มัน “ผิด” และความร้ายแรงของมันไม่ต่างไปจากการ “ข่มขืน”

ความพยายามเปรียบเปรยการกระทำที่ตัวเองไม่ชอบ (อาจไม่ผิดกฎหมาย) ว่าเป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงเกินจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมากมายครับ เช่นคำว่า “ล่าแม่มด” ซึ่งในอดีตการล่าแม่มดนี่คือเป็นการล่ามา “ฆ่า” เลยนะครับ แต่สมัยนี้แค่แชร์ข้อความของคนๆ นึงมาวิจารณ์ก็ถูกหาว่าเป็นการล่าแม่มดซะแล้ว

การเปรียบเปรยอาชญากรรมที่ร้ายแรง กับเรื่องที่เราไม่ชอบ ในทางหนึ่งเป็นการทำให้เรื่องที่เราไม่ชอบกลายเป็นเรื่องที่ใหญ่โต แต่ในอีกทางหนึ่งมันก็เป็นการลดทอนความรุนแรงของอาชญากรรมที่ถูกเปรียบเทียบไปในตัว “ล่าแม่มด” ที่ถูกเอามาใช้แบบเกลื่อนกลาดจึงทำให้คนลืมถึงความรุนแรง ณ จุดเริ่มต้นของมันไปเสียแล้ว

“ข่มขืน” เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงอีกอันหนึ่งครับที่ถูกนำมาใช้เปรียบเทียบกับสิ่งที่คนไม่ชอบไม่ว่าจะผิดกฎหมายหรือไม่ หากเป็นการกระทำที่เข้าลักษณะขัดขืนความสมัครใจของบุคคลฝ่ายหนึ่ง รัฐประหารก็ถูกเปรียบว่าเป็นการข่มขืน การเทคโอเวอร์โดยไม่ได้ถามความสมัครใจของเจ้าของเดิมก็ถูกเปรียบว่าเป็นการข่มขืนเช่นกัน

ผมว่า ดูยังไงก็ไม่ใช่การเห็นด้วยกับการข่มขืน และไม่น่าจะเป็นการเล่นมุกตลกข่มขืน แต่ดูเหมือนเป็นการแชร์คำคมมากกว่า ซึ่งในแง่ลบคือมันไปลดทอนความรุนแรงของการข่มขืนลงเมื่อถูกนำมาเทียบกับ hostile takeover

แต่นอกจากนี้ ทวิตเตอร์ของเศรษฐาก็มีมุกตลกเกี่ยวกับผู้หญิงอีกหลายอันและยังไม่ได้ลบด้วย เช่น “Women r great asset to the company,they bring creativity to work that men lack,but when there r many of them,they can be a pain in the butt!”

(ผู้หญิงถือเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญยิ่งของบริษัท พวกเธอมีความคิดสร้างสรรค์ในการทำงานแบบที่ผู้ชายไม่มี แต่เวลามีพวกเธออยู่ด้วยกันมากๆ พวกเธอก็อาจสร้างความเจ็บปวดดั่งริดสีดวงทวาร)

https://twitter.com/Thavisin/status/50948482218983424...

ก็เป็นมุกตลกเสียดสีที่ตอกย้ำมุมมองในแง่ลบของผู้หญิง แต่จะสรุปว่าเศรษฐาเป็นพวกเหยียดเพศก็ออกจะเร็วเกินไปครับ ผมเลยลองไปเปิดดูข้อมูลว่า ทีมผู้บริหารของแสนสิริเค้ามีผู้หญิงบ้างมั้ยนะ? ปรากฏว่า คณะกรรมการบริหารของแสนสิริ 11 คน ไม่มีผู้หญิงเลยครับ แต่จะนำไปสรุปว่า นั่นเป็นเพราะเศรษฐาคิดอย่างที่ทวีตไม่ได้นะครับ เพราะเศรษฐาเค้าไม่ได้เป็นผู้บริหารใหญ่ของแสนสิริแล้ว และในเว็บของแสนสิริยืนยันว่า บริษัทมีสัดส่วนผู้บริหารหญิงสูงถึง 45% (แม้จะไม่อยู่ในชั้นคณะกรรมการบริหาร) ซึ่งอาจจะเป็นผลมาจากแนวนโยบายของเศรษฐาก่อนออกมาทำงานการเมืองก็ได้นะครับ
 
อ่านความเห็นต่างๆ