วันอาทิตย์, สิงหาคม 06, 2566

คลิป ‘พิธา’ ปราศรัย ในงานปฐมนิเทศนักศึกษา ปี 2566 ที่ธรรมศาสตร์


[LIVE] ‘พิธา’ ขึ้นเวทีพบปะเพื่อนใหม่ธรรมศาสตร์ ในงานปฐมนิเทศนักศึกษา ปี 2566

The Reporters TV

Streamed 1 day ago 

71,784 views • Streamed live on Aug 4, 2023 • #TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #PRISMLiveStudio



Pita Limjaroenrat - พิธา ลิ้มเจริญรัตน์
Yesterday
·
ถึงเพื่อนใหม่ธรรมศาสตร์ทุกคน…
.
ในฐานะศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ รู้สึกเป็นเกียรติและภูมิใจมากที่ได้มาพบหน้าพูดคุยกับเพื่อนใหม่ทุกคนในวันนี้
.
ผม พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ปัจจุบันเป็นหัวหน้าพรรคก้าวไกล แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ไม่ต้องแปลกใจว่าทำไมที่ทำงานของผม ถึงมีคนจากรั้วธรรมศาสตร์เยอะมาก ก็เพราะ “วิถีก้าวไกล” ก็มาจาก “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ไม่มากก็น้อย
.
คุณค่าหลักที่เรายึดถือเหมือนกัน นั่นคือ Democracy : ประชาธิปไตย, Freedom : เสรีภาพ และ Justice : ความเป็นธรรม
.
1. Democracy : ประชาธิปไตย
ระบอบประชาธิปไตย หลายคนอาจะรู้สึกว่า ทำไมประชาธิปไตยมันช่างสับสนวุ่นวาย เชื่องช้ากว่าจะทำอะไรสักอย่างได้ ประชาธิปไตยอาจไม่ใช่ระบบที่ดีที่สุด แต่อย่างน้อย เป็นที่ยอบรับแล้วว่าเป็นระบอบที่ทำให้คนที่มีความคิดแตกต่างหลากหลายสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ เพราะทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน “คนเท่ากัน” ไม่ว่าคุณจะร่ำรวยแค่ไหน ยากดีมีจนอย่างไร เมื่อเข้าไปคูหาตัดสินใจทิศทางประเทศแล้ว คุณคือคนเท่ากัน
.
2. Freedom : เสรีภาพ
เมื่อมีระบบประชาธิปไตยที่ทุกคนมีสิทธิ์เสียงเสมอภาคกันแล้ว สิ่งที่ต้องตามมาคือเสรีภาพในการแสดงออก แสดงความคิดเห็น การใช้ชีวิต การคิดการเขียน การประกอบอาชีพการงาน การเดินทาง การกำหนดชะตาชีวิตตัวเอง ฯลฯ โดยไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ
.
ซึ่งที่ธรรมศาสตร์เองก็มีประโยคที่คนขนานนามกันว่าเป็น “ดินแดนแห่งเสรีภาพทุกตารางนิ้ว” ทั้งผู้บริหาร อาจารย์ และเพื่อนๆ นักศึกษา ร่วมกันสร้างบรรยากาศแห่งเสรีภาพ เปิดกว้างในการแสดงออก โดยผมเชื่อว่าอาจจะมากที่สุดในประเทศไทยแล้ว
.
3. Justice : ความเป็นธรรม
ไม่ว่าจะเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง ฯลฯ
เรื่องนี้คงไม่ต้องอธิบายมาก เพราะชื่อมหาวิทยาลัยเองก็มีคำนี้อยู่
.
ธรรมศาสตร์ ก็คือ ศาสตร์แห่งความเป็นธรรม ที่คนทั่วไปอาจจะเข้าใจว่าหมายถึงหลักกฎหมาย กฎเกณฑ์ กติกาทุกสิ่งอย่างในสังคมจะต้องอยู่บนพื้นฐานของความเป็นธรรมด้วย
.
ขอยกตัวอย่างหลักความเป็นธรรมที่ถูกพูดถึงในเพลงประจำมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ทำนองมอญดูดาว ท่อนสุดท้ายมาให้ทุกท่านฟัง ตามนี้:
.
“เหลืองของเราคือธรรมประจำจิตต์
แดงของเราคือโลหิตอุทิศให้มา
เอ๋ย เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง เหลืองกับแดง
ทุกๆ แห่ง ทุกๆ แห่ง แต่ล้วนเหลืองกับแดง
.
ชื่อว่าธรรมแล้วเราเทิดให้สมไทย
ทุกอย่างไปงานหรือเล่นต้องเป็นธรรมมา
เอ๋ย ใครรักชาติ ใครรักธรรมเหมือนกับเรา
จงมาเข้าและโปรดเอาใจช่วยเหลืองกับแดง”
.
ทั้ง 3 ข้อนี้ เป็นหลักการที่ผมและพรรคก้าวไกลยึดถือมาเสมอเช่นกัน และเราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อมี 3 หลักสำคัญในใจแล้ว สุดท้ายถ้าไม่มีสิ่งนี้ ชีวิตของเราก็ไม่มีประโยชน์อะไร… นั่นคือ ภราดรภาพ หรือ Solidarity
.
เชื่อว่าทุกคนเคยได้ยินประโยคนี้มาไม่มากก็น้อย “ฉันรักธรรมศาสตร์​ เพราะธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” โดยประโยคเต็มๆ มาจากข้อเขียนของคุณกุหลาบ สายประดิษฐ์ หรือ ศรีบูรพา สื่อถึงหลัก “ภราดรภาพ” หรือ Solidarity ได้ดี
.
ข้อเขียนเต็มก็คือ…
.
"นักศึกษาและบัณฑิตของ ม.ธ.ก. (ชื่อเดิม: มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง) มีความรักในมหาวิทยาลัยของเขา มิใช่เพราะเหตุแต่เพียงว่าเขาได้เรียนในมหาวิทยาลัยนี้ เขาได้วิชาความรู้ไปจากมหาวิทยาลัยนี้ เขารักมหาวิทยาลัยนี้ เพราะว่ามีธาตุบางอย่างของมหาวิทยาลัยนี้ที่สอนให้เขารู้จักรักคนอื่นๆ รู้จักคิดถึงความทุกข์ยากของคนอื่น เพราะว่ามหาวิทยาลัยนี้ ไม่กักกันเขาไว้ในอุปาทานและความคิดที่จะเอาแต่ตัวรอดเท่านั้น"
.
นี่คือหลักภราดรภาพ การมองว่าเราทุกคนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน เมื่อเธอเจ็บ ฉันก็เจ็บ เมื่อมีใครทุกข์ร้อน เราก็ต้องคิดถึงความทุกข์ร้อนของคนอื่นและหาทางช่วยทุกคนให้เติบโตและมีความสุขไปด้วยกันทั้งสังคม
.
ดังนั้น มาสู่ข้อคิดหลักๆ ที่ผมจะขอฝากเพื่อนใหม่ทุกคนไว้…
.
ความรู้จากห้องเรียนที่คุณจะได้เรียน ได้ท่องจำ ได้สอบ ในตลอด 3-4-5-6 ปีของการเรียนที่นี่ สมมติว่าเรียนไป 100 อาจจะจำได้เข้าหัวหลังจากสอบเสร็จได้เพียง 50 แต่เอาไปใช้ในการทำงานได้จริงเพียง 20 แต่มันก็เป็น 20 ที่มีค่ามากพอจะตั้งใจเรียน
.
แต่ที่สำคัญที่สุด สิ่งที่คุณจะได้ ไม่ใช่ความรู้ตามหนังสือหรือที่ค้นหาทางอินเตอร์เน็ตได้อีกแล้ว แต่มันคือตัวตนและ “จิตวิญญาณธรรมศาสตร์” ที่จะติดตัวคุณไปตลอดชีวิต
.
ตลอดที่ผมได้ใช้ชีวิตในรั้วเหลือแดงแห่งนี้ การเรียนการสอนใดๆ กิจกรรมใดๆ ที่เราจะได้ทำ งานใดๆ ที่เราจะได้ร่วมนั้น เราจะต้องตระหนักถึงคำถามใหญ่ๆ ไว้เป็นหลักคิดไว้เสมอ จะได้ไม่หลงทาง ได้แก่…
.
What was? = เราเรียนสิ่งที่เคยเป็นมา ให้เข้าใจที่มาที่ไปของโลกใบนี้
.
What is? = เราเรียนสิ่งที่เป็นอยู่ โลกใบนี้ปัจจุบันเป็นอย่างไร แต่ไม่ได้หมายความว่าสิ่งที่เป็นอยู่ตอนนี้นั้นเป็นธรรมหรือดีที่สุดแล้ว
.
อย่าลืมว่าต้องคิดถึง What ought to be? = สิ่งที่ควรจะเป็น หรือสิ่งที่ดีกว่านี้
.
และ How to? = ฝันถึงโลกที่ดีกว่านั้นไม่พอ ต้องคิดว่าจะทำให้สิ่งนั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร?
.
และลงมือทำ We Own the Future, Go for It! ถ้าเรายอมจำนนต่อโชคชะตา โลกก็จะไม่เปลี่ยน เพราะโลกจะเปลี่ยนได้ เริ่มจากการลงมือทำของเราทุกคน ดังนั้น ต้องไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาเด็ดขาด
.
เมื่อมีหลักคิดตามนี้แล้ว ลองย้อนไปดูเสาหลัก 3 ข้อที่ผมพูดข้างต้น ในสังคมเรามี 3 เสาหลักนี้ดีสมบูรณ์แล้วหรือยัง มันจะดีกว่านี้ได้อีกไหม? เราจะทำอย่างไรให้ดีกว่านี้ได้บ้าง?
.
1.ประชาธิปไตย แต่ในประเทศไทย ประชาธิปไตยก็ยังไม่สามารถลงหลักปักฐานได้อย่างมั่นคง รัฐบาลที่มาตามครรลองประชาธิไตยกลับถูกรัฐประหาร เมื่อยึดอำนาจแล้วก็เขียนรัฐธรรมนูญเอื้อให้ตัวเองสืบทอดอำนาจ มี 250 สว. ที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งของประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี ทำให้เจตนารมณ์ประชาชนถูกบิดเบือนไป
.
และถ้าการเมืองมันดี การเมืองมันปกติ ตามครรลองประชาธิปไตยจริงๆ คนที่ยืนคุยกับทุกท่านตรงนี้ คงมีตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปแล้ว แต่นี่ผ่านการเลือกตั้งไปแล้วจะ 3 เดือน การตั้งรัฐบาลยังดูมืดมน พรรคการเมืองต่างๆ ถูกบีบให้ผสมพันธุ์ข้ามขั้ว ยอมให้คนที่ไม่ได้มาโดยประชาชน เข้ามาบิดเบือนเสียงประชาชนได้
.
2.เสรีภาพ ยังมีผู้คนอีกมากมายในประเทศไทยและในโลกนี้ยังอยู่ใต้ความกลัว เสรีภาพถูกคุกคาม มีคนถูกเลือกปฏิบัติเพียงเพราะตัวตนของเขา มีคนที่ถูกดำเนินคดีเพราะสิ่งที่เขาคิดและพูด หรือที่เลวร้ายกว่านั้น มีคนถูกฆ่า ถูกอุ้มหาย ถูกทำร้าย จากสิ่งที่ตัวเองแสดงออก
.
3.ความเป็นธรรม ก็ยังมีผู้คนอีกจำนวนมากถูกระบบกฎหมายรังแก หลายครั้งมีคนใช้กฎหมายโดยไม่สุจริต หลายครั้งตัวบทกฎหมายเองก็มีปัญหา ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่นเรื่องกฎหมายเลือกปฏิบัติ ไม่ให้คนที่รักกันสามารถสมรสกันได้ถ้าเขามีเพศเดียวกันในมุมมองของกฎหมาย กฎหมายบังคับคนไปเกณฑ์ทหาร กฎหมายล็อกการผลิตสุราและเบียร์ไม่ให้ชาวบ้านผลิตได้ แต่กลุ่มทุนใหญ่ผลิตได้สบาย
.
ในภาพใหญ่ หากย้อนกลับไปในวันที่ผมเองเป็นนักศึกษารหัส 41 เหมือนทุกคนที่นั่งอยู่ที่นี่ ทั่วโลกมีประเทศที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่า 50% ของทั้งโลก แต่วันนี้ความเป็นประชาธิปไตยบนโลกถอยหลังลงอยู่เหลือเพียงประมาณ 20% ส่วนความเหลื่อมล้ำ ในสมัยนั้นคนที่รวยที่สุด 1% กับคน 50% ล่าง มีโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรต่างกัน 8 เท่า แต่เวลานี้คือ 16 เท่า คน 1% ข้างบนสุดครองทรัพย์สิน 50% ของทั้งโลก ส่วนคน 50% ครองทรัพย์สิน 2% เท่านั้น
.
น่าเจ็บใจที่ผ่านไป 25 ปี ทุกอย่างกลับถดถอยลง เรากำลังอยู่ในโลกที่ประชาธิปไตย เสรีภาพ และความเป็นธรรมกำลังถดถอย สิ่งเก่ากำลังล้มพังลง ขณะที่สิ่งใหม่ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นยังไม่สำเร็จ โลกใบใหม่เต็มไปด้วยความปกติใหม่ แต่เรายังคงไม่มีฉันทามติใหม่สำหรับความปกติใหม่เสียที
.
ประเทศไทยและโลกใบนี้ ยังไม่ใช่โลกที่ดีที่สุด เราสามารถช่วยกันเปลี่ยนแปลงและสร้างโลกที่น่าอยู่กว่านี้สำหรับทุกคนได้
.
สุดท้าย… ไม่ว่าคุณจะเรียนคณะอะไร ไม่ว่าจะเป็นรัฐศาสตร์ นิติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ บัญชี วิศวะ หมอ พยาบาล ทันตะ วิทยาศาสตร์ ฯลฯ ไม่ว่าคุณจะจบไปแล้วประกอบอาชีพการงานอะไร… อย่าเอาความรู้ไปคดโกงเบียดเบียนคนอื่น จงใช้วิชาความรู้ความสามารถของตัวเรา ไปเพื่อพัฒนาเปลียนแปลงสังคมให้ดียิ่งขึ้น ช่วยเหลือผู้อื่นที่เดือดร้อน และอะไรที่ไม่ถูกต้อง ก็อย่าไปเป็นส่วนหนึ่งของมัน
.
ต้องอยู่ไม่เป็น เพราะถ้าเราอยู่เป็น โลกก็จะไม่เปลี่ยน
.
หวังว่าการพบกันครั้งนี้จะช่วยนำทางให้ทุกคนประสบความสำเร็จในการเรียน การงาน ชีวิต และประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ให้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
.
หวังว่าจิตวิญญาณธรรมศาสตร์จะสถิตอยู่ในหัวจิตหัวใจเพื่อนใหม่ทุกคน
.
ขอบคุณครับ