วันศุกร์, สิงหาคม 11, 2566

3 ปี 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน ดูผิวเผินเหมือนพ่ายแพ้


.....
Atukkit Sawangsuk
5h
·
3 ปี 10 สิงหา 10 ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบัน
ดูผิวเผินเหมือนพ่ายแพ้ ไม่ได้อะไรเลย ติดคุกติดตะราง ศาลรัฐธรรมนูญห้าม
แต่ในความเป็นจริง ส่งผลสะเทือนลึกซึ้ง กว้างขวาง ชนะทางความคิดวัฒนธรรม คนรุ่นใหม่ชูสามนิ้วทั้งประเทศ
เป็นจุดเปลี่ยนที่วันนี้อาจยังมองไม่เห็น แต่อีก 5 ปี 10 ปี มองย้อนมาจะเห็นเส้นขีดแบ่งทางประวัติศาสตร์ชัดเจน
L
แค่ 3 ปีผ่านไป คน 14.4 ล้านเลือกก้าวไกลแก้ 112 อภิปรายตั๋วช้าง งบสถาบัน
คน 14.4 ล้านอาจไม่ได้เลือกก้าวไกลเพราะแก้ 112 อ่าจเลือกเพราะนโยบายอื่น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่แยแสไม่เห็นความสำคัญที่จะต้องปกป้อง 112 ไว้
ดาราเซเลบส์แห่ประกาศ เหลือคนเดียวในโรงหนังก็จะยืน
ความเปลี่ยนแปลงนี้ไม่มีใครยับยั้งได้
แม้แต่ "รัฐบาลสลายขั้ว" ซึ่งยิ่งแบ่งขั้วชัดเจน
:
3 ปีก่อนผมหงายท้อง ตกตะลึง
ไอ้เด็กพวกนี้ทำผิดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีทุกอย่าง ห่าม มุทะลุ เลยธง ไม่คำนึงถึงการสร้างแนวร่วม ไม่รู้จักหลักการเคลื่อนไหวยุคพี่อ้วนยุคผม มีเหตุผลมีประโยชน์รู้ประมาณ
แต่ทำไงได้ เด็กมันพาเราขึ้นรถไฟเหาะตีลังกาก็ต้องขึ้น
แล้วเป็นไงล่ะ ถ้ามัวอาบน้ำร้อนมาก่อน
ไม่ได้บอกว่าถูกเป๊ะ การเคลื่อนไหวต้องอย่างนี้ แต่มันเป็นการแสดงออกแบบคนรุ่นใหม่ ที่ทนไม่ไหวก็ระเบิดออกมา แล้วคนเป็นล้านๆ ก็มีอารมณ์ร่วม ได้ผลหรือไม่ได้ผล อยู่ที่ช่วงกระแสสูงต่ำ แต่ความกล้าเสี่ยงของพวกเขาและเธอ ก็ทำให้มีความเปลี่ยนแปลง
.....
10 ข้อเสนอปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ใช้รัฐสภาแก้กฎหมายได้ 5 ข้อ

เมื่อ 8 พ.ย. 2563 
โดย iLaw

กลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมประกาศข้อเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 10 ข้อ เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 และต่อมาเมื่อการชุมนุมยกระดับขึ้นจนเคลื่อนไหวในนาม “คณะราษฎร2563” หนึ่งในข้อเรียกร้องของการชุมนุมก็ยังคงมีเรื่องการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เสมอ

ชวนพิจารณาข้อเสนอทั้ง 10 ข้อ หากจะนำไปสู่การปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้ มีอย่างน้อย 5 ข้อ ที่จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยกระบวนการออกกฎหมายของรัฐสภา ทั้งสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภารวมกัน เป็นกลไกสำคัญ ส่วนอีก 5 ข้อนั้น หากจะเกิดขึ้นได้ไม่ใช่ผ่านกระบวนการออกกฎหมายโดยตรง แต่ต้องอาศัยการปฏิรูปทัศนคติของคนในสังคมและวัฒนธรรมความเชื่อที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

1.ยกเลิกมาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ
ที่ว่าผู้ใดจะกล่าวหาฟ้องร้องกษัตริย์มิได้ ให้สภาผู้แทนราษฎรสามารถพิจารณาความผิดของกษัตริย์ได้

ข้อเสนอข้อแรกที่ให้ยกเลิกมาตรา 6 นั้น รัฐธรรมนูญ 2560 เขียนมาตรา 6 ไว้ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดํารงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้”

ข้อเสนอนี้ชัดเจนเป็นรูปธรรมอยู่แล้วว่าต้องการให้แก้ไขมาตราในรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ใช้อยู่ ซึ่งการแก้ไขมีกระบวนการต้องผ่านความเห็นชอบของรัฐสภา โดยต้องมีเสียง ส.ว. สนับสนุนอย่างน้อย 84 เสียง และเนื่องจากเป็นมาตราในหมวด 2 เรื่องพระมหากษัตริย์ การแก้ไขจึงต้องผ่านการทำประชามติก่อน

2. ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112
เปิดให้ประชาชนใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้
นิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์

ข้อเสนอยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นั้นเป็นที่พูดถึงกันในสังคมไทยมาแล้วไม่ต่ำกว่า 10 ปี และเคยมีผู้เสนอหลายครั้งแล้วก่อนหน้านี้ วิธีการคือจัดทำเป็นร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติและเสนอให้สภาเป็นผู้พิจารณา โดยต้องอาศัยเสียงจากทั้งสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และวุฒิสภา (ส.ว.) อย่างละครึ่งหนึ่ง หาก ส.ว. ไม่เห็นด้วยก็อาจยับยั่งไว้ได้ 180 วัน แล้วให้ ส.ส. ลงมติใหม่อีกครั้งหนึ่งได้ หากร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญาผ่านการพิจารณาและมาตรา 112 ถูกยกเลิกทั้งมาตรา ก็จะมีผลให้คดีความที่ค้างอยู่ยุติไป และคนที่อยู่ในเรือนจำก็จะได้รับการปล่อยตัวโดยไม่มีมลทินติดตัว

สาเหตุที่กฎหมายมาตรานี้อยู่ในความสนใจและกลายเป็นประเด็นความขัดแย้งอย่างสูง เพราะในช่วงกว่า 10 ปีก่อนหน้านี้ มาตรา 112 ถูกใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองดำเนินคดีกับกลุ่มที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ และในกระบวนการมีความไม่ปกติมากมาย เช่น การตีความที่เกินเลยจากตัวบทไปมาก การไม่ให้จำเลยได้รับสิทธิประกันตัว การพิจารณาคดีที่ศาลทหาร การลงโทษจำคุกหนักๆ ในคดีเดียวถึง 70 ปี โดยเฉพาะในช่วงต้นยุคสมัยของ คสช. เป็นช่วงเวลาที่การดำเนินคดีโหดร้ายที่สุด และผ่อนคลายลงหลังจากนั้นเมื่อไม่มีการบังคับใช้กฎหมายนี้เพิ่มเติม

ในปี 2555 ประชาชนเคยเข้าชื่อกันมากกว่า 10,000 คนเพื่อเสนอให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แล้วครั้งหนึ่ง แต่วันที่ 11 ตุลาคม 2555 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ ประธานรัฐสภาในขณะนั้น มีคำสั่งไม่รับร่างกฎหมายฉบับนี้ไว้พิจารณา เพราะเห็นว่าไม่ใช่กฎหมายตามรัฐธรรมนูญ หมวด 3 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน ประชาชนจึงไม่มีสิทธิเข้าชื่อกันเสนอ

3. ยกเลิกพ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561
ให้แบ่งทรัพย์สินออกเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ที่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง และทรัพย์สินส่วนพระองค์ที่ของส่วนตัวของกษัตริย์อย่างชัดเจน

พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ พ.ศ.2561 ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ด้วยการประชุมลับเมื่อ 25 ตุลาคม 2561 โดยยกเลิกกฎหมายเดิมที่เพิ่งออกมาในปี 2560 โดย สนช. เช่นเดียวกัน กฎหมายฉบับปี 2560 จัดโครงสร้างการบริหารทรัพย​สินในพระมหากษัตริย์ใหม่ทั้งหมด ข้อที่โดดเด่นเห็นได้ว่า เป็นการแยกระบบการจัดการให้หลุดออกจากมือฝ่ายบ้านเมือง คือ การยกเลิกหลักการเดิมที่ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นประธานกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ แต่แก้ไขให้ ประธานกรรมการและกรรมการมาจากการแต่งตั้งตามพระราชอัธยาศัย

ส่วนการแก้ไขในปี 2561 มีข้อแตกต่างที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชวินิจฉัยในกรณีที่มีปัญหาว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่นสามารถจัดการทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ตามที่พระมหากษัตริย์ได้มอบหมาย แต่ถ้ายังมิได้ทรงมอบหมายให้ใครสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์จะมีหน้าที่จัดการ

การยกเลิกกฎหมายในปี 2561 และหรือฉบับปี 2560 และต้องทำโดยการจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติยกเลิก เพื่อเสนอให้สภาพิจารณาเช่นเดียวกับข้อ 2 หากยกเลิกทั้งสองฉบับแล้วก็จะมีผลให้กลับไปใช้กฎหมายฉบับพ.ศ. 2479 ที่ถูกแก้ไขครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2491

4. ตัดลดงบประมาณแผ่นดินที่จัดสรรให้กับสถาบันกษัตริย์
ให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ

การตัดสินใจว่างบประมาณแผ่นดินในปีหนึ่งๆ จะใช้ไปกับเรื่องอะไรบ้าง และมอบให้หน่วยงานใดดำเนินการเป็นจำนวนเท่าใด ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา ซึ่งเมื่อผ่านแล้วจะประกาศใช้ในรูปแบบของพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งในกรณีปกติรัฐสภาจะพิจารณากันในช่วงเดือนสิงหาคม-กันยายน และเริ่มใช้ในช่วงเดือนตุลาคมของทุกปี มีผลถึงเดือนกันยายนของปีถัดไป สำหรับปีงบประมาณ 2564 สถาบันพระมหากษัตริย์ได้รับจัดสรรงบประมาณ 3.7 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมงบประมาณที่จัดสรรให้หน่วยราชการต่างๆ ดำเนินโครงการที่เกี่ยวข้องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย

การแก้ไขงบประมาณของสถาบันพระมหากษัตริย์จึงสามารถทำได้โดยให้รัฐสภาพิจารณาและออกพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมงบประมาณรายจ่ายประจำปี ซึ่งอาจจะตัดลดหรือเพิ่มเติมงบประมาณส่วนใดส่วนหนึ่งก็ได้ หรืออาจจะออกเป็นพระราชบัญญัติโอนงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อนำงบประมาณบางส่วนไปให้กับส่วนราชการอื่นปฏิบัติงานอย่างอื่นก็ได้ อย่างในช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐสภาก็ผ่านกฎหมายโอนงบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้ามาแล้ว

หรือหากการตัดลดงบประมาณไม่เร่งร้อนก็ไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายที่ออกไปแล้ว แต่สามารถทำได้ในการออกพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ในช่วงเดือนกันยายน 2564 เพื่อกำหนดขอบเขตงบประมาณสำหรับปีถัดไปได้

5. ยกเลิกส่วนราชการในพระองค์
เช่น หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ให้ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่น คณะองคมนตรี

หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ จัดตั้งขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ พ.ศ. 2560 ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ที่ออกโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 15 วรรคสองที่บัญญัติว่า

“การจัดระเบียบราชการและการบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์ ให้เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา”

การให้หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ย้ายไปสังกัดหน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่ส่วนราชการในพระองค์ สามารถทำได้โดยแก้ไขพระราชกฤษฎีกาฉบับดังกล่าว ซึ่งอาศัยเพียงอำนาจของคณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยเท่านั้น ไม่ต้องผ่านการพิจารณาของรัฐสภา

แต่การแก้ไขเพียงพระราชกฤษฎีกา โดยไม่ได้แก้ไขที่มาของอำนาจก็ยังคง หมายความว่า อำนาจในการจัดระเบียบและบริหารงานบุคคลของราชการในพระองค์เป็นไปตามพระราชอัธยาศัยเช่นเดิม ดังนั้น การจัดระเบียบส่วนราชการในพระองค์อาจต้องแก้ไขทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 15 วรรคสอง และพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการในพระองค์ พ.ศ.2560 ด้วย ซึ่งต้องอาศัยอำนาจของรัฐสภา

รวมถึงการยกเลิกหรือแก้ไขอำนาจหน้าที่คณะองคมนตรีก็ยังต้องอาศัยการแก้ไขรัฐธรรมนูญด้วย

6. ยกเลิกการบริจาคและรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศลทั้งหมด
เพื่อกำกับให้การเงินของสถาบันกษัตริย์อยู่ภายใต้การตรวจสอบทั้งหมด

ยังไม่มีกฎหมายใด “ให้” หรือ “ห้าม” การบริจาคและการรับบริจาคโดยเสด็จพระราชกุศล การเรียกร้องในประเด็นนี้อาจะทำได้โดยการออกกฎหมายฉบับใหม่ที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องโดยตรง แต่อย่างไรก็ดี การออกกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของคนที่จะรับหรือจะให้ทรัพย์สินอาจเป็นการจำกัดที่กระทบต่อสาระสำคัญสิทธิในทรัพย์สินจนเกินสมควร จึงอาจเป็นข้อเสนอที่ออกแบบวิธีการกำกับตรวจสอบ หรือเป็นข้อเสนอในทางสังคมและวัฒนธรรมให้เปลี่ยนแปลงประเพณีปฏิบัติที่เป็นมาก่อนหน้านี้

7. ยกเลิกพระราชอำนาจในการแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ

แม้ว่าในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข องค์พระมหากษัตริย์ต้องดำรงตนเป็นกลางและไม่ยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมือง แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายใดกำหนด “ให้” หรือ “ห้าม” พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมืองในที่สาธารณะ ข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอในทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อที่จะยืนยันหลักการเช่นเดียวกับที่มีอยู่แล้วก่อนหน้านี้

8. ยกเลิกการประชาสัมพันธ์และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันกษัตริย์แต่เพียงด้านเดียวจนเกินงาม

การประชาสัมพันธ์ และการให้การศึกษาที่เชิดชูสถาบันพระมหากษัตริย์ ไม่ได้ถูกบัญญัติไว้เป็นกฎหมายฉบับใด ดังนั้น ข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอในทางสังคมและวัฒนธรรม ไม่ใช่ข้อเสนอในทางกฎหมาย และการพิจารณาถึงขอบเขตของการประชาสัมพันธ์และให้การศึกษา “จนเกินงาม” ก็ยังเป็นเรื่องละเอียดอ่อนที่ต้องหาฉันทามติร่วมกันต่อไป

9. สืบหาความจริงเกี่ยวกับการสังหารเข่นฆ่าราษฎร
ที่วิพากษ์วิจารณ์หรือมีความเกี่ยวข้องใดๆ เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์

การทำร้ายหรือสังหารใครก็ตาม ถ้าเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย หรือเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับคนไทย และผู้เสียหายร้องขอให้ดำเนินคดี ตำรวจไทยและรัฐบาลไทยมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายที่จะต้องสืบสวนหาความจริงและนำตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีเพื่อลงโทษอยู่แล้ว เป็นสิ่งที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติไว้โดยละเอียดแล้ว

แต่ที่ผ่านมาเมื่อเป็นประเด็นเกี่ยวข้องกับผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์กระบวนการบังคับใช้กฎหมายนี้อาจไม่ได้ทำงานได้คล่องแคล่วรวดเร็วนัก ดังจะเห็นได้จากการหายตัวไปของผู้ลี้ภัยชาวไทยในประเทศเพื่อนบ้านที่แสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์อย่างน้อย 9 คน และพบเป็นศพที่ถูกกระทำอย่างโหดร้ายอย่างน้อย 2 คน ที่เหลือยังไม่ทราบชะตากรรม โดยทางตำรวจและรัฐบาลไทยไม่มีท่าทีกระตือรือร้นที่จะสืบหาความจริงและติดตามดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดต่อพลเมืองชาวไทย

ข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอที่จะบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่แล้วให้เกิดผลขึ้นได้จริง

10. ห้ามมิให้ลงพระปรมาภิไธยรับรองการรัฐประหารครั้งใดอีก

ยังไม่มีและไม่เคยมีกฎหมายฉบับใด “ให้” อำนาจหรือ “ห้าม” พระมหากษัตริย์ลงพระปรามภิไธยรับรองการรัฐประหาร และถ้าหากมีการรัฐประหารยึดอำนาจ คณะรัฐประหารก็อาจใช้อำนาจทางกำลังเพื่อ “ยกเลิก” รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายฉบับที่จำกัดอำนาจของพวกเขาได้ ดังนั้น การเขียนไว้ในกฎหมายถึงบทบาทของพระมหากษัตริย์กับการรัฐประหารอาจไม่ใช่เกราะป้องกันการรัฐประหารที่ดีที่สุด ข้อเสนอนี้จึงเป็นข้อเสนอในทางสังคมและวัฒนธรรมที่หากสังคมไทยเป็นสังคมที่ไม่ยอมรับการรัฐประหารได้จริง พระมหากษัตริย์ไทยก็อาจไม่ยอมรรับการรัฐประหารได้ ดังที่เกิดขึ้นมาแล้วในสมัยพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นต้น

.....