วรเจตน์ ภาคีรัตน์ ศาสตราจารย์กฎหมายมหาชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘revisited’ กลับมาทบทวน ถกปัญหาของกฎหมายอาญามาตรา ๑๑๒ อีกครั้งในการบรรยายสาธารณะ ที่สถาบันปรีดี พนมยงค์ ท่าพระจันทร์
“ไม่ใช่แค่การแก้ไขมาตรา ๑๑๒ แต่ต้องพยายามทำความเข้าใจกับผู้คนต่อไปด้วย ให้คนเข้าใจว่า ต่อให้มีการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมาย การกระทำที่เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อย่างน้อยก็ยังเป็นความผิดอยู่
เพียงแต่โทษจะเปลี่ยนแปลงไป ให้สมเหตุสมผล พอเหมาะพอประมาณกับการกระทำ การเฉลิมพระเกียรติพระมหากษัตริย์ ไม่ใช่การเอาผิดด้วยโทษที่รุนแรง สิ่งที่สูงส่งอยู่แล้วไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเพราะคำพูดหรือการกระทำของผู้คน”
ดังนั้นผู้ใช้กฎหมายนี้ทั้งหลาย “ตั้งแต่ชั้นตำรวจ พนักงานอัยการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้พิพากษา” พึงสำเหนียก “ใช้กฎหมายอย่างซื่อตรงต่อมโนธรรมสำนึกของตัว และสามารถที่จะตอบคำถามทางกฎหมายได้...อย่าทำสิ่งที่มันไม่ถูก
เพียงเพื่อจะไต่เต้าขึ้นไปในตำแหน่งที่สูงขึ้นในระบบราชการ” และอ้างความเป็นอิสระของผู้พิพากษา หนึ่งในคณะนิติราษฎร์ ซึ่งร่วมกับ ครก.๑๑๒ ยกร่างแก้ไขกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ ที่ยังค้างเติ่งอยู่จนบัดนี้เพียงเพราะสภาไม่รับพิจารณา
บอกว่าความเป็นอิสระของผู้พิพากษา “ไม่ได้หมายความว่าขาดความเชื่อมโยงยึดโยงกับประชาชนเจ้าของอำนาจ ต้องมีระบบตรวจสอบ จะปล่อยให้บุคคลสามารถชี้เป็นชี้ตายผู้อื่นโดยไร้การตรวจสอบไม่ได้ มิเช่นนั้นจะเป็นเหมือนศาสนจักร”
วิกฤตที่เกิดกับกฎหมายนี้ ในสายตาของนักวิชาการเช่นเขา ก็คือ นอกจากฝ่ายนิติบัญญัติยังนิ่งเฉยแล้ว “ฝ่ายบริหารทั้งกลไกตำรวจ-อัยการ ก็ยังบังคับใช้กฎหมาย ทำให้กระบวนการไหลไป และพ้นจากองค์กรของตนเอง
ฝ่ายตุลาการก็ใช้การตีความอย่างยากที่จะยอมรับได้”