iLaw
10h
ส.ส.-ประชาชน เริ่มก้าวแรก! เดินหน้าทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่
.
3 พฤศจิกายน 2565 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นด้วยกับญัตติเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้ง ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 323+1 = 324 เสียง ไม่เห็นด้วย 0 เสียง งดออกเสียง 1 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 7 เสียง ซึ่งการลงมติดังกล่าวของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เป็นก้าวแรกของการเริ่มต้นกระบวนการทำประชาชามติตามพระราชบัญญัติว่าการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 (พ.ร.บ.ประชามติฯ)
.
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ วุฒิสภาจะเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบญัตติดังกล่าวอีกครั้ง หากวุฒิสภาเสียงข้างมากเห็นด้วย ประธานรัฐสภาต้องแจ้งให้นายกรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการ แต่หากวุฒิสภาไม่เห็นด้วย กระบวนการริ่เริ่มการทำประชามติโดยสภาก็จะสิ้นสุดลง แต่กระนั้น ประชาชนยังมีช่องทางการเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 50,000 ชื่อ เพื่อขอให้คณะรัฐมนตรีดำเนินการจัดออกเสียงประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยประชาชน
.
ส.ส. เริ่มก้าวแรก! ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ยังต้องรอลุ้นมติจาก ส.ว.
.
การลงมติของ ส.ส. เพื่อเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นไปตามกลไก พ.ร.บ.ประชามติฯ ซึ่งให้อำนาจ “รัฐสภา” เสนอทำประชามติได้ ดังนั้น หลังจากที่ ส.ส. ได้มีมติเห็นชอบให้ทำประชามติแล้วในวันนี้ กระบวนการยังไม่เสร็จสิ้น ส.ส. จะต้องส่งเรื่องต่อให้สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 คน ที่มาจากการแต่งตั้งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พิจารณาและลงมติให้ความเห็นชอบด้วยอีกทอดหนึ่ง
.
หาก ส.ว. มีมติเสียงข้างมากไม่เห็นชอบให้มีการทำประชามติ ข้อเสนอทำประชามติก็จะตกไป แต่ถ้าเสียงข้างมากของ ส.ว. เห็นด้วยกับข้อเสนอ ก็จะเป็นกรณีที่รัฐสภา (ส.ส. และ ส.ว.) ได้พิจารณาและมีมติเห็นว่าเป็นเรื่องที่มีเหตุสมควรที่จะให้มีการออกเสียงประชามติตามมาตรา 9 (4) ของพ.ร.บ.ประชามติ
.
จากนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎรในฐานะประธานรัฐสภาต้องแจ้งมติเห็นชอบของแต่สภาให้นายกรัฐมนตรีทราบและให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) รับไปดำเนินการ โดยนายกรัฐมนตรีจะต้องปรึกษากับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อหาวันออกเสียงประชามติ และประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบโดยทั่วกัน ตามพ.ร.บ.ประชามติ ในกรณีทั่วไป วันออกเสียงประชามติจะต้องไม่เกิดขึ้นก่อน 90 วัน แต่ไม่เกิน 120 วันนับแต่วันที่ ครม. มีมติเห็นชอบ ทั้งนี้ ข้อเสนอของ ส.ส. พรรคฝ่ายค้าน ต้องการให้ ครม. ดำเนินการจัดประชามติวันเดียวกันกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะต้องเกิดขึ้นไม่เกินเดือนพฤษภาคม 2566 เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดินและเพื่อความสะดวกของประชาชน
.
หลังจากที่ประชาชนได้มาออกเสียงประชามติว่า ต้องการให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือไม่ จุดตัดที่ทำให้เรื่องที่ทำประชามตินั้นมีข้อยุติ คือ 1) ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงประชามติเกินกึ่งหนึ่งของจำนวนผู้มีสิทธิทั้งหมด และ 2) การออกเสียงนั้น จะต้องมีจำนวนเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง
.
นอกจากนี้ ผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติใช้หลักเกณฑ์เดียวกับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เช่น มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี ห้ามเป็นภิกษุหรือต้องคุมขังอยู่โดยหมายศาล เป็นต้น
.
สภาไม่ใช่ตัวเลือกสุดท้าย! ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ครม. ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญใหม่เองได้
.
ในกรณีที่ ส.ว. ลงมติไม่เห็นด้วยกับการเสนอให้ทำประชามติเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่การเรียกร้องให้มีการทำประชามติยังไม่สิ้นสุดลง เพราะตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (5) ได้กำหนดกรณีประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอต่อ ครม. เพื่อให้ความเห็นชอบในการทำประชามติได้ โดยต้องอาศัยการเข้าชื่อเสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง อย่างน้อย 50,000 ชื่อ
.
นับตั้งแต่วันที่ 7 กันยายน 2565 พรรคก้าวไกล ได้เปิดตัวแคมเปญ “#RESETประเทศไทย เลือกตั้งใหม่ รัฐธรรมนูญใหม่” ที่อาศัยช่องทางตาม พ.ร.บ.ประชามติฯ มาตรา 9 (5) โดยมีจำนวนคนลงชื่อในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2565 แล้ว เป็นจำนวน 55,662 รายชื่อ ทั้งนี้ พรรคก้าวไกลตั้งเป้าให้ได้รายชื่อมากกว่า 60,000 รายชื่อ เพื่อป้องกันความผิดพลาดทางเอกสารทำให้รายชื่อไม่ครบ และจะดำเนินการเสนอต่อ ครม. ต่อไป
.
อย่างไรก็ดี แต่ ครม. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ก็มีดุลยพินิจที่จะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของประชาชน หาก ครม.ไม่เห็นชอบ ข้อเสนอของประชาชนก็เป็นอันตกไป ถ้าครม. เห็นชอบกับข้อเสนอ ก็จะต้องดำเนินการจัดทำประชามติเหมือนกับการทำประชามติที่เสนอโดยรัฐสภาต่อไป
.
อ่านบนเว็บไซต์ : https://ilaw.or.th/node/6304