วันจันทร์, พฤศจิกายน 14, 2565

ชาวรัสเซีย "มืดมนบนโลกออนไลน์" ถูกปิดหูปิดตาเรื่องยูเครน (กลัวอนาคตไทย จะไม่ต่าง...เรื่อง...)



ชาวรัสเซียเหมือนอยู่ในโลกมืดแม้มีอินเทอร์เน็ต ถูกปิดหูปิดตาเรื่องยูเครน

13 พฤศจิกายน 2022
บีบีซีไทย

ในหลายประเทศทั่วโลก การค้นหาข้อมูลตามเว็บไซต์ต่าง ๆ ถือเป็นประตูเปิดสู่ดินแดนภายนอกที่เต็มไปด้วยข่าวสารหลากหลายจากโลกกว้าง แต่สำหรับรัสเซียแล้ว การค้นหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตกลับเป็นส่วนหนึ่งของระบบที่กักขังผู้คนให้ติดอยู่แต่ในโลกของ "ความเป็นจริงทางเลือก"

หลังเกิดเหตุการณ์ที่รัสเซียโจมตีเมืองเครเมนชุกของยูเครนด้วยขีปนาวุธ เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งทำให้มีพลเรือนเสียชีวิตไปถึง 20 ราย เลฟ เกอร์เชนซอน อดีตผู้จัดการของบริษัทยานเดกซ์ (Yandex) ผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีของรัสเซียได้ลองค้นหารายละเอียดเพิ่มเติมของข่าวดังกล่าวด้วยเสิร์ชเอนจิน แต่ก็ต้องตกใจเมื่อได้เห็นผลการค้นหาที่ปรากฏ

"แหล่งข้อมูลที่แสดงอยู่เป็นอันดับต้น ๆ ของผลการค้นหา ดูแปลกประหลาดน่าสงสัยและไม่มีความชัดเจน มีเว็บเพจหนึ่งเป็นเพียงบล็อกที่เขียนโดยบุคคลนิรนาม อ้างว่าข่าวที่มีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีนั้นเป็นข่าวปลอม"

อันที่จริงแล้ว รัฐบาลรัสเซียพยายามควบคุมสื่อภายในประเทศไว้ในกำมืออย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสื่อโทรทัศน์ ซึ่งจะต้องนำเสนอข่าวการทำสงครามรุกรานยูเครนให้มีภาพลักษณ์อันชอบธรรม เสมือนว่าเป็นการดำเนินภารกิจปลดปล่อยประชาชน รวมทั้งต้องคอยปฏิเสธรายงานข่าวเรื่องความโหดร้ายต่าง ๆ ของกองทัพรัสเซียด้วย

แม้ว่าระบบอินเทอร์เน็ตภายในรัสเซียจะเป็นแหล่งใหญ่ของ "ข้อมูลข่าวสารทางเลือก" ซึ่งมักตรงข้ามกับข่าวสารกระแสหลักของโลกมานาน แต่หลังจากเริ่มทำสงครามรุกรานยูเครนเมื่อเดือน ก.พ. ของปีนี้ รัฐบาลรัสเซียได้เปิดฉากปราบปรามสื่อที่มีความเป็นอิสระทางออนไลน์อย่างหนัก

องค์กรพิทักษ์สิทธิสื่อดิจิทัล Roskomsvoboda รายงานว่า ในช่วงหกเดือนแรกของสงครามมีเว็บไซต์ที่ถูกปิดกั้นการเข้าถึงในรัสเซียเกือบ 7,000 เว็บไซต์ ซึ่งรวมถึงเว็บไซต์ของสื่อเสรีรายใหญ่และกลุ่มพิทักษ์สิทธิมนุษยชนด้วย

การทดลองของบีบีซี

ทีมงานบีบีซี มอนิเทอริง (BBC Monitoring) ต้องการหาคำตอบว่าชาวรัสเซียจะได้เห็นข้อมูลข่าวสารแบบใด เมื่อพวกเขาค้นหาข้อมูลล่าสุดทางอินเทอร์เน็ตในขณะนี้

ทีมงานของเราใช้โปรแกรมเครือข่ายส่วนตัวแบบเสมือน (Virtual Private Network - VPN) ซึ่งจะทำให้ดูเหมือนว่าเรากำลังค้นหาข้อมูลด้วยเสิร์ชเอนจินจากภายในประเทศรัสเซีย

ระหว่างเดือนมิ.ย.-ต.ค.ที่ผ่านมา เราลองใช้คำสำคัญที่เกี่ยวข้องกับสงครามในยูเครนค้นหาข้อมูลหลายสิบครั้ง โดยอาศัยเสิร์ชเอนจินยานเด็กซ์และกูเกิล ซึ่งต่างก็ได้รับความนิยมอย่างสูงเป็นอันดับแรก ๆ ในรัสเซีย

ยานเดกซ์นั้นเป็นเสิร์ชเอนจินที่ภาคเอกชนของรัสเซียพัฒนาขึ้นมาเอง โดยทางบริษัทพยายามจะนำเสนอภาพลักษณ์ที่เป็นอิสระจากการควบคุมของรัฐมาโดยตลอด ยานเดกซ์อ้างว่าการค้นหาข้อมูลออนไลน์ที่เกิดขึ้นภายในประเทศทั้งหมดทำผ่านเสิร์ชเอนจินของตนถึง 60% ในขณะที่กูเกิลครองส่วนแบ่งการค้นหาข้อมูลออนไลน์ในรัสเซียราว 35%

ทว่าหลังจากสงครามรุกรานยูเครนเริ่มต้นขึ้น ยานเดกซ์กลับถูกวิจารณ์ว่ามีท่าทีฝักใฝ่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียอย่างมาก เห็นได้จากเนื้อหาของเว็บไซต์ภายในสังกัด อย่างเช่นเว็บไซต์รวบรวมสารพัดข่าวสารยานเดกซ์นิวส์ ซึ่งเพิ่งถูกขายให้กับ VK แพลตฟอร์มเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่มีสัมพันธ์ใกล้ชิดกับรัฐบาล เมื่อช่วงเดือนก.ย.ที่ผ่านมา

แม้ยานเดกซ์อ้างว่ายังคงมีความเป็นอิสระในการบริหารเสิร์ชเอนจินหลักของตนอยู่ แต่ผลการทดลองค้นหาข้อมูลออนไลน์ของทีมงานบีบีซี มอนิเทอริง กลับชี้ว่ามีการสร้าง "ความเป็นจริงทางเลือก" ที่ควบคุมด้วยโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาลรัสเซียเกี่ยวกับสงครามในยูเครน

ไร้เรื่องราวความโหดร้ายของรัสเซีย

หัวข้อหนึ่งที่ทีมงานบีบีซี มอนิเทอริง ใช้ทดลองค้นหาข้อมูล ได้แก่เรื่องราวโศกนาฏกรรมที่เมืองบูชา (Bucha) ซึ่งมีเหตุสังหารหมู่พลเรือนหลายร้อยคน ก่อนรัสเซียจะถอนทหารออกจากพื้นที่ไปเมื่อต้นเดือน เม.ย.ของปีนี้

เหตุสลดดังกล่าวสร้างความตกตะลึงไปทั่วโลก แต่ดูเหมือนว่าชาวรัสเซียจำนวนไม่น้อยกลับเชื่อถือการรายงานข่าวตามแบบฉบับสื่อของรัฐมากกว่า ซึ่งสื่อแนวนี้พากันรายงานว่า เหตุสังหารพลเรือนผู้บริสุทธิ์เป็นฝีมือการจัดฉากของยูเครนเพื่อใส่ร้ายป้ายสีรัสเซีย

เมื่อลองใช้คำว่า Bucha ค้นหาข้อมูลผ่านยานเดกซ์ โดยพิมพ์คำสำคัญเป็นภาษารัสเซียขณะที่ใช้โปรแกรม VPN อำพรางให้ดูเสมือนว่าทำการค้นหาจากภายในประเทศรัสเซียด้วย เราพบว่าผลการค้นหาในลำดับต้น ๆ ส่วนใหญ่เสนอข้อมูลที่ดูเหมือนว่าไม่เคยมีการสังหารหมู่เกิดขึ้น

3 ใน 9 รายการของผลการค้นหาลำดับแรกสุด เป็นเพียงโพสต์ข้อความในเว็บบล็อกของผู้เขียนนิรนาม ซึ่งพยายามปฏิเสธว่ากองทัพรัสเซียไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการกระทำโหดร้ายป่าเถื่อนใด ๆ ต่อพลเรือนยูเครน ส่วนผลการค้นหาที่เหลืออีก 6 รายการ ล้วนเป็นรายงานข่าวที่ปราศจากแหล่งที่มาของข้อมูลที่มีความเป็นอิสระ

ผลการค้นหาคำว่า "เมืองบูชา" ด้วยยานเดกซ์ (สีม่วง) และกูเกิล (สีส้ม) โดยยานเดกซ์แสดงเนื้อหา ที่ปฏิเสธข่าวความโหดร้ายของกองทัพรัสเซียมากกว่า

นอกจากนี้ยังมีข่าวการค้นพบหลุมศพของพลเรือนที่ถูกสังหารหมู่ในเมืองลีมาน (Lyman) หลังกองทัพยูเครนเข้ายึดเมืองคืนมาได้เมื่อช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยข่าวนี้เป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่า ยานเดกซ์มีนโยบายเสนอข่าวเอนเอียงเข้าข้างรัฐบาลรัสเซียอย่างชัดเจน เนื่องจากผลการค้นหาข่าวข้างต้น 10 รายการแรก ล้วนมีเนื้อหากล่าวโทษ "พวกนาซี" ในยูเครนว่าเป็นตัวการก่อเหตุที่แท้จริง

หลังทดลองเปลี่ยนใช้คำว่า "ยูเครน" ค้นหาข้อมูลดูบ้าง ผลปรากฏว่าเนื้อหาที่พบเป็นลำดับแรก ๆ ส่วนใหญ่เป็นโฆษณาชวนเชื่อที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซียทั้งสิ้น โดยผลการค้นหา 4 ใน 9 ลำดับแรก มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับสื่อของรัฐและไม่มีรายงานจากสื่ออิสระปรากฏอยู่เลย เว้นแต่ว่าเนื้อหาจากสื่ออิสระนั้นจะมาจากเว็บไซต์ยูทิวบ์หรือเป็นลิงก์ที่เชื่อมโยงกับวิกิพีเดีย จึงจะมีปรากฏในผลการค้นหาของยานเดกซ์ได้บ้างประปราย


ตัวอย่างของโพสต์ในเว็บบล็อกที่มักปรากฏในผลการค้นหาลำดับต้น ๆ ของยานเดกซ์ ซึ่งระบุว่า การสังหารพลเรือนในเมืองบูชาเป็นข่าวเท็จ

ยานเดกซ์ให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า ผลการค้นหาผ่านเสิร์ชเอนจินของตนแสดงเนื้อหาที่ปรากฏอยู่ในโลกอินเทอร์เน็ตตามจริง เว้นแต่บางเว็บไซต์อาจถูกหน่วยงานควบคุมสื่อของรัฐปิดกั้นเอาไว้ ยานเดกซ์ยังเน้นย้ำว่าไม่มีการใช้พนักงานเข้าแทรกแซง เพื่อจัดลำดับผลการค้นหาตามใจชอบแต่อย่างใด

เมื่อเราทดลองเปลี่ยนมาค้นหาข้อมูลผ่านกูเกิล เสิร์ชเอนจินที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับสองในรัสเซีย โดยยังคงพิมพ์คำสำคัญเป็นภาษารัสเซียและใช้โปรแกรม VPN อำพรางตัวว่าเป็นผู้ใช้งานจากภายในประเทศรัสเซียเช่นเดิม ผลปรากฏว่ารายการเว็บเพจที่ถูกแสดงขึ้นมาให้เห็นเป็นลำดับแรก ๆ ยังคงเป็นของสื่อที่ยืนอยู่ข้างเดียวกับรัฐบาลรัสเซีย แต่มีเนื้อหาของสื่ออิสระและสื่อตะวันตกปรากฏอยู่บ้างในลำดับรองลงมา


เมื่อเปรียบเทียบผลการค้นหาภาพข่าวหลุมศพหมู่ที่เมืองลีมาน ผลการค้นหาด้วยยานเดกซ์ (ซ้าย) แสดงเนื้อหาที่ชี้ว่าการขุดศพขึ้นมาตรวจสอบเป็นการลบหลู่ดูหมิ่น

ผลการค้นหาโดยกูเกิลที่แสดงรายงานข่าวของสื่ออิสระจะปรากฏมากขึ้น หากตั้งค่าโปรแกรม VPN ให้แสดงตัวเป็นผู้ใช้งานจากสหราชอาณาจักร แม้ว่าจะยังพิมพ์คำสำคัญด้วยภาษารัสเซียก็ตาม

กูเกิลให้สัมภาษณ์กับบีบีซีว่า "ผลการค้นหาของเราแสดงเนื้อหาที่ปรากฏในเว็บไซต์ที่เข้าถึงได้ทั่วไปตามความเป็นจริง อัลกอริทึมของเราผ่านการฝึกฝนให้เลือกดึงเฉพาะข้อมูลข่าวสารคุณภาพสูงจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เพื่อให้มาปรากฏในผลการค้นหาลำดับแรก ๆ ซึ่งผู้ใช้เสิร์ชเอนจินจะเห็นได้อย่างชัดเจน"

ขจัดผลการค้นหาที่ไม่พึงปรารถนา

ผู้เชี่ยวชาญหลายรายอธิบายกับบีบีซีว่า สาเหตุที่ทำให้ผลการค้นหาข้อมูลออนไลน์ด้วยยานเดกซ์แตกต่างจากของกูเกิลมาก ไม่น่าจะเกิดจากการแทรกแซงหรือการบังคับควบคุมที่เป็นระบบหลักภายในองค์กรของยานเดกซ์เอง เพราะการทำเช่นนี้จะทำให้การทำงานซับซ้อนยุ่งยากเกินไป

แต่มีความเป็นไปได้มากว่า ลำดับรายการซึ่งแสดงผลการค้นหาข้อมูลถูกบิดเบือนด้วยฝีมือของรัฐบาลรัสเซียเอง เนื่องจากการปราบปรามสื่ออิสระทางออนไลน์อย่างหนัก ทำให้เว็บไซต์จำนวนหลายพันถูกปิดกั้น จนข้อมูลข่าวสารจากแหล่งที่มาเหล่านี้ไม่สามารถจะปรากฏในเสิร์ชเอนจินของยานเดกซ์ได้


ผลการค้นหาคำว่า "ยูเครน" ในยานเดกซ์ (ซ้าย) เต็มไปด้วยเนื้อหาจากสื่อที่สนับสนุนรัฐบาลรัสเซีย ขณะที่ผลการค้นหาของกูเกิล (ขวา) มีเพียงรายงานข่าวของสื่อตะวันตก

อเล็กซี เซอร์คีร์โค อดีตนักพัฒนาเสิร์ชเอนจินของยานเดกซ์บอกกับบีบีซีว่า "พวกเจ้าหน้าที่ของรัฐสามารถลบล้าง ขจัดผลการค้นหาที่ไม่พึงปรารถนาออกไปได้ทั้งหมด"

ด้านกุยโด อัมโปลินี และมิคายโล ออร์ลอฟ จากบริษัทวางแผนการตลาด GA Agency มองว่าการที่รัฐบาลรัสเซียทุ่มเงินมหาศาลสร้างเนื้อหาออนไลน์ขึ้นมาเองในปริมาณมาก ก็เพื่อให้แน่ใจว่ามีแต่สิ่งที่สอดคล้องกับโลกทัศน์ของตนเองออกเผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ต ซึ่งการกระทำเช่นนี้สามารถส่งผลบิดเบือนการค้นหาของเสิร์ชเอนจิน ทำให้ข้อมูลข่าวสารของฝ่ายรัฐบาลรัสเซียถูกจัดอยู่ในลำดับผลการค้นหาที่สูงกว่า ในขณะที่รายงานข่าวของสื่ออิสระจะถูกกดให้อยู่ในรายการลำดับต่ำลงมา

สร้างเว็บทราฟฟิกปลอม

อัมโปลินีและออร์ลอฟยังแสดงความเห็นว่า การใช้โปรแกรม VPN เข้าช่วย เพื่อให้ชาวรัสเซียเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่มีความเป็นอิสระจากโลกภายนอกได้นั้น ไม่น่าจะช่วยแก้ปัญหาที่มีอยู่มากนัก เนื่องจากข้อมูลข่าวสารที่ผลิตโดยรัฐบาลรัสเซียมีการออกแบบมาอย่างระมัดระวังรอบคอบ จนสามารถทำให้อัลกอริทึมของเสิร์ชเอนจินเลือกจัดอันดับการแสดงผลของมันไว้ในลำดับต้นเสมอ

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้ว่า รัฐบาลรัสเซียพยายามสร้างเว็บทราฟฟิกปลอม (artificial web traffic) ให้กับเนื้อหาของตนเอง เช่นการใส่ลิงก์ปลอมของเนื้อหาไว้ในเว็บไซต์ภายนอกเป็นจำนวนมาก วิธีนี้จัดเป็นเทคนิคเพิ่มตัวเลขผู้เข้าใช้งานเว็บไซต์ให้ดูสูงเกินความเป็นจริง ซึ่งจะส่งผลต่อการจัดลำดับผลการค้นหาในเสิร์ชเอนจินด้วยเช่นกัน


พลเรือนยูเครนจำนวนมากเสียชีวิตจากการโจมตีทางอากาศของรัสเซีย

ยิ่งไปกว่านั้น สภาพการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์อาจสะท้อนถึงความเป็นจริงที่ว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่มักเลือกเสพเนื้อหาและข้อมูลข่าวสารจากสื่อฝ่ายรัฐบาลมากกว่าสื่ออิสระ ซึ่งเรื่องนี้นายนิก บอยล์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเสิร์ชเอนจินจากบริษัท The Audit Lab บอกว่า ยานเดกซ์ต่างจากกูเกิลตรงที่นำพฤติกรรมการเข้าชมเว็บไซต์ อย่างเช่นจำนวนครั้งในการเข้าชมมาร่วมพิจารณาจัดลำดับผลการค้นหาด้วย

ทีมนักวิเคราะห์ของ GA Agency เชื่อว่า ชาวรัสเซียส่วนใหญ่มีพฤติกรรมเลือกกดคลิกเข้าชมเนื้อหาที่แสดงถึงภาพลักษณ์เชิงบวกของกองทัพ ซึ่งก็มักจะปรากฏอยู่ตามเว็บไซต์ที่สนับสนุนรัฐบาล

ด้านเลฟ เกอร์เชนซอน แสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า "ไม่ว่าการควบคุมเสิร์ชเอนจินของรัฐบาลรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับยานเดกซ์จะประสบความสำเร็จถึงระดับไหนแล้วก็ตาม แต่ที่แน่ ๆ ขณะนี้ชาวรัสเซียที่ตั้งคำถามกับรายงานข่าวจากภาครัฐ จะไม่สามารถค้นหาข้อมูลจากฝ่ายตรงข้ามหรือโลกภายนอกได้เลย พวกเขาจะพบแต่ข้อมูลและความเห็นที่สอดคล้องกับฝ่ายรัฐบาลเท่านั้น"

"หากคุณค้นหาข่าวการโจมตีที่เครเมนชุกด้วยยานเดกซ์ โดยหวังว่าจะได้เห็นภาพและข้อมูลทางเลือกจากแหล่งข่าวอื่น ๆ นอกเหนือไปจากสื่อของรัฐ สิ่งที่คุณจะได้กลับคืนมาคือข้อมูลข่าวสารท่วมท้นที่คอยตอกย้ำว่า ใช่แล้ว เรื่องนี้เป็นข่าวปลอมอย่างที่รัฐบาลบอกจริง ๆ จะว่าไปก็เหมือนกับถูกต่อยซ้ำเป็นครั้งที่สองนั่นแหละ" เกอร์เชนซอนกล่าว