วันจันทร์, พฤศจิกายน 21, 2565
“เอเปคในฝัน” กับ “เอเปคในโลกแห่งความจริง” อาจจะแตกต่างกันอย่างมาก “เอเปค 2022” ที่กรุงเทพไร้เสน่ห์ ดูจะไม่มีพลังอย่างที่คาด
เอเปคในวันที่ไทยไร้เสน่ห์! โดย สุรชาติ บำรุงสุข
มติชนออนไลน์
18 พฤศจิกายน 2565
แล้วการจัดการประชุมเอเปคก็เริ่มขึ้นในประเทศไทย พร้อมกับความฝันอย่างสวยหรูของรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในการเป็นเจ้าภาพ ผู้นำรัฐบาลดูจะมีความหวังอย่างมากว่า เอเปคจะทำให้อดีตผู้นำรัฐประหารที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในระบอบ “รัฐบาลทหารแบบเลือกตั้ง” มีความ “โดดเด่น” ทางการเมือง หรืออีกนัยหนึ่งเอเปคจะช่วยทำหน้าที่ในการโฆษณาทางการเมืองเพื่อสร้างสถานะให้แก่ผู้นำรัฐบาลไทยทั้งในเวทีภายในและภายนอก
ในอีกด้านของการเมืองไทย การประชุมเอเปคช่วยให้บรรดาปีกอนุรักษนิยมและปีกนิยมรัฐประหาร เชื่อมั่นว่า “ระบอบทหารแบบเลือกตั้ง” จะยังเป็นพลังขับเคลื่อนทางการเมือง โดยเฉพาะ หากการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ ก็จะยังเป็นตัวเลือกของฝ่ายขวาต่อไป
ความคาดหวังเช่นนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานว่า เอเปคที่กรุงเทพฯ จะต้องจบลงด้วยความสำเร็จอย่างมีนัยสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจในเวทีระหว่างประเทศ อันจะทำให้สถานะของรัฐบาลไทย ซึ่งเป็นเจ้าภาพผู้จัดการประชุม ได้รับผลจากอานิสงส์จากความสำเร็จนี้ อีกทั้ง เมื่อการประชุมสิ้นสุดลง ประเทศที่เข้าร่วมจะกล่าวขวัญถึงการประชุมที่กรุงเทพฯ และยอมรับถึง “บทบาทและวิสัยทัศน์” ของผู้นำไทย
แต่ “เอเปคในฝัน” กับ “เอเปคในโลกแห่งความจริง” อาจจะแตกต่างกันอย่างมาก … ถ้าเราตื่นจากความฝันสักหน่อย เราอาจจะพบความจริงว่า “เอเปค 2022” ที่กรุงเทพดูจะไม่มีพลังอย่างที่คาด ซึ่งว่าที่จริงแล้ว อาจมีคำอธิบายที่ไม่ซับซ้อน เช่น
1.เวทีการประชุม จี-20 ที่บาหลีเป็นเวทีสำคัญ และเป็นหนึ่งในเวทีหลักของการประชุมระหว่างประเทศในปัจจุบัน ซึ่งเห็นได้ชัดจากความสนใจของผู้นำประเทศและสื่อสากล การจัดเอเปคตามหลัง จึงเสมือนกับการถูกเวทีใหญ่ “บดบัง” เวทีเล็ก อีกทั้ง ความหวังว่า ถ้ามาประชุมที่บาหลีแล้ว ผู้นำในเวทีโลกจะไม่กลับบ้าน และเดินทางต่อมาไทย อาจจะไม่เป็นจริงในทางปฎิบัติ
2.ผู้นำที่สำคัญของโลกได้พบปะและได้มีโอกาสพูดคุยกันแล้วที่บาหลี และอาจจะไม่มีความจำเป็นต้องมาคุยกันต่อที่กรุงเทพฯ เช่น การพบกันระหว่างประธานาธิบดีของสหรัฐและจีน หรือการถกปัญหาสงครามยูเครน เป็นต้น ผลการคุยที่บาหลีจึง “กลบ” การพูดคุยที่คาดหวังจะเกิดที่กรุงเทพฯ ไปหมด ซึ่งไม่ใช่การ “แย่งซีน” แต่เป็นการ “บดบังซีน” ที่กรุงเทพฯ ไปด้วยเงื่อนไขของเวทีและการพูดคุย
3.วันนี้จุดของความน่าสนใจของเศรษฐกิจภูมิภาค อยู่ที่อินโดนีเซีย (และอาจรวมถึงเวียดนาม) มากกว่าจะอยู่ที่ไทย ดังจะเห็นถึงแนวโน้มการลงทุนที่มุ่งไปจาการ์ตามากกว่ามากรุงเทพฯ อีกทั้งปัญหาเสถียรภาพและความขัดแย้งในการเมืองไทย เป็นเรื่องที่ทำให้ไทยเป็นประเทศที่ไม่น่าสนใจในทางเศรษฐกิจการเมือง
4.รัฐบาลอินโดนีเซียมีบทบาทและกล้าในการแสดง “จุดยืน” ที่เด่นชัดกับปัญหาในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาความรุนแรงในเมียนมา หรือการลงเสียงประนามรัสเซียในสหประชาชาติ ซึ่งรัฐบาลไทย “ไม่กล้า” แสดงท่าทีเช่นนี้ และทั้งยังขาดความริเริ่มทางการเมืองและการทูตอีกด้วย
5.ท่าทีของไทยในเวทีโลกถูกจับตามองด้วยข้อสรุปว่า ไทย “เกาะติด” อยู่กับจีน และ “เกรงใจ” รัสเซีย ดังเห็นจากการลงเสียงในเวทีสหประชาชาติของไทย ผู้แทนไทยออกเสียงแบบเดียวคือ “งดออกเสียง” และไม่กล้าที่จะแสดงความเห็นเป็นอื่น คำแก้ตัวว่ารัฐบาลไทยเป็นกลางไม่เป็นที่ยอมรับในเวทีสากล
6.สถานะทางการเมืองของประเทศไทยไม่สอดรับกับกระแสโลก รัฐไทยปัจจุบันเป็นผลผลิตจากการสืบทอดอำนาจที่มาจากการรัฐประหาร และระบอบการเมืองในปัจจุบันเองไม่มีดัชนีที่เป็น “จุดขาย” เพื่อนำเสนอให้กับเวทีโลก กล่าวคือ รัฐไทยไม่สนใจในเรื่องประชาธิปไตย นิติรัฐ และสิทธิมนุษยชน หากแต่เป็นรัฐที่ใช้กฎหมายแบบเข้มงวด จนมีภาพลักษณ์เป็น “รัฐกึ่งเผด็จการ” ที่ใช้กลไกการเลือกตั้งเป็นเครื่องมือ
7.ผู้นำรัฐบาลไทยไม่เคยแสดง “บทบาทนำ” ที่ชัดเจนต่อปัญหาในเวทีระหว่างประเทศ เช่น ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเมียนมา เป็นต้น แม้จะพยายามสร้างจุดขายในงานด้วย “เศรษฐกิจสีเขียว” หรือข้อเสนอเรื่อง “BCG” ซึ่งดูจะไม่เป็นจริงเท่าใดนัก เพราะผู้นำไม่เคย “พูดและทำ” ในเรื่องเหล่านี้เลย ทำให้เกิดคำถามอย่างมากว่า อดีตผู้นำรัฐประหารไทยเข้าใจเรื่องเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลกเพียงใด เมื่อเขาออกมานำเสนอประเด็นเช่นนี้เป็นจุดขายของรัฐบาลไทยในเอเปค อีกทั้ง ยังเกิดเสียงต่อต้านจากภาคประชาสังคมในบ้านอย่างมากว่า เศรษฐกิจสีเขียวเอื้อประโยชน์ให้แก่ทุนใหญ่ ไม่ได้ให้ผลตอบแทนกับเกษตรกรไทย ความคาดหวังที่จะสร้างจุดขายของไทยในเรื่องของเศรษฐกิจสีเขียว และประเด็นจากความเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศ อาจจะดูเป็นเรื่องที่ “ไม่ชวนให้เชื่อ” เท่าใดนัก
8.รัฐบาลไทยพยายามสร้าง “ซอฟเพาเวอร์” (soft power) ผ่านอาหารและวัฒนธรรม แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ความหมายในตัวเอง แต่จะมีความหมายต่อเมื่อสถานะของประเทศมี “เสนห์” จนเกิด “แรงจูงใจ” อันจะนำไปสู่ความสนใจต่อประเทศไทย อีกทั้ง ความเป็นจริงของสังคมการเมืองภายในก็ต้องรองรับต่อการนำเสนอซอฟเพาเวอร์เช่นนั้นด้วย หรือในอีกด้าน อดีตผู้นำรัฐประหารเหล่านี้ไม่มีความเข้าใจแม้แต่น้อยว่า การไม่มีการยึดอำนาจ การมีประชาธิปไตย และมีนิติรัฐ เป็นซอฟเพาเวอร์ที่สำคัญของไทย อาหารเป็นเพียงส่วนประกอบ
9.ความหวังที่จะมี “คำประกาศกรุงเทพฯ” เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงอย่างยิ่ง เพราะรัฐบาลไทยปัจจุบันไม่มี “ความริเริ่มทางการเมือง” ในเวทีสากลเลย ต่างจากบทบาทของรัฐบาลไทยในการประชุมเอเปคที่กรุงเทพฯ สมัยนายกฯ อานันท์ ปันยารชุน ในปี 1992 (พศ. 2535) และ สมัยนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร ในปี 2003 (2546) ที่มีความริเริ่มเกิดจากข้อเสนอของรัฐบาลไทยอย่างชัดเจน จนการประชุมทั้งสองครั้งทำให้ไทยเป็นจุดสนใจ
10.เอเปคที่กรุงเทพฯ เกิดในภาวะที่รัฐบาล “ไร้เสน่ห์” ในสมัยนายกฯ อานันท์ ไทยมีจุดเด่นของการเป็นตัวแทนของ “คลื่นประชาธิปไตยลูกที่สาม” ในโลก หลังจาก “พฤษภาประชาธิปไตย 2535” ในสมัยนายกฯ ทักษิณ ไทยกำลังเติบโตและเป็นที่จับตามองในภูมิภาค แต่ผู้นำรัฐบาลไทยในปัจจุบันมีสภาวะ “ไม่มีบทบาท-ไม่มีจุดขาย-ไม่มีวิสัยทัศน์” ที่จะเป็น “เสน่ห์” ชักชวนให้นานาชาติหันมาสนใจประเทศไทย และทั้งยังมีภูมิหลังมาจากการทำรัฐประหาร ซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับในกระแสโลก (ยกเว้นการยอมรับจากจีนและรัสเซีย)
วันนี้อาจจะต้องยอมรับความจริงว่า เอเปคที่กรุงเทพฯ ดูจะ “ไม่หวือหวา” หรือ “ไม่ชวนมอง” เช่นจี-20 ที่บาหลี เท่าใดนัก ในขณะที่บาหลี เราได้เห็นบทบาทของผู้นำโลกและผู้นำอินโดนีเซียในเวทีการประชุมระหว่างประเทศอย่างชัดเจน จนทำให้เวทีที่กรุงเทพฯ ดูจะ “เหงาๆ” ไปบ้าง นอกจากนี้ ยังตามมาด้วยเสียงเรียกร้องของผู้เห็นต่างในบ้านให้ผู้นำรัฐบาลคืนอำนาจให้ประชาชน และเศรษฐกิจสีเขียวต้องไม่ใช่ “เศรษฐกิจของทุนใหญ่”
ถ้าเช่นนั้นแล้ว “ความฝัน” ที่จะได้ผลตอบแทนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจสำหรับประเทศอาจจะไม่มากอย่างที่คิด และยังอาจส่งผลอย่างมากต่อ “การเมืองไทยหลังเอเปค” เพราะสังคมอาจจะไม่ได้อยู่ในฝันแบบ “โลกสวย” ของรัฐบาล นอกจากนี้ รัฐบาลไทยตั้งแต่หลังรัฐประหารจนถึงปัจจุบัน ไม่ได้ทำให้ไทยมี “เสน่ห์” ที่จะเป็น “แรงดึงดูดใจ” ทางการเมือง ในภาวะเช่นนี้ แม้ “เมนูอาหารสุดวิเศษและรสอร่อยของปลากุเลา” ก็ไม่อาจใช้เป็น “ซอฟเพาเวอร์” ได้เลย … ซอฟเพาเวอร์พื้นฐานประการแรก คือ การรังสรรค์ “เมนูการเมือง” ที่ไม่ใช้นักรัฐประหารเป็นเชฟปรุงรส!