วันศุกร์, สิงหาคม 07, 2563

กลุ่ม Crisis Group วิเคราะห์การเมืองไทยที่กำลังระส่ำระส่าย ณ ขณะนี้ "สิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเหมือนที่เคยทำมาในอดีต"




บทสรุป

ประเทศไทยสามารถควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่กำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรฐกิจอย่างหนัก ซึ่งจะทำให้ปัญหาความไม่เท่าเทียมที่มีอยู่ฝังรากลึกลงไปอีก และความตึงเครียดทางการเมืองอาจจะกลับมาระอุอีกครั้งหนึ่ง กลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ทำให้ประเทศไทยกลายมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงเมื่อปี 2554 ดำเนินมาแบบตะกุกตะกักตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาความไม่เท่าเทียมและความยากจนอย่างรุนแรง การระบาดของโควิด-19 ยังชะลอการเจริญเติบโตของภาคส่งออกและการท่องเที่ยวลงอีกด้วย รัฐบาลไทยจะได้รับการกดดันอย่างหนักจากประชาชนเนื่องจากปัญหาการว่างงาน ขาดรายได้ และหนี้สินเพิ่มพูน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมตั้งแต่ปี 2562 รากของปัญหานี้คือการเมือง การปฎิรูปที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจของประเทศสวนกระแสความสนใจของกลุ่มชนชั้นสูงของประเทศ สิ่งที่ต้องการในเวลานี้คือรัฐธรรมนูญใหม่ที่เขียนขึ้นมาตามความต้องการส่วนใหญ่ ผ่านผู้แทนในสภาที่มาจากการเลือกตั้งและหน่วยงานที่มีความน่าเชื่อถือ โคโรนาไวรัสอาจเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองอีกด้วย ซึ่งโคโรนาไวรัสนี้ถูกขนานนามว่าเป็นปัจจัยทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักมากที่สุดตั้งแต่วิกฤตการณ์การเงินช่วงปี 2540-2541

สาเหตุหลักที่การเมืองไทยระส่ำระส่ายที่ผ่านมาคือความขัดแย้งที่ไม่ได้รับการแก้ไขของปัญหาความชอบธรรมทางการเมือง ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองปี 2475 ปัญหาคือ อำนาจทางการเมืองควรมาจากอำนาจอธิปไตยหรือลำดับชั้นแบบดั้งเดิมที่อ้างสิทธิในการปกครองที่มีคุณธรรม รัฐธรรมนูญจำนวน 20 ฉบับที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นถึงความพยายามที่ไม่เคยสำเร็จในการประคองระบบ โดยทำให้มวลชนส่วนใหญ่สงบลง และรักษาสิทธิพิเศษของกลุ่มชนชั้นสูงเล็กๆ ที่แต่งตั้งตัวเองขึ้นมาและมีอำนาจฝังรากและจงรักภักดีต่อวัง ความขัดแย้งนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2548 ซึ่งนำไปสู่การรัฐประหารสองครั้ง การประท้วงครั้งใหญ่หลายครั้ง และการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ “ถาวร” สองฉบับ ผลที่เกิดจากความวุ่นวายเหล่านี้คืออำนาจยังคงอยู่กับกลุ่มอำนาจต่างๆ ในกรุงเทพมหานคร อันได้แก่ ทหาร วัง และข้าราชการ รวมถึงพันธมิตรผู้มีอำนาจที่ร่ำรวย

แผนการเมืองในปัจจุบันได้รับการออกแบบภายใต้รัฐบาลทหาร หรือที่รู้จักกันว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ซึ่งปกครองประเทศระหว่างปี 2557 – 2562 และสั่งการรัฐธรรมนูญปี 2560 รัฐธรรมนูญฉบับนี้จำกัดอำนาจของรัฐสภาและพรรคการเมือง ส่งเสริมอำนาจตุลาการอนุรักษ์นิยมและหน่วยงานเฝ้าระวังต่างๆ ในการลงโทษทางวินัยกับนักการเมือง และเตรียมสมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหารเพื่อเจือจางอำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากทหาร ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งในเดือนมีนาคม 2562 แม้ว่าผู้มีสิทธิเลือกตั้งส่วนใหญ่ในครั้งนั้นปฎิเสธพลเอกประยุทธ์ จันโอชา ผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อจากพรรคเพื่อเข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีการแทรกแซงหลังการเลือกตั้งโดยคณะกรรมการการเลือกตั้งและศาลรัฐธรรมนูญเพื่อเปลี่ยนสูตรการคำนวณจำนวนที่นั่งของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ ทำให้พรรคพลังประชารัฐชนะการเลือกตั้งอย่างฉิวเฉียด และจัดตั้งรัฐบาลตามที่คาดการณ์ไว้โดยมีประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี

ระเบียบทางการเมืองถูกออกแบบขึ้นมาเพื่อกีดกันความท้าทายใดๆ ต่อสภาพการณ์ที่เป็นอยู่ ซึ่งเห็นได้จากชะตากรรมของพรรคอนาคตใหม่ พรรคอนาคตใหม่ถูกก่อตั้งขึ้นหนึ่งปีก่อนการเลือกตั้งโดยมหาเศรษฐีหนุ่ม ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และได้รับการเลือกตั้งเป็นอันดับสามจากคะแนนเสียง 6 ล้านเสียง นโยบายของพรรคที่จะล้มล้างระบบอุปถัมภ์ ลบกองทัพออกจากการเมือง และสลายการผูกขาดทางการค้าดังกึกก้องในหมู่คนหนุ่มสาวที่มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ ศาลและหน่วยงานเฝ้าระวังต่างๆ เริ่มกำจัดความท้าทายนี้ต่อกลุ่มอำนาจให้หมดไป ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ธนาธรพ้นสมาชิกภาพจากการเป็นผู้แทนราษฎร ยุบพรรคอนาคตใหม่ และตัดสิทธิการเมืองกรรมการบริหารพรรคเป็นระยะเวลา 10 ปี ธนาธรและผู้นำพรรคคนอื่นๆ ก็เผชิญกับข้อหาอาญาหลายคดี ซึ่งอาจทำให้พวกเขาถูกจำคุกได้ รัฐสภาไม่ได้เป็นฟันเฟืองที่ทำให้คนไทยเห็นว่าจะเปลี่ยนแปลงการเมืองได้ ก่อนการระบาดโรคโควิด-19 ที่ทำให้การรวมตัวใหญ่เป็นไปไม่ได้นั้น การประท้วงเริ่มปะทุขึ้นทั่วประเทศ ผู้คนจำนวนนับพัน รวมถึงเยาวชน ตั้งคำถามถึงความชอบธรรมของรัฐบาล รัฐใช้กลยุทธ์หลากหลายเพื่อกีดกันและลงโทษผู้วิจารณ์ ต่อต้านรัฐบาล ตั้งแต่การตั้งข้อหาไปจนถึงการใช้ความรุนแรง

แม้ว่ารัฐบาลจะจัดการได้เป็นอย่างดีในการจัดการกับวิกฤตการณ์สาธารณสุขครั้งนี้ ผลกระทบทางเศรษฐกิจของโรคระบาดใหญ่จะส่งผลให้เกิดความเสียหาย ซึ่งอาจรวมถึงความล้มเหลวของกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจที่ล้าสมัยของประเทศ แต่ตำนานการเมืองที่มีการเปลี่ยนแปลงได้ยากเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังขาดสถาบันที่เข้มแข็งในการดำเนินการปฎิรูปและยกระดับเศรษฐกิจ

ตลอดระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา นโยบายประชานิยมและความอดกลั้นของคนไทยหลายล้านคนต่อความยากลำบากในการดำรงชีวิตปิดบังข้อบกพร่องของระบบเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ วิกกฤตที่จะเกิดขึ้นจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อจุดอ่อนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ความเหลื่อมล้ำอย่างมากด้านความมั่งคั่ง และภาคนอกระบบที่มีขนาดใหญ่ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มที่จะเร่งให้เกิดการกระจุกตัวของอำนาจและความมั่นคั่งอย่างรุนแรงในประเทศไทย ทำให้การเมืองแตกแยกมากขึ้น กัดกินรายได้จากประชาชน รายได้ภาษี และทรัพยากรเพื่อสร้างองค์ประกอบของรัฐสวัสดิการ

การปฎิรูปจะต้องเริ่มจากการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ เพราะคณะผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เขียนเนื้อหากันไว้ให้ไม่สามารถแก้ไขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น แรงกดดันซ้ำๆ ยังคงอยู่ เพราะเป็นกลไกที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้เป็นอย่างดี ในช่วงเวลาความเกรี้ยวกราดของสาธารณชนนี้ มีความเป็นไปได้ว่ากลุ่มอำนาจอาจพบว่าสิ่งที่ควรทำมากที่สุดคือการเปิดพื้นที่ทางการเมืองเหมือนที่เคยทำมาในอดีต แต่ความพยายามใดๆ ดังกล่าวจะไร้ประโยชน์หากปัญหาความชอบธรรมทางการเมืองและการขาดดุลยภาพของหน่วยงานต่างๆไม่ได้รับการแก้ไข ประเทศไทยจำเป็นต้องมีกระบวนการทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จ หากต้องการที่จะจัดการระบบการศึกษาอย่างยั่งยืน สังคมผู้สูงอายุและการหดตัวของกำลังแรงงาน ความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ และการทุจริตที่แพร่หลาย

กรุงเทพ/บรัสเซลส์ 4 สิงหาคม 2563