วันอาทิตย์, สิงหาคม 02, 2563

ปมแก้รัฐธรรมนูญกำลังถูกยื้ออย่างสุดลิ่ม จากพวกที่รับผลประโยชน์จากการสืบทอดอำนาจ คสช.

ปมแก้รัฐธรรมนูญกำลังถูกยื้ออย่างสุดลิ่มจากพวกที่รับผลประโยชน์จากการสืบทอดอำนาจ คสช. ไม่เฉพาะในสภาตู่ตั้ง ๒๕๐ คนนั่น ถึงตอนนี้ พปชร.พรรค ตั้งตู่(เป็นนายกฯ โดยไม่ต้องสังกัดพรรค) ก็เริ่มสอดไส้แล้วให้ต้องรับฟัง สว.ก่อน

วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาลจากพรรคพลังประชารัฐประกาศว่า การแก้มาตรา ๒๕๖ ในวาระแรก “จะต้องมีเสียงเห็นชอบของสมาชิกวุฒิสภา ๑ ใน ๓ หรือ ๘๔ เสียง หากไม่พูดคุยและทำความเข้าใจกับ ส.ว.ก่อน การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ” อาจจะ ลำบาก

ดังนั้น ส.ส. ที่ตู่ดูดมาให้ตั้งตู่จึงออกเพทุบายแยบยล ว่า ๔ สิงหานี้ “ผมจะขอให้ตัวแทนของวิป ๓ ฝ่าย มาประชุมกันนอกรอบ เพื่อตั้งคณะทำงานร่วมกัน...เพราะที่ผ่านมาการศึกษาแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นการดำเนินงานของ กมธ.วิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มี ส.ว.เข้ามามีส่วนร่วมด้วย”

ฮั่นแน่ อย่านึกว่า ส.ส.พลังประชารัฐคอยแต่รับคำสั่งจากทหาร ตั้งแต่ คสช.เข้ามาบงการโดยตรงเต็มตัว ดูจะปล่อยลูกไม้พราวพราย วิชามาร กันเลยด้วยกระบวนการ ไฮแจ็ค ก็รู้ๆ อยู่แล้วว่าพวก สว.ดึงดันอยู่ต่อให้ครบ ๕ ปีจนได้

โดยเฉพาะเมื่อผู้ที่สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญชี้ว่ากระบวนการทั้งหมดสามารถเสร็จได้ภายในปีกว่าๆ สว.เสรี สุวรรณภานนท์ ถึงได้บอกว่า “ถ้าจะมาแตะเรื่อง ส..ทั้งการยกเลิก ส..หรือไม่ให้มีอำนาจเลือกนายกฯ...นั้น ..คงไม่ยอม”

เสรียันขาเดียวด้วยว่า “ข้อเสนอแก้มาตรา ๒๕๖ ไปสู่การเลือกตั้ง สสร. ยังไม่ผ่านความเห็นชอบที่ประชุม (ใหญ่) ของสภาฯ” นั่นแสดงว่าเสรีไม่ได้ศึกษาข้อเสนอต่างๆ ก่อนที่จะกลายเป็นมติกรรมาธิการ (ชุด พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค)

อาศัยที่มีตำแหน่งประธานกรรมาฯ เป็นออร่า ใช้ทักษะปากไว ค้านไว้ก่อน“ต้องมีเป้าหมายก่อนว่าต้องการแก้ไขประเด็นใดบ้าง” หาว่าเขาจะตีเช็คเปล่า “ให้ ส.ส.ร.ไปคิดเองตามใจชอบ” ทั้งที่กรรมาธิการชุดออกมตินี้มีหลากพรรคทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายเลีย

สมชัย ศรีสุทธิยากร รองประธานกรรมาฯ ชุดนี้ เล่าเองว่ามติที่ออกมา เกือบ เป็นเอกฉันท์ ขาดไปแค่คนเดียวที่คัดค้านตอนต้นๆ ของการประชุม แล้วออกไปปฏิบัติภารกิจส่วนตัว ไม่ได้กลับเข้าประชุมอีกเมื่อมีการสรุปลงมติ

กรรมาธิการจากพรรคร่วมรัฐบาลอย่าง เทพไท เสนพงศ์ ส.ส.นครศรีธรรมราช พรรคประชาธิปัตย์ และนิกร จำนง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคชาติไทยพัฒนา ต่างเห็นด้วยอย่างยิ่งว่าการแก้ไขมาตรา ๒๕๖ จะทำให้เปิดทางไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่

หัวหอก สว.อีกคนอย่าง สมชาย แสวงการ จึงพยายามเบี่ยงเลี่ยงให้ “ต้องไปดูรายประเด็นที่จะทำได้ง่ายและรวดเร็วกว่า” อ้างซ้ำซากว่ารัฐธรรมนูญผ่านประชามติ (แบบค้านไม่ได้) มาแล้ว “ประเด็นที่เป็นโครงใหญ่ของรัฐธรรมนูญควรคงอยู่ในหลักการ”

อ้างอีกด้วยว่า “รัฐธรรมนูญปี ๖๐ เดินมาไกลแล้ว” (ถึงจะติดหล่มจมปลักอย่างไร) “มีปัญหาที่ประเด็นไหนก็ควรแก้ตรงนั้น” ดังกรณี “ที่เป็นข้อถกเถียงทั้งเรื่องที่มา ส.ส. และ ส.ว. รวมถึงการทำงานขององค์กรอิสระ” ซึ่งไม่มีอะไรมากไปกว่าเตะถ่วง ให้พวกตนได้คัดง้าง

คำของ ภราดร พัฒนถาบุตร เลขานุการคณะกรรมการกิจการพิเศษพรรคเพื่อไทย เป็นสัญญานเตือนได้อย่างดี “รูปการณ์มาถึงเวลานี้ ทุกกลุ่มมีจุดยืนเดียวกันพร้อมยกระดับการเคลื่อนไหว บ่งชี้ถึงความพร้อมและแสดงถึงความต้องการชัดเจนว่าการตอบสนองต้องรวดเร็ว”

ภูมิธรรม เวชยชัย แกนนำกลุ่มแคร์ จากพรรคเพื่อไทยเร่งผลักดัน ว่า “พรรคร่วมฝ่ายค้าน มีจำนวนส.ส.รับรองเพียงพอเกิน ๑ ใน ๕ (จำนวนแค่ ๑๐๐ คน) ที่สามารถจะยื่นญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติม รธน.ได้ รีบๆ ยื่นเถิดครับ...อย่ามัวรีรออยู่เลย

…ปัญหาวิกฤตต่างๆ ของประเทศในปัจจุบัน ล้วนมีต้นตอมาจาก รธน.ทั้งสิ้น #วิกฤตรอไม่ได้” นี่คือวิธีการที่ไม่ใช่ “ใช้ม็อบมากดดัน” ดังที่ สว.เสรีกล่าวหา การที่เขาดึงดันจะอยู่ ๕ ปี ตามรัฐธรรมนูญที่เป็นต้นตอของวิกฤต เขาเองนั่นแหละคือตัววิกฤต

(https://www.thairath.co.th/news/politic/1901693, https://www.facebook.com/Somchai.Srisutthiyakorn/photos/a.1529535067095891/3037791196270263/?type=3&theater และ https://www.matichon.co.th/politics/news_2289835)