ใครที่สั่งจับกุม อานนท์ นำภา นี่น่าจะหมายลองของว่า ‘อำนาจเผด็จการ’ กับ ‘พลังประชาชน’ ไหนจะแน่กว่ากัน 'อำนาจ' นั้นเด็ดขาดดีไหม หรือ 'พลัง' อึดทนเพียงใด เมื่อการจับกุม “ทำกันแบบรีบร้อนเหมือนกับว่าถ้าไม่จับตัววันนี้คืนนี้จะเกิดเหตุการณ์ร้ายแรงตามมารอไม่ได้
...ทำไมต้องทำให้ได้คืนนี้” ทั้งที่ “เขาไม่มีท่าทีจะหลบหนี ยังคิดจะไปชุมนุมต่อด้วยซ้ำ” ปิยบุตร แสงกนกกุล ตั้งข้อสังเกตุระหว่างไปสังเกตุการณ์ตำรวจนำตัวทนายอานนท์ฝากขังที่ สน.ห้วยขวาง กลางดึกคืนวันที่ ๗ สิงหา
นั่นหลังจากตำรวจสำราญราษฎร์ยกกำลังไปจับอานันท์และเพื่อนนักกิจกรรม ‘ไม้ค์ ระยอง’ (ภานุพงศ์ จาดนอก) พาไปยัง สน.เพื่อขอหมายศาลกักขังเป็นเวลา ๑๒ วัน อ้างว่าต้องรอสอบพยานอีก ๖ ปาก อีกทั้งคดีมีอัตราโทษสูงเกิน ๓ ปี
รองอธิบดีศาลอาญาได้มาเป็นผู้ไต่สวนคำร้อง ทนายของผู้ต้องหาถามค้านว่า “นำตัวผู้ต้องหามาฝากขังต่อศาลหลังเวลาราชการ ทราบหรือไม่ว่าศาลฎีกาเคยมีคำพิพากษายกคำร้องฝากขังแล้ว” และ “เสรีภาพในการชุมนุมได้รับการรับรองตามรัฐธรรมนูญ”
การจับกุมครั้งนี้ตำรวจอ้างคดีจากการชุมนุมของกลุ่ม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ ๑๘ ก.ค. ๖๓ ไม่ได้เอ่ยถึงการปราศรัยของอานนท์เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์เมื่อวันที่ ๓ สิงหา (เนียนเชียวละ) ศาลไม่สนใจข้ออ้างเสรีภาพชุมนุม แต่ยอมรับว่ายื่นคำร้องเลยเวลาไปแล้ว
ศาลจึงสั่งยกคำร้องฝากขัง ตำรวจสำราญราษฎร์จึงใช้วิธีหิ้วปีกลากตัวผู้ต้องหาทั้งสองไปขึ้นรถตู้นำไปขังที่ สน.ห้วยขวาง หลังจากที่อานนท์และไม้ค์ปฏิเสธที่จะกลับเข้าไปอยู่ในการควบคุมตัวของตำรวจ แต่ตำรวจห้วยขวางอ้างว่ามีอำนาจควบคุมตัว ๔๘ ชั่วโมงโดยไม่ต้องใช้หมายศาล
นพ.ทศพร เสรีรักษ์ อดีต ส.ส.แพร่ พรรคเพื่อไทย มีข้อคิดว่าการนี้ถึงแม้ สน.ห้วยขวางจะเป็นผู้รับเผือกร้อน แต่ “เจ้าหน้าที่รัฐจะอ้างว่า #ต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา หรือผู้มีอำนาจใดๆ โดยตัวเขาเองไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ เลยไม่ได้”
ดังความเห็นของ สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการด้านศาสนาว่าต้องดูด้วย “คำสั่งนั้นชอบด้วยกฎหมายหรือไม่” และ #เขาต้องการสร้างผลงานคุกคามประชาชนเพื่อเอาใจเจ้านายหรือไม่ ในสังคมประชาธิปไตย “เจ้าหน้าที่รัฐที่รับใช้เผด็จการจะต้องรับผิดชอบทางกฎหมาย”
‘เจ้านาย’ ที่ว่านั้นใครล่ะ ‘เพ็นกวิน’ พริษฐ์ ชีวารักษ์ ระเบิดระหว่างไปร่วมชุมนุมที่หน้า สน.บางเขนร่วมกับประชาชนจำนวนมากซึ่งคาดหมายว่าจะมีการนำตัวอานนท์และเพื่อนไปฝากขังวันนี้ ว่า “สน.มินิค เป็นผู้ออกหมายจับอานนท์”
ขณะถูกควบคุมตัว ณ สน.ห้วยขวาง ทนายอานนท์ส่งสารของตนด้วยลายมือเขียนออกมาสู่ภายนอกว่า “ผมยินดีสละเสรีภาพเพื่อยืนยันหลักการ ขอให้ทุกคนออกมาต่อสู้ให้ถึงเส้นชัย อย่าเสียสละเวลามา Free Arnon ให้เอาเวลาไปทุ่มเทเรียกร้องตามข้อต่อสู้ของเรา”
เขาบอกด้วยว่า “เผด็จการกำลังใช้กระบวนยุติธรรมเป็นเครื่องมือในการปิดปากประชาชน การประกันตัวที่ต้องติดเงื่อนไขห้ามชุมนุม หรือห้ามตั้งคำถามเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ เป็นสิ่งที่เรามิอาจยอมรับได้” นั่นคือเหตุผลที่เขาและไม้ค์ตัดสินใจถอนการยื่นประกันตัว
ในวันนี้ที่ศาลอาญาคาดว่าจะมีการยื่นคำร้องขอฝากขังนักต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยทั้งสองอย่างทางการ และเมื่อผู้ต้องหาไม่ยอมยื่นประกันก็จะถูกส่งไปควบคุมตัวยังเรือนจำพิเศษทันที การตัดสินใจของอานนท์และไม้ค์เป็นอุทธาหรณ์แห่งการไร้ขื่อแปภายในกฎหมายไทยอย่างยิ่ง
มิหนำซ้ำยังเป็นการ ‘ไร้ขื่อแป’ ชนิดบิดเบือนเอาสิ่งที่ผู้มีอำนาจเรียกว่า ‘กฎหมาย’ มาใช้กดขี่ กีดกัน และทำร้ายต่อประชาชนที่แสดงออกซึ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อันไม่ต้องใจ ไม่สบอารมณ์ของกลุ่มผู้มีอำนาจ และบุคคลที่ครอบงำกลุ่มนั้นอยู่
ดังจะเห็นรายชื่อของนักกิจกรรมประชาธิปไตย ๓๑ คน ซึ่งตำรวจสันติบาลจัดทำขึ้น อ้างว่ากระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี่ เนื่องจาก “ชักชวนให้ประชาชนไปร่วมชุมนุม” อย่างนี้นี่หรือ ‘ความผิด’ แทนที่จะเป็น ‘เสรีภาพ’
หากเพ็นกวินและใครๆ ในรายชื่อนั้นถูกจับอีกในวันนี้วันพรุ่ง ไม่เพียงยืนยันว่ารัฐบาลชุดนี้เป็นเผด็จการเต็มตัวเท่านั้น แต่มันยืนยันสิทธิอันชอบธรรมของประชาชนที่จะลุกขึ้นต่อต้านด้วย ดังที่ปรัชญาเมทีทางการเมืองมักกล่าวกันเสมอ
“เมื่อใดกฎหมายถูกนำเอามาใช้เพื่อการกดขี่ เมื่อนั้นสมควรแก่การที่ประชาชนจะต้องลุกขึ้นมาปฏิวัติ” นี่เป็นสัจจธรรมสำหรับประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๔๗๕ โน่นแล้ว