วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 20, 2563

รัฐบาลร้าว อนุทินจี้ประยุทธ์ยุบสภา ระดมส.ส.ทั้งพรรคหนุนตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จปุ๊บเลือกตั้งทันที ค้านคุกคามประชาชนทางสังคมและกฏหมาย




The Reporters
14h ·

POLITICS: "ภูมิใจไทย" ประกาศสนับสนุนแก้ไข รธน.มาตรา 256 จัดตั้ง สสร. จากประชาชน มายกร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมจัดทำร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในสัปดาห์นี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทยพร้อมด้วย ส.ส.พรรคภูมิใจไทย แถลงผลการประชุมพรรคภูมิใจไทย มีมติสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เพื่อให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ และเสนอให้รัฐสภาพิจารณารับรองตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ได้บัญญัติไว้ต่อไป โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญต้องไม่กระทบหมวด 1 และหมวด 2 อันเป็นลักษณะสำคัญของการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันว่าจะธำรงรักษาไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเสนอให้ สสร. ที่มาจาก(ประชาชน)
.....

ooo


Atukkit Sawangsuk
5h ·

ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญหมวด 1 หมวด 2 นี่มันผิดตรงไหน ใครห้ามวะ?
ทำไมแค่พูดถึงหมวด 1 หมวด 2 ต้องดิ้นพล่านกันยังกับหมาถูกน้ำร้อน
:
มาตรา 255 ขีดวงไว้ว่า "การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขหรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้"
แล้วมาตรา 256 ก็บอกว่าถ้าแก้หมวด 1 หมวด 2 ฯลฯ ต้องลงประชามติ
ซึ่งแปลว่าแก้ได้ ตราบใดที่ยังเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตราบใดที่ยังเป็นรัฐเดี่ยว เป็นราชอาณาจักร
:
รัฐธรรมนูญหมวด 1 ทุกฉบับ ก็แก้ไข เขียนไม่เหมือนกันสักฉบับ ในตัวอักษรบ้าง ในสาระสำคัญบ้าง รัฐธรรมนูญ 40 สสร.เถียงกันหนัก จะเขียนว่า "อำนาจอธิบไตยเป็นของปวงชนชาวไทย" หรือ "มาจาก" ตามที่เขียนไว้เดิม (2517 เขียนว่าเป็นของ 2521,2534 เขียนว่ามาจาก) สุดท้ายเขียนว่า "เป็นของ" คืออำนาจเป็นของประชาชน
:
รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มาเพิ่มถ้อยคำเพ้อเจ้อ "นิติธรรม" ทั้งที่เป็นรัฐธรรมนูญรัฐประหารตุลาการภิวัตน์ รัฐธรรมนูญ 2560 ทีแรกจะแก้มาตรา 7 แต่ตอนหลังเปลี่ยนกลับ
:
รัฐธรรมนูญหมวด 2 ก็แก้ครั้งใหญ่ๆ 3 ครั้งคือ 2517,2534,2560
2517 เช่นมาตรา 25 "การสืบราชสมบัติให้เป็นไปโดยนัยแห่งกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช๒๔๖๗และประกอบด้วยความเห็นชอบของรัฐสภาหากไม่มีพระราชโอรสรัฐสภาอาจให้ความเห็นชอบในการให้พระราชธิดาสืบราชสันตติวงศ์ก็ได้"
2534 แก้ไขอีกที สภาไม่ต้องเห็นชอบแค่รับทราบ "มาตรา๒๑ในกรณีที่ราชบัลลังก์หากว่างลงและเป็นกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์พระพุทธศักราช๒๔๖๗แล้วให้คณะรัฐมนตรีแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบและให้ประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อรับทราบและให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไปแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ"
2560 ก็แก้ไขเช่นมาตรา 16 "ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักรหรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตามจะทรงแต่งตั้งบุคคลคนหนึ่งหรือหลายคนเป็นคณะขึ้นให้เป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้"
:
ฉะนั้น รัฐธรรมนูญหมวด 1-2 แก้ได้และแก้ไขกันมาหลายครั้งแล้ว ใครบอกว่าห้ามแตะ
:
แล้วที่พรรคก้าวไกลไม่เห็นด้วยกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน ไม่ใช่พรรคก้าวไกลต้องการแก้เอง แต่ต้องการให้เปิดพื้นที่ไว้ ถ้า สสร.จะแก้ ก็ให้หารือถกเถียงกัน ซึ่ง สสร.มาจากทุกฝ่ายอยู่แล้ว (มันจะมีร่างทรงทุกพรรคแหละ แต่กระแสประชาชนจะสามารถเรียกร้องกดดัน) ถ้าแก้ไข ยังไงก็ต้องลงประชามติทั้งฉบับ แล้วจะกลัวอะไร
พูดแค่นี้ ไอ้ศรีมันจะไปร้องยุบพรรค ถุย ไปรอวิ่งเต้นขอเป็น: สสร.ดีกว่ามั้ง (ใครเอามั่ง)

...


Piyabutr Saengkanokkul - ปิยบุตร แสงกนกกุล
10h ·

[ ทำไมการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงไม่ควรกำหนดเงื่อนไขว่าห้ามแก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ? ]

พรรคร่วมรัฐบาล และพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีมติให้เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เพื่อกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่นั้น ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

ในส่วนของ พรรคก้าวไกล - Move Forward Party เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อกำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญมาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ไม่เห็นด้วยกับการกำหนดเงื่อนไขว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์

จึงเกิดประเด็นถกเถียงกันว่า การกำหนดข้อห้ามไว้เช่นนั้นจำเป็นหรือไม่? หากไม่กำหนดไว้ เท่ากับต้องการล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ ตามที่มีผู้พยายามกล่าวหาหรือไม่?

ผมขอแสดงความเห็นทางวิชาการเพื่อยืนยันว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ไม่ควรกำหนดเงื่อนไขห้ามแก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ ด้วยเหตุผลสามประการ ดังนี้

ประการแรก เหตุผลทางกฎหมาย ไม่มีข้อจำกัดใดในรัฐธรรมนูญที่ห้ามมิให้แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2

ข้อจำกัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดไว้ในมาตรา 255 ว่า “การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทํามิได้”

ดังนั้น ข้อห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญจึงมีเพียง

1. ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทบต่อรูปของรัฐ (ความเป็นรัฐเดี่ยว และความเป็นราชอาณาจักร)

2. ห้ามแก้ไขรัฐธรรมนูญจนกระทบต่อระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

รัฐธรรมนูญมิได้ห้ามมิให้แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์ แต่อย่างใด ดังจะเห็นได้จากมาตรา 256 (8) บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 บททั่วไปหมวด 2 พระมหากษัตริย์ หรือหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติหรือลักษณะ ต้องห้ามของผู้ดํารงตําแหน่งต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่หรืออํานาจของศาล หรือองค์กรอิสระ หรือเรื่องที่ทําให้ศาลหรือองค์กรอิสระไม่อาจปฏิบัติตามหน้าที่หรืออํานาจได้ ก่อนดําเนินการ ตาม (7) ให้จัดให้มีการออกเสียงประชามติตามกฎหมายว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ถ้าผลการออกเสียง ประชามติเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม จึงให้ดําเนินการตาม (7) ต่อไป”

บทบัญญัตินี้แสดงให้เห็นชัดเจนว่า การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 และหมวด 2 กระทำได้

ดังนั้น บทบัญญัติในหมวด 1 และหมวด 2 ย่อมถูกแก้ไขเพิ่มเติมได้เสมอ ตราบเท่าที่ไม่กระทบกระเทือนหรือส่งผลเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐและระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หากใครก็ตามกังวลว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จะนำไปสู่การล้มล้างการปกครอง เปลี่ยนรูปของรัฐ หรือเปลี่ยนระบอบการปกครองได้ นั่นเป็นความกังวลที่เกินจริงไป เพราะการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อยู่ภายใต้กรอบเพดานของระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขและความเป็นรัฐเดี่ยว ไม่ว่าอย่างไร สภาร่างรัฐธรรมนูญก็ไม่อาจร่างรัฐธรรมนูญจนเปลี่ยนให้เป็นสหพันธรัฐ สาธารณรัฐ หรือเผด็จการได้ อย่างไรเสียในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ก็ต้องยืนยันให้ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักร เป็นรัฐเดี่ยว และปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

หากยังกังวล ยังไม่ไว้ใจประชาชน ไม่ไว้ใจสภาร่างรัฐธรรมนูญ เราก็สามารถตีกรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ลงไปให้ชัดเจนอีกว่า การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องอยู่ภายใต้หลักการพื้นฐาน อันได้แก่ ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ความเป็นราชอาณาจักรที่ประมุขของรัฐ คือกษัตริย์สืบทอดทางสายโลหิต ความเป็นรัฐเดี่ยว รวมทั้งอาจเพิ่มเติมหลักการพื้นฐานอื่นๆอันเป็นกรอบเบื้องต้นในการจัดทำรัฐธรรมนูญไปอีกก็ได้ เช่น ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ การแบ่งแยกอำนาจ หลักการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หลักการรัฐบาลพลเรือนอยู่เหนือกองทัพ เป็นต้น

ประการที่สอง เหตุผลทางประวัติศาสตร์ ในอดีตเคยแก้ไขมาแล้ว

หากพิจารณาตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย พบว่าในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หลายครั้ง ก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และหมวด 2 มาแล้ว

ในหมวด 1 บททั่วไป การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แต่ละครั้ง มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติในหมวด 1 แทบทุกครั้ง เช่น

เพิ่มคำว่า “มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2492

เพิ่มคำว่า “อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2534

เปลี่ยนคำว่า “อำนาจอธิปไตยมาจากปวงชนชาวไทย” มาเป็น “อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย” ในรัฐธรรมนูญ 2540

เพิ่มบทบัญญัติมาตรา 7 “ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใดให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ในรัฐธรรมนูญ 2540

เป็นต้น

ในหมวด 2 พระมหากษัตริย์นั้น รัฐธรรมนูญ 2492 เพิ่มเติมบทบัญญัติเกี่ยวกับองคมนตรี รัฐธรรมนูญ 2534 แก้ไขในส่วนของการตรากฎมณเทียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ จากเดิมที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ มาเป็นให้รัฐสภารับทราบ และแก้ไขในส่วนการขึ้นครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ จากเดิมที่ต้องให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ มาเป็นให้รัฐสภารับทราบหรือล่าสุด รัฐธรรมนูญ 2560 ก็มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์ในหลายประเด็น

นอกจากนี้ การเปลี่ยนผ่านจากรัฐธรรมนูญ 2534 ไปรัฐธรรมนูญ 2540 โดยใช้กระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 เพื่อเพิ่มหมวดจัดทำรัฐธรรมนูฉบับใหม่ โดยให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญทำหน้าที่จัดทำนั้น (คล้ายกับที่กำลังทำกันในตอนนี้) การแก้ไขในครั้งนั้น ก็ไม่ได้ตีกรอบเงื่อนไขไว้ว่าห้ามแก้ไขเปลี่ยนแปลง หมวด 1 และหมวด 2

กระบวนการเช่นว่านี้ ทำให้เราได้มาซึ่งรัฐธรรมนูญ 2540 และประเทศไทยก็ยังคงเป็นราชอาณาจักร รัฐเดี่ยว และปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข

ประการที่สาม เหตุผลทางปฏิบัติ หากมีกรณีจำเป็นต้องแก้ขึ้นมา จะทำอย่างไร?

การกำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ไว้ล่วงหน้า ทำให้แข็งและตึงตัวจนเกินไป ในกรณีที่เกิดความจำเป็นต้องแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ขึ้นมาจริงๆ แล้วแก้ไขไม่ได้เพราะ “ติดล็อค” ข้อห้ามดังกล่าว อาจนำมาสู่วิกฤตทางรัฐธรรมนูญได้

การไม่กำหนดข้อห้ามแก้หมวด 1 หมวด 2 ไม่ได้หมายความว่าต้องการแก้ไข จะแก้ไขหรือไม่อยู่ที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ

แต่การกำหนดห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ไว้ หากจำเป็นต้องแก้ไขขึ้นมาจริงๆ จะทำอย่างไร?

ดังเช่น กรณีล่าสุดเกิดขึ้นกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2560 นี้เอง

ในครั้งนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ทูลเกล้าฯ ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ที่ผ่านการออกเสียงประชามติมาแล้ว ให้พระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้ แต่พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชกระแสรับสั่งลงมาให้แก้ไขใหม่ในบทบัญญัติที่เกี่ยวกับพระราชอำนาจ ดังปรากฏเป็นข่าว ดังนี้

“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงกระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 เพื่อเปิดช่องให้แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ปัจจุบันทูลเกล้าฯถวายแล้วว่า เมื่อวานนี้ได้หารือกับองคมนตรี ได้แจ้งว่า ภายหลังทูลเกล้าฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ องคมนตรีได้นำขึ้นทูลเกล้าฯแล้ว มีพระราชกระแสรับสั่งลงมา 3-4 รายการ แก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่จำเป็นต้องแก้ไขให้เป็นไปตามพระราชอำนาจพระองค์ท่าน สำนักราชเลขาธิการจึงทำเรื่องมาที่รัฐบาล รัฐบาลจึงรับสนองพระบรมราชโองการฯเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 คาดว่าใช้เวลาไม่เกิน 1 เดือน เมื่อแก้เสร็จแล้ว จะแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต่อ โดยใช้เวลาไม่เกิน 2-3 เดือน ถึงจะทูลเกล้าฯอีกครั้ง ยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นเรื่องของพระราชอำนาจของพระองค์ท่าน”

คัดมาจาก พระราชกระแสรับสั่งให้แก้ รธน. ใหม่หมวดพระมหากษัตริย์-เข้าวาระ สนช. 13 ม.ค., สำนักข่าวอิศรา, https://www.isranews.org/isranews-news/item/53200-m44-53200.html

ในครั้งนั้น คณะรัฐมนตรีและสภานิติบัญญัติแห่งชาติจึงต้องหาทางออกเพื่อแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญที่ผ่านประชามติมาแล้วให้สอดคล้องกับพระราชกระแสรับสั่ง โดยให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) 2557 เสียใหม่ ในมาตรา 37/1 วรรค 11 เพื่อกำหนดรับรองกรณีพระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดได้ และเพื่อเปิดโอกาสให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมาเพื่อดำเนินการแก้ไขเพิ่มเติมเฉพาะประเด็นตามข้อสังเกต

...

อนึ่ง หากการแก้ไขบทบัญญัติในหมวด 1 ก็ดี หมวด 2 ก็ดี เพื่อให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตย เพื่อให้พระมหากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐ ในฐานะเป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ และในฐานะเป็นสถาบันหลักอันเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทย ดำรงอยู่อย่างมั่นคงและสอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยแล้ว ก็สมควรที่จะดำเนินการ ทั้งนี้ เพื่อธำรงรักษาไว้ซึ่งระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

เมื่อพิจารณาจากเหตุผลทั้งทางกฎหมาย ทางประวัติศาสตร์ และทางปฏิบัติแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นแต่ประการใดที่ต้องกำหนดว่า ในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ ห้ามมิให้แก้ไขเปลี่ยนแปลง หมวด 1 และหมวด 2