วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 20, 2563

“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”



Thirachai Phuvanatnaranubala - - ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Yesterday at 9:04 AM ·

“เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?”
ในปี 2556 มีการจัดตั้ง กปปส. เรียกร้องให้มีการปฏิรูปประเทศก่อนเลือกตั้ง
ดังสรุปในวิกิพีเดียว่า
“สุเทพ เทือกสุบรรณ ผู้นำการประท้วง ประกาศเจตนาของ กปปส. เพื่อทวงอำนาจอธิปไตยจากรัฐบาลมาคืนประชาชน ซึ่งจะดำเนินการปฏิรูปประเทศผ่านสภาประชาชนที่มิได้มาจากการเลือกตั้ง สุเทพยังประกาศจะขจัดสิ่งที่ตนเรียกว่า "ระบอบทักษิณ"
สุเทพกล่าวว่า สภาประชาชนทำหน้าที่เป็นองค์กรนิติบัญญัติ โดยจะแก้ไขกฎหมายและระเบียบ เช่นเดียวกับดำเนินแผนการปฏิรูปในประเทศ“
การประท้วงของ กปปส. ยุติลงเมื่อมีการปฏิวัติ 22 พ.ค. 2557 พลเอกประยุทธ์เข้ามาทำหน้าที่เป็นคนกลางในความขัดแย้งระหว่างประชาชนที่สนับสนุนแนวทางการเมืองของทักษิณ กับกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย
ไม่น่าเชื่อว่า หกปีให้หลัง ความขัดแย้งจะผันไปเป็นระหว่างพลเอกประยุทธ์กับนักเรียนนักศึกษาคนรุ่นใหม่
ไม่น่าเชื่อว่า จากคนกลางที่เป็นกรรมการห้ามการขัดแย้ง พลเอกประยุทธ์ได้กลายเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง ทั้งในด้านการเมืองในสภา และในด้านการเมืองในโซเชียลมีเดียและบนท้องถนน
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร?
ผมเชื่อว่า
-ถ้าหากพลเอกประยุทธ์ได้บริหารบ้านเมืองโดยเอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
-ถ้าหากทำให้คนรุ่นใหม่มองเห็นว่าอนาคตของตัวเองและของประเทศมีแสงสว่างอยู่ข้างหน้า
-ถ้าหากเน้นโครงการที่กระจายรายได้และทำให้ประชาชนยืนบนขาตนเองได้ดีขึ้น มีโอกาสเริ่มต้นที่เท่าเทียมมากขึ้น
คงไม่มีการประท้วงหนักที่ลามปามออกไปมากเช่นนี้
แต่ที่ผ่านมา
-พลเอกประยุทธ์เองบริหารประเทศโดยไม่ใส่ใจการปรองดอง
-เน้นบทบาทเป็นนักการเมืองที่อาศัยการสร้างกติกาความได้เปรียบคู่ต่อสู้เป็นหลัก
-เน้นการบริหารเศรษฐกิจที่สร้างโครงการใหญ่เพื่อรับใช้นายทุน แทนที่จะเปิดพื้นที่ให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดจิ๋วอยู่ได้ ทำให้การกระจายรายได้เกิดน้อย
-ไม่ทำให้ประชาชนยืนบนขาของตนเอง คอยแต่รอรับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลเป็นคราวๆ
-พลเอกประยุทธ์ยึดหลักศาสตร์ของพระราชาเพียงแต่ปาก เพียงแต่ใช้ไปตั้งชื่อรายการทีวี
มิได้เอาประชาชนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
ด้วยเหตุนี้ พลเอกประยุทธ์จึงทำให้ภาพพจน์ของรัฐบาลตนเองไม่สดใส ไม่มั่นใจ และแม้จะได้พยายามทาบทามบุคคลที่มีความสามารถมาช่วยบริหารเศรษฐกิจ แต่ปรากฏชัดเจนแล้วว่า คนที่มีฝีมือไม่ยอมเข้ามาร่วมงานด้วย
ในสถานการณ์ที่ประเทศไทยและทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจจากโควิด-19 แต่พลเอกประยุทธ์ไม่สามารถจัดทีมที่เป็นที่วางใจเข้ามาแก้ไขปัญหาได้นั้น เป็นความเสี่ยงอย่างหนักต่อประชาชน
น่าเสียดายเวลาที่ผ่านไปนานถึง 6 ปี ซึ่งนานกว่าเวลาทำงานของนายกรัฐมนตรีอื่นเกือบทั้งหมด
ความมุ่งมั่นตั้งใจดี ถ้าไม่ควบคู่ไปกับแนวนโยบายที่สร้างความสว่างไสวให้แก่ประชาชน ก็คือความหวังดีมีผลร้าย ที่มีแต่สร้างความอึมครึมบานปลายไม่หยุด
(รูปจากวิกิพีเดียและข่าวในต่างประเทศ)
วันที่ 18 สิงหาคม 2563
ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล
Facebook Thirachai Phuvanatnaranubala
(เครดิตภาพตามแหล่งที่แสดงชื่อ)
หมายเหตุ: การกล่าวถึงชื่อบุคคลใดมิใช่เป็นการกล่าวหากระทำความผิด แต่เป็นเพื่อประกอบการบรรยายทางวิชาการเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการในการรักษาประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ
https://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%81%E0%B8%9B%E0%B8%9B%E0%B8%AA.