วันพุธ, สิงหาคม 05, 2563

กรณีศึกษา "เช็คบิลย้อนหลัง" 3 ผู้นำเผด็จการละตินอเมริกา




iLaw
Yesterday at 4:47 AM ·

#อาร์เจนตินา นายพลฮอร์เก วิเดลา เป็นหนึ่งในหัวหน้าคณะรัฐประหารที่พาประเทศเข้าสู่ระบอบเผด็จการทหารของคณะกระบวนการปฏิรูปแห่งชาติ ใช้วิธีปกครองประเทศอย่างโหดเหี้ยมระหว่างปี 1976-1983 เป็นยุคที่รู้จักกันในนาม “สงครามสกปรก”
.
- มีการปราบปรามผู้เห็นต่างด้วยการคุมขัง ทรมาน อุ้มหาย และสังหารอย่างกว้างขวาง มีการจัดตั้งค่ายกักกันและมีการทรมานเกิดขึ้นในรั้วค่ายทหารกว่า 340 แห่งทั่วประเทศ
.
- มีการอุ้มหายและอุ้มฆ่ากว่า 10,000-30,000 คน มีการอุ้มเด็กทารกที่ผู้ถูกอุ้มหายให้กำเนิด และทำให้มีผู้ที่ต้องลี้ภัยอย่างน้อย 800,000 คน
.
อย่างไรก็ดี รัฐบาลทหารก็เพลี้ยงพล้ำหลังแพ้สงครามกับอังกฤษในปี 1982 ถูกกดดันจากภาคประชาชนและเสียงเริ่มแตกกันเองในกองทัพ จนต้องจัดการเลือกตั้งและเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองโดยพลเรือนในปี 1983 นำโดยประธานาธิบดี ราอุล อัลฟอนซิน อดีตนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้เร่งดำเนินการให้มีการแสวงหาความจริงและดำเนินคดีต่อผู้นำคณะรัฐประหาร
.
หลังการไต่สวน วิเดลาถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 1985 จากการละเมิดสิทธิมนุษยชนระหว่างยุคเผด็จการทหาร แต่จากนั้นไม่นานนัก ฝ่ายทหารเริ่มกลับมามีอำนาจ การดำเนินคดีเริ่มชะลอและชะงักลงหลังสภาผ่านกฎหมายมัดมือตัวเองสองฉบับในปี 1986-1987
.
ในส่วนของวิเดลาหลังจำคุกได้ 5 ปีก็ได้รับนิรโทษกรรมเมื่อปี 1990 แต่ก็ถูกดำเนินคดีอีกครั้งในปี 1998 จากกรณีการขโมยทารกของผู้ถูกอุ้มหายซึ่งอยู่นอกความในกฎหมายนิรโทษกรรม เขาถูกตัดสินกักบริเวณและต่อมาถูกส่งตัวไปคุกทหาร
.
การดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ กับการละเมิดในยุคสงครามสกปรกเริ่มได้อีกครั้งหลังศาลสูงสุดตัดสินในปี 2005 ยกเลิกกฎหมายสองฉบับที่บังคับไม่ให้มีการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่ใต้บังคับบัญชา
.
ต่อมาในปี 2007 ศาลสูงสุดตัดสินให้กฎหมายนิรโทษกรรมปี 1990 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 1994 รัฐสภาได้แก้ไขให้กฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนกว่า 10 ฉบับมีศักดิ์สูงกว่ากฎหมายที่มีอยู่
.
วิเดลาถูกตั้งข้อหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอีกครั้งในปี 2007 ในปี 2010 ศาลตัดสินลงโทษจำคุกตลอดชีวิตฐานก่ออาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติจากการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมือง ถูกจำคุกในเรือนจำในกรุงบัวนอสไอเรส ระหว่างจำคุกในปี 2012 ถูกตัดสินจำคุก 50 ปีเพิ่มเติมจากกรณีการขโมยเด็กทารกของผู้ถูกอุ้มหาย วิเดลาเสียชีวิตในเรือนจำในปี 2013 และการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดรายอื่นยังคงดำเนินต่อไป
.
อาร์เจนตินาจึงเป็นกรณีศึกษาที่สำคัญ แสดงให้เห็นว่าหากประชาชนเห็นความสำคัญของการเอาผิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุครัฐบาลทหาร ศาลมีบทบาทปกป้องสิทธิมนุษยชน ทุกภาคส่วนเรียกร้องต่อเนื่องก็สามารถนำไปสู่การเอาผิดได้ในที่สุด แม้จะต้องใช้ระยะเวลายาวนาน
.
ศึกษาเหตุปัจจัยทางการเมืองการเอาผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคเผด็จการทหารต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5729
_______________________________________________________

#ชิลี นายพลออกุสโต ปิโนเช เป็นผู้นำคณะรัฐประหาร ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและปกครองประเทศชิลีแบบเผด็จการตั้งแต่ปี 1973-1990
.
- มีการละเมิดสิทธิมนุษยชนและปราบปรามศัตรูทางการเมืองอย่างกว้างขวางและโหดเหี้ยม
.
- มีผู้สูญหายและเสียชีวิตอย่างน้อย 3,000-10,000 คน มีผู้ถูกคุมขังอีกจำนวนมาก และทำให้มีผู้ต้องหนีภัยไปต่างประเทศอย่างน้อย 200,000 คน
.
ก่อนประเทศจะเปลี่ยนผ่านสู่การปกครองโดยพลเรือน รัฐธรรมนูญฉบับปี 1980 ที่รัฐบาลทหารร่างให้ตำแหน่งปิโนเชเป็น “สมาชิกวุฒิสภาตลอดกาล” และบังคับใช้ในปี 1988
.
หลังการเลือกตั้งทั่วไปที่นำมาซึ่งรัฐบาลผสมนำโดยพาทริซิโอ อัลวิน ในปี 1990 มีการจัดตั้งคณะกรรมการแสวงหาข้อเท็จจริงเรทติก ซึ่งได้เผยแพร่รายงาน (Rettig Report) ในปี 1991 แต่ไม่ได้นำไปสู่การดำเนินคดี เนื่องจากปิโนเชยังคงมีอิทธิพลจากรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้เครือข่ายของตนและกองทัพมีอำนาจ สามารถแทรกแซงองค์กรอื่นๆ ได้
.
ปิโนเชถูกจับกุมในอังกฤษตามอำนาจหมายจับของศาลสเปนในข้อหาอาชญากรรมต่อมวลมนุษยชาติในปี 1998 แต่ถูกปล่อยตัวในปีครึ่งและกลับมายังชิลีในปี 2000 ลาออกจากความเป็น “ส.ว. ตลอดกาล” แต่รัฐสภาให้ตำแหน่งใหม่เป็น “อดีตประธานาธิบดี” มีเอกสิทธิทางกฎหมายไม่ต้องถูกดำเนินคดี
.
ในปีเดียวกันฝ่ายตุลาการได้ตั้งข้อหาจากกรณีอุ้มหายศัตรูทางการเมือง 75 คนด้วย หรือที่เรียกว่าปฏิบัติการ “คาราวานแห่งความตาย” โดยศาลสูงสุดพิจารณายกเลิกเอกสิทธิให้ก่อน
.
แต่กระบวนการสิ้นสุดไปหลังศาลสูงสุดปฏิเสธการตั้งข้อกล่าวหาเนื่องจากเห็นว่าจำเลยมีสุขภาพไม่พร้อม จนมีอัยการท่านหนึ่งเปรียบเปรยว่า “ความยุติธรรมในประเทศนี้ถูกจำกัดไว้แล้วด้วยการเมืองยุคเปลี่ยนผ่าน” เพราะการดำเนินคดีต่อปิโนเชทั้งหมดรวมอย่างน้อย 5 ครั้งยุติลงจากการที่ศาลตัดสินใจไม่ดำเนินคดีต่อโดยอ้างว่าสภาพจิตหรือสุขภาพของจำเลยไม่พร้อมถูกไต่สวน
.
อย่างไรก็ดี ความพยายามดำเนินคดีได้ทำให้มีคำเบิกความจากปิโนเชอยู่ในสำนวนบ้าง และในปี 2005 กองทัพชิลียอมรับซึ่งความรับผิดชอบต่อการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคปิโนเช และในปี 2006 ก่อนตายขณะถูกกักบริเวณรอดำเนินคดีในบ้าน ปิโนเชก็ได้กล่าวในงานวันเกิดตัวเองยอมรับผิดชอบต่อ “สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมด”
.
กรณีศึกษาการเอาผิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่กระทำภายใต้ยุคเผด็จการทหารของชิลีจึงชี้ให้เห็นว่ารัฐธรรมนูญและระบบตุลาการ หากถูกแทรกแซงโดยอำนาจทางการเมือง โดยเฉพาะฝ่ายทหาร จะทำให้การเอาผิดเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ทำให้ครอบครัวเหยื่อไม่มีโอกาสเห็นความยุติธรรมอย่างน่าเสียดาย
.
ศึกษาเหตุปัจจัยทางการเมืองการเอาผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคเผด็จการทหารต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5729
_______________________________________________________

#อุรุกวัย ฮวน บอร์ดาเบอรี่ เป็นผู้นำประเทศอุรุกวัย 2 สมัย (1972-1973, 1973-1976) ที่มีบทบาทนำประเทศเข้าสู่ยุคเผด็จการทหารช่วงสงครามเย็น (1973-1985)
.
- มีการปราบปรามผู้เห็นต่างทางการเมืองและละเมิดสิทธิมนุษยชน ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 180 รายและประชากรกว่าร้อยละ 10 ต้องหนีภัยออกนอกประเทศ
.
หลังประเทศกลับสู่การปกครองโดยพลเรือนในปี 1985 ผู้นำพลเรือนกลับออกกฎหมายนิรโทษกรรมทั้งๆ ที่นักวิชาการวิเคราะห์ย้อนหลังว่ามีช่องว่างทางโอกาสอยู่แต่ก็ยอมพลาดโอกาสไป ส่งผลให้การดำเนินคดีไม่มีความคืบหน้า
.
อย่างไรก็ตาม รายงานขององค์กรภาคประชาชนและการทำงานสืบสวนของฝ่ายตุลาการนำไปสู่การตั้งข้อหาผู้นำในปี 2006 ฐานมีส่วนรู้เห็นในการฆาตกรรมผู้นำการเมืองฝ่ายค้าน 4 คนขณะพำนักอยู่ในอาร์เจนตินาเมื่อปี 1976 อันเป็นส่วนหนึ่งของ Operation Condor ซึ่งเป็นปฏิบัติการร่วมของหน่วยงานความมั่นคงภายใต้รัฐบาลทหารบางประเทศแถบละตินอเมริกาเพื่อปราบปรามศัตรูทางการเมืองของกันและกันที่หนีภัยอยู่ในต่างประเทศ
.
เขาถูกตัดสินจำคุก 30 ปีในปี 2010 และถูกคุมขังอยู่ในบ้านพักของตนจนเสียชีวิตไปในปีถัดมา
.
นี่จึงเป็นตัวอย่างให้เห็นได้บ้างว่า แสงแห่งความหวังที่ริบหรี่ในวันแห่งความเปลี่ยนผ่าน แม้จะดับไปบ้างก็อาจถูกจุดให้กลับมาโชติช่วงชัชวาลย์ได้เมื่อมีเจตจำนงและสภาพทางการเมืองที่เหมาะสม
.
ถ้านักวิชาการคิดว่าอุรุกวัยมีโอกาสเอาผิดกับเหล่าเผด็จการทหารอย่างมาก แล้วทำไมจึงไม่มีการดำเนินคดี? ศึกษาเหตุปัจจัยทางการเมืองการเอาผิดกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนในยุคเผด็จการทหารต่อได้ที่ https://ilaw.or.th/node/5729

https://www.facebook.com/iLawClub/photos/a.10150540436460551/10164204731735551/