วันอาทิตย์, สิงหาคม 02, 2563

"ราษฎรทั้งหลายพึงรู้เถิดว่า บ้านเมืองนี้เงินซื้อได้ทุกสถาบัน" - กรณีศึกษาการเยียวยาโควิด-19 ให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ก่อนประชาชน



....

Thanathorn Juangroongruangkit - ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
Yesterday at 9:55 AM ·

[ ~ของอร่อยที่สุดคือ...ภาษีประชาชน?~ : กรณีศึกษา บริษัท การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (มหาชน) จำกัด รัฐให้สัมปทาน ปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญา เอื้อผลประโยชน์ เยียวยาชดเชยโควิด-19 ให้กลุ่มคิงเพาเวอร์ก่อนประชาชน ]
.
ความร่ำรวยของกลุ่มทุนผูกขาด-การสนับสนุนการสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหาร-การใช้จ่ายภาษีของประชาชน-ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
.
เมื่อวานนี้ Sirikanya Tansakun - ศิริกัญญา ตันสกุล ส่งข่าวชิ้นหนึ่งซึ่งไม่เป็นที่สนใจในวงกว้างมากนักมาให้ผมอ่าน ข่าวดังกล่าวคือข่าวเกี่ยวข้องกับ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย หรือ AOT ที่กรรมการบริษัทมีมติให้มีการขยายเวลาก่อสร้าง เปลี่ยนแปลงการคำนวณผลตอบแทนขั้นต่ำ เปลี่ยนเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดสัญญาที่เกี่ยวข้องกับกิจการการค้าปลอดภาษีในสนามบิน อันเนื่องมาจากผลกระทบจากมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19
.
รายงานจากบริษัทหลักทรัพย์ไทยพานิชย์ หรือ SCBS ประเมินไว้ว่ามติกรรมการบริษัทครั้งนี้ ทำให้รายได้ของ AOT ลดลง 6% ในปี 2565 และ 10% ในปี 2566 โดยกำไรของบริษัทในปี 2565 จะลดลงประมาณ 13% และในปี 2566 อีกประมาณ 17%
.
AOT มีกำไรปีละประมาณ 25,000 ล้านบาท หากใช้ฐานนี้คิดตามการประมาณของ SCBS หมายความว่าปี 2565 กำไรของ AOT จะหายไป 3,250 ล้านบาท และในปี 2566 กำไรหายไป 4,250 ล้านบาท
.
ปัญหาคือ กระทรวงการคลังถือหุ้นใน AOT อยู่ 70% ที่ผ่านมา AOT ปันผลคืนให้กับกระทรวงการคลังอย่างสม่ำเสมอ ในอัตราประมาณ 50% ของกำไรสุทธิแต่ละปี ในปี 2560 และปี 2561 มีการปันผลให้กับผู้ถือหุ้นเป็นจำนวน 12,200 ล้านบาท และ 14,900 ล้านบาท ตามลำดับ
.
ดังนั้น ผลของมติกรรมการบริษัทส่งผลให้ราคาหุ้นของ AOT ตกลงทันที 4.13% ขณะที่ตลาดหุ้นทั้งตลาดลดลง 3% มูลค่าหุ้นที่กระทรวงการคลังถือหายไปในวันเดียวเกือบ 30,000 ล้านบาท
.
แต่นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่กรรมการ AOT มีมติปรับเปลี่ยนเงื่อนไขสัญญาที่มีให้กับบริษัทที่ได้รับสัมปทานธุรกิจปลอดภาษีในสนามบิน เพราะครั้งแรกเกิดขึ้นในวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 กรรมการบริษัท AOT มีมติให้ลดค่าเช่าให้กับผู้ประกอบการธุรกิจปลอดภาษีในสนามบินเนื่องจากปัญหารายได้ลดลงจากนักเดินทางที่ลดลง
.
ทันทีที่กรรมการบริษัทมีมติลดค่าเช่า วันที่ 20 กุมภาพันธ์ หุ้นของ AOT ตกลงทันทีจากราคาปิด 67.75 บาทต่อหุ้น เหลือ 64.50 บาทต่อหุ้น หรือลดลง 4.8% ขณะที่ตลาดทั้งตลาดตกลงเพียง 0.95%
.
มูลค่าหุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่ลดลงทันที 32,500 ล้านบาท บริษัท หลักทรัพย์ ภัทร ประมาณว่าการลดค่าเช่าครั้งนี้ทำให้กำไร AOT ในปี 2563-2565 ลดลงรวม 22,536 ล้านบาท
.
ครั้งที่สองเกิดขึ้นในวันที่ 23 เมษายน 2563 เมื่อกรรมการบริษัท AOT มีมติให้งดเว้นการใช้อัตราผลตอบแทนตามสัมปทานใหม่ที่เพิ่งประมูลเสร็จกันไป ให้กลับไปใช้สัญญาค่าเช่าฉบับเดิมปี 2562 แทน
.
ทั้งสามครั้ง อ้างอิงผลกระทบที่ผู้ประกอบการได้รับจากสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19
.
ผมจำเป็นต้องให้เชิงอรรถไว้ว่า สัมปทานธุรกิจปลอดภาษีสนามบินฉบับที่ใช้อยู่ปัจจุบัน เพิ่งประมูลเสร็จไปเมื่อปีที่แล้วอย่างน่ากังขา กรรมการบริษัท AOT ประกาศผลการประมูลหลังการเลือกตั้งทั่วไปเดือนมีนาคม ก่อนที่จะเริ่มการทำงานของรัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎรชุดใหม่ ขณะที่ภาคประชาสังคมหลายส่วนรวมถึงสมาคมผู้ประกอบการการค้าปลีก เสนอแนะให้แยกสัญญาธุรกิจปลอดภาษีในสนามบินสุวรรณภูมิให้มีหลายสัญญาแบ่งตามประเภทสินค้า เหมือนสนามบินนานาชาติที่อื่นทั่วโลก เพื่อป้องกันการผูกขาดและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกันมากขึ้นเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนและประเทศชาติ แต่กรรมการบริษัท AOT ไม่ฟังข้อเสนอแนะนี้ และประมูลกิจการปลอดภาษีเป็นสัญญาเดียว
.
การประมูลสัญญาสัมปทานฉบับปัจจุบัน เสร็จสิ้นในเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว เป็นที่ทราบกันว่า กลุ่มบริษัทคิงเพาเวอร์ชนะประมูลสนามบิน ทั้ง 3 สัมปทาน คือ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง และ 3 สนามบินในหัวเมืองใหญ่ ได้แก่ ภูเก็ต หาดใหญ่ และเชียงใหม่
.
สัมปทานฉบับที่แล้วทำให้กลุ่มคิงเพาเวอร์กลายเป็นกลุ่มทุนขนาดใหญ่ภายในเวลาไม่กี่ปี กลุ่มคิงเพาเวอร์กำไรปีละเป็นหมื่นล้านจากธุรกิจปลอดภาษี เจ้าของบริษัทกลายเป็นมหาเศรษฐีระดับโลก โดยไม่ต้องสร้างนวัตกรรมใดๆ เลย เป็นที่รู้กันดีว่ากลุ่มคิงเพาเวอร์เป็นผู้สนับสนุนบริจาคเงินให้กับพรรคพลังประชารัฐ ซึ่งเสนอชื่อ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรี
.
เมื่อเกิดสถานการณ์โควิดขึ้น กลุ่มคิงเพาเวอร์ ได้รับการเยียวยาก่อนใคร ยาวนานกว่าใคร และมากกว่าใคร คาดว่ารายได้ของ AOT ที่หายไปจากการลดค่าเช่าและสัมปทานในรูปแบบต่างๆ ให้กลุ่มคิงเพาเวอร์จากมติกรรมการบริษัทสามครั้ง รวมแล้วไม่น่าจะต่ำกว่า 30,000 ล้านบาท นั่นหมายถึงเงินปันผลที่จะเป็นรายได้นำส่งคลังลดลง
.
ในขณะที่ประเทศกำลังอยู่ในภาวะที่ยากลำบากทางการคลัง กลับต้องกู้เงินถึง 2 ล้านล้านบาทในรอบสองปีงบประมาณเพื่อพยุงประเทศ อยากถามว่าประชาชนได้รับเงินเยียวยากันเท่าไหร่? ได้รับเพียงพอหรือไม่? แล้วมีประชาชนที่ไม่ได้รับการเยียวยาจำนวนมากเท่าใด? และในส่วนของเงินกู้ซอฟต์โลนเพื่อ SMEs มีผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยกี่แห่งที่ได้รับเงินช่วยเหลือนี้? หรือมีผู้ประกอบการที่ต้องตกหล่นจากมาตรการคัดกรองที่มีกฎเกณฑ์เป็นจำนวนมากของรัฐบาล? รวมทั้งใช้เวลานานแค่ไหนถึงเงินก้อนนี้จะไปถึงมือจริงๆ? มีลูกจ้าง พนักงาน กี่คนที่ถูกลดเวลาการทำงาน ถูกเลิกจ้าง? มีนักเรียนนักศึกษากี่คนที่ต้องออกจากระบบการศึกษาเพราะไม่มีเงินเรียนต่อ? จนถึงตอนนี้ทุกคนก็ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเยียวยามากเพียงพอ ถ้วนหน้าและทั่วถึงอย่างที่ควรจะเป็น
.
แต่กลุ่มคิงพาวเวอร์ได้รับการเยียวยาตั้งแต่วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563 ทั้งๆ ที่ช่วงเวลานั้นยังไม่ได้ล็อกดาวน์ประเทศเลยด้วยซ้ำ และการช่วยเหลือคิงพาวเวอร์บางเงื่อนไขยาวนานถึงเดือนมีนาคม 2565
.
วันนี้กระทรวงคมนาคม ซึ่งเป็นกระทรวงต้นสังกัด กำกับดูแล AOT เข้ามาชี้แจงการใช้งบประมาณปี 2564 ในกรรมาธิการพิจารณางบประมาณพอดี ผมได้ตั้งคำถามกับปลัดกระทรวงในเรื่องนี้, ขอเอกสารที่เกี่ยวข้อง และเสนอให้ปลัดกระทรวงลองหาวิธีที่จะนำเรื่องการผ่อนผันค่าเช่าและสัมปทานกลับมาพิจารณาในที่ประชุมกรรมการบริษัทอีกครั้ง ทั้งนี้หากได้รับความคืบหน้าอย่างไร จะนำมาแจ้งให้พี่น้องประชาชนผู้เป็นเจ้าของเงินภาษีและเป็นผู้ทรงสิทธิสูงสุดของประเทศนี้ทุกท่านให้ได้รับทราบ
.
ประเทศไทยเป็นประเทศที่น่าอยู่สำหรับคนรวยและคนมีอำนาจ
.
ประเทศที่เฮโรอีนถูกเสกให้เป็นแป้ง โคเคนถูกเสกให้เป็นยารักษาฟัน
.
เวลาที่ยากลำบากเช่นนี้ เป็นเวลาที่จะพิสูจน์ว่า เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริงหรือไม่ เราจริงจังกับการลดช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยจริงหรือไม่ สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่คำพูด แต่ต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ
.
ผมไม่เห็นการกระทำหรือการแสดงออกใดๆ จากรัฐบาลสืบทอดอำนาจภายใต้การนำของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เลย
.
#คิงพาวเวอร์ #งบประมาณ #AOT