วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 14, 2563

มาแร้วคลิปเต็ม... Exclusive: ทักษิณ ชินวัตร กับการรักษาระยะห่างทางการเมืองในยุคโควิด-19 - BBC News ไทย









https://www.youtube.com/watch?v=UrwokAoIB9E

"วันนี้ผมไม่พูดเรื่องการเมืองนะ" นายทักษิณ ชินวัตร ทักทายกับทีมงานบีบีซีไทยย้ำถึงเงื่อนไขการให้สัมภาษณ์กับเราอีกครั้ง หลังจากการให้สัมภาษณ์ที่ฮ่องกงเมื่อปลายเดือน มี.ค. ปีที่แล้ว

แม้จะพูดเช่นนั้น ทว่าเมื่อต้นเดือนนี้ ชื่อของเขาปรากฏเป็นเจ้าภาพในงานสวดอภิธรรมศพผู้หญิงคนหนึ่งที่จบชีวิตตัวเอง โดยก่อนตัดสินใจดังกล่าว เธอได้โพสต์ภาพวาด พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ทางเฟซบุ๊ก และเล่าเรื่องราวความยากลำบากในชีวิตที่ต้องเผชิญท่ามกลางวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19

"ผมมันตกจอไปนานแล้ว เอาผมมาออกทำไม ผมมันโนเนมไปแล้ว"

คำอธิบายต่อมาจากเจ้าของภาพใบหน้ายิ้มชื่นที่ปรากฏอยู่บนขวดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือซึ่ง ส.ส.พรรคเพื่อไทยหลายคนนำออกแจกจ่ายในหลายพื้นที่ทางภาคอีสาน บนขวดพลาสติกใสมีข้อความ "เป็นห่วงพี่น้องชาวไทยจากใจ❤❤" เขียนด้วยลายมือพร้อมลายเซ็นกำกับชื่อ สำทับด้วยตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ปรากฏหรา ขวดเจลแอลกอฮอล์ล้างมือชนิดเดียวกันยังมีรุ่น "ภาพคู่พี่น้อง" ของนายทักษิณ กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ออกแจกจ่ายด้วย

บีบีซีไทยพบกับเขาที่บ้านพักในทำเลทองใจกลางกรุงลอนดอนเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา 14 เดือน หลังจากบุคคลที่ได้ชื่อเป็น "นายใหญ่" ของสมาชิกตั้งแต่ระดับปลายแถวยันแกนนำของพรรคไทยรักษาชาติ เดินเกมการเมืองพลาด ถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรค ทำให้อนาคตทางการเมืองของคนหนุ่มสาวหลายคน ต้องถูก "เว้นวรรค" และทำให้เขาต้องถูกวิจารณ์ว่าไม่รู้จัก "ที่ต่ำ ที่สูง" ทั้งยังต้องการ "ดึงฟ้าต่ำ"

และยังเป็นการให้สัมภาษณ์ที่เกิดขึ้นเพียงไม่นานหลังจากคณะทำงานในสำนักงานอัยการคดีศาลสูง สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) มีมติไม่ยื่นอุทธรณ์คดีฟอกเงินของนายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย และได้ส่งเรื่องไปยังกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ซึ่งล่าสุด นสพ.ไทยโพสต์รายงานว่าดีเอสไอ มีความเห็นแย้งคำสั่งไม่อุทธรณ์คดีดังกล่าว

นายทักษิณ วันนี้ดูสงวนท่าทีกว่าเมื่อ 1 ปีก่อน ในการตอบคำถามเกี่ยวกับบ้านเมืองและรัฐบาล

เมื่อถูกขอให้มองภาพการแก้ปัญหาโรคโควิด-19 ของไทยเขาจึงเริ่มต้นด้วยการชื่นชมไทยว่ามีอัตราการเสียชีวิตต่ำ แต่เขาเชื่อว่านั่นเป็นเพราะระบบสาธารณสุขที่เข้มแข็งอยู่ก่อนแล้ว

"ผมเป็นห่วงเรื่องการตรวจ เพราะถ้าเราตรวจน้อย เราพบน้อยแน่นอน แต่การตรวจก็ไม่จำเป็นต้องตรวจทั้งหมดซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง สามารถใช้ทฤษฎีเรื่องการสุ่มตรวจในกลุ่มเสี่ยงบางกลุ่มได้"

เขาบอกว่าเฝ้าติดตามการแก้ปัญหาการระบาดใหญ่ของไวรัสตัวนี้อย่างใกล้ชิด สอบถามที่ปรึกษา นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ และนักวิชาการอยู่ตลอดเวลา จนเชื่อว่าเขาเข้าใจเชื้อโรคและการระบาดนี้ได้ดีพอควร

เขาเห็นผู้นำหลายชาติในโลก "ไม่เข้าใจเชื้อโรคนี้อย่างแท้จริง" จึงแก้ปัญหาโดยไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบทางเศรษฐกิจ และหากเขาได้มีโอกาสแก้ปัญหาประเทศตอนนี้ก็จะ "ไม่ล็อกดาวน์"

อดีตนายกรัฐมนตรีที่เคยเผชิญวิกฤตการระบาดของไข้หวัดนกในช่วงปี 2547-2548 บอกว่าได้ศึกษาเกี่ยวกับเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคไข้หวัดนกและโรคซาร์สที่เคยระบาดครั้งแรกในไทยเมื่อปี 2546 และไวรัสที่ทำให้เกิดโรคโควิด-19 แล้ว เขาเชื่อว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไม่ได้ร้ายแรงมากไปกว่าเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคซาร์ส ดังนั้นจึงมองมาตรการล็อกดาวน์กับการเพิ่มระยะห่างทางสังคมที่รัฐบาลทั่วโลกกำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ได้ไม่คุ้มเสีย และหากมีอำนาจเขาจะ "คลายเรื่องของการล็อกดาวน์ทันที"

"เรามาดูทั้งโลกติด (โรคโควิด-19) แล้ว 3 ล้านกว่าคน จากประชากรโลก 7 พันล้านคน…ถือว่าเป็นเปอร์เซ็นต์ต่ำมาก… เรากำลังเอาเปอร์เซ็นต์ต่ำนี้มาแลกกับเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อคนโดยเฉพาะ ในประเทศกำลังพัฒนาที่ไม่มีแรงอุดหนุนอะไรมากมาย ถามว่าคุ้มไหม ผมว่าไม่คุ้ม…คนข้างล่างเขาจะถามว่าถ้าไม่ติดโคโรนา ถ้าอดตายละ…ทั่วโลกนี่ต้องคิดว่ายังมีคนที่ไม่มีเงินออมและมีหนี้ครัวเรือนจำนวนมาก จะให้เขาเสียสละอย่างไร"

ความผิดพลาดในอดีต

พูดง่ายแต่ทำยากน่าจะเป็นคำพูดที่เหมาะสมสำหรับคนดูไม่ใช่คนแก้ปัญหาอย่างนายทักษิณในวันนี้ เพราะในช่วงที่เกิดอุทกภัยใหญ่ในภาคใต้ปลายปี 2548 ไม่ถึงปีก่อนที่รัฐบาลของเขาจะถูกทำรัฐประหาร เขาเองถูกกล่าวหาว่าให้ความช่วยเหลือคนในจังหวัดภาคใต้ไม่เพียงพอและไม่ทันท่วงที

หรือย้อนไปสองปีก่อนหน้านั้น รัฐบาลของเขาในยุคที่มีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และนายวัฒนา เมืองสุข "ลูกเขยเจ้าสัว" ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ถูกวิจารณ์ว่าปกปิดข้อมูลการระบาดของไข้หวัดนก ซึ่งถึงวันนี้นายทักษิณยังปฏิเสธว่าไม่ใช่การปกปิด แต่เป็นเพราะหน่วยงานรัฐรายงานข้อมูลโดยไม่ประสานงานกันในช่วงแรก

แต่นายจักรภพ เพ็ญแข โฆษกรัฐบาลในยุคนั้นเพิ่งออกมาเตือนความจำด้วยการโพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ว่าเขาเองที่ยอมรับต่อหน้าสื่อต่างชาติว่า รัฐบาล "ทำพลาดไป" ในการแก้ปัญหาโรคระบาด ซึ่งนั่นได้ทำให้การแก้ไขปัญหาทำได้สำเร็จ

ช่วยไม่ได้มาก

วันนี้คนในภาคอีสานอาจกำลังบีบขวดเค้นเจลแอลกอฮอล์ล้างมือรุ่นที่มีข้อความ "คนแดนไกลห่วงใยประชาชน" อยู่ข้างขวด

และวันนี้ "คนแดนไกล" คนนั้นก็ยังชวนให้น่าเชื่อว่ารู้สึกเห็นใจคนจนที่ต้องหาเช้ากินค่ำที่เมืองไทย แต่มหาเศรษฐีอันดับที่ 16 ของไทย บอกว่า "ผมคงไม่สามารถจะช่วยคนเป็นล้าน ๆ คนได้ แต่ก็ช่วยตามกำลังตามน้ำใจ เช่น ไปช่วยตามโรงพยาบาล ซื้อชุดพีพีอี ซื้อเครื่องช่วยหายใจ ซื้อหน้ากากให้บ้าง ส่วนชาวบ้านนี่บางทีพวกมีกิจกรรมทั้งหลาย ก็ขอร่วมบริจาค ไปทำกับข้าวเลี้ยงคนบ้าง เอาตังค์ไปแจกร้อยสองร้อยอะไรแบบนี้ ขอให้ผมบริจาคร้อยสองร้อย ผมก็ช่วยบริจาคกองนั้นกองนี้บ้าง ผมก็ทำได้แค่นี้ละครับ"

เมื่อถามว่านั่นเป็นเพราะเขารู้ว่าคนไทยได้ "ก้าวข้าม" ทักษิณ ชินวัตร ไปแล้วหรือไม่ คำตอบที่สวนกลับมาทันควันคือ "สาธุ ขอให้เป็นจริงเถิด"

มหาเศรษฐีหกหมื่นล้านปฏิเสธว่าการที่ชื่อของเขาปรากฏเป็นเจ้าภาพงานศพตามที่เขาบอกว่าเป็นการจัดแจงของ ส.ส.ในพื้นที่ หรือการมีทั้งชื่อและภาพอยู่บนขวดแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรคนั้นไม่ได้เป็นเพราะเขาต้องการกลับมาอยู่ในจุดสนใจอีกครั้ง ตรงกันข้ามเขาเชื่อว่าก้าวย่างใด ๆ ต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง ไม่ให้ถูกมองได้ว่าเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง

แต่เมื่อเปรียบเทียบให้เห็นว่าความช่วยเหลือที่เขาให้กับคนรากหญ้าที่เคยเป็นฐานเสียง ดูจะห่างไกลกับมหาเศรษฐีหมื่นล้านที่อายุการทำงานในสภาสั้นกุดอย่างนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ที่ผลิตและมอบอุปกรณ์ทางการแพทย์มูลค่าหลายแสนบาทต่อเครื่องให้โรงพยาบาลหลายแห่ง นายทักษิณกลับมองว่าเป็นการกระทำที่จะส่งผลดีต่ออนาคตทางการเมืองของผู้นำคณะก้าวหน้า

"ธนาธรก็ยังหนุ่ม มีอนาคตทางการเมืองก็มีมาก แม้จะถูกลงโทษไปบ้าง ก็คิดว่าได้ทำก็เป็นสิ่งที่ดีเพราะตอนนี้คนไทยต้องช่วยกันทุกฝ่าย"

อยากกลับไทย ?

เมื่อกลาง ก.พ.ที่ผ่านมา นายนคร มาฉิม รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย เปิดเผยผ่านการสัมภาษณ์ทางโซเชียลมีเดียช่องหนึ่งว่า นายทักษิณอยากกลับประเทศไทย ผ่านการเรียกร้องของประชาชน และความเมตตาของผู้มีบารมีในประเทศ

"เราก็รู้ ๆ อยู่มันมีเงื่อนไขอยู่" เขาบอก ทั้งสำทับว่า "คนรักประชาธิปไตย"อยู่ที่ไหนก็อยู่ได้ แต่ถึงอย่างนั้นนายทักษิณยังพูดในเชิงเหน็บแนมอีกว่า "วันนี้ยังเป็นคนไทยที่เขาไม่ให้เป็นคนไทยอยู่แล้ว พาสปอร์ตไทยก็ไม่มี อยู่เมืองนอก ก็ทำในฐานะคนเคยเป็นนายกฯ มีคนเคยสนับสนุนเรามากมาย เราก็เป็นห่วงเขา (ชาวบ้าน) เท่านั้นเอง"

อดีตนายกรัฐมนตรีที่ยังมีคดีความรอเขากลับมาพิสูจน์ความบริสุทธิ์อีกอย่างน้อย 6 คดี ต้องอยู่ในต่างประเทศในฐานะพลเมืองของชาติที่ตัวเองไม่ได้ถือกำเนิด แม้จะยืนกรานว่าไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่เขาก็ไม่ปฏิเสธเรื่องที่บรรดา ส.ส.อีสานของพรรคเพื่อไทยยังคงทำหน้าที่สื่อกลางนำความช่วยเหลือจากเขาลงไป"แจกจ่าย"ในพื้นที่

"ก็ทำแบบเงียบ ๆ อะไรทำได้ก็ทำไป ผมเดือน ๆ หนึ่งก็ค่าใช้จ่ายสูง เลยต้องมาทำมาหากินที่ลอนดอน เดี๋ยวไม่พอกิน"

ทำกับข้าวฆ่าเวลา

การทำมาหากินในช่วงวิกฤตโควิด-19 ของนายทักษิณ หมายถึงการเดินทางด้วยเครื่องบินส่วนตัวจากประเทศหนึ่งไปอีกประเทศหนึ่งเพื่อเจรจาธุรกิจ เขาคาดว่าอีกไม่นานยอดขายเครื่องบินส่วนตัวจะเพิ่มสูงขึ้นสวนทางกับธุรกิจของสายการบินที่กำลังดิ่งลง "เพราะบริษัทขนาดใหญ่กลัวไม่อยากให้ผู้บริหารระดับสูงไปติดเชื้อโรคทางเดินหายใจบนเครื่องบิน"

ในเวลานี้ อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 70 ปี ใช้แอปพลิเคชั่น Zoom ในการประชุมทางธุรกิจ และพูดคุยกับครอบครัวทางเมืองไทย แต่นั่นก็ยังไม่พอ "ฆ่าเวลา" ที่มีอยู่เหลือเฟือ "ผมก็ต้องทำกับข้าว คิดค้นดัดแปลงสูตรใหม่ ๆ เรียกได้ว่าล้างตู้เย็นเอาของที่แช่แข็งไว้มาทำทานได้ไม่ซ้ำกันสักวัน"

โชค ทาง ธุรกิจ ใน ลอนดอน

ในขณะที่การเดินทางของคนทั่วโลกกำลังหยุดชะงัก แต่นั่นไม่ใช่อุปสรรคของมหาเศรษฐี นายทักษิณบินข้ามฟ้าจากดูไบมาลอนดอน เพื่อมาดูธุรกิจที่ลงทุนไว้และกำลังไปได้สวย อุปกรณ์ตลับเล็ก ๆ ที่ใช้ตรวจดีเอ็นเอของผู้ใช้ ได้รับการปรับปรุงให้ใช้ตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ได้ และหน่วยงานด้านสาธารณสุขของอังกฤษ ได้สั่งซื้อไปหลายพันชิ้นเพื่อใช้ในการตรวจหาผู้ติดเชื้อ

เมื่อถามเขาว่า สนใจที่จะส่งเครื่องมือนี้กลับไปให้ประเทศไทยใช้หรือไม่ นายทักษิณ ตอบว่าหากได้รับ "CE marking" หรือเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสุขภาพ ความปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากทางการอังกฤษ ราวเดือนมิถุนายนแล้ว "แน่นอนผมยินดีที่จะให้เครื่องมือนี้ไปเป็นประโยชน์ต่อสาธารณสุขของไทย ไปช่วยตรวจคนไทยหาเชื้อโควิดในขณะนี้"