และแล้วการระบาดของโควิด-๑๙ในไทยก็เป็นไปตาม
‘Trajectory’ หรือแนวตั้งเส้นกร๊าฟ
จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งนับแต่รัฐบาลประกาศบังคับใช้มาตรการฉุกเฉินมาครบอาทิตย์
ประยุทธ์สั่งแล้วให้ยกระดับความเข้มข้น
แม้นว่าการบังคับใช้
พรก.สถานการณ์ฉุกเฉินในรอบแรกนี้จะยังมีเวลาถึงวันที่ ๓๐ เมษายน แต่ศูนย์ฉุกเฉินโควิด-๑๙
ก็กำหนดแล้วเช่นกันว่าจะต่ออายุการบังคับใช้ไปอีกครั้งละ ๑ เดือน จนครบสามเดือนตามแผนแรกเริ่มที่ได้ขอมติคณะรัฐมนตรี
ประยุทธ์พูดเลยเมื่อวานซืน “ยังไม่มีแนวโน้มจะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน
เว้นแต่ให้ไปพิจารณาว่าอะไรทำแล้วได้ผลและดีขึ้น” ก็อาจมีการผ่อนผัน “แต่หากไม่ดีขึ้นก็จะเข้มข้นมากยิ่งขึ้น”
ซึ่งก็เริ่มแล้วด้วยการสั่งห้ามเปิดขายอาหารและบริการตั้งแต่เที่ยงคืนถึงตีห้า
และ “หากยังมีการเคลื่อนย้ายจำนวนมากอยู่ในปัจจุบัน”
ต่อไปก็ต้อง “ลดการให้บริการทั้งหมด รถไฟฟ้า รถโดยสาร รถไฟ รถเมล์...ถ้าไม่เรียบร้อยอีกก็หยุดบริการทั้งหมดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายไปมา”
นี่ก็หวังว่าน่าจะเป็นในอีกไม่กี่วันหรืออาทิตย์หน้า
จากภาพที่ Richard Barrow @RichardBarrow
สื่ออิสระ ‘expat’ จากอังกฤษนำลงบนทวิตเตอร์เมื่อวาน
เรือด่วนคลองแสนแสบคนโหนแน่น “ถ้าสภาพการณ์เช่นนี้เป็นไปอย่างกว้างขวาง
เราอย่าหวังเลยว่าจะหยุดยั้งการแพร่ระบาดยิ่งขึ้นของโควิด-๑๙ได้”
อีกภาพที่เขาเอามาแชร์เป็นสภาพรถติดดังปกติยามเช้าตรงพระโขนง
ซึ่งมีคนไปคอมเม้นต์ว่า “คำขอร้องให้เก็บตัวอยู่กับบ้านมันมากนักหรือ” sohil gilani @slippedchest
ต่อยอดคำของบาร์โรว์ที่ว่า “คุณจะพินิจเช่นไร มีการปฏิบัติตามระเบียบรักษาระยะห่างบ้างไหม”
จากที่ Thanapol Eawsakul เอาไปแซวว่า
“เราจะอยู่ในสภาวะฉุกเฉินจนเป็นเรื่องปกติ ส่วนสภาวะปกติกลายเป็นข้อยกเว้น...และแน่นอนว่าเมื่อครบ
๓๐ เมษายน ๒๕๖๓ ก็จะขยายต่อไปอีกเรื่อย ๆ” ตีความได้สองทาง
หนึ่งนั่น ‘ภาวะฉุกเฉิน’
เป็นความเคยชินของประชาชนเสียจนมาตรการยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสด้วยการรักษาระยะห่างทางกายภาพ
(๒ เมตร หรือ ๖ ฟุต) ที่ทั่วโลกเชื่อว่าได้จะผลจริง ไม่มีความหมายสำหรับชาวไทย
อีกทางเป็นอย่างที่ ‘เดอะนิวยอร์คไทมส์’ ระบุไว้เมื่อวันก่อน “รัฐบาลบางแห่งฉวยโอกาสใช้วิกฤตทางสาธารณสุขเป็นเครื่องบังหน้าเพื่อกระชับอำนาจเบ็ดเสร็จ
ทั้งที่เกี่ยวเนื่องกับการระบาดของเชื้อโรคไม่มากนัก”
บทความเมื่อ ๓๐ มีนาคม
ยกตัวอย่างประเทศฮังการี อิสรเอล จอร์แดน ชิเล สิงคโปร์ ฟิลิปปีนส์ และไทย
โดยอ้างความเห็นของนางโอเลน ตัวแทนพิเศษสหประชาชาติว่า “มีรัฐบาลประเภทที่เตรียมรูปแบบการใช้อำนาจพิเศษไว้รอสวมสถานการณ์ฉุกเฉิน”
ก็มี
“มันไม่มีความชัดเจนใดๆ
ว่าหลังจากวิกฤตผ่านไปแล้ว กฎหมายบังคับใช้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินจะกลายเป็นอะไรต่อไป”
ประธานศูนย์กฎหมายนานาชาติ ดักลาส รัทเซ็น ถึงกับชี้ว่า “มันง่ายยิ่งนักที่จะสร้างกฎหมายฉุกเฉินขึ้นมาบังคับ
พอจะยกเลิกก็แสนยาก”
ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีไทยพูดไว้แล้วเมื่อประกาศใช้อำนาจในสถานการณ์ฉุกเฉิน ว่าให้ประชาชนระวังในเรื่องการสื่อสาร
อย่าได้ให้มากระทบความมั่นคง (ของรัฐบาล) เชียวนะ เช้านี้รองนายกฯ สมคิด
จาตุศรีพิทักษ์ ฝ่ายการคลังและตลาดหุ้น
เพื่อเร่งรัดข้อเสนอออก พรก.กู้เงินต่อคณะรัฐมนตรีในวันพรุ่งนี้
(๓ มีนา) เป็นจำนวนหลายแสนล้าน “เพื่อใช้ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ” ซึ่งเดิมกำหนดว่าจะกู้ประมาณ
๒ แสนล้านบาท มาถึงขณะนี้ไม่พอเสียแล้ว อ้างว่ามาตรการเยียวยาคนตกงาน ‘ฮิต’ เกินคาด
เดิมที “โครงการแจกเงินช่วยเหลือ ๕,๐๐๐ บาท เป็นเวลา ๓ เดือน เตรียมงบประมาณไว้ ๔.๕ หมื่นล้านบาท
เพราะคาดว่าจะมีผู้ได้สิทธิ ๓ ล้านคน” แต่ปรากฏว่าขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนไว้แล้ว ๒๒
ล้านราย คิดว่าจะมีคนได้สิทธิราว ๙ ล้านคน
ดังนั้นจะต้องใช้งบประมาณสำหรับรายการ #เราไม่ทิ้งกัน ถึง ๑ แสนล้านบาทเข้าไปแล้ว ฉะนั้นกู้แค่ ๒ ล้านไม่พอ
เพราะทางรัฐมนตรีคลังเขียนใบเบิกจ่ายเอาไว้ว่า “มาตรการดูแลเศรษฐกิจชุดที่ ๓ จะดูแลทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจ
ทั้งประชาชน ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี
ผู้ประกอบการรายใหญ่ ตลาดการเงิน และตลาดหุ้น” ครบวงจร นี่ถ้าเป็นสถานการณ์ปกติ
อย่างน้อยๆ ส.ส.ฝ่ายค้านในสภาได้ซักค้านกันแหลก บริหารประสาอะไร
งบประมาณก็ตั้งเกินดุลไว้แล้วเยอะแยะ ยังจะกู้พิเศษอีก