วันเสาร์, มีนาคม 14, 2563

ท่ามกลาง วิกฤติศรัทธาที่หนัก! บริหารสถานการณ์ไร้ประสิทธิภาพ ทำไม "กองเชียร์ลุง" ยังหลงเหลือ ?



"พล.อ.ประยุทธ์อย่าว่าแต่20ปี อีกไม่กี่เดือนแกก็อยู่ไม่ไหว แถมดันมัดตัวเองไว้กับเก้าอี้จนแน่นเกินไป"
.
สนทนา ศ.เกษียร เตชะพีระ
.
หาเหตุและผลว่าทำไมยังหลงเหลือ "กองเชียร์ลุง" ?
ท่ามกลาง วิกฤติศรัทธาที่หนัก! บริหารสถานการณ์ไร้ประสิทธิภาพ
...


รัฐไทยกำลังล้มเหลว แต่รัฐบาลมั่นคง (A failing state with a stable government)
%%%
ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ และรัฐราชการไทย (Thai bureaucratic polity) ขึ้นเถลิงอำนาจเด่นชัดนับแต่รัฐประหาร พ.ศ. ๒๔๙๐ เป็นต้นมา (พ้นจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ไม่เปลี่ยนไปเป็นประชาธิปไตย)
ปมปัญหาเชิงโครงสร้างของรัฐราชการไทยคือ:
-รวมศูนย์สูง (overcentralized)
-แต่กลับด้อยเอกภาพ (underunified)
-เหมือนพีระมิดที่แตกเป็นเสี่ยง (a fragmented pyramid-like state structure)
ต่างหน่วยกรมกองราชการก็สร้างเขตอำนาจกึ่งอิสระของตนเองและปฏิบัติกับหน่วยงานและเขตอำนาจของตนเหมือนรัฐเล็ก ๆ ส่วนตัว (personal statelet) ที่ซึ่งตำแหน่งหน้าที่เขตอำนาจส่วนรวมกับเจ้ากรมส่วนตัวปะปนคละเคล้าสับสนกัน (อ.ชัยอนันต์ สมุทวณิชเรียกว่า "กรมาธิปไตย") ไม่แบ่งแยก public/private เด็ดขาดชัดเจน เกิดเป็นรัฐราชสมบัติหรือรัฐราชูปถัมภ์ขนาดย่อย (กระบวนการ "กินเมือง" หรือ patrimonialization)
การบ่ายเบี่ยงปัดความรับผิดชอบ คิดคำนึงถึงแต่ภาระหน้าที่ งบประมาณ ผลประโยชน์ และอำนาจเฉพาะหน่วยงานตนเหมือนเป็นจักรวรรดิเฉพาะส่วน ไม่มีภาพรวมของทั้งหมด ไม่คำนึงถึงส่วนรวมระดับชาติ ยึดเป้าหมายและความรับผิดชอบเฉพาะของส่วนงานตนเป็นที่ตั้ง การฉวยโอกาสฉ้อฉลหาประโยชน์ทุจริตคอร์รัปชั่นแม้ในยามประชาชนเดือนร้อนประเทศชาติประสบภัยพิบัติคับขัน จึงเป็นอาการประจำตัวของรัฐราชการไทย
ที่เรากำลังเห็นท่ามกลางวิกฤตโควิด-๑๙ คือการแสดงออกอย่างรวมศูนย์รวบรัดที่สุดของกลุ่มอาการ (bureaucratic polity symptoms) ดังกล่าว (เหมือนตั้งกล้องนิ่งถ่ายหนังแช่ทิ้งไว้ยาวนานแล้วมาฉายแบบเดินฟิล์มรวบเร็ว) ดังนั้นอาการป่วยของรัฐราชการไทยที่ปกติจะปะทุอย่างกระจัดกระจายรายปลีกหรือทิ้งช่วงจังหวะห่างจากกัน จึงมากำเริบระเบิดเถิดเทิงขึ้นอย่างรวมศูนย์ทยอยยิบติดกันในเวลากระชับสั้น ให้เราได้เห็นและรู้จักตัวตนธาตุแท้ของรัฐราชการไทยกับหูกับตา
คสช.ไม่ได้แก้ไขปัญหาหยั่งรากลึกของรัฐราชการเหล่านี้ แต่กลับทำให้มันหนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก ด้วยการเล่นพรรคเล่นพวกไม่ต่างจากรัฐบาลเสื้อสีก่อนหน้านั้นและข้ามกฎระเบียบกระบวนการขั้นตอนเกณฑ์พิจารณาแต่งตั้งเลือกเลื่อนโยกย้ายตามปกติด้วยอำนาจพลการของหัวหน้า คสช. ตาม ม. ๔๔ ซึ่งยิ้งซ้ำเติมให้รัฐราชการไทยแตกเป็นเสี่ยงอ่อนเปลี้ยปวกเปียกยิ่งขึ้น (ดังงานวิจัยของอ.ประจักษ์ ก้องกีรติกับอ.วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร) กล่าวคือ คสช.ออกกฎหมายเพิ่มอำนาจให้รัฐราชการมากขึ้นกว้างขวางออกไป แต่ขณะเดียวกันก็บั่นทอนสมรรถภาพของรัฐราชการให้เสื่อมถอยด้อยลงไปอีก (อำนาจยิ่งมากขึ้น สมรรถภาพกลับยิ่งต่ำลง เฮ้อ)
ในระบบโครงสร้างที่ไม่มีเสรีภาพที่จะทำดี แต่ส่งเสริมให้คนทำไม่ดีแบบนี้ ทางออกของคนดีที่ซื่อตรงมีไม่มาก ถ้าไม่ลาออกก็เอาชีวิตเป็นบัดพลีเข้าประท้วงความเลวร้ายบัดซบของระบบ ดังที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้.....
ส่วนความมั่นคงของรัฐบาลประยุทธ์ในปัจจุบันก็เกิดจากรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อพวกท่าน ส.ว.โหวตเลือกนายกฯ-ขวางการแก้รธน. ๒๕๐ คน และองค์กรอิสระที่สำนึกรู้ว่าผู้แต่งตั้งตนมาต้องการให้ทำอะไร มั่นคงชนิดที่ชนะมติไม่ไว้วางใจในสภา และไม่อาจรัฐประหารลงได้นอกสภานั่นแหละครับท่าน