วันพุธ, มีนาคม 04, 2563

การประกาศซื้อตัว ส.ส. แบบ ‘โจ๋งครึ่ม’ กลางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ สามารถทำได้หรือไม่ ? สำนักข่าวอิศรา มีคำตอบ



ประเด็นที่น่าสนใจคือ การย้ายพรรคของ ส.ส. ที่พรรคถูกยุบต้องดำเนินการอย่างไรตามกฎหมาย และการประกาศซื้อตัว ส.ส. แบบ ‘โจ๋งครึ่ม’ กลางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ สามารถทำได้หรือไม่ ?

สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) มีคำตอบ ดังนี้

หนึ่ง ประเด็นการย้ายพรรคของ ส.ส. ที่พรรคถูกยุบต้องทำอย่างไร ?

รัฐธรรมนูญ มาตรา 101 (10) ระบุว่า สมาชิกภาพของ ส.ส. สิ้นสุดลง เมื่อขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืออง แต่ในกรณีที่ขาดจากการเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองเพราะมีคำสั่งยุบพรรคการเมืองที่ ส.ส. ผู้นั้นเป็นสมาชิก และ ส.ส. ผู้นั้นไม่อาจเข้าเป็นสมาชิกของพรรคการเมืองอื่นได้ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่มีคำสั่งยุบพรรคการเมือง ในกรณีเช่นนี้ ให้ถือว่าสิ้นสุดสมาชิกภาพนับแต่วันถัดจากวันที่ครบกำหนด 60 วันนั้น

หมายความว่า หากพรรคการเมืองใดถูกยุบพรรค ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองนั้น มีสิทธิย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ได้ภายใน 60 วัน หากเกินกว่านั้น จะสิ้นสภาพความเป็น ส.ส.

ดังนั้นในกรณีของพรรคอนาคตใหม่ ส.ส. ที่ยังเหลืออยู่จึงสามารถย้ายสังกัดพรรคได้อย่าง ‘เสรี’ แล้วแต่จะเลือก แต่ต้องดำเนินการภายใน 60 วัน

อ่านรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกอบ : http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2560/A/040/1.PDF

สอง การประกาศซื้อตัว ส.ส. แบบ ‘โจ๋งครึ่ม’ กลางสภาผู้แทนราษฎรแห่งนี้ สามารถทำได้หรือไม่

ตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ. 2560 พบว่า มีอย่างน้อย 2 มาตรา บัญญัติโทษเกี่ยวกับการซื้อตัว ส.ส. เอาไว้ ดังนี้

มาตรา 30 ห้ามมิให้พรรคการเมืองหรือผู้ใดให้ เสนอให้ หรือสัญญาว่าจะให้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ไม่ว่าโดยทางตรงหรือโดยทางอ้อม เพื่อจูงใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใด สมัครเข้าเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เว้นแต่สิทธิหรือประโยชน์ซึ่งบุคคลจะพึงได้รับในฐานะสมาชิก

มาตรา 31 ห้ามมิให้ผู้ใดเรียก รับ หรือยอมจะรับเงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด จากพรรคการเมืองหรือจากผู้ใดเพื่อสมัครเข้าเป็นสมาชิก

ส่วนบทลงโทษเป็นไปตามมาตรา 109 ระบุว่า ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 30 หรือ 31 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 5 ปี

ถ้าความผิดตามวรรคหนึ่ง เป็นการกระทำเพื่อให้ลงหรือขอลงสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของผู้นั้น

นอกจากนี้การกระทำความผิดดังกล่าวอาจถึงขั้นถูก ‘ยุบพรรค’ ได้ โดยตามมาตรา 92 แห่ง พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ระบุว่า เมื่อ กกต. มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองใดกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ ให้ยื่นศาลรัฐธรรมนูญยุบพรรคการเมือง (3) กระทำการฝ่าฝืนมาตรา 20 วรรคสอง มาตรา 28 มาตรา 30 มาตรา 36 มาตรา 44 มาตรา 45 มาตรา 46 มาตรา 72 หรือมาตรา 74

เมื่อศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการไต่สวนแล้ว มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าพรรคการเมืองกระทำการตามวรรคหนึ่ง ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองนั้น

อ่าน พ.ร.บ.พรรคการเมืองฯ ปี 2560 : https://www.ect.go.th/ect_th/download/article/article_20171031151304.pdf

นั่นหมายความว่า หากมีหลักฐานเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า มีการใช้เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใด ในการ ‘ซื้อตัว’ ส.ส. กันจริง ทั้ง ‘ผู้ให้’ และ ‘ผู้รับ’ จะต้องมีความผิดตามมาตรา 30 และ 31 โดยโทษสูงสุดคือติดคุก ส่วนโทษทางการเมืองคือพรรคที่ซื้อตัวอาจถูกยุบได้ด้วย ?

อย่างไรก็ดีประเด็นที่จะสืบสวนได้คือ ต้องมีหลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า มีการซื้อตัวเกิดขึ้นที่ไหน อย่างไร จ่ายเงินผ่านกันทางไหน ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่ค่อนข้างยากลำบากพอสมควร หากไม่มีใครคนใดคนหนึ่งระหว่าง ‘ผู้ซื้อ’ กับ ‘ผู้ขาย’ ปูดข้อมูลขึ้นมาเอง ?

เบื้องต้นองค์กรเครือข่ายภาคทุจริตภาคประชาชนนครราชสีมา ยื่นเรื่องร้องเรียนผ่าน กกต.นครราชสีมา ถึง กกต.ส่วนกลาง ให้ดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้แล้ว

บทสรุปจะเป็นอย่างไร ต้องรอติดตามกันต่อไป !

ที่มา
https://www.isranews.org/isranews-scoop/86114-isranewss-86114.html