กระทรวงหมอส่ายหัว “เสี่ยหนู”
เมื่อ รมต.สาธารณสุข
ไม่ได้ถูกแต่งตั้งเพื่อรับมือกับปัญหา “สาธารณสุข”
•
•
เข้าสู่เดือนที่ 2 ของการระบาดของโรคโควิด-19 เสียงบ่นของคนกระทรวงสาธารณสุข ที่ส่งผ่านไปถึงผู้บริหาร อย่างอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ก็ดูจะดังมากขึ้นเรื่อย ๆ
•
สิ่งสำคัญก็คือต้นทุนของการเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก เริ่มจะหมดไป เพราะคนที่อยู่ “หน้างาน” ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่ด่านควบคุมโรค หมอ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงพยาบาลเอกชน ล้วนต้องทำงานหนัก หามรุ่งหามค่ำ เพื่อรับมือกับโคโรนาไวรัส
•
เพราะปัจจุบัน การ “คัดกรอง” ไม่ใช่เพียงแค่ผู้ที่เดินทางมาจากจีน (ที่ไทยยังเปิดรับอย่างต่อเนื่องและไม่เคยปิดรับ ไม่เคยผ่อนปรนยกเลิก Visa on Arrival) เท่านั้น แต่ยังมีผู้ที่เข้าข่ายมาจากประเทศ “เฝ้าระวัง” อื่น ๆ เดินทางเข้าไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ ทั้งจากอิหร่าน เกาหลี อิตาลี ญี่ปุ่น และอีกหลายประเทศในยุโรปที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างน่ากังวล
•
นั่นทำให้จำนวนผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคมากขึ้นเรื่อย ๆ ทะลุหลักพันคนมาสักระยะหนึ่งแล้ว และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อไป
•
แต่นโยบายกระทรวงสาธารณสุข โดยเฉพาะจาก “เจ้ากระทรวง” อย่างอนุทินนั้น กลับไม่แน่นอน เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาตลอด
•
เพราะในวันที่ฝ่าย “หมอ” อย่างข้าราชการ อย่างนักระบาดวิทยา ขอให้ผู้ที่เดินทางไปในประเทศเฝ้าระวังกักตัวเอง 14 วัน แต่เมื่อมี สส. ของพรรคร่วมรัฐบาล และมีรัฐมนตรีหลายคน เดินทางไปในพื้นที่ระบาด โดยไม่ใส่หน้ากาก และยังมาทำงานตามปกติ เข้าประชุมสภา เข้าพบประชาชน เสี่ยหนู ก็บอกว่าไม่มีนโยบายให้ “กักตัว” เพียงแต่ต้องดูแลตัวเอง
•
ขณะเดียวกัน เมื่อกระทรวงหมอ และบรรดา Influencer รณรงค์ให้ “คนไทย” ที่ไปต่างประเทศกักตัวเอง 14 วัน แต่นักท่องเที่ยวทั้งจากจีน จากประเทศเอเชียที่มีคนติดเชื้อหลักพัน หรือยุโรป ที่มีผู้ติดเชื้อหลักร้อย ยังสามารถเดินร่อนไปมาอยู่แถวราชประสงค์ สยาม สีลม สุขุมวิท เชียงใหม่ ภูเก็ต จนเอาเชื้อไปแพร่ต่อพ่อค้าแม่ค้า คนขับรถรับจ้าง อีกหลายคน จากการที่รัฐบาลยังปล่อยให้คนเหล่านี้เข้ามาตามปกติ ก็ทำให้ผู้เข้าข่าย “เฝ้าระวัง” มากขึ้น โรงพยาบาล-เจ้าหน้าที่ ก็ทำงานหนักขึ้น ตามไปอีก
•
ปัญหาก็คือ แทบไม่มีการสนับสนุนใด ๆ จากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งในด้านการจัดกำลังคนเพื่อให้เหมาะสมกับหน้างาน การจัดระบบคัดกรองที่เข้มงวดขึ้น และที่สำคัญ ชุดป้องกันเชื้อ PPE ชุดตรวจเชื้อ หรือกระทั่งหน้ากากอนามัยสำหรับบุคลากร ก็ยังไม่เพียงพอ
•
หลายโรงพยาบาล เบิกหน้ากากได้เวรละ 1 ชิ้น บางโรงพยาบาลต้องทำหน้ากากผ้ากันเองเพื่อแจกบุคลากร แต่ “เสี่ยหนู” กลับนำหน้ากากที่บอกว่า “เหลือ” จากการแจกบุคลากร ไปแจกประชาชนฟรีๆ..
•
ขณะเดียวกัน ในมุมมองสาธารณชน ก็เห็นตรงกันว่ารัฐบาลชุดนี้ และกระทรวงสาธารณสุขเอง ไม่ได้บอกความจริงกับประชาชนมากพอ
•
เพราะในขณะที่ประเทศอื่นบอกอย่างละเอียดว่า คนไข้แต่ละราย ติดเชื้อที่ไหน จากกิจกรรมอะไร เพื่อให้ประชาชนเตรียมตัว และระมัดระวัง “กิจวัตรประจำวัน” บางอย่าง ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการติดโรค
•
แต่ในบ้านเรา แทบไม่รู้เลยว่า แต่ละคนติดเชื้อจากใคร จากสถานที่ใด จากกิจกรรมอะไร รู้เพียงแต่ว่าคนไข้เข้าโรงพยาบาลไหนเท่านั้น...
•
เมื่อยิ่งไม่รู้ ข่าวลือก็ยิ่งกระจาย ยกตัวอย่างเช่นผู้ติดเชื้อรายที่ 42 ที่บอกว่าเป็นพนักงานขายที่ใกล้ชิดกับชาวต่างชาตินั้น ถูกลือว่าเป็นพนักงานแทบจะทุกห้าง โดยที่ไม่มีใครรู้ความจริงว่าทำงานที่ไหน
•
แต่ที่น่ากลัวไปกว่านั้นคือ แทบไม่มีใครรู้ว่ารายที่ 42 ติดเชื้อจากใคร และผู้ติดเชื้อที่แพร่ให้ผู้เคราะห์ร้ายรายที่ 42 นั้นก็เดินทางไปไหนต่อไหนแล้ว
•
จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากประเทศไทยจะประกาศตัวเข้าสู่ “ระยะ3” ของการระบาดในอีกไม่นานนี้
•
สิ่งที่ชัดเจนอีกอย่างก็คืออนุทินนั้น “มีปัญหา” กับการรับมือในสถานการณ์วิกฤต คำพูดของอนุทิน ไม่เคยสร้างความเชื่อมั่นได้กับทั้งข้าราชการระดับน้อยใหญ่ของกระทรวง และกับประชาชนทั่วไป
•
หนึ่งในตัวอย่างที่ดีก็คือการโพสต์ประกาศเรื่องพื้นที่เสี่ยง 9 ประเทศ แล้วระบุว่า คนที่เดินทางจากประเทศเหล่านี้ ต้อง “กักกันตัวเอง” 14 วัน แล้วในเวลาต่อมา ก็ต้องรีบ “ลบ” ประกาศ แล้วลบทั้งเพจออกไป โดยเจ้าหน้าที่ ต้องออกมารับหน้าแทน ยืนยันภายหลังว่า จะมีการแก้ไขบางอย่าง
•
หรือการออกมายืนยันว่า “หน้ากาก” ที่มีอยู่ในสต๊อกของหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุขนั้นมีเพียงพอเหลือเฟือ ทั้งที่ในความเป็นจริง เหลือหน้ากากอีกเพียงน้อยนิด ไม่ต้องพูดถึงว่าถ้าเข้า “เฟส 3” สมบูรณ์แบบ โรงพยาบาลน้อยใหญ่จะรับมืออย่างไร เพราะในขณะนี้แค่ให้บริการทั่วไป หน้ากากจะพอใช้ได้ถึงอาทิตย์หน้าหรือเปล่าก็ยังไม่รู้
•
แต่รัฐมนตรีสาธารณสุข ยังคงท่องคาถาว่าหน้ากากที่มีนั้นเพียงพอ...
•
ชัดเจนว่าอนุทิน ได้ใช้ “ต้นทุน” ของการเป็นประเทศที่มีระบบสาธารณสุขที่ดีที่สุด อันดับ 6 ของโลก ไปจน “เกลี้ยง” แล้ว
•
นั่นทำให้ข้อมูลของโรคนี้ ทั้งจริงและไม่จริง ถูกแชร์ต่อผ่านคำพูดของหมอคนอื่น ๆ และคนอื่น ๆ ที่ไม่ใช่หมอ มากกว่ารัฐมนตรี และมากกว่าจากรัฐบาล
•
แม้กระทรวงสาธารณสุขจะเป็นกระทรวงเกรดเอ มีงบประมาณเป็นลำดับต้น ๆ มี สส.เจ้าของมุ้ง ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาเป็นเจ้ากระทรวงอยู่บ้าง แต่ในช่วงหลัง รับรู้กันดีว่า กระทรวงนี้ “เจ้าที่” อย่างข้าราชการนั้น “ของแรง” รมว.สาธารณสุขส่วนใหญ่จึงเป็นหมอมาตลอด ซึ่งก็เป็นข้อดี เพราะเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน ที่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วฉับไว หมอจะตัดสินใจได้อย่างรอบด้านกว่า
•
แต่อนุทินไม่ใช่หมอ และไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อรับวิกฤตแบบนี้ เสี่ยหนู เป็นรัฐมนตรีกระทรวงนี้ โดยมีวาระส่วนตัวหลายอย่าง กัญชาก็เรื่องหนึ่ง แบนสารพิษก็เรื่องหนึ่ง และเพิ่มค่าตอบแทน อสม. หาทางเพิ่มคะแนนเสียงให้กับภูมิใจไทย ก็เป็นอีกวาระหลัก
•
เมื่อเจอวิกฤตแบบโคโรนาไวรัส 2019 เสี่ยหนูจึงออกอาการ “เป๋” และหลายครั้งดูจะตัดสินใจไม่ทันการณ์ หลายเรื่องยึกยักไปมา และหลายเรื่องก็ไม่กล้าตัดสินใจ
•
ด้วยเหตุนี้คนในกระทรวงหมอหลายคนจึงรู้สึกผิดหวัง ที่เจ้ากระทรวงทำหน้าที่ได้ไม่สมบทบาท แม้จะมีตำแหน่ง “รองนายกฯ” นำหน้าก็ตาม
•
อย่างไรก็ตาม วิกฤตไวรัสจะยังไม่จบง่าย ๆ เสี่ยหนูจะยังมีเวลาแก้ตัวต่อไป และคงไม่มีใครไปไล่ หรือขอให้เปลี่ยนตัวรัฐมนตรี เพราะลำพังหน้างานในการต่อสู้กับไวรัสก็หนักหนาอยู่แล้ว
•
คนกระทรวงสาธารณสุข และคนนอกกระทรวงสาธารณสุข จึงได้แต่หวังว่าจะมีวันหนึ่งที่เสี่ยหนูจะแสดงภาวะผู้นำ และตัดสินใจอะไรบางอย่างที่ “เข้าท่า” มากขึ้นเสียที
#COVID19
.
Chotisak Onsoong แล้วแบบนี้คนสาสุขไม่คิดจะออกมาแฟรชม้อบกับบ้างเหรอครับ?