วันอังคาร, มีนาคม 03, 2563

พลิกวิกฤต (หน้ากาก) ให้เป็นโอกาส




หน้ากากอนามัยไปไหน?
หรือจะมีใคร “รวย” จากการกักตุน


หลังวิกฤตโคโรนาไวรัส 2019 เรื้อรังลากยาวมา 1 เดือนเศษ สิ่งหนึ่งที่ไม่เปลี่ยนแปลงก็คือ หน้ากากอนามัย ยังทั้งหายากและหาไม่ได้ หรือใครหาได้ ก็มีราคาแพงเกินจริงไปมาก

บางที่ หน้ากากเขียวธรรมดา ชิ้นละ 35-70 บาท ไม่ต้องพูดถึงหน้ากากชนิด N95 ขายปลีกชิ้นหนึ่งเหยียบร้อย

ไม่ใช่เฉพาะคนทั่วไปเท่านั้นที่หาหน้ากากไม่ได้ แต่บุคลากรทางการแพทย์ หมอ พยาบาล ก็ต้องใช้อย่างจำกัดจำเขี่ยบางที่ต้องลงชื่อ “เบิก” หน้ากากใช้ได้เวรละ 1 ชิ้น บางที่ จำกัดให้ผู้มีความจำเป็นเท่านั้นที่จะเอาหน้ากากอนามัยไปใช้ได้

และภาวะวิกฤตที่ไทย ยังรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศกลุ่มเสี่ยงทั้งหมดเข้ามา ก็ทำให้โรงพยาบาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลรัฐ ต้อง “เสริมกำลัง” หนาแน่นขึ้น แต่สิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งอย่างหน้ากากอนามัย กลับไม่เพียงพอ หลายครั้งแพทย์ พยาบาล ต้องออกไปหาซื้อกัน “ใต้ดิน” เอาเอง

สาเหตุสำคัญก็คือ แม้แต่กระทรวงสาธารณสุข ผู้ที่ต้องรับผิดชอบจัดหาหน้ากากอนามัยนั้น ก็ “สู้ราคา” จากยี่ปั๊วทั้งหลายไม่ไหว เหตุเพราะมี “ไอ้โม่ง” บางคนไปกว้านซื้อล็อตใหญ่จากโรงงานกันหมดแล้ว

อันที่จริง หาติดตามเรื่องนี้ตั้งแต่ต้น จะพบว่ามีความแปลกประหลาดอยู่หลายประการ ไล่เรียงเป็นลำดับขั้น เริ่มตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั้นยืนยันตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. ว่าหน้ากากอนามัยนั้นไม่ขาดแคลน และข่าวที่ว่า “ขาด” นั้น อาจเป็นข่าวปลอม

พร้อมกับเสนอแนะให้คนที่คิดว่าหน้ากากขาดตลาดนั้น ไปหาซื้อที่โรงงานแทน...

กระทั่งรับรู้ว่าหน้ากากขาดจริง จึงพยายามใช้กลไกของกระทรวงพาณิชย์เข้ามาจัดการ ด้วยการให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม 1 ปี ไม่ให้กักตุน ไม่ให้โก่งราคา

แต่ก็กลายเป็นว่า หลังจากนั้นไม่นาน เกิด “วิวาทะ” ว่า หน้ากากอนามัยที่กระทรวงพาณิชย์ขายชิ้นละ 2.50 บาท หน้าทำเนียบรัฐบาลนั้น แพงกว่าที่องค์การเภสัชกรรมขายชิ้นละ 1 บาท ไปไกล โดยเฉพาะหากซื้อในปริมาณมากๆ...

ฝ่ายรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกรัฐบาล คนของประชาธิปัตย์ที่คุมกระทรวงพาณิชย์นั้น ยืนยันว่าที่แพงกว่า เพราะของกระทรวงพาณิชย์เป็นของใหม่ ส่วนขององค์การเภสัชฯ เป็นของค้างสต็อก

จนกระทรวงสาธารณสุข ที่อยู่ภายใต้พรรคภูมิใจไทยนั้น ต้องออกมาตอกกลับว่าของที่องค์การเภสัชฯ ขาย เป็นของใหม่ และเป็นการขายในราคา “เท่าทุน” หลังจากนั้น กระทรวงพาณิชย์ก็เงียบไปทันที พร้อม ๆ กับความพยายามทั้งแจก ทั้งขาย ก็ชะงักงันเช่นกัน เพราะคน เริ่มจะลืมเลือนไป..

แต่ถามว่าปัญหาหายไปไหม คำตอบก็คือไม่ ประชาชนยังเข้าถึงหน้ากากอย่างยากลำบาก ร้านค้าขององค์การเภสัชกรรม มีคนไปต่อคิวรอตั้งแต่ตี 5 - 6 โมงเช้าทุกวัน และแม้องค์การเภสัชกรรมจะเป็นรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงสาธารณสุข หน้ากากอนามัย ที่จัดส่งไปยังบุคลากรทั้ง รพ.สต. ทั้งโรงพยาบาลน้อยใหญ่ ก็ยังขาดอยู่วันยันค่ำ

ในทางกลับกัน กลับมีการเสนอขายหน้ากากล็อตใหญ่ พันชิ้น หมื่นชิ้น กันเอิกเกริก ทั้งในเฟซบุค ทั้งในลาซาด้า ชอปปี้ และใน “ตลาดมืด”

แต่จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และรัฐมนตรีพาณิชย์ ก็ยังยืนยันว่าหน้ากากไม่ขาด กำลังการผลิตยังปกติ และมีเหลือเฟือในสต็อก...

วิชัย โภจนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน เพิ่งให้สัมภาษณ์เมื่อ 28 ก.พ. ที่ผ่านมาว่าหน้ากากอนามัยมีในสต็อกกว่า 30 ล้านชิ้น กำลังการผลิตจากโรงงาน ยังเป็นไปตามปกติ และกรม ไม่ได้อนุญาตให้ส่งออกหน้ากากไปต่างประเทศแล้ว

น่าสนใจก็ตรงที่ ทั้งการกักตุน การโก่งราคา ปละภาวะสินค้าขาดแคลน เกิดขึ้นภายใต้ประกาศของกระทรวงพาณิชย์ให้หน้ากากอนามัยเป็นสินค้าควบคุม หากกักตุน และขายเกินราคา มีบทลงโทษทางกฎหมายร้ายแรง

นั่นแปลอย่างอื่นไม่ได้เลยนอกจากกฎหมายที่รัฐบาลถือนั้น “ไร้น้ำยา” ของจริง เพราะไม่อย่างนั้น บุคลากรทางการแพทย์ คงไม่ต้องทำงานหน้างานแบบเสี่ยงๆ แบบนี้

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตก็คือตลอด 1 เดือนที่ผ่านมา มีกระบวนการ “จัดซื้อ” หน้ากากล็อตใหญ่จากโรงงานของ “พ่อค้าคนกลาง” ผู้ใกล้ชิดกับรัฐบาล หรือใกล้ชิดกับพรรคการเมืองพรรคไหนหรือไม่ หน้ากากถึงได้ขาดแคลน จนราคาแพงขึ้นมหาโหดขนาดนี้ โดยที่ไม่มีใครทำอะไรได้

แล้ว 1 เดือนที่ผ่านมา ท่ามกลางความหวาดวิตกกับวิกฤตโควิด-19 ที่จะขึ้นเป็นเฟส 3 ในอีกไม่นานนี้ มีใครบางคน“ร่ำรวย” จากการกักตุนหน้ากาก หรือจัดการ “ส่งออก” หน้ากาก ไปยังประเทศที่มีคำสั่งซื้อล็อตใหญ่หรือไม่? ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นคำถามที่น่าคิด

ต้องไม่ลืมว่า ช่วงวิกฤต “น้ำมันปาล์ม” ขาดตลาด เมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก็มี “นักการเมือง” ร่ำรวยจากการตักตวงในภาวะวิกฤตแบบนี้เหมือนกัน และก็คลับคล้ายคลับคลาเช่นกันว่า จะเป็นพรรคการเมืองที่คุ้นๆ หน้า ยังบริหารงานเป็นรัฐบาลอยู่ตอนนี้ด้วย

ล่าสุด อนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ออกมาบอกว่า กระทรวงสาธารณสุข ไม่มีหน้าที่ “จัดหา” หน้ากากอนามัยให้ประชาชนทั่วไป หากขาดแคลน หาซื้อยากลำบาก ก็ขอให้ติดต่อกระทรวงพาณิชย์

แต่ที่กระทรวงสาธารณสุขต้องทำหน้าที่ “แจก” หน้ากากวันละแสนชิ้นนั้น เป็นการบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนที่ “หน้ากาก” ขาดตลาด

เป็นการยอมรับตรง ๆ ว่าปัญหาขาดหน้ากากนั้นมีอยู่จริง และไม่ได้จัดการได้สวยหรูอย่างที่กระทรวงพาณิชย์พยายามชี้เแจง..

คำถามก็คือ ในเมื่อโรงงานยังคงผลิตหน้ากากตามปกติ หน้ากาก เป็นสินค้าควบคุม ห้ามกักตุน ห้ามโก่งราคา และห้ามส่งออก แล้วสุดท้าย หน้ากากที่หมุนเวียนในระบบนั้นหายไปไหน?

แม้กระทั่งสมาคมโรงพยาบาลเอกชนยังต้องเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ปัญหานี่โดยด่วน เพราะไม่สามารถจัดซื้อหน้ากากอนามัยด้วย ด้วยเหตุผลที่ผู้ผลิตบอกว่า ผลิตได้เท่าไหร่ต้องส่งให้กรมการค้าภายใน หากโรงพยาบาลเอกชนต้องการให้ติดต่อกรมการค้าภายในเอง เมื่อติดต่อ ได้รับคำตอบว่าต้องเข้าคิว ขณะที่ภาวะการขาดแคลนหน้ากากอนามัยอยู่ในขั้นวิกฤต

หากรัฐบาลไม่สามารถตรวจสอบเส้นทางได้ ก็แปลว่ามีคนใกล้ๆ ตัว ที่รวยจากการกักตุน และนำไปขายในล็อตใหญ่เอากำไรส่วนต่างเข้ากระเป๋า

สะท้อนให้เห็นว่าในวิกฤตครั้งนี้ นอกจากมีประชาชน มีบุคลากรทางการแพทย์ เดือดร้อนจากการขาดแคลนหน้ากากแล้ว
ยังมีบางคน “ร่ำรวย” จากวิกฤต และอยู่เหนือกฎหมาย จนใครเข้าไปยุ่มย่ามไม่ได้เช่นกัน...

#หน้ากากอนามัย #กรมการค้าภายใน #โรงพยาบาลเอกชน #COVID19 #กระทรวงสาธารณสุข

Gossipสาสุข

https://www.facebook.com/gossipsasook/photos/a.347034632506292/642764642933288/?type=3&theater
...

ภาพนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่อง แต่น่าจะได้รับรางวัล