วันเสาร์, มีนาคม 14, 2563

ประชาชนบุกรัฐสภา จี้เปิดทางร่าง รธน.ใหม่ ล้างการสืบทอดอำนาจ คสช. "นี่เป็นก้าวแรกของประชาชน แต่เป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาลหากเรายื่นหนังสือแล้วท่านไม่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างจริงใจครั้งหน้าเราจะมาขับไล่"





ประชาชนกลุ่มแรกบุกรัฐสภา จี้เปิดทางร่าง รธน.ใหม่ ล้างการสืบทอดอำนาจ คสช.

"นี่เป็นก้าวแรกของประชาชน แต่เป็นโอกาสสุดท้ายของรัฐบาลหากเรายื่นหนังสือแล้วท่านไม่ดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 อย่างจริงใจครั้งหน้าเราจะมาขับไล่"

เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ เครือข่ายทรัพยากรแร่ กล่าวขณะ ร่วมขบวนประชาชนเดินเท้ากว่า 4 กิโลเมตรมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ประชาชนกลุ่มนี้นับเป็นกลุ่มแรกที่เดินขบวนเคลื่อนไหวให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ นำโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และเครือข่าย People Go Network

เครือข่ายนี้ประกอบด้วยหลากหลายกลุ่มไม่ว่าจะเป็นสมัชชาคนจน ประชาชนที่ต่อต้านเหมืองแร่สลัม 4 ภาค เครือข่ายนักศึกษา เครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เครือข่ายนักกฎหมาย เครือข่ายรัฐสวัสดิการ ฯลฯ

พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ประธานคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญและส.ส. อีกหลายคนเป็นตัวแทนออกมารับหนังสือโดยนายพีระพันธ์กล่าวว่าข้อเสนอเหล่านี้จะเป็นส่วนหนึ่งในการศึกษาหาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อมยืนยันว่าจะเปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่

หนังสือข้อเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญระบุว่ารัฐธรรมนูญ 2560 มาจากคณะบุคคลที่ก่อรัฐประหารแล้วตั้งพรรคพวกขึ้นมาเขียนโดยประชาชนไม่มีส่วนร่วมและเนื้อหาไม่ได้สะท้อนต่อเจตนาประชาชนแต่สนองการกระชับและขยายอำนาจของคสช.พร้อมให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญองค์กรอิสระรวมถึง ส.ว.อย่างกว้างขวาง จึงต้องการให้ยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับโดยประชาชนมีส่วนร่วม ในจุดเริ่มต้นอาจให้มีการยกร่าง พ.ร.บ.รับฟังความเห็นประชาชนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ก่อน

สำหรับ "กระบวนการ" ที่จะทำให้การมีรัฐธรรมนูญใหม่เป็นไปได้ภายใต้รัฐบาลพลเอกประยทธ์นั้นเริ่มต้นจากต้องจัดทำร่างพ.ร.บ. แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยมีสาระสำคัญ คือ

1.ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญจากการเลือกตั้งโดยใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้งและใช้จำนวนราษฎรเป็นเกณฑ์กําหนดจํานวนสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในแต่ละจังหวัดและให้มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยการรับฟังความเห็นตลอดกระบวนการ

2. ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 256 เรื่องหลักเกณฑ์การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยอาศัยเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง

3. ให้เขียนบทเฉพาะกาลของร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญว่าให้นำรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพ. ศ. 2540 มาใช้และจัดการเลือกตั้งโดยให้รัฐบาลใหม่ดำเนินการเลือกตั้งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อยกร่างรัฐธรรมนูญ

สำหรับ "เนื้อหา" ของรัฐธรรมนูญใหม่นั้นเป็นเรื่องที่ ส.ส.ร.ต้องรวบรวมความเห็นจากประชาชนต่อไป แต่ในฐานะที่ ครช.ประกอบด้วยสมาชิกจากหลากหลายกลุ่มภาคประชาชน จึงขอนำเสนอเนื้อหาที่จำเป็นต่อรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแบ่งเป็น 2 ส่วนหลัก คือเรื่องสิทธิเสรีภาพประขาชน กับ เรื่องกลไกเข้าสู้อำนาจที่ยึดโยงประชาชน

○ เรื่องการเข้าสู่อำนาจโดยยึดโยงกับประชาชน

1. ต้องไม่มีช่องสำหรับนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งและกำหนดให้ชัดเจนว่านายกรัฐมนตรีต้องเป็นส.ส.โดยพิจารณาหลักการใหม่ที่จะสามารถสะท้อนเสียงประชาชนได้ชัดเจนขึ้น เช่น การให้ประชาชนเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรง

2. ต้องไม่มีระบบวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งแต่ต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด โดยสามารถพิจารณาสร้างระบบเลือกตั้งแบบใหม่ที่ไม่ทับซ้อนกับการเลือกตั้งส.ส.เช่น การใช้ทั้งประเทศเป็นเขตเลือกตั้งเดียว

3. ต้องไม่มีกระบวนการวางแผนปฏิรูปประเทศหรือแผนยุทธศาสตร์ของประเทศที่ทำขึ้นโดยคนกลุ่มเดียว

4. ต้องไม่มีผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ต้องให้ประชาชนมีสิทธิกำหนดอนาคตตัวเอง สนับสนุนการกระจายอำนาจโดยไม่ต้องรอความพร้อมของท้องถิ่น

5. ต้องไม่มีการนิรโทษกรรมให้คณะรัฐประหารและไม่รับรองอำนาจคณะรัฐประหารให้มีผลชอบด้วยกฎหมายภายใต้รัฐธรรมนูญ

" พรรคการเมืองที่ต่อต้านคสช.ถูกยุบง่ายดายเหลือเกิน ก่อนหน้านี้ถูกยุบไปแล้วทั้งหมด 29 พรรค ผู้ที่ยุบพรรคคือศาลรัฐธรรมนูญ 5 ปีที่ผ่านมาคนเลือกศาลรัฐธรรมนูญคือ สนช. คนเลือก สนช.คือ คสช. ตอนนี้มีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญใหม่ 4 คน คนเลือกคือ ส.ว. คนเลือกส.ว.คือ คสช. การยุบพรรคยุบตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง ซึ่งมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นคนเขียน คนเลือกมีชัยคือ คสช. คนชงเรื่องยุบพรรคคือ กกต. ซึ่งคนเลือกก็คือ คสช.อีก" ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จากไอลอว์ กล่าว

"สิ่งเหล่านี้และโครงสร้างของรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาทำให้การเลือกตั้งที่ผ่านมาเป็นการเลือกตั้งกำมะลอ 16 ล้านคนเลือกพรรคที่ต่อต้านคสช. 8 ล้านคนเลือกพรรคที่เอาคสช. แต่ คสช.ก็ยังได้เป็นรัฐบาลต่อ สมมติต่อให้เราได้เลือกตั้งพรุ่งนี้ กลไกต่างๆ เหล่านี้ก็จะไม่เอาพรรคที่ต้านคสช.อีกอยู่ดี ทางออกจึงมีอยู่ทางเดียว คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญ 2560" ยิ่งชีพกล่าว

○ เรื่องสิทธิเสรีภาพ

1. ต้องให้สิทธิประชาชนเป็นใหญ่กว่ารัฐ ไม่มีเงื่อนไขจำกัดสิทธิเสรีภาพด้วยเหตุ "ความมั่นคงของรัฐ"

2. สร้างรัฐสวัสดิการโดยต้องมีหลักประกันรายได้หลักประกันด้านสุขภาพ และหลักประกันด้านการศึกษาอย่างเสมอภาคเท่าเทียม

"ความมั่นคงของรัฐไม่ใช่ความมั่นคงของเรา ความมั่นคงของประชาชนต่างหากที่เป็นความมั่นคงของชาติ จึงต้องตัดเรื่องเกี่ยวกับความมั่นคงออกเพื่อไม่ให้ใช้เป็นข้ออ้างกดหัวประชาชน ส่วนความมั่นคงของประชาชนนั้นก็คือการมีรัฐสวัสดิการที่เสมอภาคไม่แบ่งแยกฐานะ" สุภาภรณ์ มาลัยลอย จากมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว

3. สิทธิในกระบวนการยุติธรรมประชาชนต้องเข้าถึงอย่างเท่าเทียมโดยเฉพาะสิทธิในการประกันตัวสิทธิเข้าถึงทนายความ และต้องมีหลักประกันความเป็นอิสระของศาล

4. สิทธิทางการเมืองและสิทธิพลเมืองจะต้องให้ประชาชนมีสิทธิเข้าชื่อถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งโดยไม่จำกัดอายุ มีสิทธิต่อต้านการยึดอำนาจโดยมิชอบรวมถึงการปฏิรูปกองทัพให้อยู่ใต้อำนาจพลเรือนด้วย

5. สิทธิชุมชนต้องคุ้มครองสิทธิการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติ การมีที่อยู่อาศัย มีที่ดินทำกินสิทธิในการเข้าถึงแหล่งอาหารที่ปลอดภัยรวมถึงการเข้าถึงตลาดที่เท่าเทียม

#แก้ไขรัฐธรรมนูญ #ไม่แก้ก็ออกไป