การไต่สวนคดี ‘อิมพี้ชเม้นต์’ ประธานาธิบดีสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อวาน
รอการลงมติในสภาสูงวันพุธที่จะถึง ซึ่งแน่นอนว่านาย ดอแนลด์ จอห์น ทรั้มพ์
จะได้คะแนนให้พ้นผิดตามเสียงข้างมากของพรรครีพับลิกัน โดยอาจมี
สว.พรรคนี้สองคนโหวตไม่เห็นด้วย เช่นเดียวกับฝ่ายเดโมแครท ๒ หรือ ๓ ราย โหวตให้แก่ทรั้มพ์
ทั้งนี้หลังจากที่ฝ่ายรีพับลิกันประสบความสำเร็จในการสกัดกั้นไม่ให้มีการไต่สวนพยานเพิ่ม
เนื่องเพราะข่าวรั่วจากหนังสือที่รอการตีพิมพ์ของ จอห์น โบลตัน อดีตทูตสหรัฐประจำสหประชาชาติระบุว่า
‘เป็นจริง’ ที่ทรั้มพ์กดดันรัฐบาลยูเครน
ด้วยการสั่งยับยั้งเงินช่วยเหลือทางทหารเอาไว้
เพื่อดึงให้เปิดการไต่สวนข้อหาคอรัปชั่นต่อ โจ ไบเด็น อดีตรองประธานาธิบดี
ว่าที่คู่แข่งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับทรั้มพ์ในปลายปีนี้
โดยท้ายที่สุดสองในสี่
สว.ฝ่ายรีพับลิกันที่มีทีท่าว่าต้องการฟังการไต่สวนพยานเพิ่มเติม คือ ลามาร์ อเล็กซานเดอร์
(เท็นเนสซี่) และ ลิซ่า เมอร์คาวสกี้ (อล้าสก้า) เปลี่ยนใจ แม้นว่าทั้งคู่คิดว่าทรั้มพ์กระทำการ
‘ไม่เหมาะสม’ แต่ไม่หนักถึงขั้นต้องเอาออกจากตำแหน่ง
นั่นเป็นข้อสรุปสำคัญจากการไต่สวนเพื่อเอาผิดต่อประธานาธิบดีเป็นคนที่สี่ในประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกัน
คือจากการไต่สวนที่ผ่านมา หลักฐานและพยานต่างๆ ชี้ชัดว่าทรั้มพ์ประพฤติผิดครรลอง
แต่ยังไม่รุนแรงพอที่พรรครีพับลิกันจะต้องยอมเสียหายทางการเมือง
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทีมทนายของประธานาธิบดี
(อันรวมถึงทนายชื่อดัง อลัน เดอโชวิทซ์) ก็ได้ต่อสู้ด้วยข้ออ้างว่า
ควรที่จะรอไว้ให้ประชาชนตัดสินเองในการเลือกตั้งที่จะมาถึงในเดือนพฤศจิกายนดีกว่า
โดยพยายามที่จะชี้ว่าการไต่สวนครั้งนี้เป็นการ ‘ล่าแม่มด’ ของฝ่ายตรงข้าม
ทางฝ่ายเดโมแครทไม่คิดเช่นนั้น
ดังถ้อยแถลงปิดสำนวนของสมาชิกสภาจากแคลิฟอร์เนีย แอดัม ชิฟ ที่ว่าคนอย่างทรั้มพ์นั่นไว้ใจไม่ได้
ว่าจะทำในสิ่งที่ถูกต้องได้แม้แต่ในนาฑีเดียว และ “เขาไม่มีทางเปลี่ยน
พวกคุณรู้ดี...คนที่ไม่มีบุคคลิก ไม่มีความมุ่งมั่นในจริยธรรม
ไม่มีทางมองหาทางสว่างเจอหรอก”
ฮาคีม เจฟฟรี่ส์
ทนายโจทก์ของฝ่ายสภาผู้แทนฯ เสริมว่าการปล่อยให้ทรั้มพ์ยังครองอำนาจประธานาธิบดี
เขาจะบ่อนทำลายสถาบันการเลือกตั้ง “คนที่ขาดจิตมุ่งมั่นและไม่มีการผ่อนปรนอย่างนี้
จะเชื่อได้อย่างไรว่าเขาจะไม่ทำผิดอีก”
ประธานสภาผู้แทน แนนซี่ เพโลซี กล่าวถึงการไต่สวนครั้งนี้ว่า
“เราได้ดึงผ้าคลุมหน้าความประพฤติแบบที่ผู้ก่อตั้งประเทศจะไม่ยอมรับ
ให้สาธารณชนได้เห็นด้วยสายตาอันกระจ่าง ดวงตาไม่ขุ่นมัว” เธอพาดพิงหลักฐานต่างๆ
ในการ ‘อิมพี้ช’ ครั้งนี้ว่า
“ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น เขา (ทรั้มพ์) ได้ถูกแจ้งผิดไปแล้วชั่วกัปกัลป์
ถึงบัดนี้บรรดาวุฒิสมาชิกทั้งหลาย แม้พวกเขาจะไม่มีความกล้าหาญพอกำหนดโทษให้เหมาะสมได้
อย่างน้อยก็ยังได้ยอมรับแล้วว่าทรั้มพ์ได้กระทำความผิดจริง”
หลังจากวันพุธ น่าจะมีพวกรีพับลิกัน โดยเฉพาะพันธุ์ทาง
(จากสถานะเพศ เชื้อชาติ และศาสนา) ที่ทรั้มพ์เองก็มักดูถูกดูแคลน ออกมาร้องแรกแหกกระเฌอ
ว่าผู้ที่ฉันยอมถวายคะแนนเสียงให้นี้เก่งกาจฉลาดล้ำเอาชนะฝ่ายตรงข้ามได้
อันจะทำให้ทรั้มพ์ยิ่งเหลิงและประพฤติตนเยี่ยงราชาธิบดี
(Imperial President) ต่อไปมากยิ่งขึ้น
หากว่าเขาจะสามารถเอาชนะเลือกตั้งได้อีกสมัย แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ฝ่ายเดโมแครทคาดหมาย
ในการดำเนินการอิมพี้ชทรั้มพ์
ยุทธศาสตร์ของเดโมแครทนั้นอยู่ที่เปิดโปงการกระทำของทรั้มพ์
แม้จะยังไม่สามารถเปิดในเรื่องผลประโยชน์ทางธุรกิจที่เขาใช้ตำแหน่งเอาเปรียบ
หรือการใช้เพทุบายเลี่ยงภาษีต่างๆ เสียจนไม่กล้าเปิดให้มีการตรวจสอบบัญชีการเงิน
ทรั้มพ์เป็นนักการเมืองที่ไม่มีน้ำจิตน้ำใจ
(conviction) ต่อการเสียสละเพื่อประชาชนคนส่วนใหญ่
เขาเดินเกมการเมืองอย่างนักธุรกิจที่มุ่งแต่กำไรสูงสุด ดังนั้นจึงได้แต่คอยเอาใจฐานเสียงเพื่อรักษาอำนาจไว้
ในขณะที่พรรครีพับลิกันก็อาศัยลำหักลำโค่นของทรั้มพ์เพื่อรักษาฐานอำนาจของพวกตนให้อยู่ยาว
วุฒิสมาชิกรีพับลิกันผู้สนับสนุนทรั้มพ์อย่างสุดลิ่มทิ่มประตูคนหนึ่งจึงเผลอไผล
ประกาศว่าถ้าหลังเลือกตั้งปีนี้ โจ ไบเด็น ได้เป็นประธานาธิบดีละก็
พรรครีพับลิกันจะเปิดการ ‘อิมพี้ช’
ประธานาธิบดีโจทันที ประดุจว่า ‘เอาคืน’
กระนั้น
เคราะห์ดีที่ไหวตัวทัน สว.โจนี่ เอิ๊ร์นส์ (รัฐไอโอว่า) รีบแก้ตัวเสียก่อน โดยโทษสื่อว่าพาดหัวหวือหวาเกินจริง (“taken
out of context.”) แค่เพียงอยากจะบอกว่าพวกเดโมแครททำให้การ ‘อิมพี้ชเม้นต์’ กลายเป็นความเคยชิน คือใครเป็นประธานาธิบดีจะต้องโดนฝ่ายตรงข้ามอิมพี้ชกระนั้น
สว.อเมริกันนี่ก็มั่วซั่วไม่แพ้ สว.ไทย
เต้นเองพูดเอง ‘อิเหนาเป็นเอง’ แท้ๆ ก็ยังไม่วายแถไปใส่ไคล้ฝ่ายตรงข้ามได้