มันเป็นเช่นนั้น (แบบเดียวกับการ ‘อิมพี้ชเม้นต์’ ประธานาธิบดีสหรัฐ) ดัง พ.ต.อ.ทวี
สอดส่อง ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาชาติว่า “การอภิปรายถือเป็นอาวุธที่ร้ายแรงที่สุดของพรรคฝ่ายค้าน
แม้เสียงไม่สามารถโค่นล้มรัฐบาล
เพราะไม่ได้ตั้งใจใช้เสียงล้มรัฐบาลอยู่แล้ว
แต่ต้องการให้ประชาชนทราบข้อมูล โดยฝ่ายค้านมีข้อมูลที่โยงไปถึงการทุจริต
การปฏิบัติที่ผิดกฎหมายและผิดจริยธรรม
ซึ่งปล่อยไว้จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติและประชาชน”
รัฐบาลก็เลยพยายามที่จะปิดกั้นข้อมูลเหล่านั้น
(แบบเดียวกับพรรครีพับลิกันในสภาสูงสหรัฐ) วิปรัฐบาลก็เลยตั้งท่าจะยื่นเรื่องให้ประธานสภาฯ
ตรวจสอบตัวญัตติไม่ไว้วางใจของฝ่ายค้านเสียก่อน โดยเฉพาะในประเด็นที่ว่า
ประยุทธ์ไม่ยึดมั่นและศรัทธาประชาธิปไตย
แล้วยังเป็นผู้ล้มล้างรัฐธรรมนูญ (๕๐) เสียเอง “และกระทำการให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศ
โดยมีพฤติการณ์ซึ่งไม่ได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้มีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ”
ฉะนี้ นายชัยวุฒิ
ธนาคมานุสรณ์ เลขานุการวิปรัฐบาลจึงแถว่า “ตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ
ยังไม่เคยมีการฉีกรัฐธรรมนูญเลย รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๖๐ ก็ยังใช้อยู่ และ
พล.อ.ประยุทธ์ก็มาจากการเลือกตั้งตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญทุกประการ”
แต่เอ๊ะ
ระเบียบอภิปรายที่ไหนบอกว่าการกล่าวหากระทำผิดต้องเจาะจงเฉพาะบางยุค บางสมัย
และวัตถุแห่งความผิด เช่นรัฐธรรมนูญนั่น มีฉบับนั้นใช้ไม่ได้ฉบับนี้ใช้ได้ด้วยหรือ
นี่คือการหาช่องโหว่ของกฎหมายเพื่อเอาตัวรอด (แบบรัฐบาลทรั้มพ์อีกแหละ)
แต่กลเกมการโกงของรัฐบาลกึ่งเผด็จการไทย แบบเป็น
‘Imperial Premiership’ ไปไกลกว่า ‘Imperial
Presidential’ หลายขุม คือนอกจากจะพยายามกดดันประธานสภาฯ
ให้สกัดกั้น กีดกัน ‘Article of Censorship’ ญัตติไม่ไว้วางใจนั้น
แล้วยังมีความพยายามจะเอาเรื่องการ ‘censor’
ซักฟอกฝ่ายค้านผู้เป็นเจ้าของญัตติไม่ไว้วางใจ มาแทรกขวางหน้าเพื่อขัดขาอีกด้วย
งานนี้ได้ ไพบูลย์ นิติตะวัน ตัวป่วน ‘ตลาดบน’ (พอรู้ประสีประสากฏบัตรกฎหมายหน่อย)
ไม่ใช่มั่วซั่วดันทุรังอย่างเดียวแบบ ‘ตลาดล่าง’ อย่าง ปารีณา ไกรคุปต์ กับ สิระ เจนจาคะ
โดยไพบูลย์รวบรายชื่อ ส.ส.มา ๕๑ คนเสนอขออภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์
เตมียาเวส ประธานกรรมาธิการปราบทุจริตฯ
ข้อหา ว่าเสรีพิศุทธ์ดึงดันตรวจสอบการกล่าวคำถวายสัตย์เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไม่ครบถ้วนตามครรลองระเบียบแห่งรัฐสภา อ้างว่ากรรมาธิการ
๘ คนออกเสียงให้หยุดแล้วประธานยังดันตรวจสอบต่อ
ตัวเสรีพิศุทธ์เองนั้นบอกว่าไม่ยั่นอยู่แล้ว
ที่โดนพวกองครักษ์พิทักษ์นายกฯ ทั้งหลายคอยส่อเสียดทิ่มแทง
ถ้าการอภิปรายขับตนออกจากประธานกรรมาฯ ดันกันไปได้ เดี๋ยวก็กลับมาเป็นใหม่
เพราะตำแหน่งนี้เป็นโควต้าของพรรคเสรีรวมไทย
ประเด็นอยู่ที่วิธีการใช้เล่ห์เพทุบายวิชามารทางการเมืองในสภาเยี่ยงนี้
ที่ยุคก่อนเผด็จการ คสช. พวกพันธมิตรฯ สลิ่มนักเป่านกหวีด และ กปปส. ใช้เป็นข้อกล่าวหาทอดสะพานให้ทหารเข้ามายึดอำนาจนั้น
เดี๋ยวนี้พลพรรคของตนกำลังทำกันอยู่อย่างขมักเขม้น
อย่างที่ Thanapol Eawsakul ว่า ยกนี้ประธานสภาฯ ไม่เล่นด้วย “ส่งประยุทธ์ จันทร์โอชา
ไปตายเอาดาบหน้า” ชวน หลีกภัย บอก “เมื่อยื่นญัตติแล้วแก้ไขไม่ได้”
จะแก้จะเปลี่ยนอะไรไม่ได้ และที่พรรค พปชร.พวกประยุทธ์ขู่ประท้วง ก็ ‘bring it on.’ เอาเลย
ส่วนกรณี “ที่ฝ่ายรัฐบาลเรียกร้องไม่ให้ฝ่ายค้านอภิปรายย้อนไปในยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ
(คสช.) นั้น นายชวนเห็นว่าถึงเวลานั้นแล้วค่อยว่ากัน”
แบ่งรับแบ่งสู้ซื้อเวลาไว้ก่อนดูเชิง ตามสไตล์ ‘รอรับรายงาน’ ของนายหัว
รวมทั้งข้อเสนอของฝ่ายค้าน “ให้เปิดสมัยประชุมวิสามัญเพื่ออภิปรายไม่ไว้วางใจต่อนั้น
นายชวน กล่าวว่า ไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น
เพราะอีกไม่กี่เดือนก็จะเปิดสมัยประชุมอีกครั้ง” เจ๊ากันไป ประธานฯ
ออกลูกได้สวยไม่เอียงข้างไหน
ใครจะว่าย้อนแย้งก็ช่าง แต่ที่นี่เห็นว่าท่าจะดี ควรส่งแกไปพักฟื้นโรงพยาบาลศรีธัญญาสักพัก