สืบเนื่องจาก ‘คำถาม’ ค้างคามาแต่เหตุเขย่าขวัญ คนร้ายซึ่งเป็นทหารแม่นปืนเกิดอาการคลั่งแค้นผู้บังคับบัญชาโกงเงินตนไปสี่แสนไม่ยอมใช้คืน
อีก ๑๘ ชั่วโมงให้หลังตำรวจสามารถวิสามัญฆาตกรรมคนร้าย หลังจากมีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตไปแล้ว
๒๙ ราย บาดเจ็บอีก ๕๘
มีตัวประกันสองคนเสียชีวิตอยู่ใกล้ๆ
กับร่างคนร้ายที่ตาย “รอยกระสุน ๕ แห่ง บนตู้ทำความเย็นข้างๆ ศพตัวประกันที่เสียชีวิต
บางรอยระนาบเดียวกับระดับแขนและศรีษะ” เป็นข้อหนึ่งซึ่ง Nithiwat Wannasiri ตั้งปุจฉา
“แขนของตัวประกันหักบิดเบี้ยวผิดรูป จากการถูกกระสุนปืนไรเฟิล”
คือข้อสองที่ชวนฉงน และ “เป็นกระสุนจากปืนของผู้ก่อเหตุ หรือจากปืนที่ระดมยิงใส่ผู้ก่อเหตุเพื่อจับตาย”
กันแน่
โดยที่ อานนท์ นำภา
ก็มีข้อคิดในเรื่องนี้ไว้ด้วย “ใครยิง
คนร้ายหรือเจ้าหน้าที่ยิงพลาดไปโดนประชาชน เข้าใจว่าสถานการณ์มันบีบคั้นว่าต้องจัดการคนร้าย
แต่เรื่องนี้ก็ควรกระจ่างเช่นกัน”
ดูจากท่าทีของหัวหน้ารัฐบาลและรองนายกฯ
ที่ดูแลสาธารณสุข (ในความหมายที่ค่อนไปทาง ‘พิทักษ์สันติราษฎร์’ ด้วยการเน้นคำ ‘วิสามัญ’ ละมัง)
แล้ว น่าจะใช้เวลานาน กว่าจะได้ความ ‘กระจ่าง’ อย่างที่สนใจกัน หรือเงียบหายเป็นความลับของทางราชการไป
แต่ก็อาจมีคำชี้แจงออกมาอย่างใดอย่างหนึ่ง
ในความน่าจะเป็นของแง่กฎหมาย ดังที่ สาวตรี สุขศรี อาจารย์สอนกฎหมายอาญา
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ความรู้ไว้บนหน้าเฟชบุ๊คของเธอ
ดังต่อไปนี้
“ช่วงห้องเรียนกฎหมาย:
ในระหว่างรอการชันสูตรและคำแถลงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของประชาชนสองท่านที่อยู่ในบริเวณเดียวกันกับผู้ก่อเหตุ
ว่าเป็นการกระทำของใครกันแน่ ระหว่างผู้ก่อเหตุกับ จนท. เห็นควรวิเคราะห์ผลลัพธ์ ‘หาก จนท.เป็นคนทำ’ กันสักนิดฮะ
เพื่อบรรเทาสงครามน้ำลายก่อนที่จะเปียกปอนกัน
เรื่องนี้ซับซ้อนสักนิด อธิบายสั้น ๆ
ยากอยู่ แต่จะลองพยายามดูตามสมควร จะจับคู่ให้ดูแบบนี้ 1)
การกระทำของ จนท.ต่อผู้ก่อเหตุ กับ 2) การกระทำของ
จนท.ต่อ ปชช.ผู้บริสุทธิ์ (ถ้าผลออกมาแบบนั้นนะ)
ผลของข้อ 1) น่าจะเคลียร์ว่า
เรื่องนี้เป็นวิสามัญฆาตกรรม ตาม ป.วิอาญามาตรา 143 วรรคท้าย
แน่นอนอย่าได้สงสัยให้เสียเวลา เพราะเป็นการตายจากความตั้งใจ (ฆาตกรรม) ของ จนท.ซึ่งอ้างว่าปฏิบัติหน้าที่
อัยการสูงสุดเท่านั้นเป็นผู้พิจารณาสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องศาล
หากสั่งฟ้อง ผลลัพธ์ในชั้นศาลพอเดาได้ว่า ‘ยกฟ้อง’ เนื่องจากอ้างเหตุ ‘ป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย’ (ป.อาญา ม.68) ได้รับการ ‘ยกเว้นความผิด’ ไป โดยเงื่อนไขการ ‘อ้างป้องกัน’ ได้ คือ 1. มีภยันตรายที่ละเมิดกม.
2. ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง (กำลังจะเกิด
หรือเกิดแล้วยังไม่ยุติ) 3) ทำไปด้วยเจตนาป้องกันตัวเองหรือผู้อื่น
4) พอสมควรแก่เหตุ แต่จะเพิ่มเติมให้สักนิด ไม่ปรากฏในตัวบท กม.
แต่อยู่ในคำอธิบายทางตำรา คือ ต้องกระทำกับ ‘ผู้ก่อภัย’ เท่านั้น !
ผลของข้อ 2) มีได้สองแนวทาง
แต่ก่อนอื่นจำเป็นต้องอธิบายเรื่อง ‘การกระทำโดยพลาด’ (ป.อาญา ม.60) ก่อน คือกรณีเจตนากระทำต่อสิ่งหนึ่ง
แต่ดัน ‘พลาด’
ไปเกิดผลกับอีกสิ่งหนึ่งแทน กฎหมายอาญาบอกว่า
ผู้กระทำต้องรับผิดฐานเจตนาต่อสิ่งที่ตนพลาดนั้นด้วย
เช่น ก เจตนายิง ข ให้ตาย
แต่กระสุนพลาดไปโดน ค ตาย อีแบบนี้ ก ต้องรับผิดฐานพยายามฆ่า ข (ถ้า ข ไม่ตาย)
และต้องรับผิดฐานฆ่า ค ‘โดยเจตนาโดยพลาด’ ด้วยอีกบทหนึ่ง บางตำราเขาก็เรียกกรณีนี้ว่า ‘เจตนาโอน’ คือโอนไปให้คนที่ต้องรับผลร้ายนั้นด้วย
(บางคนอาจสงสัยว่า แต่ถ้า ข ก็ตายด้วยล่ะ
กระสุนแค่เลยไปโดน ค อีกคน แบบนี้เรียกว่า ‘พลาด’ และ ก ต้องรับผิดต่อ ค ด้วยไหม ? เรื่องนี้ความเห็นส่วนใหญ่บอกว่า
ก็รับผิดเพราะพลาดนี้ไปด้วยนั่นแหละ..จริงๆ มีความเห็นแย้งด้วยเหมือนกัน
แต่ชั่งมัน เก็บไว้ก่อน)
ปัญหาจริงๆ ที่เกี่ยวกับเรื่อง มันอยู่ตรงนี้ต่างหาก
คือ ถ้าตัวอย่างเดิมเพิ่มเติมคือสาเหตุที่ ก ยิง ข นั้น ก ทำไปเพื่อ ‘ป้องกันตัวเองหรือผู้อื่น’ เนื่องจาก ข จะยิง ก ก่อน
หรือ ข เป็นผู้ก่อภยันตรายขึ้นก่อน แบบนี้ ก จะสามารถยกข้ออ้างเรื่อง ‘ป้องกัน’ เพื่อจะได้ไม่ต้องรับผิดกับ ค
ซึ่งกระสุนพลาดไปโดนด้วยได้หรือเปล่า ?
กล่าวอีกอย่างก็คือ ‘เจตนาป้องกัน’ จะโอนไปด้วยไหม ? ในที่นี้คือ จนท.สามารถอ้างเหตุป้องกันนี้ กับ ปชช.สองท่านที่เสียชีวิตไปได้หรือเปล่า
?...ล่ะ ..ทางตำรามีความเห็นอยู่สองฝ่าย
ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า ก
สามารถอ้างป้องกันไปด้วยได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ประโยชน์กับผู้กระทำไปโดยป้องกันจริงๆ
ซึ่งบางทีในสถานการณ์ของการต้องลงมือป้องกันนั้น การใช้ความระมัดระวังเพื่อไม่ให้เกิดผลร้ายกับคนอื่นๆ
เลย อาจไม่ใช่เรื่องง่ายๆ
นอกจากนี้ กฎหมายเขียนให้โอนเจตนาไปแล้ว
และการป้องกันก็เป็นเจตนา (พิเศษ) รูปแบบหนึ่ง จึงสมควรโอนไปทั้งหมด
จะโอนบ้างไม่โอนบ้าง ไม่น่าจะถูกต้องตามเจตนารมณ์แห่งกฎหมายในเรื่องนี้ ดังนั้น ‘เจตนาป้องกัน’ จึงควรโอนไปใช้อ้างยันกับ ค
ผู้ได้รับผลร้ายจากการป้องกันครั้งนั้นเสียด้วย...
เท่ากับว่า ก ไม่ต้องรับผิดทั้งต่อ ข
และต่อ ค เพราะอ้างป้องกันได้...ฟังแล้ว หลายคนคงรู้สึกเห็นใจญาติๆ ของ ค ผู้ตาย
ล่ะสิฮะ...ดังนั้น
อีกฝ่ายหนึ่งเขาจึงเห็นค้าน คือ ก
จะอ้างป้องกันกับ ค ไม่ได้ เหตุผลหลักเลยเพราะ ค ไม่ใช่ ‘ผู้ก่อภัย’ หากกฎหมายยอมให้อ้างได้ ค
ก็จะกลายเป็นผู้รับเคราะห์โดยปราศจากผู้รับผิดชอบ ซึ่งย่อมไม่ยุติธรรม เพราะ ค
ไม่ได้ทำอะไรผิด
ฝ่ายนี้จึงเห็นว่า ก ยังต้องมีความผิดต่อ ค
ฐานเจตนาฆ่าโดยพลาดอยู่ (เจตนาฆ่าโอนไป) และจะขอยกเว้นความผิดไม่ได้...แน่นอนว่าด้วยแนวทางนี้
บางคนอาจรู้สึกเห็นใจ ก แต่ในทางกฎหมายนั้น ศาลยังสามารถลดโทษ หรือบรรเทาโทษด้วยเหตุผลอื่นๆ
ได้อยู่ เพียงแต่ ไม่ใช่ชี้ว่า ก ไม่มีความผิดอะไรต่อ ค เลย
ปัญหาก็คือ ศาลจะเห็นด้วยกับฝ่ายไหน ?
และคุณล่ะ เห็นด้วยกับฝ่ายไหน ? จะเถียงกันทั้งที
อย่าพอใจแค่ #สงครามน้ำลาย ฮะ แต่ไปให้ไกลถึง #สงครามความคิด